จัดฟัน รู้จักการเตรียมตัว ขั้นตอน และข้อมูลที่ควรทราบก่อนจัดฟัน

การจัดฟันคือกระบวนการติดเครื่องมือจัดฟันซึ่งจะทำให้เกิดแรงกดลงไปที่ฟัน ซึ่งจะทำให้ฟันเกิดการเคลื่อนย้ายไปในทิศทางที่ต้องการจนค่อย ๆ ขยับเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบ และช่วยในเรื่องการสบกันของฟันบนกับฟันล่าง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสวยงามของฟัน ทำให้พูดหรือยิ้มได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น

การจัดฟันมีหลายประเภท แต่ละประเภทจะแตกต่างกันที่วัสดุและลักษณะของเครื่องมือที่ใช้จัดฟัน เช่น การจัดฟันแบบโลหะ และการจัดฟันแบบถอดได้ โดยทันตแพทย์จะเป็นผู้ประเมินลักษณะของฟัน เพื่อวางแผนการจัดฟันและเตรียมสภาพช่องปากสำหรับการจัดฟัน 

จัดฟัน

ความสำคัญของการจัดฟัน

การมีฟันเก ฟันที่เรียงซ้อนกัน หรือฟันที่สบกันไม่พอดี รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับขากรรไกรที่ส่งผลต่อการเคี้ยวอาหาร ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ประสิทธิภาพในการเคี้ยวอาหารลดลง และยังเป็นอุปสรรคต่อการทำความสะอาด ส่งผลต่อสุขภาพทางช่องปากและฟันตามมา ซึ่งสาเหตุของฟันที่สบกันไม่พอดีนี้อาจมาจากการชอบดูดนิ้วตอนเด็ก การถอนฟันแท้ในช่วงก่อนโตเป็นผู้ใหญ่ หรือเกิดจากพันธุกรรม

ดังนั้น การจัดฟันจึงมีผลดีต่อสุขภาพช่องปากและฟัน เพราะเมื่อฟันเรียงตัวกันอย่างมีระเบียบ การทำความสะอาดจะง่ายขึ้น ช่วยป้องกันการเกิดฟันผุและโรคเหงือก นอกจากนี้ ฟันที่สบกันสนิทจะทำให้เคี้ยวอาหารได้อย่างละเอียด ทั้งยังสามารถแก้ปัญหาเกี่ยวกับการพูดที่เกิดจากการสบของฟัน

วัยที่เหมาะสมสำหรับการจัดฟัน

ไม่ว่าอายุเท่าใดก็สามารถจัดฟันได้ แต่ทันตแพทย์มักแนะนำให้เด็กอายุ 7 ปีเข้ารับการตรวจฟันเพื่อดูว่ามีปัญหาที่ควรแก้ไขด้วยการจัดฟันหรือไม่ การตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้แก้ไขง่ายขึ้น เนื่องจากกระดูกของเด็กยังมีการเติบโตและพัฒนาไม่เต็มที่ 

1. การจัดฟันในเด็ก

การจัดฟันในเด็กแบ่งเป็น 2 ระยะด้วยกัน คือ

การจัดฟันระยะที่ 1
การจัดฟันระยะที่ 1 จะทำในช่วงอายุ 7 ปี โดยเป็นการตรวจรักษาปัญหาการสบฟันหรือมีฟันซ้อนกันคับแน่น เช่น เด็กที่มีปัญหาขากรรไกรบนแคบ ทำให้ฟันแน่นซ้อนกันมากจึงสบไม่พอดีกับขากรรไกรล่าง สามารถรักษาด้วยการใช้เครื่องมือขยายขากรรไกรบนเพื่อช่วยให้ขากรรไกรสบกันได้ดีขึ้น แต่เครื่องมือนี้สามารถใช้ได้เฉพาะในช่วงอายุที่กระดูกยังปรับเปลี่ยนได้ง่าย

