ความหมาย ซีสต์ (Cyst)
ซีสต์ (Cyst) คือถุงน้ำที่เกิดขึ้นบนเนื้อเยื่อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มีลักษณะคล้ายถุงหรือเม็ดแคปซูลที่อยู่ติดกัน โดยภายในซีสต์มักบรรจุของเหลว ของแข็งกึ่งของเหลว หรืออากาศไว้ โดยมีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และมักค่อย ๆ ขึ้น
ซีสต์ที่ขึ้นบนผิวหนังจะมีลักษณะนูน ส่วนซีสต์ที่ขึ้นใต้ผิวหนังอาจจะคลำได้เป็นก้อน และซีสต์ที่ขึ้นที่อวัยวะภายใน อาจไม่ปรากฏอาการใด ๆ ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกว่ามีซีสต์ขึ้นมาภายในร่างกายตัวเอง นอกจากนี้ ซีสต์ที่ขึ้นตามร่างกายจะไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดและไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรงหากซีสต์นั้นไม่ได้ติดเชื้อ มีขนาดใหญ่ หรือขึ้นในบริเวณที่ไวต่อความรู้สึก
ประเภทของซีสต์
เนื่องจากซีสต์สามารถขึ้นได้ทุกส่วนของเนื้อเยื่อตามร่างกาย ซีสต์จึงมีมากกว่า 100 ชนิด โดยซีสต์ชนิดที่พบบ่อย ได้แก่
ซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง (Sebaceous Cyst)
ซีสต์ไขมันใต้ผิวหนังหรือที่เรียกอีกชื่อว่าอีพิเดอร์มอยด์ซีสต์ (Epidermoid Cysts) เป็นปุ่มเนื้อนูนเล็ก ภายในบรรจุน้ำมันสีเหลืองเรียกว่าเซบัม (Sebum) ซีสต์ไขมันใต้ผิวหนังเกิดจากต่อมไขมันที่สร้างน้ำมันมาหล่อเลี้ยงผิวหนังและเส้นผมได้รับความเสียหาย
โดยซีสต์นี้มักขึ้นบริเวณที่มีรูขุมขนและต่อมไขมัน เช่น องคชาติ หน้าอก หรือหลัง ผู้ป่วยบางรายอาจป่วยเป็นซีสต์ชนิดนี้เพราะได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากโรคการ์ดเนอร์ซินโดรม (Gardner's Syndrome) ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก
ก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ (Ganglion Cyst)
ก้อนถุงน้ำที่ข้อมือหรือถุงน้ำเยื่อหุ้มข้อ (Synovial Cyst) มักขึ้นที่มือและข้อมือ และอาจลามไปยังเท้าด้วย นอกจากนี้ ก้อนถุงน้ำที่ข้อมือยังมีแนวโน้มเกิดขึ้นตามแนวเอ็นและปลอกหุ้มเอ็น (Tendon Sheath) มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ถุงน้ำรังไข่ (Ovarian Cyst/Adnexal Cysts)
ถุงน้ำรังไข่คือของเหลวที่สะสมอยู่ภายในหรือบนพื้นผิวของรังไข่ โดยถุงน้ำรังไข่มีหลายประเภท ที่พบได้ทั่วไปคือถุงน้ำรังไข่ธรรมดา (Functional Cyst) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ซีสต์ถุงน้ำที่รังไข่ (Follicle Cyst) ช่วงที่ผู้หญิงเกิดรอบเดือนนั้น ไข่จะเจริญขึ้นในถุงน้ำซึ่งเรียกว่าฟอลลิเคิล โดยถุงน้ำนี้อยู่ภายในรังไข่ ส่วนใหญ่แล้ว ถุงน้ำจะแตกออกและปล่อยไข่ออกมา แต่หากถุงน้ำไม่แตกออกมา ของเหลวที่อยู่ภายในถุงน้ำจะก่อตัวเป็นซีสต์ภายในรังไข่
- ซีสต์ถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียม (Corpus Luteum Cyst) ปกติแล้ว ถุงน้ำมักละลายหลังจากที่ปล่อยไข่ออกมา แต่หากถุงน้ำไม่ละลายและถุงน้ำไม่เปิดออก จะเกิดการสะสมของเหลวภายในถุงน้ำ ก่อให้เกิดซีสต์ถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียม
นอกจากนี้ยังมีถุงน้ำรังไข่ชนิดอื่นอีก ได่แก่
- ถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์ (Dermoid Cyst) คือซีสต์ที่มีการเติบโตเหมือนถุงน้ำ โดยขึ้นที่รังไข่ ภายในซีสต์จะมีเส้นขน ไขมัน และเนื้อเยื่ออื่น ๆ
- ถุงน้ำเนื้องอกซีสตาดีโนมา (Cystadenoma) คือซีสต์ที่ไม่เจริญกลายเป็นมะเร็ง มักขึ้นที่เนื้อเยื่อรังไข่
- เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriomas) คือเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญภายนอกมดลูกและเกาะติดตรงรังไข่ ทำให้กลายเป็นซีสต์
ผู้หญิงบางคนจะประสบภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome) กล่าวคือ ภายในรังไข่มีจำนวนถุงน้ำหรือซีสต์ขนาดเล็กอยู่มากมาย ทำให้รังไข่มีขนาดใหญ่ขึ้น หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา ภาวะดังกล่าวสามารถก่อให้เกิดภาวะมีบุตรยาก (Infertility)
- ถุงน้ำที่เต้านม (Breast Cyst) คือถุงน้ำลักษณะกลมหรือรีไข่ ภายในบรรจุของเหลว ซึ่งได้มาจากเยื่อบุท่อน้ำนมส่วนปลาย ซีสต์จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการสะสมของเหลวภายในเยื่อบุท่อน้ำนมส่วนปลาย อันเกิดจากท่อน้ำนมอุดตัน โดยผู้หญิงอายุ 30-40 ปี มักเกิดซีสต์ชนิดนี้ ซีสต์ที่ขึ้นบริเวณเต้านมจะทำให้ผู้ป่วยคลำได้ก้อน รู้สึกเจ็บ หรือเกิดอาการคัดเต้า ผู้ป่วยควรพบแพทย์และตรวจให้แน่ใจว่าถุงน้ำที่ขึ้นมานั้นจะไม่ลุกลามกลายเป็นโรคอื่นได้
- กุ้งยิงเรื้อรัง (Chalazia) คือก้อนซีสต์ที่ขึ้นบริเวณเปลือกตา โดยเกิดจากท่อของต่อมไขมันบริเวณเปลือกตาอุดตัน ผู้ป่วยจะเจ็บตึงและปวดบวมแผล หากซีสต์มีขนาดใหญ่มากอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านการมองเห็น
- ก้อนใต้ผิวหนังบริเวณก้น (Pilonidal Cyst) ซีสต์ชนิดนี้เกิดขึ้นบริเวณก้นกบ ภายในซีสต์มีเศษหนัง น้ำมัน เส้นขนและอย่างอื่นปนอยู่ มักเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
อาการของซีสต์
โดยทั่วไปแล้ว ซีสต์จะเป็นก้อนเนื้อหรือถุงน้ำเล็ก ๆ ที่ขึ้นตามเนื้อเยื่อของร่างกาย ผู้ที่มีซีสต์ลักษณะดังกล่าวนั้นอาจไม่ปรากฏอาการใดออกมา อย่างไรก็ตาม ซีสต์แต่ละประเภทจะปรากฏอาการออกมาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับขนาดและบริเวณที่เกิดซีสต์
บางครั้งซีสต์จะขึ้นเป็นก้อนหรือนูนขึ้นบนผิวหนังหรือเนื้อเยื่อซึ่งอยู่ใต้ผิวหนังและทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บบริเวณดังกล่าว ส่วนซีสต์ที่ขึ้นบริเวณอวัยวะภายในร่างกายนั้นจะไม่ก่อให้เกิดอาการใดหากมีขนาดเล็ก
แต่หากซีสต์ขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนเบียดหรือบีบอวัยวะภายในส่วนอื่น หรือทำให้ระบบไหลเวียนของเหลวภายในเนื้อเยื่ออย่างตับหรือตับอ่อนเกิดอุดตัน ไม่สามารถลำเลียงของเหลวได้ตามปกติ ผู้ป่วยก็สามารถเกิดอาการขึ้นบริเวณอวัยวะที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ได้
สำหรับอาการของซีสต์แต่ละชนิดนั้น จะเน้นกล่าวถึงเฉพาะซีสต์ที่เกิดขึ้นและพบได้บ่อย ดังนี้
ซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง (Sebaceous Cyst)
ผู้ป่วยเกิดก้อนเนื้อนูนกลมเล็กขึ้นมาใต้ผิวหนัง ส่วนใหญ่มักเกิดที่ใบหน้า คอ และลำตัว ตรงกลางของก้อนเนื้อมีติ่งสีดำเล็ก บางครั้งมีของเหลวหนืดสีเหลืองไหลออกมาด้วย หากเป็นเนื้องอกหรือติดเชื้อจะเกิดอาการแดงบวมและตึงที่บริเวณซีสต์ร่วมด้วย
ก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ (Ganglion Cyst)
ซีสต์หรือก้อนถุงน้ำที่ข้อมือจะขึ้นตามแนวเอ็นหรือข้อต่อของข้อมือและมือ และอาจขึ้นที่ข้อเท้าและเท้า รวมไปถึงข้อต่อของอวัยวะส่วนอื่นด้วย ก้อนถุงน้ำมีลักษณะกลมหรือรีไข่ วัดขนาดได้ไม่เกิน 1 นิ้ว ขนาดของซีสต์ไม่แน่นอน
หากผู้ป่วยใช้งานข้อต่อที่ก้อนถุงน้ำขึ้นบริเวณดังกล่าวซ้ำๆ ก็จะกระตุ้นให้ก้อนถุงน้ำใหญ่ขึ้นได้ ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะไม่รู้สึกอะไรหากซีสต์ไม่ได้กดทับประสาท โดยซีสต์ที่กดทับประสาทจะก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด เสียว ชา และกล้ามเนื้ออ่อนแรง
ถุงน้ำรังไข่ (Ovarian Cyst)
ถุงน้ำที่รังไข่ไม่ก่อให้เกิดอาการใดและจะหายไปเอง แต่หากถุงน้ำรังไข่มีขนาดใหญ่อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายท้อง บางรายอาจต้องการปัสสาวะบ่อย เพราะการทำงานของกระเพาะปัสสาวะมีประสิทธิภาพลดลงจากการถูกซีสต์เบียด
ทั้งนี้ ผู้ป่วยถุงน้ำรังไข่จะเกิดอาการปวดบริเวณเชิงกรานไปจนถึงหลังส่วนล่างและต้นขา และปวดก่อนช่วงเริ่มและหมดประจำเดือน รวมทั้งเจ็บเชิงกรานขณะสอดใส่เมื่อมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังมีอาการหน่วงท้อง คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
ถุงน้ำที่เต้านม (Breast Cyst)
ซีสต์ที่เต้านมอาจพบที่เต้านมข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง โดยถุงน้ำดังกล่าวจะเป็นก้อนกลมหรือรีไข่ พื้นผิวเรียบ เคลื่อนย้ายได้ง่าย มักปรากฏตามแนวของเต้านม หัวนมออกสีเหลืองหรือน้ำตาลเข้ม หน้าอกจะขยายใหญ่หรือคัดตึงก่อนประจำเดือนมาและลดลงหลังหมดประจำเดือน ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บหรือคัดเต้านมตรงบริเวณที่มีซีสต์ขึ้น รวมทั้งคลำได้ก้อนนิ่ม ๆ ที่เต้านมด้วย
กุ้งยิงเรื้อรัง (Chalazia)
ผู้ที่ป่วยเป็นตากุ้งยิงจะมีซีสต์คล้ายเม็ดลูกปัดขึ้นอยู่บนเปลือกตา ช่วงแรกผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บเมื่อเป็นตากุ้งยิง แต่หลังจากนั้นก้อนเนื้อจะค่อย ๆ บวมและอาการเจ็บหายไป
ก้อนใต้ผิวหนังบริเวณก้น (Pilonidal Cyst)
ซีสต์หรือก้อนที่ขึ้นใต้ผิวหนังบริเวณก้นสามารถลุกลามเป็นก้อนเนื้อบวมหรือฝี โดยผู้ป่วยจะเจ็บตรงก้อนเนื้อ ผิวหนังแเดง มีหนองหรือเลือดซึมออกมาจากแผลที่เปิดและมีกลิ่นคาว
นอกจากนี้ ซีสต์อาจเกี่ยวข้องกับเนื้องอกมะเร็งหรือการติดเชื้ออย่างรุนแรงด้วย ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก หากผู้ป่วยตรวจพบว่ามีก้อนบวมขึ้นมาผิดปกติ สามารถพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาได้ โดยแพทย์จะแนะนำวิธีวินิจฉัยที่เหมาะสมเพื่อวินิจฉัยสาเหตุของซีสต์ที่เกิดขึ้น
