จมูกไม่ได้กลิ่น

ความหมาย จมูกไม่ได้กลิ่น

จมูกไม่ได้กลิ่น (Anosmia) คือ การสูญเสียการรับกลิ่นเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด อาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ทั้งชั่วคราวและถาวร โดยมักเกิดจากการระคายเคืองของจมูก ซึ่งส่วนมากผู้ที่เผชิญภาวะจมูกไม่ได้กลิ่นมักจะไม่มีความอยากอาหาร จึงทำให้น้ำหนักลดลง มีภาวะทุพโภชนาการ หรืออาจเป็นโรคซึมเศร้า เนื่องจากสูญเสียการรับกลิ่นหรือการรับรู้รสชาติของอาหาร

Anosmia

อาการของจมูกไม่ได้กลิ่น

อาการที่ชัดเจน คือ สูญเสียการรับรู้กลิ่นต่าง ๆ เช่น กลิ่นอาหาร กลิ่นดอกไม้ เป็นต้น โดยผู้ป่วยอาจไม่สามารถรับรู้กลิ่นได้เลย หรืออาจรับรู้กลิ่นต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปถึงการรับรู้รสชาติที่น้อยลงได้ด้วย

จมูกไม่ได้กลิ่นมักเป็นอาการที่ไม่รุนแรงและเกิดขึ้นชั่วคราว แต่อาจกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้ ในบางกรณีอาจก่อให้เกิดอันตรายหากกลิ่นที่ไม่รับรู้นั้นเป็นสัญญาณเตือนถึงสถานการณ์สำคัญต่าง ๆ เช่น กลิ่นก๊าซรั่ว กลิ่นควันไฟ กลิ่นนมเปรี้ยว เป็นต้น ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือมีปัญหาเรื้อรังเกี่ยวกับการดมกลิ่นควรรีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะหากมีอาการจมูกไม่ได้กลิ่นโดยที่ไม่ได้ป่วยเป็นหวัดหรือภูมิแพ้ และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์

สาเหตุของจมูกไม่ได้กลิ่น

จมูกไม่ได้กลิ่นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ส่วนมากเป็นผลมาจากการบวมและอุดตันภายในจมูก บางครั้งอาจเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับการส่งสัญญาณจากเส้นประสาทในจมูกไปยังสมอง ซึ่งอาจมีสาเหตุที่พบได้บ่อย ดังนี้

การระคายเคืองเยื่อเมือกในจมูก มักเป็นผลมาจากอาการหวัด จนส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียการรับรู้กลิ่นบางส่วนหรือชั่วคราว แต่อาการมักจะหายได้เอง หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อบริเวณโพรงอากาศข้างจมูกหรือไซนัส โรคไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ และการสูบบุหรี่

การอุดตันในจมูก เป็นผลมาจากช่องจมูกถูกปิดกั้นและอุดตัน โดยอาจเกิดจากเนื้องอก ติ่งเนื้อ กระดูกในจมูกหรือผนังกั้นจมูกมีลักษณะผิดรูป

สมองและเส้นประสาทเสียหาย ผู้ป่วยอาจมีอาการจมูกไม่ได้กลิ่นเนื่องจากประสาทรับกลิ่นในช่องจมูกส่วนใดส่วนหนึ่งได้รับความเสียหาย ส่งผลให้การส่งสัญญาณผ่านเส้นประสาทไปยังสมองได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุเพิ่มมากขึ้น โรคอัลไซเมอร์ โรคฮันติงตัน (Huntington’s Disease) ที่เกิดจากพันธุกรรมผิดปกติซึ่งทำให้ระบบประสาทเสื่อม ความผิดปกติของฮอร์โมน ภาวะทุพโภชนาการ การใช้ยาบางชนิดอย่างยาปฏิชีวนะหรือยารักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคลมชัก โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกในสมอง การผ่าตัดสมอง เป็นต้น

สาเหตุอื่น ๆ อาจเป็นผลมาจากการรักษาด้วยรังสีในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งศีรษะและลำคอ การสูบบุหรี่ หรือการใช้สารเสพติดอย่างโคเคน

