ความหมาย ช้ำ
ช้ำ (Bruise) เป็นอาการบาดเจ็บบริเวณผิวหนัง เนื่องจากเส้นเลือดฝอยแตกจนเกิดเลือดสะสมอยู่ใต้ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ รอยช้ำเป็นอาการที่พบได้บ่อย และเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย อย่างไรก็ตาม เราควรทราบวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยสังเกตว่ารอยช้ำที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงและจำเป็นต้องไปพบแพทย์หรือไม่
อาการช้ำ
อาการช้ำจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ แต่โดยทั่วไปมักมีอาการดังต่อไปนี้
- เกิดรอยช้ำที่ผิวหนัง อาการเริ่มต้นมักเป็นสีแดง แล้วจึงค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินหรือม่วงเข้มภายใน 2-3 ชั่วโมง และอาจเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เขียว หรือสีอื่น ๆ เช่น น้ำตาล น้ำตาลอ่อน หลังผ่านไปจาก 2-3 วัน ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อรอยช้ำเริ่มจางลง
- รอยช้ำที่เกิดขึ้นทั่วไปจะทำให้มีอาการกดเจ็บ และบางครั้งอาจสร้างความเจ็บปวดในช่วง 2-3 วันแรก แต่อาการจะค่อย ๆ หายไปพร้อมกับสีที่จางลง
อาการช้ำที่มีความรุนแรง และอาจจำเป็นต้องไปพบแพทย์ ได้แก่
- รอยช้ำจากการใช้ยาแอสไพริน หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือดอื่น ๆ
- บวมและเจ็บปวดบริเวณที่เกิดอาการช้ำ
- รอยช้ำหลังประสบอุบัติเหตุรุนแรง
- รอยช้ำที่เกิดขึ้นเมื่อสงสัยว่ามีกระดูกหัก
- ช้ำโดยไม่มีสาเหตุ
- อาการช้ำไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ หรือไม่หายไปหลังผ่านไป 3 -4 สัปดาห์
- เกิดรอยช้ำที่เล็บและมีอาการเจ็บปวด
- รอยช้ำเกิดขึ้นพร้อมกับมีเลือดออกมากับปัสสาวะ อุจจาระ หรือในดวงตา
- รอยช้ำที่เกิดขึ้นพร้อมกับภาวะเลือดออก เช่น มีเลือดออกจากจมูก ปาก หรือตามไรฟัน
-
รอยช้ำเกิดขึ้นมากกว่าปกติ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากโรคบางชนิด เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับการไหลเวียนเลือด หรือมีการอุดตันของหลอดเลือด
สาเหตุของรอยช้ำ
ช้ำ เป็นอาการมีเลือดออกใต้ผิวหนังที่มักเกิดจากการได้รับบาดเจ็บ เมื่อร่างกายกระแทกกับวัตถุบางชนิด โดยบางคนอาจเกิดรอยช้ำได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เช่น ผู้สูงอายุ ซึ่งเสี่ยงเกิดรอยช้ำได้ง่าย เพราะผิวหนังบางและเนื้อเยื่อภายในมีความเปราะบาง
สาเหตุอื่น ๆ ได้แก่
- การออกกำลังกายอย่างหนัก เช่น นักกีฬาและนักยกน้ำหนัก อาจทำให้เส้นเลือดใต้ผิวหนังฉีกขาด
- โรคความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด รอยช้ำที่เกิดขึ้นง่ายกว่าปกติ หรือไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด อาจเกิดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคบางอย่าง โดยเฉพาะรอยช้ำที่เกิดขึ้นร่วมกับการมีเลือดกำเดาไหล หรือมีเลือดออกตามไรฟันอยู่บ่อยครั้ง
-
การใช้ยาบางชนิด รอยช้ำมักเกิดขึ้นในขณะที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
การวินิจฉัยรอยช้ำ