สาเหตุของซีสต์
ซีสต์แต่ละประเภทปรากฏสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดแตกต่างกันไป โดยซีสต์ที่พบได้บ่อยแต่ละชนิดนั้นมีสาเหตุที่แตกต่างกัน ดังนี้
ซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง (Sebaceous Cyst)
ซีสต์ชนิดนี้เกิดจากเซลล์ผิวหนังชั้นนอกไปขึ้นที่ผิวหนังแท้และผลิตเซลล์ขึ้นมาอีกหลายชั้นมากกว่าจะลอกออก โดยเซลล์ผิวจะสร้างชั้นผิวของซีสต์ขึ้นมาและปล่อยให้เคราตินไหลเข้าไปข้างใน โดยเคราตินนี้มีลักษณะหนา ออกสีเหลือง และมักไหลออกมาจากซีสต์เป็นบางครั้ง
การที่เซลล์ผิวหนังขึ้นผิดที่นี้อาจเกิดจากรูขุมขนหรือต่อมไขมันบนผิวหนังได้รับความเสียหาย ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดซีสต์ไขมันใต้ผิวหนังได้ง่าย ได้แก่ เข้าสู่วัยรุ่น มีสิว มีโรคทางพันธุกรรมที่หาได้ยาก และได้รับบาดเจ็บตามผิวหนัง
ก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ (Ganglion Cyst)
ไม่ปรากฏสาเหตุที่ทำให้เกิดก้อนถุงน้ำที่ข้อมืออย่างชัดเจนแต่ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดก้อนถุงน้ำที่ข้อมือนั้นขึ้นอยู่กับเพศ อายุ และประวัติการป่วย โดยซีสต์ชนิดนี้มักเกิดกับผู้หญิงช่วงอายุ 20–40 ปี ส่วนผู้ที่มีประวัติเคยบาดเจ็บตรงข้อต่อหรือเอ็น รวมทั้งผู้ที่มีอาการข้อเสื่อมตรงบริเวณข้อต่อนิ้วมือที่อยู่ใกล้กับเล็บที่สุดนั้นก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดก้อนถุงน้ำบริเวณข้อต่อได้สูง
ถุงน้ำรังไข่ (Ovarian Cyst/Adnexal Cysts)
ส่วนใหญ่แล้ว ถุงน้ำรังไข่มักเกิดขึ้นเมื่อมีรอบเดือนซึ่งเรียกถุงน้ำนี้ว่าถุงน้ำรังไข่ธรรมดา (Functional Cysts) โดยรังไข่จะสร้างถุงน้ำขึ้นมาเพื่อรองรับการตกไข่ในแต่ละเดือน ถุงน้ำนี้เรียกว่าฟอลลิเคิล (Follicle) เมื่อร่างกายถึงช่วงตกไข่ ถุงน้ำจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน รวมทั้งปล่อยไข่ออกมา
ทั้งนี้ ถุงน้ำจะมีขนาดโตขึ้นในแต่ละเดือนเป็นบางครั้ง ถุงน้ำรังไข่ธรรมดาไม่เป็นอันตรายใด ๆ อาจเกิดอาการเจ็บปวดบ้าง แต่ถุงน้ำจะหายไปเอง อย่างไรก็ตาม ยังมีซีสต์รังไข่บางขนิดที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการมีรอบเดือน ดังนี้
- ถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์ (Dermoid Cysts) เดอร์มอยด์ซีสต์เกิดจากเซลล์ที่ผลิตไข่ ภายในถุงน้ำบรรจุเนื้อเยื่อ เช่น เส้นขน ผิวหนัง หรือฟัน
- ถุงน้ำเนื้องอกซีสตาดีโนมา (Cystadenomas) ซีสต์ชนิดนี้เกิดจากเนื้อเยื่อรังไข่ โดยภายในถุงน้ำจะบรรจุของเหลวหรือเมือก
- เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriomas) เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นภายนอกมดลูก ทำให้เนื้อเยื่ออาจไปเกาะตรงรังไข่และเจริญขึ้นมากลายเป็นซีสต์
ถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์และถุงน้ำเนื้องอกซีสตาดีโนมาจะมีขนาดใหญ่ขึ้นได้ ซึ่งไปเบียดรังไข่ให้หลุดไปจากตำแหน่งเดิมที่เคยยึดอยู่กับอุ้งเชิงกราน ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงเกิดภาวะรังไข่บิดขั้ว (Ovarian Torsion)
