คันตา

ความหมาย คันตา

คันตา คืออาการคันบริเวณตา เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยอาจมีอาการเพียงชั่วคราวหรือเรื้อรัง ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ แต่ในกรณีที่รุนแรงมาก ๆ ผู้ป่วยอาจต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา ซึ่งการรักษาที่ตรงจุดจะช่วยให้อาการคันตาดีขึ้นและหายขาดได้

Itchy Eye

อาการคันตา

อาการคันตามักส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกคันบริเวณขอบตา เปลือกตา หรือภายในดวงตา นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่

  • ตาแฉะ ตาแดง
  • มีจุดเลือดขึ้นภายในดวงตา
  • เปลือกตาบวม
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น หรือมองเห็นภาพไม่ชัด
  • ลืมตาไม่ขึ้น
  • ตาแพ้แสง
  • เจ็บหรือปวดตา
  • รู้สึกระคายเคืองเหมือนมีเศษผงอยู่ในตา

ทั้งนี้ หากอาการคันตาเกิดจากการอักเสบของเปลือกตา อาจมีตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นบริเวณเปลือกหรือขอบตาได้ ส่งผลให้รู้สึกรำคาญจนเผลอเกาหรือขยี้ตาบ่อยขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีภาวะแทรกซ้อนอย่างแผลที่กระจกตาตามมา

สาเหตุของอาการคันตา

อาการคันตาเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

อาการแพ้ 

ส่งผลให้มีอาการคันบริเวณดวงตาหรือเปลือกตาได้ เนื่องจากบริเวณนี้ค่อนข้างบอบบางและง่ายต่อการแพ้ ซึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการแพ้มีได้หลายประการ อาทิ

  • ฝุ่น มลพิษ
  • สบู่ น้ำยาทำความสะอาด หรือสารเคมี
  • สารที่เป็นกรดหรือด่าง อย่างน้ำมะนาว หรือพริกป่น
  • เครื่องสำอางที่ใช้บริเวณดวงตา อย่างอายแชโดว์ หรืออายไลน์เนอร์
  • ครีมกันแดด
  • น้ำยาย้อมสีผม หรือยาทาเล็บ

ทั้งนี้ อาการคันตาจากการแพ้อาจเกิดขึ้นเพียงบริเวณดวงตา โดยไม่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ แต่ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ด้วย เพราะสารบางชนิดอาจส่งผลต่อบริเวณอื่น ๆ ได้เช่นกัน

ภาวะสายตาล้า 

การใช้สายตาเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดอาการแสบร้อนที่ดวงตาหรือมีอาการคันตาได้ เนื่องจากสายตาไม่ได้พักผ่อน นอกจากนี้ การอยู่ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศเป็นเวลานานก็อาจทำให้ดวงตาล้าและตาแห้ง จนเกิดอาการคันตาได้เช่นกัน โดยภาวะตาล้ามักแสดงอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น

  • ตามัว
  • ปวดศีรษะ 
  • ปวดคอ หลัง และไหล่
  • ตาแพ้แสง
  • ไม่มีสมาธิ
  • มีปัญหาในการลืมตา

อาการตาแห้ง 

เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการคันตาได้ บางครั้งอาจรู้สึกเหมือนมีเศษผงในดวงตาหรือมีอาการแสบร้อนที่ตา นอกจากนี้ การสวมคอนแทคเลนส์อาจส่งผลให้มีอาการรุนแรงขึ้น เช่น

  • มีเมือกเหนียวรอบดวงตาหรือมีอาการตาแฉะ
  • ตาแพ้แสง
  • ตาแดง
  • มีน้ำตาไหล
  • มีปัญหาสายตาในเวลากลางคืน ทำให้ขับขี่ยานพาหนะไม่สะดวก
  • ตามัว หรือมีอาการตาอ่อนล้า

ทั้งนี้ โดยทั่วไปอาการตาแห้งบรรเทาได้ด้วยการใช้น้ำตาเทียม แต่ถ้าหากมีอาการรุนแรงขึ้นอาจต้องรักษาด้วยยาชนิดอื่น ๆ

คอนแทคเลนส์ 

คอนแทคเลนส์อาจทำให้กระจกตาแห้งจนเกิดอาการคัน ซึ่งบรรเทาได้โดยใช้น้ำตาเทียมเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตา แต่หากยังไม่หายคัน ควรหยุดใช้คอนแทคเลนส์สักระยะ ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจแพ้สารในน้ำยาทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ ส่งผลให้เกิดอาการคันตา โดยสามารถใช้น้ำเกลือที่ปราศจากเชื้อโรคชะล้างคอนแทคเลนส์ก่อนสวมใส่ เพื่อป้องกันน้ำยาคอนแทคเลนส์ตกค้าง แต่ไม่ควรแช่ทิ้งไว้ 

