คีโตโคนาโซล (Ketoconazole)

คีโตโคนาโซล (Ketoconazole)

คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) เป็นยาที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อราในร่างกายและที่ผิวหนัง เช่น เชื้อราในเลือด เชื้อราในปอด เชื้อราในช่องคลอด กลาก เกลื้อน หรือรังแค โดยตัวยาจะออกฤทธิ์หยุดการสังเคราะห์ของเออร์กอสเตอรอล (Ergosterol) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์เชื้อรา จึงส่งผลต่อการลำเลียงอาหารเข้าเซลล์ของเชื้อรา ทำให้เชื้อราขาดสารอาหารและหยุดการเจริญเติบโต 

ยาคีโตโคนาโซลที่จำหน่ายทั่วไปจะเป็นรูปแบบยาที่ใช้ทาภายนอก เช่น สเปรย์ ครีมทาผิวหนัง แชมพูขจัดรังแค หากเป็นยาคีโตโคนาโซลที่สั่งจ่ายโดยสถานพยาบาลส่วนมากจะเป็นรูปแบบยาเม็ดสำหรับรับประทาน

คีโตโคนาโซล

เกี่ยวกับยาคีโตโคนาโซล

กลุ่มยา ยาต้านเชื้อรา
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาโรคจากเชื้อรา
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่ามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ 
การใช้ยาในผู้ให้นมบุตร ไม่แนะนำให้ผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงให้นมบุตรใช้ยานี้ เพราะยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันว่าสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ส่งผลกระทบต่อเด็กทารกที่รับประทานนมแม่
รูปแบบของยา สเปรย์ แชมพู ยาทา ยาเม็ด

คำเตือนในการใช้ยาคีโตโคนาโซล

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ และอยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาคีโตโคนาโซล เพราะตัวยาอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์หรือทารกแรกคลอดที่ดื่มนมแม่
  • ผู้สูงอายุและผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนควรระมัดระวังในการใช้ยา เนื่องจากเป็นวัยที่กระดูกมีความเปราะบาง จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหักได้
  • ผู้ที่เป็นโรคตับเฉียบพลันหรือเรื้อรัง โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ภาวะต่อมหมวกไตทำงานไม่เพียงพอ หรือมีการติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง ไม่ควรใช้ยาคีโตโคนาโซล 
  • การใช้ยาคีโตโคนาโซลอาจเพิ่มความเสี่ยงเกี่ยวกับตับอย่างรุนแรง หากมีอาการที่อาจบ่งบอกว่าตับมีปัญหา เช่น เหนื่อยล้าผิดปกติ ไม่อยากอาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ตาและผิวหนังเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม และอุจจาระมีสีซีด ควรรีบไปพบแพทย์
  • ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างที่ใช้ยาคีโตโคนาโซล เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้ตับเกิดความเสียหายมากขึ้นได้
  • ยาคีโตโคนาโซลชนิดรับประทาน ไม่เหมาะกับการรักษาการติดเชื้อบางอย่าง เช่น การติดเชื้อราที่เล็บ การติดเชื้อราในกลุ่มแคนดิดา (Candida Infections) การติดเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophytes) ที่ผิวหนัง 
  • ยาคีโตโคนาโซลรูปแบบยาทาเป็นยาสำหรับใช้ภายนอกเท่านั้น ห้ามรับประทาน ห้ามทาบนผิวหนังที่เป็นแผล รอยถลอก รอยไหม้ บริเวณใกล้ดวงตาหรืออวัยวะที่เป็นเยื่อเมือก เช่น ตา จมูก ปาก และช่องคลอด 

ปริมาณการใช้ยาคีโตโคนาโซล

ปริมาณการใช้ยาคีโตโคนาโซลจะอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ ผู้ป่วยแต่ละคนอาจใช้ยาในปริมาณที่แตกต่างกันออกไปตามชนิดของโรคและความรุนแรงของโรค โดยตัวอย่างการใช้ยามีดังนี้

1. รังแค

ตัวอย่างการใช้ยาคีโตโคนาโซล เพื่อรักษาและป้องกันรังแค

เด็ก

ปริมาณยาและระยะเวลาการใช้ยาต้องได้รับการพิจารณาจากแพทย์

ผู้ใหญ่

พ่นสเปรย์ที่มีส่วนผสมของคีโตโคนาโซล 2% สัปดาห์ละ 2–3 ครั้ง ต่อเนื่องกัน 2–4 สัปดาห์ หรือตามอาการ โดยไม่ต้องล้างออก สเปรย์สามารถซึมเข้าสู่หนังศีรษะได้อย่างรวดเร็ว ไม่ทิ้งกลิ่นยาที่ศีรษะหลังใช้เหมือนแชมพู และรักษารังแคครอบคลุมบริเวณที่เป็นได้อย่างทั่วถึง