ถุงน้ำที่เต้านม (Breast Cyst)
แพทย์ไม่พบสาเหตุที่ทำให้เกิดถุงน้ำที่เต้านม ซีสต์ชนิดนี้อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงที่ผู้หญิงมีรอบเดือน ทั้งนี้ ยังมีการสันนิษฐานว่าระดับเอสโตรเจนที่มากเกินไปในร่างกายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดถุงน้ำที่เต้านม โดยเอสโตรเจนจะกระตุ้นเนื้อเยื่อตรงเต้านม และอาจก่อให้เกิดซีสต์ที่บริเวณดังกล่าว
กุ้งยิงเรื้อรัง (Chalazia)
สาเหตุของกุ้งยิงเรื้อรังเกิดจากท่อของต่อมไขมันบริเวณเปลือกตาอุดตัน
ก้อนใต้ผิวหนังบริเวณก้น (Pilonidal Cyst)
สาเหตุของการเกิดซีสต์บริเวณใต้ผิวหนังก้นยังไม่ปรากฏแน่ชัด แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากเส้นขนอ่อนงอกขึ้นมาบนผิวหนัง โดยขนจะยิ่งฝังรากลึกลงไปในผิวหนังหากผิวหนังเสียดสีกัน ใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่น ปั่นจักรยาน หรือนั่งนาน ๆ เส้นขนที่งอกขึ้นมาถือเป็นสิ่งแปลกปลอม ร่างกายจึงสร้างซีสต์ขึ้นมารอบ ๆ เส้นขนนั้น
นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดซีสต์ล้วนขึ้นอยู่กับสาเหตุในการเกิดซีสต์แต่ละประเภท โดยพันธุกรรม ความบกพร่องของพัฒนาการทางร่างกาย การติดเชื้อ เนื้องอก และภาวะอุดตันของระบบการไหลเวียนของเหลวและน้ำมันในร่างกายล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดซีสต์ได้
การวินิจฉัยซีสต์
เบื้องต้นแพทย์สามารถวินิจฉัยซีสต์ได้ทันทีด้วยการคลำก้อนเนื้อที่ขึ้นมา หากซีสต์ที่ผู้ป่วยเป็นนั้นขึ้นที่ผิวหนังหรือบนอวัยวะที่สามารถคลำเพื่อวินิจฉัยได้ นอกจากนี้ แพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีศึกษาจากภาพสแกนต่าง ๆ (Imaging Study) เพื่อตรวจหาซีสต์ ได้แก่
- การอัลตราซาวด์
- การเอกซเรย์
- การตรวจด้วยคอมพิวเตอร์ ซีทีสแกน (CT Scan)
- การตรวจผ่านเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
ทั้งนี้ แพทย์อาจใช้วิธีตรวจชิ้นเนื้อเข้ามาวินิจฉัยบ้างเพื่อวินิจฉัยว่าก้อนเนื้อหรือถุงน้ำที่ขึ้นในร่างกายผู้ป่วยสามารถพัฒนาเป็นเนื้อเยื่อร้ายแรงได้หรือไม่ โดยการตรวจชิ้นเนื้อยังใช้ในการลดขนาดซีสต์ด้วย
การรักษาซีสต์
การรักษาซีสต์ขึ้นอยู่กับอาการและชนิดของซีสต์ที่ผู้ป่วยเป็น โดยแพทย์ที่ทำการรักษาซีสต์แต่ละชนิดนั้นจะเป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับบริเวณที่เกิดซีสต์แตกต่างกันไป อย่างไรก็ดี หากพบว่าตัวเองมีซีสต์ขึ้น
ในอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ผู้ป่วยมักพบแพทย์เวชศาสตร์ทางครอบครัว (Primary-Care Doctor) หรือแพทย์ทั่วไปก่อนเพื่อรับการปรึกษา เพราะซีสต์บางชนิดไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เช่น ผู้ที่มีซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง และไม่เกิดอาการอื่นใดร่วมด้วย ไม่ต้องได้รับการรักษา