การวินิจฉัยจมูกไม่ได้กลิ่น

จมูกไม่ได้กลิ่นถือเป็นอาการที่ประเมินยาก โดยเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามอาการล่าสุดที่เกิดขึ้นและความผิดปกติในการได้กลิ่น ซึ่งมักใช้การส่องกล้องเพื่อตรวจจมูก และอาจวัดระดับความสามารถในการรับกลิ่นของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยเปรียบเทียบความแตกต่าง ระบุ แยกแยะกลิ่น หรืออาจให้ทดสอบรสชาติของอาหาร รวมถึงอาจตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมตามความเสี่ยงของผู้ป่วย ดังนี้

  • การส่องกล้องในจมูก เพื่อตรวจหาติ่งเนื้อหรือการติดเชื้อที่อาจส่งผลให้การรับรู้กลิ่นหายไป
  • การเอกซเรย์ (X-Ray) เพื่อตรวจหาความผิดปกติบริเวณกะโหลกศีรษะ
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (CT Scan) เพื่อดูรายละเอียดต่าง ๆ ของสมองหรือบริเวณที่คาดว่าได้รับความเสียหาย
  • การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) โดยใช้คลื่นวิทยุร่วมกับคลื่นสนามแม่เหล็กแรงสูงเพื่อถ่ายภาพตรวจหาความผิดปกติบริเวณสมอง

การรักษาจมูกไม่ได้กลิ่น

การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของผู้ป่วย หากอาการเกิดจากหวัด ภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบ อาการอาจหายไปเองโดยไม่ต้องรับการรักษา หรืออาจใช้ยาลดน้ำมูกเพื่อช่วยให้หายใจได้สะดวก แต่หากอาการไม่หายไปภายใน 2-3 วัน ผู้ป่วยก็ควรไปพบแพทย์

เมื่อไปพบแพทย์ ผู้ป่วยอาจต้องรับการรักษาต่างกันไปตามสาเหตุ หากจมูกไม่ได้กลิ่นจากการระคายเคืองเยื่อเมือกในจมูก แพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการแพ้ เช่น ให้หยุดสูบบุหรี่ หรือหยุดใช้ยาบางชนิด เป็นต้น รวมทั้งอาจใช้ยารักษาตามอาการของผู้ป่วย เช่น ยาปฏิชีวนะสำหรับรักษาอาการติดเชื้อ ยาแก้คัดจมูก ยาพ่นจมูก เป็นต้น

นอกจากนี้ หากเกิดการอุดตันในจมูกอย่างการเกิดริดสีดวงจมูกหรือมีเนื้องอกขนาดใหญ่ อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาสำหรับผู้ที่ป่วยอาการจมูกไม่ได้กลิ่นมาตั้งแต่กำเนิด

ภาวะแทรกซ้อนของจมูกไม่ได้กลิ่น

ผู้ที่มีอาการจมูกไม่ได้กลิ่นมักไม่มีความอยากอาหารจนทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ น้ำหนักตัวลดลง หรือมีความรู้สึกหดหู่ที่อาจนำไปสู่อาการซึมเศร้า ส่วนผู้ป่วยสูงวัยก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการจมูกไม่ได้กลิ่นอย่างถาวรจากระบบประสาทเสื่อมได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรระมัดระวังในเรื่องต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายด้วย เช่น เมื่อเก็บอาหารก็ควรติดฉลากวันหมดอายุไว้ ก่อนใช้สารเคมีทำความสะอาดหรือยาฆ่าแมลงก็ควรอ่านฉลากแนะนำวิธีการใช้งาน และระมัดระวังในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

การป้องกันจมูกไม่ได้กลิ่น
การป้องกันภาวะจมูกไม่ได้กลิ่นอาจทำได้เพียงบางส่วน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการหวัด และการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้จมูกไม่ได้กลิ่น เช่น ล้างมือเป็นประจำ ล้างมือหลังสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ในที่สาธารณะ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ที่มีอาการหวัดหรือเป็นไข้ เป็นต้น