หรือแชมพูที่มีส่วนผสมของยาคีโตโคนาโซล 2% สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2–4 สัปดาห์ กรณีใช้ป้องกันรังแค ให้ชโลมแชมพูบนหนังศีรษะที่เปียกทิ้งไว้ 3–5 นาที และล้างออกให้สะอาด ทุก 1–2 สัปดาห์

2. โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) 

ตัวอย่างการใช้ยาคีโตโคนาโซล เพื่อรักษาโรคเซ็บเดิร์ม หรือโรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน สำหรับผู้ใหญ่มีหลายรูปแบบ ดังนี้

  • สเปรย์ที่มีส่วนผสมของคีโตโคนาโซล 2% พ่นสเปรย์บริเวณที่มีอาการสัปดาห์ละ 1–2 ครั้งโดยไม่ต้องล้างออก ใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 3–4 สัปดาห์หรือตามอาการ สเปรย์จะครอบคลุมบริเวณที่มีอาการและซึมเข้าสู่ผิวหนังได้อย่างรวดเร็ว และไม่ทิ้งกลิ่นยาที่หนังศีรษะเหมือนการใช้แชมพู
  • ครีมที่มีส่วนผสมของคีโตโคนาโซล 2% ทาครีมบริเวณที่มีอาการวันละ 1–2 ครั้ง เป็นเวลา 2–4 สัปดาห์ โดยอาจทาครีมบริเวณที่มีอาการสัปดาห์ละ 1 ครั้งต่อเนื่องหลังจากอาการหายไปประมาณ 2–3 วัน เพื่อช่วยควบคุมอาการ
  • แชมพูที่มีส่วนผสมของคีโตโคนาโซล 2% กรณีป้องกันโรค ชโลมแชมพูบนหนังศีรษะที่เปียก 1–2 สัปดาห์ต่อครั้ง ทิ้งไว้ 3–5 นาที แล้วล้างออกให้สะอาด กรณีรักษาโรค ชโลมแชมพูบนหนังศีรษะที่เปียกสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2–4 สัปดาห์
  • โฟมที่มีส่วนผสมของคีโตโคนาโซล 2% ใช้บริเวณที่มีอาการวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์

3. โรคเกลื้อนและการติดเชื้อราที่ผิวหนัง

ตัวอย่างการใช้ยาคีโตโคนาโซล เพื่อรักษาโรคเกลื้อนหรือการติดเชื้อราที่ผิวหนัง

เด็ก

ปริมาณยาและระยะเวลาการใช้ยาต้องได้รับการพิจารณาจากแพทย์

ผู้ใหญ่

การใช้ยาคีโตโคนาโซลในรูปแบบสเปรย์ที่มีส่วนผสมของคีโตโคนาโซล 2% ให้พ่นสเปรย์บริเวณที่มีอาการวันละ 1–2 ครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยไม่ต้องล้างออก 

การใช้ยาชนิดทาหรือครีมที่มีส่วนผสมของยาคีตาโคนาโซล 2% ให้ทาลงบนผิวหนังบริเวณที่เป็นเกลื้อนและผิวหนังโดยรอบ วันละ 1–2 ครั้ง เป็นเวลา 2–3 สัปดาห์ เมื่ออาการหายดีแล้วควรใช้ต่อเนื่องไปอีกประมาณ 2–3 วัน ไม่ควรหยุดใช้ยาทันที 

กรณีที่เกิดเชื้อราบนหนังศีรษะ ให้ใช้สเปรย์ที่มีส่วนผสมของคีโตโคนาโซล 2 % วันละ 1 ครั้ง และควรใช้ต่อเนื่องสูงสุดไม่เกิน 5 วัน ส่วนการป้องกันเชื้อราบนหนังศีรษะ ให้ใช้สเปรย์ที่มีส่วนผสมของคีโตโคนาโซล 2 % พ่นวันละ 1 ครั้ง และควรใช้ต่อเนื่องสูงสุดไม่เกิน 3 วัน

KetoconazoleILP

4. การติดเชื้อราที่แพร่กระจายทั่วร่างกาย

ตัวอย่างการใช้ยาคีโตโคนาโซลเพื่อรักษาการติดเชื้อราที่แพร่กระจายทั่วร่างกาย เช่น กลากที่มือ บริเวณขาหนีบ หรือตามลําตัว และการติดเชื้อกลุ่มแคนดิดาที่ผิวหนัง

