ดึงผม พฤติกรรมบ่งบอกโรคที่หลายคนอาจไม่รู้ตัว

คนเรามีวิธีจัดการกับความเครียดหรือความกังวลด้วยวิธีที่แตกต่างกัน หลายคนอาจหากิจกรรมทำและพูดคุยกับเพื่อนสนิทเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ตึงเครียด แต่บางคนอาจติดนิสัยดึงผมหรือขนตามร่างกายของตัวเองเพื่อระบายความเครียด ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมผิดปกติที่ควรได้รับการรักษา

บางคนอาจมีนิสัยชอบใช้นิ้วม้วนหรือพันเส้นผมเล่น (Hair Twirling) ซึ่งอาจเกิดจากความเบื่อหน่าย และความเครียด แต่ยังไม่จัดเป็นโรคที่น่ากังวล แต่ผู้ที่มีอาการของโรคดึงผม (Trichotillomania) มักมีพฤติกรรมอยากดึงหรือถอนผมและขนตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย อย่างขนคิ้วหรือขนตา ซึ่งอาจทำไปโดยไม่รู้ตัวหรือรู้ตัวแต่ไม่สามารถหยุดกระทำได้ โดยในบทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคดึงผมที่ควรได้รับการรักษามาฝากกัน

ดึงผม พฤติกรรมบ่งบอกโรคที่หลายคนอาจไม่รู้ตัว

โรคดึงผมเป็นอย่างไร

โรคดึงผมจัดเป็นโรคทางจิตเวชกลุ่มโรคขาดความยับยั้งชั่งใจ (Impulse Control Disorder) ซึ่งผู้ที่มีอาการส่วนมากมักดึงผมและขนตามร่างกายตัวเองซ้ำ ๆ โดยไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้ และจะรู้สึกผ่อนคลายหลังจากได้ดึงผมของตัวเอง ทั้งนี้มักเริ่มมีอาการในวัยเด็กตอนปลายไปจนถึงวัยรุ่นตอนต้น ซึ่งมีอายุระหว่าง 10–13 ปี และจะมีอาการต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่

การดึงผมบ่อย ๆ อาจทำให้ผมร่วงเป็นหย่อม ศีรษะล้าน และทำให้สูญเสียความมั่นใจในตัวเองได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีพฤติกรรมกินเส้นผมที่ดึงออกมา (Trichophagia) ซึ่งอาจทำให้ปวดท้อง น้ำหนักลด และในระยะยาวอาจทำให้ระบบย่อยอาหารและลำไส้อุดตันได้

โรคดึงผมเป็นโรคทางจิตเวชที่ควรได้รับการรักษา หากปล่อยให้มีอาการเป็นเวลานานและไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น รู้สึกแสบและคันบริเวณหนังศีรษะ ผมบาง ผมร่วงเป็นหย่อม ผิวหนังบริเวณที่ดึงผมหรือขนออกไปเกิดความระคายเคือง นอกจากนี้ยังส่งผลต่อสภาวะจิตใจ อย่างความมั่นใจในตัวเองลดลงและอาจนำไปสู่การหลีกหนีสังคมได้

โรคดึงผมเกิดจากอะไร

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคดึงผม แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ความเครียด ความโกรธ และความวิตกกังวลจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น ปัญหาครอบครัว การใช้ความรุนแรง และการสูญเสียคนที่รักอย่างกะทันหัน
  • ความผิดปกติของการทำงานในสมองส่วนที่เชื่อมโยงอารมณ์ นิสัย พฤติกรรม และความยับยั้งชั่งใจ
  • ความชื่นชอบหรือพอใจที่ได้สัมผัสเส้นผมบนหนังศีรษะ
  • อาการทางจิตเวช เช่น โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) โรคซึมเศร้า โรคสมาธิสั้น (ADHD) โรคออทิสติก (Autism)
  • การถ่ายทอดทางพันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีประวัติของโรคดึงผม อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคได้

โรคดึงผม รักษาได้อย่างไร

หลังจากแพทย์วินิจฉัยอาการแล้ว อาจแนะนำวิธีรักษาโรคดึงผมตามความรุนแรงของอาการ โดยวิธีการรักษาที่อาจนำมาใช้ มีดังนี้

พฤติกรรมบำบัด (Behavioral Therapy) 

พฤติกรรมบำบัดที่ใช้ในการดึงผมมีหลายวิธี โดยวิธีที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุดคือ Habit Reversal Training (HRT) ซึ่งเป็นวิธีที่สอนให้ผู้ป่วยสังเกตและจดบันทึกลักษณะอาการดึงผมของตัวเอง และให้ทำกิจกรรมอื่นทดแทนเพื่อป้องกันการดึงผม อย่างการกำมือหรือบีบลูกบอล พร้อมทั้งสอนวิธีผ่อนคลายลมหายใจและกล้ามเนื้อ

นอกจากนี้แพทย์อาจใช้การบำบัดด้วยวิธีอื่น ๆ ควบคู่กัน เช่น การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) พฤติกรรมบำบัดวิภาษวิธี (Dialectical Behavior Therapy) การสอนวิธีจัดการความเครียด และการบำบัดพฤติกรรมสำหรับผู้ที่มีนิสัยรักความสมบูรณ์แบบหรือทำพฤติกรรมบางอย่างซ้ำ ๆ อย่างการกัดเล็บ เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

การใช้ยา

ยาที่อาจนำมาใช้รักษาโรคดึงผม ได้แก่ ยาต้านเศร้า (Antidepressant) ยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotics) และเอ็น-อะเซทิลซิสเทอิน (N-acetylcysteine) ซึ่งอาจช่วยระงับความรู้สึกที่กระตุ้นให้เกิดอาการดึงผมได้ ทั้งนี้ การใช้ยารักษาโรคดึงผมยังคงต้องการการศึกษาและวิจัยเพิ่มเติมในอนาคตเพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพของการรักษา

โรคดึงผมเป็นโรคที่ควรได้รับการรักษา เนื่องจากอาจส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต หากสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการของโรคดึงผม หรือมีอาการผิดปกติอื่น อย่างการกินผมร่วมด้วย ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา หากได้รับการรักษาด้วยวิธีเหมาะสมภายในเวลาที่รวดเร็ว อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดปัญหาสุขภาพในภายหลังได้