ที่รัดเข่าเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันการบาดเจ็บและบรรเทาอาการปวดเข่าที่หลายคนนิยมใช้กัน โดยเฉพาะนักกีฬา คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ รวมถึงคนที่ต้องเผชิญกับอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณเข่าหรือปวดข้อเข่าเรื้อรัง
หลายคนอาจเคยเห็นหรือเคยใช้ที่รัดเข่ากันมาบ้างแล้ว แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ คือที่รัดเข่ามีหลายชนิด แต่ละชนิดก็มีจุดประสงค์และคุณสมบัติการใช้ที่ต่างกัน ดังนั้นการทำความรู้จักเกี่ยวกับชนิดและคุณสมบัติของที่รัดเข่าก็อาจช่วยให้เลือกใช้ได้ถูกต้องและได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ชนิดและคุณสมบัติของที่รัดเข่าแต่ละแบบ
ที่รัดเข่าแบ่งออกได้หลายชนิด หน้าที่ส่วนใหญ่ของอุปกรณ์ชนิดนี้มักจะเป็นการพยุงกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเส้นเอ็นบริเวณหัวเข่าให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการบาดเจ็บ หรือที่รัดเข่าบางประเภทอาจใช้เพื่อลดความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน
ที่รัดเข่าแบ่งออกได้หลายชนิด แต่ละชนิดก็จะมีจุดประสงค์การใช้งานที่ต่างกันออกไป เช่น
- Knee Sleeve หรือปลอกรัดเข่า สามารถพบเห็นได้ทั่วไปและพบเห็นได้บ่อยกว่าที่รัดเข่าแบบอื่น มีจุดประสงค์การใช้งานที่หลากหลาย เช่น พยุงข้อต่อหัวเข่าให้เคลื่อนตัวอย่างเหมาะสม ช่วยรัดกล้ามเนื้อบรรเทาอาการปวดเข่า เข่าบวม เหมาะสมสำหรับอาการปวดหรือบาดเจ็บทั่วไปที่ไม่รุนแรง
- Functional Brace เป็นที่รัดเข่าที่ใช้สำหรับฟื้นฟูการบาดเจ็บที่ได้รับการรักษา ซึ่ง Functional Brace จะช่วยพยุงการเคลื่อนไหวของข้อต่อหัวเข่าในช่วงพักฟื้น
- Rehabilitative Brace มักใช้ภายหลังการบาดเจ็บหรือหลังผ่าตัดหัวเข่า ที่รัดเข่าชนิดนี้จะจำกัดการเคลื่อนไหวของหัวเข่าและล็อกข้อต่อบริเวณหัวเข่าให้เคลื่อนที่ในตำแหน่งที่เหมาะสมเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดหรือบาดเจ็บที่ส่งผลต่อการฟื้นฟู
- Unloader Brace เป็นที่รัดเข่าสำหรับคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับอาการปวดข้อจากกลุ่มโรคข้ออักเสบ (Arthritis) ที่มักประสบกับปัญหาอาการปวดข้อเข่าเรื้อรัง โดย Unloader Braces จะเพื่อลดแรงกดบริเวณข้อต่อหัวเข่าจากน้ำหนักตัว จึงอาจช่วยบรรเทาอาการปวดขณะเดินหรือเคลื่อนไหวได้
- Prophylactic Brace คือ ที่รัดเข่าสำหรับป้องกันการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย โดยเฉพาะกีฬาที่มีการกระแทกหรือเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ
วิธีเลือกที่รัดเข่าให้เหมาะสม
จะเห็นได้ว่าที่รัดเข่าแบ่งออกได้หลายชนิด โดยจุดประสงค์หลัก ๆ ของที่รัดเข่ามักจะเป็นการป้องกันการบาดเจ็บ การบรรเทาอาการปวด และการควบคุมการเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟู ซึ่งการเลือกที่รัดเข่าให้เหมาะสมกับจุดประสงค์ก็อาจช่วยป้องกันการบาดเจ็บและช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้รวดเร็วขึ้น