หากรอยช้ำเกิดจากการบาดเจ็บอย่างชัดเจน และแพทย์ไม่สงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการกระดูกหักร่วมด้วย แพทย์จะไม่ทดสอบใด ๆ แต่ในกรณีอื่น ๆ แพทย์อาจต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
- หากผู้ป่วยมีอาการบวม หรือเจ็บปวดรุนแรง แพทย์อาจตรวจด้วยการเอกซเรย์ บริเวณที่สงสัยว่าอาจมีกระดูกหัก
- หากผู้ป่วยเกิดรอยช้ำขึ้นบ่อยครั้ง และไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แพทย์อาจให้ตรวจเลือด เพื่อหาความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด
การรักษารอยช้ำ
อาการช้ำสามารถรักษาได้ด้วยตนเองในเบื้องต้น ดังนี้
- ประคบเย็นบริเวณที่เกิดอาการช้ำด้วยสำลีหรือผ้าชุบน้ำเย็น หรืออาจใช้ถุงน้ำแข็งห่อด้วยผ้าประคบลงบนบริเวณที่มีอาการประมาณ 10 นาที และไม่ควรให้ผิวหนังสัมผัสน้ำแข็งโดยตรง เพราะความเย็นอาจทำให้ผิวหนังเสียหายได้
- หากเกิดรอยช้ำขนาดใหญ่บริเวณขาหรือเท้าในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังได้รับบาดเจ็บ ควรยกขาให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้
- หลังเกิดอาการช้ำประมาณ 48 ชั่วโมง สามารถประคบร้อน ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นวางประคบบริเวณที่เกิดรอยช้ำประมาณ 10 นาที จำนวน 2-3 ครั้ง/วัน ซึ่งอาจช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตในบริเวณที่เกิดรอยช้ำได้ และช่วยให้ผิวหนังสามารถดูดซึมเลือดกลับได้เร็วยิ่งขึ้น รอยช้ำก็จะค่อย ๆ จางหายไปในที่สุด
- การใช้ยาบรรเทาอาการเจ็บปวด เช่น พาราเซตามอล และควรหลีกเลี่ยงยาแอสไพริน หรือยาไอบูโบรเฟน เพราะอาจเสี่ยงทำให้มีเลือดไหลเพิ่มมากขึ้น
การรักษาโดยแพทย์
การรักษารอยช้ำโดยแพทย์ไม่มีวิธีการเฉพาะที่นอกเหนือไปจากวิธีข้างต้น ทั้งการประคบเย็น ประคบร้อน แนะนำให้ใช้ยาบรรเทาอาการปวด หรือให้ยกอวัยวะที่เกิดรอยช้ำสูงขึ้น นอกจากนั้น หากแพทย์สงสัยว่าเกิดรอยช้ำจากกระดูกหัก หรือมีภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ แพทย์จะพิจารณารักษาตามสาเหตุนั้น ๆ ต่อไป
ภาวะแทรกซ้อนของรอยช้ำ
โดยทั่วไป การเกิดรอยช้ำจะไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงใด ๆ นอกจากจะเป็นรอยที่ผิวหนัง แล้วเปลี่ยนเป็นสีต่าง ๆ รอยช้ำมักเกิดขึ้นในเวลาไม่นาน และจะจางหายไปเองภายในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
การป้องกันรอยช้ำ
การเกิดรอยช้ำสามารถป้องกันได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- จัดวางเฟอร์นิเจอร์ในบ้านให้เรียบร้อย ไม่ให้กีดขวางทางเดินหรือประตู เพราะอาจทำให้เดินชนจนเกิดการบาดเจ็บได้
- เก็บสายไฟหรือสิ่งของอื่น ๆ ที่วางเกะกะขวางทางจนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุสะดุดล้มได้ง่าย
- ควรระมัดระวังอยู่เสมอ ดูพื้นว่าแห้งหรือไม่ หากวางพรมเอาไว้ ก็ควรแน่ใจว่าจะไม่ทำให้ลื่นล้มได้
- เปิดไฟทางเดินให้มีความสว่างเพียงพอ หรือใช้ไฟฉายหากต้องเดินไปยังที่มืดในเวลากลางคืน
- สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกายในขณะเล่นกีฬา
- หากแพทย์สั่งจ่ายยาต้านการแข็งตัวของเลือด ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เสมอ และอาจมีการปรับการใช้ยาเมื่อจำเป็น