นอกจากนี้ การไม่รักษาความสะอาดของคอนแทคเลนส์ให้ดี ใช้เกินระยะเวลาที่กำหนดบนฉลาก หรือไม่ล้างมือก่อนสวมใส่ ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ดวงตาและนำไปสู่อาการคันตาได้เช่นกัน

ภาวะเปลือกตาอักเสบ (Blepharitis) 

เป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้มีอาการคันตา โดยภาวะนี้มีสาเหตุได้หลายกรณี เช่น ต่อมไขมันในรูขุมขนที่บริเวณเปลือกตาอุดตันจนทำให้เกิดอาการระคายเคือง การติดเชื้อแบคทีเรีย ผลข้างเคียงจากการใช้ยา ความผิดปกติของต่อมไขมัน มีตัวไรที่ขนตา เป็นต้น ทั้งนี้ การอักเสบของเปลือกตาอาจทำให้มีเมือกเหนียวในดวงตาและเกิดสะเก็ดแข็งเกาะตัวบริเวณเปลือกตาและขนตา ซึ่งอาการอาจรุนแรงมากขึ้นในเวลากลางคืน

เยื่อบุตาอักเสบ 

เยื่อบุตาอักเสบอาจทำให้มีอาการคันตาและตาแดง ซึ่งติดต่อไปสู่ผู้อื่นได้ ดังนั้น หากมีอาการนี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

กระจกตาเป็นรอย 

บาดแผลที่กระจกตาอาจส่งผลให้มีอาการคันตา ซึ่งหากไม่รุนแรง อาจหายได้เองในเวลาไม่นาน แต่หากเป็นบาดแผลลึก อาจส่งผลให้มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เจ็บตา ตามัว ตาแดง ตาแพ้แสง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยอาจสูญเสียความสามารถในการมองเห็นได้

การติดเชื้อที่กระจกตา 

เป็นภาวะแทรกซ้อนหนึ่งที่เกิดจากการใส่คอนแทคเลนส์ โดยเฉพาะคอนแทคเลนส์ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เมื่อเกิดการติดเชื้อจะทำให้ดวงตาได้รับบาดเจ็บ และนำไปสู่การอักเสบ เจ็บตา คันตา มีหนองในตา รวมทั้งปัญหาในการมองเห็น ผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนจนทำให้สูญเสียการมองเห็นในที่สุด

การวินิจฉัยอาการคันตา

ส่วนใหญ่แพทย์จะวินิจฉัยอาการคันตาด้วยการหาสาเหตุของอาการคันตา ที่พบได้บ่อยคืออาการแพ้หรือโรคภูมิแพ้ อย่างไรก็ตาม หากไม่เคยมีประวัติการแพ้มาก่อน แต่สังเกตพบอาการที่เป็นสัญญาณของการแพ้หลังสูดดมสารใด ๆ หรือรับประทานอาหารบางชนิด ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

การวินิจฉัยเบื้องต้น แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วยที่มีอาการคันตา โดยเฉพาะบริเวณที่แพ้ หากพบว่ามีสาเหตุจากอาการแพ้ แพทย์จะส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้หรือผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังตามความเหมาะสม และอาจสั่งตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
  • การตรวจเลือดเพื่อทดสอบการแพ้
  • การทดสอบการแพ้อาหาร

หลังจากนั้น แพทย์จะนำผลตรวจมาวินิจฉัยร่วมกับประวัติสุขภาพและข้อมูลอื่น ๆ ที่ได้จากการซักประวัติ เช่น อาการ การรับประทานอาหาร พฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อสรุปผลอีกครั้งก่อนจะเริ่มรักษา

การรักษาอาการคันตา

การรักษาอาการคันตาขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ หากคาดว่าเป็นผลจากการใช้คอนแทคเลนส์หรือน้ำยาทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ โดยในเบื้องต้น สามารถบรรเทาอาการได้โดยใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อโรคล้างคอนแทคเลนส์ก่อนสวมใส่ เพื่อความสบายตา

อย่างไรก็ตาม การใช้ยาบรรเทาอาการคันตาที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป เช่น ยาหยอดตา จะช่วยบรรเทาอาการคันตาได้อย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง หรือบางยี่ห้ออาจออกฤทธิ์นานถึง 12 ชั่วโมง ทว่าในกรณีที่มีอาการคันตาอย่างรุนแรงอาจต้องใช้ยาสเตียรอยด์ ซึ่งยาชนิดนี้ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

ทั้งนี้ หากอาการคันตาเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น ๆ การรักษาอาจแตกต่างกันไปในแต่ละโรค ดังนี้