ทั้งนี้ ในระยะที่ 1 ทันตแพทย์จะให้เด็กใส่เครื่องมือสำหรับจัดฟันทันทีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี หลังจากนี้จึงพักการจัดฟันระยะที่ 1 ไว้เพื่อรอให้ฟันแท้ขึ้นมาแทนฟันน้ำนม จึงจะเริ่มการจัดฟันระยะที่ 2 ต่อไป

การจัดฟันอีกครั้งในระยะที่ 2
การจัดฟันในระยะนี้จะทำเมื่ออายุประมาณ 12–13 ปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ฟันแท้ขึ้นครบสมบูรณ์และสามารถให้เด็กใส่เหล็กจัดฟันบนฟันแท้ทั้งหมดได้แล้ว แต่หากเลยช่วงเวลาของการจัดฟันทั้ง 2 ระยะไปแล้ว การรักษาด้วยการจัดฟันแบบระยะที่ 2 เพียงอย่างเดียวก็ถือว่าเพียงพอและได้ผลเช่นกัน ยกเว้นกรณีที่มีฟันขึ้นซ้อนกันมากก็อาจจำเป็นต้องถอนฟัน เพื่อให้ฟันมีพื้นที่ในการขยับเรียงตัว

นอกจากการถอนฟัน ก็ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยเพิ่มพื้นที่ในปากได้ คือการตะไบฟัน โดยทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือในการช่วยให้รูปร่างและขนาดด้านข้างของฟันเล็กลง เกิดพื้นที่ให้ฟันขยับตัวและสามารถจัดฟันได้ ทั้งนี้การตะไบฟันจะใช้เฉพาะกับกรณีที่มีฟันซ้อนเกไม่มากเท่านั้น

2. การจัดฟันในผู้ใหญ่

การจัดฟันเป็นวิธีแก้ไขปัญหาการสบกันของฟันหรือการเรียงตัวของฟันที่ใคร ๆ ก็สามารถรับการรักษาได้ การจัดฟันในผู้ใหญ่สามารถทำได้เรื่อย ๆ ไม่จำกัดอายุ ซึ่งแม้จะใช้เวลาในการจัดฟันมากกว่าการจัดฟันในเด็ก แต่ก็ส่งผลให้ฟันเป็นระเบียบและสบกันสนิทได้เช่นเดียวกัน โดยผู้ที่มีปัญหาสามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดฟัน เพื่อพิจารณาและตรวจว่าควรจัดฟันหรือไม่

ประเภทของเครื่องมือจัดฟัน

ปัจจุบันเครื่องมือจัดฟันมีหลากหลายประเภท แตกต่างกันที่วัสดุหรือลักษณะการติดเครื่องมือจัดฟันลงบนฟัน ซึ่งการเลือกใช้ก็อาจขึ้นอยู่กับข้อคำนึงด้านความสวยงาม ราคาค่าใช้จ่าย และความเสี่ยงต่อการแพ้วัสดุจัดฟันที่ใช้ โดยลักษณะของเครื่องมือจัดฟันอาจแบ่งเป็นประเภทดังต่อไปนี้

เครื่องมือจัดฟันแบบโลหะ (Metal Braces)

เครื่องมือจัดฟันแบบโลหะเป็นวิธีการจัดฟันที่นิยมใช้กันมากที่สุด โดยจะใช้กาวพิเศษสำหรับจัดฟันยึดติดแบร็คเก็ตที่เป็นโลหะลงบนฟันแต่ละซี่ แล้วใส่ลวดไปตามแบร็คเก็ตนี้ สุดท้ายใช้ห่วงยางเล็ก ๆ ที่ยืดหยุ่นได้ติดเพื่อป้องกันไม่ให้ลวดจัดฟันหลุด เครื่องมือที่ติดลงไปบนฟันนี้จะกดให้ฟันเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่ต้องการทีละนิด

