คาลาไมน์
คาลาไมน์ (Calamine Lotion) เป็นยาทาบรรเทาอาการระคายเคืองของผิวหนังในระดับเล็กน้อย เช่น อาการคัน ปวด ไม่สบายผิว ผื่น ผื่นแพ้พิษพืช ลมพิษ แพ้สารเคมีและเครื่องสำอาง ผิวไหม้หลังจากตากแดด แมลงกัดต่อย ตัวยาหลักในคาลาไมน์จะมีซิงค์ ออกไซด์ (Zinc Oxide) ผสมกับยาชนิดอื่น ซึ่งช่วยปกป้องผิวหนังและสมานแผล โดยกลไกการออกฤทธิ์ยังไม่ชัดเจนนัก แต่คาดว่าไปยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและทำให้ไม่เกิดการติดเชื้อมากขึ้น
เกี่ยวกับยาคาลาไมน์
กลุ่มยา | ยาต้านฮิสทามีนชนิดเฉพาะที่/ยาลดอาการคัน (Topical Antihistamines/Antipruritics) |
ประเภทยา | ยาหาซื้อได้เอง ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | บรรเทาอาการระคายเคืองของผิวหนัง ผื่น ลมพิษในระดับเล็กน้อย |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยาน้ำแขวนตะกอน |
คำเตือนของการใช้ยาคาลาไมน์
- หญิงมีครรภ์ กำลังวางแผนจะมีบุตร หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรแจ้งแพทย์ล่วงหน้าก่อนการใช้ยา เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าตัวยาสามารถส่งผ่านไปยังทารกทางน้ำนมแม่หรือมีผลใดต่อทารกในครรภ์หรือไม่
- หากเคยมีประวัติการแพ้ยาหรืออาการแพ้อื่น ๆ ก่อนการใช้ยาทุกครั้ง ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบ รวมทั้งโรคประจำตัว หรือกำลังใช้ยา สมุนไพร และวิตามินเสริมตัวใดอยู่ในช่วงนั้น เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้ยา
- ยานี้เป็นยาในกลุ่มใช้ทาภายนอกเท่านั้น ห้ามรับประทาน และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาใกล้ดวงตาหรือเยื่อเมือกอื่น ๆ เช่น ภายในช่องปาก จมูก อวัยวะเพศหรือทางทวารหนัก รวมทั้งไม่ควรใช้ทาบริเวณที่มีบาดแผลเปิดหรือแผลไหม้
- การใช้ยาในทารกต่ำกว่า 6 เดือน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
ปริมาณการใช้ยาคาลาไมน์
ปริมาณการใช้ยาจะแตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับอาการผู้ป่วย ความเข้มข้นของตัวยา หรือดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยทั่วไปการใช้ยาในเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองทางผิวหนังเล็กน้อยจะทาบริเวณที่มีอาการวันละ 2-3 ครั้ง สามารถทาได้บ่อยเท่าที่จำเป็น หรือศึกษาการใช้จากข้อบ่งใช้บนฉลากผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม
การใช้ยาคาลาไมน์
การใช้ยาควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือข้อบ่งใช้บนฉลากยา ยาคาลาไมน์ในประเทศไทยมีเฉพาะรูปแบบยาน้ำแขวนตะกอน ก่อนการใช้ควรเขย่าให้ตัวยาเข้ากันดี โดยทาลงบนผิวหนังเฉพาะบริเวณที่มีอาการ สามารถใช้สำลีชุบตัวยาแล้วทาที่ผิวหนัง เพื่อช่วยให้ทาได้ง่ายขึ้น
หากอาการไม่ดีขึ้นหลังการใช้ยาเกินกว่า 7 วันหรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ ไม่ควรใช้ยาหมดอายุหรือยามีสีที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม รวมทั้งควรเก็บยาไว้ในอุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้ตัวยาเสื่อมประสิทธิภาพและเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาคาลาไมน์
เมื่อใช้ยาอย่างถูกวิธีและตามปริมาณที่กำหนด ยาคาลาไมน์มักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง แต่ในบางรายอาจเกิดอาการแพ้ยา ทำให้เกิดผื่น อาการบวมตามใบหน้า ลิ้น หรือคอ เวียนศีรษะอย่างรุนแรง มีปัญหาในการหายใจ หรือความผิดปกติอื่น ๆ ซึ่งผู้ป่วยควรไปรีบพบแพทย์ทันที