ค่าออกซิเจนในเลือด สำคัญอย่างไร ค่าเท่าไรจึงปกติ

ค่าออกซิเจนในเลือด คือค่าที่ใช้ระบุถึงปริมาณออกซิเจนที่ไหลเวียนอยู่ในเลือด โดยค่านี้ถือเป็นค่าสำคัญที่แพทย์มักใช้ตรวจและติดตามอาการในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ผู้ป่วยโรคหืด หรือผู้ป่วยโรคหัวใจ เนื่องจากค่าออกซิเจนในเลือดที่ต่ำผิดปกติอาจกำลังบ่งบอกถึงปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับปอดหรือระบบไหลเวียนโลหิตได้

ออกซิเจนเป็นก๊าซที่จะเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจเข้า ซึ่งหลังจากที่เข้าสู่ร่างกายแล้ว ออกซิเจนก็จะถูกลำเลียงไปสู่ปอด กระแสเลือด ไปจนถึงเซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกาย โดยเซลล์จะต้องการออกซิเจนไปใช้ในกระบวนการผลิตพลังงาน เพื่อให้ร่างกายนำใช้ไปกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ การขาดออกซิเจนจึงอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้

ค่าออกซิเจนในเลือด สำคัญอย่างไร ค่าเท่าไรจึงปกติ

ค่าออกซิเจนในเลือด ตรวจอย่างไร ค่าเท่าไรถึงเป็นปกติ

การตรวจค่าออกซิเจนในเลือดจะแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี ได้แก่ การนำตัวอย่างเลือดไปตรวจ และการใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ซึ่งจะมีขั้นตอนและค่าออกซินเจนที่เป็นปกติแตกต่างกัน ดังนี้

การนำตัวอย่างเลือดไปตรวจ

การตรวจค่าออกซิเจนในเลือดด้วยวิธีนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการตรวจที่เรียกว่า Arterial Blood Gas Analysis หรือการตรวจวิเคราะห์ก๊าซในเลือด ซึ่งเป็นวิธีที่ให้ผลตรวจที่ค่อนข้างแม่นยำ โดยนอกจากค่าออกซิเจนในเลือดแล้ว วิธีนี้ยังช่วยให้แพทย์ทราบถึงระดับคาร์บอนไดออกไซด์และความเป็นกรดด่างในเลือดอีกด้วย 

โดยค่าผลตรวจออกซิเจนในเลือดที่บ่งบอกถึงสุขภาพที่เป็นปกติอาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับสุขภาพและโรคประจำตัวของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้แจ้งให้ผู้ป่วยทราบ แต่โดยส่วนใหญ่ สำหรับผู้ที่มีสุขภาพปกติ ค่าที่เหมาะสมมักอยู่ที่ประมาณ 80–100 mm Hg

การวัดออกซิเจนปลายนิ้ว

การวัดค่าออกซิเจนในเลือดด้วยวิธีนี้เป็นวิธีที่ค่อนข้างสะดวกกว่า เพียงนำอุปกรณ์ติดที่ปลายนิ้ว และผู้ป่วยสามารถทำได้เองที่บ้าน แต่ผลที่ได้อาจจะไม่แม่นยำเท่ากับการนำตัวอย่างเลือดไปตรวจ และมักระบุได้เพียงค่าออกซิเจนในเลือดและอัตราการเต้นของหัวใจเท่านั้น

โดยค่าออกซิเจนที่เป็นปกติสำหรับวิธีการตรวจนี้จะอยู่ระหว่าง 96%–100% ทั้งนี้ ปัจจัยบางอย่างอาจส่งผลให้ผลการตรวจมีความคลาดเคลื่อนได้ง่าย เช่น การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่หนาวเย็น การทาเล็บสีเข้ม หรือร่างกายมีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต

ใครบ้างที่แพทย์มักแนะนำให้ตรวจค่าออกซิเจนในเลือด

โดยปกติแล้ว ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงปกติและไม่มีโรคประจำตัวมักไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจค่าออกซิเจนในเลือด โดยกลุ่มผู้ที่แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจค่าออกซิเจนในเลือด ได้แก่

  • ผู้ป่วยโควิด–19 
  • ผู้ป่วยปอดบวม
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาเกินขนาด
  • ผู้ที่มีอาการอาเจียนในปริมาณมากติดต่อกันหลายครั้ง
  • ผู้ที่มีอาการหายใจไม่อิ่ม หรือรู้สึกเจ็บหน้าอก
  • ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุบริเวณศีรษะหรือลำคอ
  • ผู้ที่สูดดมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไปในปริมาณมาก

นอกจากนี้ แพทย์ยังใช้การตรวจค่าออกซิเจนในเลือดเพื่อติดตามอาการและผลการรักษาในผู้ป่วยบางกลุ่มอีกเช่นกัน เช่น ผู้ป่วยโรคหืด ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือผู้ป่วยที่อยู่ในห้องดูแลผู้ป่วยหนัก (Intensive Care Units: ICU)

ทั้งนี้ การตรวจค่าออกซิเจนในเลือดเป็นเพียงวิธีที่แพทย์มักใช้ในการตรวจร่างกายเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถวินิจฉัยถึงสาเหตุที่แท้จริงได้ และแพทย์ยังต้องใช้วิธีการตรวจด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย

ดังนั้น ผู้ที่ใช้เครื่องวัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วที่พบว่าค่าออกซิเจนต่ำกว่าปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติม โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการบางอย่างร่วมด้วย เช่น หายใจไม่อิ่ม หัวใจเต้นเร็ว ปวดศีรษะ รู้สึกสับสน หายใจมีเสียงหวีด หายใจหอบถี่ ไอ เหงื่อออกผิดปกติ หรือผิวหนัง เล็บ และริมฝีปากมีสีออกแดงหรือสีฟ้า