เครื่องมือจัดฟันแบบสีเหมือนฟัน (Ceramic Braces)
เครื่องมือจัดฟันแบบสีเหมือนฟันจะใช้แบร็คเก็ตและลวดที่มีสีกลมกลืนกับฟันทำจากเซรามิก ประกอบกับยางรัดฟันที่มีสีใส ส่งผลให้ฟันมีความสวยงามมากกว่า เนื่องจากสังเกตเห็นถึงการจัดฟันได้ยาก แต่ข้อเสียของเครื่องมือจัดฟันแบบเซรามิกก็คือมีความคงทนน้อยกว่าชนิดแรก จึงง่ายต่อการแตกหัก

เครื่องมือจัดฟันแบบไม่ต้องรัดยาง (Self-ligating)
เป็นการใช้เครื่องมือติดฟันแบบที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยางรัดเพื่อยึดลวดไว้ ผู้ที่จัดฟันชนิดนี้จะไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนยางทุก ๆ เดือนอย่างการจัดฟันแบบใช้ยางยึด

เครื่องมือจัดฟันด้านใน (Lingual Braces)
การจัดฟันรูปแบบนี้มีความแตกต่างจากเครื่องมือแบบโลหะและเซรามิกที่เครื่องมือชนิดนี้จะติดเข้าที่ด้านในของฟัน เพื่อไม่ให้เห็นเครื่องมือจัดฟัน จึงนับว่ามีข้อดีต่อความสวยงามของฟัน ไม่ต้องมีอุปกรณ์จัดฟันมากวนใจเวลาพูดหรือยิ้ม ส่วนระยะเวลาการดำเนินการจัดฟันทั้งหมดจะพอ ๆ กับการจัดฟันด้านนอก แต่การไปพบทันตแพทย์จัดฟันเพื่อติดหรือเปลี่ยนเครื่องมือในแต่ละครั้งนั้นมักต้องใช้เวลานานกว่า

เครื่องมือจัดฟันแบบใส (Clear Aligners)
วัสดุที่ใช้ทำเครื่องมือสำหรับการจัดฟันชนิดนี้เป็นพลาสติกแบบใส รูปร่างพอดีสำหรับใส่ครอบฟันไว้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้แบร็คเก็ตหรือลวดยึดติดบนฟัน แต่ต้องไปพบทันตแพทย์เพื่อเปลี่ยนเครื่องมือทุก ๆ 2–3 สัปดาห์

การจัดฟันแบบใสเป็นการจัดฟันที่ผู้จัดฟันจะค่อนข้างรู้สึกสบายในขณะที่ใส่เครื่องมือ แต่ก็มีข้อจำกัดที่การหมุนหรือเอียงฟันเป็นไปตามทิศทางของเครื่องมือเท่านั้น ในขณะที่เครื่องมือจัดฟันแบบติดลงบนฟันจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวหรือขยับเรียงตัวของฟันได้ทุกทิศทางตามต้องการ

เครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้ (Removable Appliance)
เครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้มักใช้ในการจัดฟันระยะที่ 1 ของเด็กที่ยังไม่พร้อมสำหรับการจัดฟันด้วยการติดเครื่องมือชนิดอื่น โดยจะช่วยปรับฟันบนด้านหน้าที่ยื่นผิดปกติด้วยการติดเครื่องมือนี้ หรือขยับฟันที่ขากรรไกรล่าง ส่งผลให้ฟันและขากรรไกรขยับตัวอยู่ในตำแหน่งที่ดีขึ้น

นอกเหนือจากการใช้เครื่องมือจัดฟันเหล่านี้ คนไข้บางรายที่ขากรรไกรบนหรือขากรรไกรล่างยื่นออกมาจนการสบของฟันไม่เท่ากัน ก็อาจจำเป็นต้องใช้การผ่าตัดศัลยกรรมเพิ่มเติม เพื่อให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น

การเตรียมตัวก่อนจัดฟัน

ขั้นตอนก่อนการติดเครื่องมือจัดฟันอาจมีดังนี้

1. การตรวจสุขภาพช่องปาก
ทันตแพทย์จัดฟันจะตรวจดูฟันรวมถึงขากรรไกรและปาก หากพบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพปากหรือฟัน เช่น มีฟันผุ มีคราบหินปูน ต้องรักษาให้เรียบร้อยก่อนเริ่มจัดฟัน