เด็ก

เด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป รับประทานยา 3.3–6.6 มิลลิกรัม/กิโลกรัม วันละ 1 ครั้ง จนกว่าจะหาย

ผู้ใหญ่

ให้รับประทานยา 200 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หากการตอบสนองของยาไม่เพียงพออาจเพิ่มปริมาณยาเป็น 400 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง 

การใช้ยาคีโตโคนาโซล

การใช้ยาคีโตโคนาโซลจะต้องใช้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือตามวิธีใช้บนฉลากอย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยามากกว่าหรือน้อยกว่าที่แพทย์แนะนำ และควรใช้ยาให้ครบตามกำหนดเวลาที่แพทย์แนะนำ เพราะหากใช้ยาไม่ครบตามเวลาที่กำหนดอาจทำให้อาการดีขึ้นจริงแต่การติดเชื้อยังคงอยู่  และอาจเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้ออื่น ๆ ที่ดื้อต่อยาต้านเชื้อรามากขึ้นด้วย

เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถใช้ยาได้อย่างปลอดภัย ผู้ป่วยอาจต้องตรวจเลือดก่อนใช้ยา และอาจต้องตรวจเลือดบ่อยครั้งในระหว่างใช้ยาด้วย เพื่อดูการทำงานของตับ เพราะตัวยาอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาเกี่ยวกับตับ หากใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ไม่ตอบสนองต่อยา มีอาการแพ้ยา หรือมีผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยาในปริมาณมากเกินไปเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์

การใช้ยาคีโตโคนาโซลในรูปแบบของยาทา ควรล้างมือทั้งก่อนและหลังการใช้ยา เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อกระจายไปตามส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย หรือแพร่ไปยังคนอื่น สำหรับการเก็บยาควรเก็บยาที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีความชื้น ความร้อน แสงแดด รวมถึงเก็บให้พ้นมือเด็ก

ปฏิกิริยาระหว่างยาคีโตโคนาโซลกับยาอื่น

ยาคีโตโคนาโซลอาจทำปฏิกิริยากับยา วิตามิน หรือสมุนไพรบางชนิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง โดยเฉพาะยาต่อไปนี้

  • ยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) เช่น ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) และยามิดาโซแลม (Midazolam) เพราะอาจเพิ่มฤทธิ์ของยาในการกดระบบประสาท และทำให้เกิดอาการง่วงซึมหรือรู้สึกตัวลดลง
  • ยาในกลุ่มเออร์กอต (Ergots) เช่น ยาเออร์โกตามีน (Ergotamine) ยาเออร์โกโนวีน (Ergonovine) เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเป็นพิษ ส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดศีรษะ หรือเกิดภาวะจิตเภท
  • ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ยาซิซาไพรด์ (Cisapride) ยาควินิดีน (Quinidine) เพราะอาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • ยาลดไขมันในเลือด เช่น ยาโลวาสแตติน (Lovastatin) ยาซิมวาสแตติน (Simvastatin) เพราะอาจทำให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ
  • ยาลดกรด เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพในการดูดซึมของยาลดลง โดยให้รับประทานยาลดกรดก่อนยาคีโตโคนาโซล 1 ชั่วโมง หรือหลังจากรับประทานยาคีโตโคนาโซล 2 ชั่วโมง

ตัวอย่างยาดังข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจทำปฏิกิริยากับยาคีโตโคนาโซลเท่านั้น หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาคีโตโคนาโซล

การใช้ยาคีโตโคนาโซลอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ต่อร่างกายได้ โดยผลข้างเคียงทั่วไปที่เกิดได้จากการใช้ยาในรูปแบบรับประทาน เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และปวดท้อง ส่วนผลข้างเคียงจากการใช้ยาในรูปแบบครีมหรือแชมพู อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อผิวหนัง เช่น มีอาการคัน ผิวหนังไหม้ ผิวหนังลอก หรือผิวหนังตกสะเก็ด

ส่วนผลข้างเคียงรุนแรงที่ควรรีบไปพบแพทย์ มีดังนี้

  • มีอาการปวดศีรษะพร้อมกับเจ็บหน้าอก วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม รวมถึงหัวใจเต้นแรงและเร็วกว่าปกติ
  • มีความผิดปกติที่เกี่ยวกับตับ โดยสังเกตได้จากการรู้สึกเจ็บปวดบริเวณท้องส่วนบน มีอาการคัน รู้สึกเหนื่อยอ่อน ร่างกายอ่อนเพลียผิดปกติ คลื่นไส้อาเจียน ไม่อยากอาหาร และปัสสาวะมีสีเข้ม
  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ มีไข้ มีอาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอ เจ็บหน้าอก และหายใจลำบาก