ชาอู่หลง เป็นชาจีนที่คนชื่นชอบในรสชาติและกลิ่นหอม อีกทั้งเชื่อกันว่ามีสรรพคุณรักษาและป้องกันโรคมากมาย เช่น ลดความอ้วน รักษาและป้องกันโรคเบาหวาน ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ และอาจช่วยพัฒนาการทำงานของสมองได้
ชาอู่หลงประกอบไปด้วยวิตามินและเกลือแร่หลากชนิด ทั้งฟลูออไรด์ แมงกานีส โพแทสเซียม แมกนีเซียม โซเดียม ไนอาซิน และสารโพลีฟีนอลที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เช่น สารฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) สารทีอะฟลาวิน (Theaflavins) สารทีรูบิจิน (Thearubigins) และสารเอพิกัลโลคาเทชินกัลแลต (Epigallocatechin Gallate) ที่ล้วนเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และยังมีสารคาเฟอีน ซึ่งเป็นสารกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง หัวใจ และกล้ามเนื้อด้วย
ชาอู่หลงขึ้นชื่อว่าเป็นชาสมุนไพรที่อาจมีสรรพคุณรักษาโรคและเป็นประโยชน์ต่อร่างกายด้านต่าง ๆ โดยมีการศึกษาและมีหลักฐานทางการแพทย์บางส่วนพิสูจน์แง่มุมต่าง ๆ ของชาอู่หลงไว้ ดังนี้
ชาอู่หลง กับโรคเบาหวานประเภทที่ 2
โรคเบาหวานประเภทที่ 2 เกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลิน โดยปกติเมื่อรับประทานอาหาร ตับอ่อนจะผลิตสารอินซูลินเพื่อนำน้ำตาลจากอาหารไปใช้เป็นพลังงาน แต่ผู้ป่วยภาวะดื้ออินซูลินจะทำให้อินซูลินควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงและเสี่ยงเจ็บป่วยด้วยภาวะอาการต่าง ๆ โดยโรคเบาหวานรักษาได้ด้วยการใช้ยารักษาเบาหวานร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งการดื่มชาอู่หลงถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่หลายคนให้ความสนใจและเชื่อว่ามีส่วนช่วยรักษาโรคเบาหวาน เพราะชาอู่หลงอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญ และสารต้านอนุมูลอิสระ โดยสารเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและรักษาป้องกันอาการป่วยจากโรคเบาหวาน
จากการศึกษาโดยให้ผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 จำนวน 20 ราย ดื่มชาอู่หลง 1,500 มิลลิลิตร เป็นเวลา 30 วัน พบว่าการบริโภคชาอู่หลงทำให้ความเข้มข้นของน้ำตาลกลูโคสและฟรุกโตซามินในเลือดลดต่ำลงอย่างชัดเจน จึงอาจกล่าวได้ว่าสารต้านอนุมูลอิสระจากชาอู่หลงอาจส่งผลดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้การศึกษาข้างต้นจะแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีของการรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ด้วยการบริโภคชาอู่หลง แต่เป็นเพียงการทดลองเฉพาะกลุ่มและมีผู้ร่วมทดลองจำนวนน้อย จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพในด้านนี้และความปลอดภัยของการบริโภคชาอู่หลงให้ชัดเจนต่อไปในกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
ชาอู่หลง กับการลดความอ้วน
การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง หรืออาหารที่มีแคลอรี่มากกว่าที่ร่างกายใช้ไปโดยไม่ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมอาจส่งผลให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะอ้วน ซึ่งในทางการแพทย์คาดว่าสารโพลีฟีนอลจากชาอู่หลงจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการเผาผลาญอาหารของร่างกาย และช่วยรักษาหรือป้องกันภาวะอ้วนได้ จากการศึกษาพบว่า หลังจากผู้ที่มีภาวะอ้วนรุนแรง ภาวะอ้วน และภาวะน้ำหนักเกินจากการบริโภคอาหารจำนวน 102 คน ดื่มชาอู่หลงวันละ 8 กรัม เป็นเวลา 6 สัปดาห์ ผู้เข้ารับการทดลองที่มีภาวะอ้วนอย่างรุนแรงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ มีน้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 1 กิโลกรัม และอีก 22 เปอร์เซ็นต์ มีน้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 3 กิโลกรัม ส่วนผู้ที่มีภาวะอ้วนจำนวน 64 เปอร์เซ็นต์ และผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน 66 เปอร์เซ็นต์ มีน้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 1 กิโลกรัมเช่นกัน โดยมีปริมาณไขมันใต้ผิวหนังลดลงถึง 12 เปอร์เซ็นต์ จึงอาจกล่าวได้ว่าสารโพลีฟีนอลและคาเฟอีนจากชาอู่หลง อาจช่วยลดปริมาณไขมันในร่างกายและลดน้ำหนักตัวลงได้ด้วยการกระตุ้นการเผาผลาญไขมันในร่างกายให้ดีขึ้น การดื่มชาอู่หลงเป็นประจำจึงอาจช่วยป้องกันโรคอ้วนได้ แต่ผู้บริโภคควรดื่มชาอู่หลงในปริมาณพอดี เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากสารคาเฟอีนในชาอู่หลง เช่น ปัญหานอนไม่หลับ เป็นต้น
ชาอู่หลง กับการทำงานของสมอง
อาจปฏิเสธไม่ได้ว่าอายุที่เพิ่มมากขึ้นนั้นย่อมส่งผลให้สมองทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเหมือนตอนหนุ่มสาว แต่การเลือกรับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์อาจช่วยเพิ่มโอกาสให้สมองยังคงมีสุขภาพดีและทำงานด้านการคิด การจำ หรือควบคุมการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งชาอู่หลงเป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่หลายคนเชื่อว่าอาจส่งผลดีต่อการทำงานของสมอง จากการศึกษาพบว่ากลุ่มผู้สูงอายุชาวจีนอายุ 55 ปีขึ้นไปจำนวน 716 คนที่ดื่มชาอู่หลงเป็นประจำอาจเสี่ยงเผชิญสมรรถนะทางสมองบกพร่องได้น้อยกว่าการดื่มกาแฟ และการดื่มชาอู่หลงอาจทำให้ประสิทธิภาพในการรับรู้ของผู้สูงอายุดีขึ้นได้ด้วย
แม้การศึกษาข้างต้นจะแสดงให้เห็นว่าการดื่มชาอู่หลงส่งผลดีต่อการทำงานของสมอง แต่เป็นเพียงการศึกษากับผู้เข้ารับการทดลองเฉพาะกลุ่ม จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพด้านนี้ด้วยวิธีการที่ชัดเจนในกลุ่มตัวอย่างที่หลากหลาย ก่อนนำผลลัพธ์ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคในอนาคต
ชาอู่หลง กับความเสี่ยงโรคหัวใจ
การสูบบุหรี่ ความเครียด ความดันโลหิตสูง หรือระดับคอเลสเตอรอลสูง ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจได้ หากรู้จักดูแลตนเอก็สามารถทำให้ห่างไกลจากโรคหัวใจได้ เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีคอเลสเตอรอลต่ำ เป็นต้น โดยชาอู่หลงเป็นเครื่องดื่มที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระโพลีฟีนอลและฟลาโวนอยด์ หลายคนจึงเชื่อว่าชาอู่หลงอาจช่วยลดระดับความดันโลหิตซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจได้ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ติดตามพฤติกรรมผู้รับการทดลองชาวไต้หวันซึ่งมีความเสี่ยงภาวะความดันโลหิตสูงที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป จำนวน 1,507 คน พบว่าผู้ที่ดื่มชาอู่หลงเป็นประจำวันละ 120 มิลลิลิตรหรือมากกว่านั้นเป็นเวลา 1 ปี อาจลดความเสี่ยงการเกิดความดันโลหิตสูงได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ดื่มชาอู่หลงเป็นประจำ
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาบางส่วนที่แสดงให้เห็นว่าชาอู่หลงอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจชนิดอื่น ๆ ได้ เช่น งานวิจัยหนึ่งพบว่าการดื่มชาอู่หลงเป็นประจำทุกวันอาจลดความเสี่ยงการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่เคยดื่มชาเลยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และอีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างชาอู่หลง ชาเขียว และกาแฟ อาจช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การศึกษาข้างต้นเป็นเพียงการทดลองเฉพาะกลุ่ม และติดตามพฤติกรรมการบริโภคชาเพียงอย่างเดียว จึงจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย และศึกษาเพิ่มเติมกับผู้เข้ารับการทดลองที่แตกต่างหลากหลาย เช่น ช่วงอายุ และเชื้อชาติ รวมถึงศึกษาประสิทธิภาพและกลไกที่ทำให้การดื่มชาอู่หลงนั้นช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
บริโภคชาอู่หลงอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ ?