2. การเอกซเรย์ฟัน
การถ่ายภาพเอกซเรย์ดูตำแหน่งของกระดูกฟัน โดยมักใช้การถ่ายภาพเพื่อดูการสบกันของฟันบนและฟันล่าง รวมทั้งให้เห็นถึงฟันคุดซึ่งอาจยังไม่โผล่พ้นเหงือกหรือเติบโตออกมาไม่เต็มที่ นอกจากนี้ยังอาจใช้เครื่องเอกซเรย์พิเศษเพื่อดูขนาด ตำแหน่ง และความสัมพันธ์ของขากรรไกรกับฟัน

3. การพิมพ์ฟัน
ทันตแพทย์ผู้จัดฟันจะใช้วัสดุที่ทำจากปูนปลาสเตอร์ให้ผู้เข้ารับการจัดฟันกัด ซึ่งวัสดุนี้จะมีความนิ่มขณะกัด แต่จะแข็งตัวลงเมื่อนำออกมาจากปาก พิมพ์ฟันที่ถูกหล่อขึ้นนี้จะช่วยให้สามารถประเมินการรักษาได้ง่าย เนื่องจากมีรูปร่างและลักษณะเหมือนฟันจริงสำหรับดูประกอบ คลินิกหรือโรงพยาบาลจัดฟันบางแห่งยังอาจมีเครื่องสแกนพิมพ์ฟันเพื่อใช้ประเมินการรักษาร่วมด้วย

4. การถอนฟัน
ในกรณีที่มีฟันซ้อนมากในช่องปาก การถอนฟันอาจมีความจำเป็น เพื่อช่วยให้มีพื้นที่ในการจัดและเคลื่อนย้ายฟันได้สะดวกยิ่งขึ้น

ขั้นตอนการจัดฟัน

ในขั้นตอนการจัดฟัน ทันตแพทย์จะติดวัสดุจัดฟันเข้าไปในปาก ซึ่งการจัดฟันโดยปกติมักประกอบด้วยอุปกรณ์ต่อไปนี้

แบร็คเก็ต
แบร็คเก็ตเป็นอุปกรณ์เล็ก ๆ ที่ติดไว้บริเวณด้านหน้าฟันหรือติดด้านหลังในกรณีที่ไม่ต้องการให้ผู้อื่นสังเกตเห็นการจัดฟัน แต่อาจทำให้ทันตแพทย์จัดฟันเข้าถึงอุปกรณ์ได้ยาก แบร็คเก็ตนี้จะถูกติดไว้กับฟันโดยใช้กาวชนิดพิเศษ เพื่อเป็นตัวยึดสำหรับลวดจัดฟันซึ่งทำหน้าที่ดันให้ฟันขยับตัวอีกที

แบร็คเก็ตมีหลายประเภทแบ่งตามวัสดุที่ใช้ทำ เช่น โลหะ เซรามิกสีเหมือนฟัน หรือพลาสติก โดยทั้ง 3 ชนิดนี้เป็นแบร็คเก็ตที่มักนำมาใช้ เนื่องจากจะทำให้การจัดฟันไม่ดูสะดุดตาจนเกินไป และปัจจุบันยังมีการพัฒนาให้มีขนาดเล็กลงเพื่อให้ยากต่อการสังเกตเห็นขึ้นเรื่อย ๆ

แบนด์และลวดจัดฟัน
แบนด์จัดฟันหรือวงแหวนครอบฟันอาจทำจากโลหะหรือไทเทเนียม โดยก่อนใส่จะต้องแยกฟันกรามด้วยการใส่ยางแยกฟันขนาดเล็กที่ระหว่างฟันกราม จากนั้นใช้แบนด์จัดฟันใส่ล้อมรอบฟันกรามเหล่านี้ไว้แล้วยึดด้วยกาวจัดฟัน และในฟันกรามซี่ในสุดจะติดท่อเล็ก ๆ เข้ากับแบนด์นี้ด้วย เพื่อยึดลวดจัดฟันและแบร็คเก็ตไว้