ดังนั้นหากเป็นนักกีฬาที่ต้องเสี่ยงต่อการบาดเจ็บบริเวณหัวเข่า ควรเลือกใช้ Prophylactic Brace ที่อาจช่วยลดความรุนแรงของการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุระหว่างเล่นกีฬาได้ สำหรับอาการปวดและเคล็ดขัดยอกที่ไม่รุนแรงอาจเลือกใช้ปลอกรัดเข่าที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป แต่เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเภสัชกรก่อนใช้
สำหรับผู้สูงอายุที่ปวดข้อเข่าจากโรคข้ออักเสบ อาจเลือกใช้ Unloader Brace หรือที่รัดเข่าสำหรับผู้ป่วยโรคข้ออักเสบโดยเฉพาะเพื่อให้ประสิทธิภาพในการพยุงข้อเข่าและป้องกันการบาดเจ็บ ซึ่งผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับที่รัดเข่าสำหรับโรคข้ออักเสบ
อย่างไรก็ตาม หากไม่แน่ใจเกี่ยวกับวิธีการเลือกที่รัดเข่า หรือไม่แน่ใจเกี่ยวกับอาการของตนเอง ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกร เพราะการเลือกที่รัดเข่าผิดชนิดอาจส่งผลต่อการฟื้นฟูหรืออาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคหรือมีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก กล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหว
เรื่องอื่น ๆ ที่ควรรู้เกี่ยวกับที่รัดเข่า
แม้ว่าที่รัดเข่าบางชนิดสามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อและร้านขายยาทั่วไป แต่เพื่อความปลอดภัยและการเลือกใช้อย่างถูกต้อง ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนเลือกซื้อ เพราะแพทย์และเภสัชกรจะสามารถแนะนำชนิดของที่รัดเข่า ขนาด และวิธีการใช้ที่ถูกต้องให้เหมาะสมกับอาการที่เกิดขึ้น
ในทางกลับกัน การสวมที่รัดเข่าผิดตำแหน่ง ผิดขนาด รัดแน่นหรือหลวมเกินไปก็อาจส่งผลต่อการร่างกาย รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงในการบาดเจ็บมากขึ้น
สำหรับคนสวมที่รัดเข่าระหว่างการเล่นกีฬาและการออกกำลังกาย ควรรักษาความสะอาดของที่รัดเข่าอยู่เสมอ เพราะที่รัดเข่าอาจเกิดการสะสมของสิ่งสกปรกและทำให้เกิดปัญหาผิวหนังได้ รวมทั้งควรหมั่นตรวจสภาพของที่รัดเข่าอยู่เสมอว่าไม่ขาด กระชับ และใช้งานได้เป็นปกติ
แม้ว่าที่รัดเข่าจะมีหลายรูปแบบและบางชนิดก็นิยมใช้กันทั่วไป แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยังไม่ยืนยันผลลัพธ์ที่แน่ชัดเกี่ยวกับอุปกรณ์ชนิดนี้ เนื่องจากผู้ใช้บางส่วนให้ความเห็นว่าที่รัดเข่าชนิดนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงของการบาดเจ็บได้มากกว่าการป้องกัน แต่ผู้ที่ใช้อีกกลุ่มก็รู้สึกว่าที่รัดเข่าใช้ได้ผลเช่นเดียวกัน
ดังนั้นจึงควรใช้ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญหรือใช้ตามวิธีใช้ของผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้อง หากพบอาการผิดปกติหลังใช้ที่รัดเข่า เช่น อาการไม่ดีขึ้น อาการรุนแรงขึ้น เป็นตะคริว ควรถอดออกและไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างเหมาะสม
สำหรับผู้ที่สวมที่รัดเข่าหลังการรักษาอาการบาดเจ็บ การผ่าตัด รวมทั้งผู้ที่สวมที่รัดเข่าเพื่อบรรเทาอาการปวดจากโรคข้ออักเสบ ควรไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการ
ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดเข่าที่รุนแรง เจ็บแปลบ เดินแล้วเจ็บเข่า ปวดเข่าติดต่อกันนานหลายวัน เข่าบวม หรืออาการรุนแรงอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ ไม่ควรซื้อที่รัดเข่ามาใช้เอง