อาการแพ้ 

วิธีบรรเทาอาการคันตาจากอาการแพ้ทำได้โดยหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และใช้ยาแก้แพ้ โดยตัวยามีทั้งชนิดรับประทานและยาหยอดตา แต่ยาแก้แพ้แบบรับประทานบางชนิดอาจส่งผลให้ง่วงได้ ขณะใช้ยาควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะและการทำงานกับเครื่องจักร 

นอกจากนี้ ยังสามารถล้างสารก่อภูมิแพ้ในดวงตาได้ด้วยน้ำเกลือที่ปราศจากเชื้อโรค ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการระคายเคือง โดยควรเลือกน้ำเกลือที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน ใส ไม่มีสี ปราศจากสารเติมแต่งและวัตถุกันเสีย มีความสมดุลกับน้ำในเซลล์ร่างกาย บรรจุในขวดใสเพื่อให้มองเห็นสิ่งแปลกปลอมในขวดได้ง่าย และมีฝาล็อกที่ปิดสนิทป้องกันการปนเปื้อน

อาการตาแห้ง 

เนื่องจากดวงตาผลิตน้ำตาออกมาได้น้อยกว่าปกติ ทำให้ดวงตาขาดความชุ่มชื้น การบรรเทาอาการคันตาจากสาเหตุนี้จึงต้องใช้น้ำตาเทียมเข้าช่วย โดยหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป นอกจากนี้ ในบางรายที่อาการคันตาเกิดจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แห้ง เช่น ห้องปรับอากาศ หรือที่ที่มีลมแรง อาจบรรเทาอาการได้ด้วยการเปลี่ยนสถานที่อยู่หรือสวมใส่แว่นตาเพื่อป้องกันลม

ภาวะตาล้า 

มักมีสาเหตุมาจากการใช้สายตามากเกินไป จนทำให้ดวงตาอ่อนล้าและมีอาการคันตาตามมา การรักษาจึงมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สายตาหรือหมั่นพักสายตาให้มากขึ้น ซึ่งวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลคือหลัก 20-20-20 โดยทุก ๆ 20 นาทีที่ใช้สายตาจ้องจอคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใด ๆ ให้พักสายตาด้วยการมองออกไปข้างหน้าประมาณ 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที วิธีนี้จะช่วยให้สายตาผ่อนคลายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรใช้สายตาให้น้อยลงด้วย ไม่ควรจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์โดยไม่จำเป็น หากปรับเปลี่ยนดังนี้แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจรักษาอย่างละเอียด

เยื่อบุตาอักเสบ 

ส่วนใหญ่ภาวะนี้ดีขึ้นได้เองได้โดยไม่ต้องรับการรักษาทางการแพทย์ ผู้ป่วยอาจดูแลตัวเองด้วยการหลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์ ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนสัมผัสตา รวมทั้งหยอดน้ำตาเทียมเพื่อช่วยให้ดวงตาชุ่มชื้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อ ร่วมกับวิธีดูแลตัวเองดังข้างต้น

ภาวะเปลือกตาอักเสบ 

วิธีรักษาเปลือกตาอักเสบนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุของการอักเสบ แต่ในเบื้องต้นแพทย์จะรักษาตามอาการ เพื่อช่วยให้อาการคันลดลง โดยอาจแนะนำให้ประคบอุ่น และทำความสะอาดเปลือกตาด้วยแชมพูหรือสบู่เด็ก ร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ

การติดเชื้อที่กระจกตา 

เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ แพทย์จะแนะนำให้หยุดใช้คอนแทคเลนส์สักระยะ และอาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะชนิดหยอดตาหรือชนิดรับประทาน เพื่อช่วยรักษาอาการติดเชื้อ

กระจกตาเป็นรอย

เป็นสาเหตุของอาการคันตาที่มีความรุนแรงค่อนข้างมาก ดังนั้นการดูแลรักษาด้วยตัวเองอาจไม่ส่งผลดีเท่าที่ควร จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้กระจกตาเป็นรอยอย่างถาวรได้

ทั้งนี้ หากอาการคันตาเริ่มรุนแรงขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้เป็นอันตรายได้

ภาวะแทรกซ้อนจากอาการคันตา

อาการคันตาที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ แม้จะพบได้น้อยมาก แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะผู้ที่มีอาการคันตาอาจเผลอขยี้ตาบ่อย ๆ จนเกิดแผลที่กระจกตา ซึ่งอาจส่งผลต่อการมองเห็นในระยะยาว ส่วนในกรณีที่เป็นอาการแพ้รุนแรงและไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจส่งผลให้มีอาการเจ็บปวดหรือสูญเสียการมองเห็นได้