แต่สำหรับผู้ที่มีซีสต์ขึ้นบนอวัยวะส่วนอื่นอาจต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไปตามอาการของโรค เช่น เจาะเอาของเหลวหรือสารที่อยู่ภายในซีสต์ออก ฉีดยาหรือรับการให้ยาเพื่อลดอาการเนื้องอกของซีสต์ หรือผ่าตัดเอาซีสต์ออก
การรักษาซีสต์ด้วยวิธีทางการแพทย์แต่ละวิธีนั้นประกอบด้วยแพทย์เฉพาะทางหลายประเภท เช่น สูตินารีแพทย์ ศัลยแพทย์ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษากระดูกและข้อ เอ็นยึดกระดูก และกล้ามเนื้อและเส้นประสาท) แพทย์โรคทางเดินอาหาร แพทย์หู คอ จมูก แพทย์ผิวหนัง หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้องอก เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของซีสต์
ซีสต์แต่ละชนิดก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแตกต่างกันไปตามอาการของโรค โดยซีสต์ที่พบได้บ่อยแต่ละชนิดปรากฏภาวะแทรกซ้อน ดังนี้
ซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง (Sebaceous Cyst)
ก้อนซีสต์ที่ขึ้นใต้ผิวหนังนี้จะบวมตึงหรือเกิดอาการอักเสบเอาออกได้ยาก แพทย์จะเลื่อนการเอาก้อนซีสต์ออกจนกระทั่งอาการอักเสบดีขึ้น และหากก้อนซีสต์แตกอาจเกิดการติดเชื้อซึ่งต้องรีบรักษาทันที สำหรับผู้ที่มีก้อนซีสต์ขึ้นที่องคชาต จะรู้สึกเจ็บปวดเมื่อปัสสสาวะหรือสอดใส่เมื่อร่วมเพศ นอกจากนี้ ซีสต์อาจนำไปสู่มะเร็งผิวหนังซึ่งพบได้ไม่บ่อยนักในผู้ป่วยบางราย
ถุงน้ำรังไข่ (Ovarian Cyst)
ภาวะแทรกซ้อนที่พบในผู้ป่วยถุงน้ำรังไข่คือรังไข่บิดขั้ว เนื่องจากซีสต์หรือถุงน้ำมีขนาดใหญ่จนเบียดรังไข่ให้ออกไปจากตำแหน่งเดิมที่ยึดกับอุ้งเชิงกราน ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดบริเวณดังกล่าวจากการที่รังไข่บิดขั้ว
กุ้งยิงเรื้อรัง (Chalazia)
การผ่าตัดกุ้งยิงถือเป็นวิธีรักษาที่ปลอดภัย แต่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก โดยผู้ป่วยอาจมีเลือดไหลออกมาจากแผลเพียงเล็กน้อย ในบางรายอาจเกิดการติดเชื้อตรงบริเวณที่ผ่าตัด และที่พบได้ยากที่สุดนั่นคือการติดเชื้อนั้นกระจายไปในกระแสเลือด
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดในการผ่าตัดตากุ้งยิงจะเกิดขึ้นเมื่อยังผ่าตัดไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยบริเวณที่เป็นตากุ้งยิงจะเป็นแผลเป็นและมีลักษณะเป็นก้อน บางครั้งทำให้รู้สึกไม่สบายตาด้วย ทั้งนี้ หากก้อนซีสต์มีขนาดเล็ก ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด
ส่วนก้อนซีสต์บนเปลือกตาที่มีขนาดใหญ่ควรหมั่นประคบอุ่น และหากผู้ป่วยกลับมาเป็นซ้ำหรืออาการไม่ดีขึ้น ควรพบจักษุแพทย์เพื่อรับการฉีดยาให้ก้อนซีสต์เล็กลงหรือผ่าตัดตากุ้งยิงเรื้อรัง หากเกิดกุ้งยิงเรื้อรังหลายครั้ง แพทย์อาจส่งตรวจชิ้นเนื้อเพื่อดูว่ามีลักษณะของเซลล์มะเร็งหรือไม่
ก้อนใต้ผิวหนังบริเวณก้น (Pilonidal Cyst)
หากก้อนใต้ผิวหนังติดเชื้อและไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมเป็นเวลานาน ผู้ป่วยอาจเกิดความเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังคาร์ซิโนมา (Squamous Cell Carcinoma) โดยก้อนใต้ผิวหนังที่ติดเชื้อจะค่อย ๆ ลุกลามกลายเป็นมะเร็งในที่สุด