แบนด์จัดฟันนี้อาจไม่จำเป็นต้องใช้กับทุกคน ผู้รับการจัดฟันบางคนอาจติดเพียงแบร็คเก็ตเท่านั้น ส่วนลวดจัดฟันจะใช้เชื่อมแบร็คเก็ตและแบนด์จัดฟันเข้าด้วยกัน และมีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวหรือขยับตัวของฟัน

อุปกรณ์อื่น ๆ
แพทย์ผู้จัดฟันอาจใช้อุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อช่วยในการจัดตำแหน่งของฟัน เช่น ยางขนาดเล็กติดไว้บนแบร็คเก็ตเพื่อยึดลวดจัดฟันไม่ให้หลุดออกจากแบร็คเก็ต หรือยางที่มีขนาดใหญ่ขึ้นช่วยในการเคลื่อนที่ของฟันด้วย

ส่วนผู้ที่จัดฟันโดยใช้เครื่องมือแบบใสและเครื่องมือชนิดถอดได้จะมีวิธีการติดที่แตกต่างออกไป โดยไม่ใช้อุปกรณ์จัดฟันดังข้างต้น แต่จะมีการเปลี่ยนเครื่องมือเป็นระยะไม่ต่างจากเครื่องมือชนิดติดลงบนฟันข้างต้น

การดูแลหลังจัดฟัน

หลังจากติดอุปกรณ์จัดฟันต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว มีวิธีการดูแลฟัน ดังนี้

การพบทันตแพทย์ตามนัด
ทันตแพทย์จะนัดหมายให้ผู้ที่จัดฟันไปพบทุก ๆ เดือน ซึ่งในแต่ละครั้งจะค่อย ๆ ดึงหรือปรับการเรียงตัวของฟันด้วยเครื่องมือและลวดจัดฟันดังกล่าวไปแล้ว หรือบางครั้งก็ดึงระหว่างขากรรไกรล่างกับขากรรไกรบน โดยใช้ยางที่ยืดหยุ่นได้ยึดดึงฟันบนและฟันล่างที่อยู่ตรงข้ามกันเข้าด้วยกัน

ข้อสำคัญคือผู้เข้ารับการจัดฟันควรไปตามกำหนดนัดของทันตแพทย์จัดฟันในทุก ๆ เดือนเพื่อตรวจดูว่าเครื่องมือยังติดแน่นอยู่บนฟันหรือไม่ และเพื่อให้แพทย์เปลี่ยนเครื่องมือและจัดทิศทางของฟันได้อย่างเหมาะสม 

ในการเข้ารับการจัดฟันตามการนัดแต่ละครั้ง อาจเกิดอาการเจ็บปวดในช่วง 1–2 วันแรกหลังการเปลี่ยนหรือดึงเครื่องมือได้เป็นธรรมดา สามารถบรรเทาได้ด้วยการใช้ยาแก้ปวด และหากรู้สึกเจ็บปวดรุนแรงหรือมีอาการแย่ลงอย่างผิดปกติ ควรต้องแจ้งให้แพทย์ผู้จัดฟันทราบ

อย่างไรก็ดี ระยะเวลาจัดฟันของแต่ละคนย่อมไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัญหาเกี่ยวกับฟันของแต่ละคน ระยะห่างที่ฟันต้องเคลื่อนที่ไปเรียงตัว สุขภาพเหงือก ฟัน และกระดูกที่รองรับฟัน รวมถึงวินัยของผู้เข้ารับการจัดฟันที่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ซึ่งโดยเฉลี่ยผู้เข้ารับการจัดฟันมักติดเครื่องมือเป็นเวลา 1–3 ปี จากนั้นจึงใส่อุปกรณ์ที่เรียกว่ารีเทนเนอร์เพื่อช่วยรักษาการเรียงตัวของฟันต่อไป