การป้องกันอาการคันตา

วิธีป้องกันอาการคันตาที่ดีที่สุด คือการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจส่งผลให้มีอาการคันตาตามมา หากสาเหตุเกิดจากอาการแพ้หรือโรคภูมิแพ้ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นอาการแพ้ ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการเปิดหน้าต่างโดยไม่จำเป็น เพื่อป้องกันฝุ่นหรือมลพิษอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอาการคันตา
  • ใช้อุปกรณ์ช่วยป้องกันไรฝุ่นและเชื่อรา เช่น ผ้าปูที่ป้องกันไรฝุ่น อีกทั้งควรทำความสะอาดเครื่องนอนให้สะอาดอยู่เสมอ ควรซักด้วยน้ำร้อน เพราะจะช่วยลดไรฝุ่นและเชื้อราได้เป็นอย่างดี
  • ล้างมือทำความสะอาดทุกครั้งก่อนสัมผัสกับคอนแทคเลนส์หรือดวงตา เพื่อป้องกันไม่ให้มีเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกเข้าสู่ดวงตาจนเกิดอาการอักเสบ
  • ล้างทำความสะอาดเครื่องสำอางบนใบหน้าให้สะอาดทุกวันก่อนเข้านอน โดยเฉพาะบริเวณดวงตา เพื่อป้องกันการอุดตันของรูขุมขนที่เปลือกตา อันเป็นสาเหตุของเปลือกตาอักเสบ
  • ล้างทำความสะอาดตัวกรองในเครื่องปรับอากาศเป็นประจำ เพื่อป้องกันฝุ่นและเชื้อโรคที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ในห้องที่ระบายอากาศได้ไม่ดี
  • หากต้องเผชิญมลพิษหรือทำงานในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการได้รับสารเคมี ควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันดวงตา เช่น แว่นกันสารเคมี หน้ากากอนามัย ถุงมือ เป็นต้น
  • อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทุกครั้งหลังกลับถึงบ้าน เพื่อป้องกันเชื้อโรคและมลพิษที่ตกค้างตามร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงการเกาบริเวณที่รู้สึกคัน เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกายหลั่งสารฮีสตามีนที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้มากขึ้น
  • ใช้น้ำเกลือชำระล้างสิ่งสกปรกหรือสารก่อภูมิแพ้ออกจากดวงตา โดยควรใช้น้ำเกลือที่ผ่านการทำให้ปลอดเชื้อด้วยกรรมวิธีที่ได้มาตรฐานอย่างการใช้ความร้อนสูง (Sterilization) และไม่มีส่วนผสมของสารเติมแต่งหรือวัตถุกันเสีย เพื่อให้มั่นใจได้ว่า สะอาด ปลอดภัย และปราศจากผลข้างเคียง และการเลือกซื้อน้ำเกลือยังควรพิจารณาบรรจุภัณฑ์แบบใส เพื่อให้ผู้ใช้สังเกตเห็นสิ่งปนเปื้อนหลังการเปิดใช้งานได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากปฏิบัติตามข้อแนะนำข้างต้นแล้วยังไม่อาจควบคุมอาการแพ้ได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างจริงจัง โดยแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาหยอดตาหรือยารับประทานเพื่อบรรเทาอาการแพ้

ส่วนอาการคันตาที่เกิดจากอาการตาล้า อาจป้องกันได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • จำกัดเวลาในการใช้สายตาจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ เพื่อไม่ให้ดวงตาอ่อนล้ามากเกินไป
  • หากต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ ควรพักสายตาด้วยการใช้สูตร 20-20-20 โดยทุก ๆ 20 นาที ให้หยุดพักสายตาด้วยการมองออกไปข้างหน้าประมาณ 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที
  • ควรอ่านหนังสือในบริเวณที่มีแสงสว่างเพียงพอ และหมั่นพักสายตาบ่อย ๆ
  • สวมแว่นที่ช่วยให้มองเห็นได้ชัดเจนขณะอ่านหนังสือหรือใช้คอมพิวเตอร์  และอาจสวมแว่นป้องกันแสงสีฟ้าจากจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใด ๆ
  • ใช้น้ำตาเทียมช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา

สำหรับผู้ป่วยโรคตาบางชนิดที่อาจมีอาการคันตา เช่น เปลือกตาอักเสบเรื้อรัง ควรหมั่นไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบ ส่วนผู้ที่ต้องทำงานกับสารเคมี ควรสวมใส่แว่นตาป้องกันดวงตาไม่ให้สัมผัสสารเคมี เนื่องจากอาจนำไปสู่อาการแพ้และคันตาได้