โดยทั่วไปควรดื่มชาอู่หลงในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะหากดื่มเกินวันละ 5 แก้ว อาจทำให้มีคาเฟอีนในร่างกายสูง และอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน อาเจียน ท้องเสีย แสบร้อนกลางอก ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ นอนไม่หลับ หงุดหงิด สับสน มีอาการทางประสาท หรือชัก เป็นต้น
ส่วนบุคคลในกลุ่มต่อไปนี้ ควรบริโภคชาอู่หลงอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ
- หญิงตั้งครรภ์หรือหญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ชาอู่หลงมีส่วนผสมของคาเฟอีน หากดื่มในปริมาณน้อยอาจไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่หากกำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ห้ามดื่มเกินวันละ 2 แก้ว เพราะการบริโภคคาเฟอีนในปริมาณมากระหว่างตั้งครรภ์อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ส่งผลให้ทารกคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวน้อย และหากบริโภคคาเฟอีนปริมาณมากในช่วงที่ให้นมบุตร คาเฟอีนอาจถูกส่งผ่านทางน้ำนมจนกระตุ้นการขับถ่ายของทารกและทำให้เด็กงอแงได้
- เด็ก การดื่มชาอู่หลงในปริมาณที่เหมาะสมค่อนข้างปลอดภัยสำหรับเด็ก
- ผู้ที่มีอาการท้องเสียและผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน หากร่างกายได้รับคาเฟอีนจากชาอู่หลงในปริมาณมาก อาจทำให้อาการท้องเสียแย่ลงได้
- ผู้ป่วยโรคต้อกระจก คาเฟอีนจากชาอู่หลงอาจส่งผลให้ความดันดวงตาเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายใน 30 นาที และความดันภายในดวงตาจะสูงต่อเนื่องอย่างน้อยประมาน 90 นาที
- ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน ห้ามดื่มชาอู่หลงเกินวันละ 3 แก้ว เพราะอาจทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากเกินไป ซึ่งกระทบต่อสุขภาพและความแข็งแรงของกระดูก ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนอาจรับประทานอาหารเสริมแคลเซียมเพื่อชดเชยส่วนที่ร่างกายขับออกไป รวมถึงผู้ที่มีปัญหาทางพันธุกรรมที่ส่งผลต่อการผลิตวิตามินดีของร่างกาย ควรปรึกษาแพทย์ถึงความปลอดภัยก่อนดื่มชาอู่หลง
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนดื่มชาอู่หลงเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้บริโภคเอง เนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดว่าคาเฟอีนจากชาอู่หลงนั้นมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหรือไม่
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง คาเฟอีนจากชาอู่หลงอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีระดับความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น แต่อาจไม่กระทบต่อระดับความดันโลหิตในผู้ที่ดื่มชาอู่หลงหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนเป็นประจำ
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพหัวใจ คาเฟอีนจากชาอู่หลงอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้
- ผู้ป่วยภาวะเลือดออกผิดปกติ การศึกษาบางส่วนพบว่า การดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง และอาจทำให้ผู้ป่วยภาวะเลือดออกผิดปกติมีอาการแย่ลงได้
- ผู้ป่วยโรควิตกกังวล คาเฟอีนจากชาอู่หลงอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลง
ผู้ที่กำลังใช้ยากระตุ้นประสาท เช่น แอมเฟตามีน โคเคน เอฟีดรีน เป็นต้น ไม่ควรดื่มชาอู่หลง รวมถึงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนหากกำลังใช้ยากระตุ้นประสาท เนื่องจากชาอู่หลงก็มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทเช่นเดียวกัน หากรับประทานร่วมกันอาจทำให้รู้สึกกระวนกระวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรืออาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรงอื่น ๆ ได้