การใส่รีเทนเนอร์ (Teeth Retainer)
หลังจากการจัดฟันสำเร็จเรียบร้อยจนฟันเรียงตัวสวยงาม อุปกรณ์ต่าง ๆ จะถูกถอดออกไป แต่ฟันที่เพิ่งเข้ารูปใหม่จะยังไม่มั่นคงและสามารถเคลื่อนย้ายกลับไปไม่เป็นระเบียบอย่างเดิม จึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ที่ทำขึ้นจากพลาสติกล้วนหรือพลาสติกพร้อมลวดยึดฟันที่เรียกว่า รีเทนเนอร์ เพื่อคงรูปตำแหน่งฟันที่เป็นระเบียบนั้นไว้ 

รีเทนเนอร์นี้มีทั้งชนิดที่สามารถถอดออกได้และยึดติดกับฟัน แต่ในบางรายทันตแพทย์จัดฟันอาจให้ใช้ทั้งสองชนิดประกอบกัน ทั้งนี้ ระยะเวลาของการใส่รีเทนเนอร์จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ ทันตแพทย์จัดฟันบางคนอาจแนะนำให้ใส่ตลอดเวลาในช่วง 6 เดือนแรกหลังจากจัดฟันเสร็จ จากนั้นจึงใส่เฉพาะตอนนอนอีกหลาย ๆ ปี หรืออาจต้องใส่ไปเรื่อย ๆ เพื่อคงให้ฟันเรียงตัวสวยงาม

ผู้ที่จัดฟันต้องมีวินัยและปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์เพื่อให้ผลการจัดฟันเป็นไปตามที่วางไว้ ไม่ต้องเสียเวลานานขึ้น โดยเฉพาะในช่วงของการใส่รีเทนเนอร์ที่มีความสำคัญมาก เพราะหากไม่ใส่อย่างสม่ำเสมอ ฟันอาจเคลื่อนตัวกลับไปเกเหมือนเดิม จนทำให้ผลการจัดฟันทั้งหมดที่ทำมาสูญเปล่า

ผลข้างเคียงหลังการจัดฟัน

การใส่เหล็กจัดฟันค่อนข้างมีความปลอดภัย แต่ก็มีความเสี่ยงบางประการ ดังนี้

ความเสี่ยงระยะสั้น
อุปกรณ์จัดฟันอาจทำให้เกิดพื้นที่เล็ก ๆ รอบฟันที่ง่ายต่อการสะสมของอาหาร และการเพิ่มของคราบจุลินทรีย์และแบคทีเรีย ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียแร่ธาตุบนผิวชั้นเคลือบฟันจนเกิดคราบขาวถาวรหลงเหลือทิ้งไว้หลังจากกการนำเหล็กออก รวมทั้งปัญหาฟันผุและโรคเหงือกที่อาจตามมา

ความเสี่ยงระยะยาว
ความยาวของรากฟันลดลง เนื่องจากในขณะที่ฟันมีการเคลื่อนไหว กระดูกในบริเวณที่ฟันเคลื่อนที่จะหายไป เกิดกระดูกใหม่มาแทน ในกระบวนการนี้เองที่อาจเกิดการสูญเสียรากฟันไปอย่างถาวร เป็นสาเหตุของฟันที่ไม่แข็งแรงตามมา อย่างไรก็ตาม ฟันที่ไม่มั่นคงนี้ส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดปัญหาใด ๆ

ความเสี่ยงอีกประการหนึ่งคือฟันกลับไปเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ เกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผู้รับการจัดฟันไม่ทำตามคำแนะนำของทันตแพทย์หลังจากนำเครื่องมือจัดฟันออกไปแล้ว โดยเฉพาะการไม่ใส่รีเทนเนอร์อย่างสม่ำเสมอ ที่จะนำไปสู่การเรียงตัวของฟันที่ผิดไปจากเดิม ทำให้อาจต้องรักษาด้วยการจัดฟันใหม่อีกครั้ง

ข้อปฏิบัติขณะใส่เครื่องมือจัดฟัน

ผลข้างเคียงข้างต้นไม่น่าวิตกกังวลแต่อย่างใดหากใส่ใจดูแลรักษาฟันตามข้อปฏิบัติต่อไปนี้

ดูแลความสะอาดภายในช่องปาก
ผู้ที่จัดฟันควรดูแลความสะอาดของช่องปาก ดังนี้

  • แปรงฟันให้ทั่วถึง ควรแปรงหลังมื้ออาหารทุกครั้ง เพื่อกำจัดเศษอาหารที่มักติดตามเครื่องมือจัดฟันหรือซอกฟัน ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ และใช้แฟรงสีฟันขนนุ่ม แต่หากไม่สามารถแปรงฟันได้ควรใช้น้ำบ้วนหรือล้างปาก
  • บ้วนปากให้สะอาด เพื่อให้เศษอาหารชิ้นเล็กชิ้นน้อยออกจากซอกอุปกรณ์จัดฟันให้หมด และควรส่องดูกระจกให้แน่ใจว่าฟันสะอาดดีแล้ว
  • ใช้ไหมขัดฟันขัดระหว่างซอกเครื่องมือจัดฟันและใต้ลวดจัดฟัน นอกจากนี้ ทันตแพทย์จัดฟันยังอาจแนะนำให้ใช้แปรงซอกฟันที่มีขนาดเล็กเพื่อทำความสะอาดซอกฟันบริเวณที่ติดกับอุปกรณ์จัดฟัน
  • เปลี่ยนแปรงสีฟันทุก 3 เดือนหรือทันทีที่ขนแปรงเริ่มบานหลุดลุ่ย เนื่องจากจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำความสะอาดของแปรง
  • ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีฟลูออไรด์ในกรณีที่ทันตแพทย์หรือแพทย์ที่จัดฟันให้แนะนำให้ใช้

ปรับพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อฟัน
ผู้ที่จัดฟันควรเลือกรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม โดยลดอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลลง เนื่องจากเป็นสาเหตุของการเกิดคราบจุลินทรีย์และทำให้ฟันผุ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเหนียว ๆ เช่น หมากฝรั่ง ลูกอมแบบเคี้ยวที่อาจทำให้แบร็คเก็ต ลวดจัดฟัน และอุปกรณ์อื่น ๆ หลุดออกมาได้ รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารชนิดแข็ง ได้แก่ น้ำแข็ง ลูกอม ป๊อปคอร์นและถั่วต่าง ๆ ที่จะทำให้เครื่องมือจัดฟันเสียหายหรือหลุดได้

นอกจากนี้ ควรสวมฟันยางเมื่อทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่อาจเป็นอันตรายเพื่อป้องกันไม่ให้ปากและขากรรไกรได้รับบาดเจ็บ

ดูแลฟันตามคำแนะนำของทันตแพทย์
ผู้ที่ตัดฟันควรทำตามคำแนะนำของทันตแพทย์ผู้จัดฟันอย่างเคร่งครัด การไม่ไปพบหรือปฏิบัติตามข้อแนะนำอาจยิ่งทำให้การจัดฟันต้องเวลายาวนานขึ้นและเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้ จึงควรหมั่นเข้ารับการตรวจสุขภาพฟันกับทันตแพทย์เป็นประจำ เพื่อรักษาสุขภาพที่ดีของเหงือกและฟัน

การจัดฟันเป็นกระบวนการที่ช่วยแก้ไขปัญหาการสบฟัน และช่วยให้ฟันเรียงตัวสวยงาม อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีฟันอยู่ในสภาพปกติอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดฟัน และควรจัดฟันกับทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะการจัดฟันแฟชั่นกับผู้ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพทันตกรรมอาจเกิดผลเสียตามมา เช่น การติดเชื้อจากเครื่องมือจัดฟัน และการได้รับสารปนเปื้อนจากอุปกรณ์จัดฟันเถื่อน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้