การป้องกันซีสต์
ส่วนใหญ่ซีสต์แต่ละชนิดไม่สามารถป้องกันได้ แต่ก็มีบางชนิดที่ป้องกันได้โดยเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงให้เกิดซีสต์ในบริเวณต่าง ๆ ตามร่างกาย อีกทั้ง ผู้ป่วยซีสต์แต่ละชนิดสามารถดูแลอาการป่วยได้ด้วยตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้อาการของโรคลุกลามไปมากกว่าเดิม โดยซีสต์ที่พบได้บ่อยแต่ละชนิดมีวิธีป้องกันและดูแลอาการของโรค ดังนี้
ซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง (Sebaceous Cyst)
แม้ว่าซีสต์ชนิดนี้จะไม่สามารถป้องกันได้ แต่ผู้ป่วยสามารถดูแลไม่ให้เกิดอาการลุกลามหรือติดเชื้อได้ โดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นหมาด ๆ วางประคบลงบนบริเวณที่เกิดซีสต์เพื่อช่วยให้สารที่อยู่ภายในก้อนซีสต์นั้นไหลออกมา รวมทั้งไม่บีบหรือแกะซีสต์ด้วยตัวเอง
ก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ (Ganglion Cyst)
ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาแอสไพรินหรือยาแก้อักเสบนาพรอกเซน (Naproxen) เพื่อบรรเทาอาการปวด สำหรับผู้ที่เกิดก้อนถุงน้ำขึ้นที่ข้อเท้าหรือเท้า อาจลองเปลี่ยนรองเท้าหรือปรับการผูกเชือกรองเท้าเพื่อช่วยให้สวมใส่สบายขึ้นและลดอาการเจ็บปวดจากซีสต์ ที่สำคัญ ไม่ควรบีบหรือเจาะก้อนถุงน้ำด้วยเข็ม เพราะอาจนำไปสู่การติดเชื้อ
ถุงน้ำรังไข่ (Ovarian Cyst)
แม้ว่าจะไม่ปรากฏวิธีป้องกันถุงน้ำรังไข่ที่แน่ชัด แต่การตรวจเชิงกรานเป็นประจำจะสามารถช่วยให้วินิจฉัยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับรังไข่ได้ทันการ นอกจากนี้ควรหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงหรืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อมีรอบเดือนอยู่เสมอ แล้วพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับคำแนะนำในการรักษา
ถุงน้ำที่เต้านม (Breast Cyst)
ผู้ที่ป่วยเป็นซีสต์เต้านมควรสวมเสื้อชั้นในที่ใช้หลังทำศัลยกรรมหรือสปอร์ตบราเพื่อช่วยประคองเต้านมและช่วยให้ไม่รู้สึกอึดอัด หากรู้สึกเจ็บที่ก้อนซีสต์ สามารถประคบด้วยของอุ่น ของเย็น หรือถุงน้ำแข็งเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด และรับประทานยาแก้ปวดตามที่แพทย์แนะนำ เช่น ยาพาราเซตามอล หรือกลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) อย่างยาแอสไพรินหรือยานาพรอกเซน
ตากุ้งยิง (Chalazia)
ควรทำความสะอาดเปลือกตาที่อยู่ตามแนวเยื่อบุตาด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนโยนเพื่อช่วยไม่ให้ท่อไขมันตรงบริเวณนี้อุดตัน
ก้อนใต้ผิวหนังบริเวณก้น (Pilonidal Cyst)
วิธีป้องกันซีสต์ไม่ให้เกิดขึ้นนั้น ควรทำความสะอาดผิวหนังบริเวณก้นให้สะอาดและแห้ง และหมั่นลุกเดินหรือขยับตัวทำกิจกรรมอื่นบ้างเพื่อเลี่ยงการนั่งนาน ๆ สำหรับผู้ที่เคยมีซีสต์ขึ้นบริเวณก้น อาจต้องหมั่นโกนขนบริเวณดังกล่าวหรือใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดขนอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขนอ่อนขึ้นมาซ้ำอีกครั้ง