ความหมาย ตกเลือด
ตกเลือด (Bleeding During Pregnancy) คือภาวะเลือดออกทางช่องคลอดระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งจะมีอาการและความรุนแรงที่แตกต่างกัน โดยทั่วไป การมีเลือดออกทางช่องคลอดเพียงเล็กน้อยในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ถือเป็นภาวะที่พบได้บ่อย และมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อทารก
แต่บางครั้งภาวะตกเลือดอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพครรภ์รุนแรง โดยเฉพาะการตกเลือดในช่วงไตรมาสที่ 2–3 ของการตั้งครรภ์ ผู้ตั้งครรภ์ควรไปตรวจสุขภาพครรภ์ตามนัด และคอยสังเกตอาการตัวเอง หากมีอาการตกเลือดปริมาณมาก และมีอาการอื่นร่วมด้วย โดยเฉพาะเมื่ออายุครรภ์มาก ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเสี่ยงต่อการแท้ง และภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอื่น ๆ ได้
สาเหตุของการตกเลือด
การตกเลือดระหว่างตั้งครรภ์เกิดจากสาเหตุหลายประการที่แตกต่างกันไป โดยแบ่งสาเหตุตามอายุครรภ์ที่ตกเลือดออกเป็น 2 ช่วงหลัก ได้แก่ การตกเลือดช่วงอายุครรภ์น้อย และการตกเลือดช่วงอายุครรภ์มาก ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1. การตกเลือดช่วงอายุครรภ์น้อย
สตรีมีครรภ์อาจตกเลือดบ้างในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ หรือ 12 สัปดาห์แรกของอายุครรภ์ โดยสาเหตุของการตกเลือดระหว่างตั้งครรภ์ช่วงนี้ ได้แก่
เลือดล้างหน้าเด็ก (Implantation Bleeding)
ผู้ตั้งครรภ์จะตกเลือดล้างหน้าเด็กภายใน 6–12 วันแรกหลังจากไข่ปฏิสนธิเข้าไปฝังตัวในผนังมดลูก โดยจะมีเลือดเป็นจุดเล็ก ๆ คล้ายเลือดประจำเดือนมาน้อยไหลออกมา ผู้ตั้งครรภ์จะตกเลือดลักษณะดังกล่าวเพียงไม่กี่ชั่วโมง หรือนาน 2–3 วัน
ภาวะแท้ง
การแท้งอาจเกิดขึ้นเมื่อสุขภาพครรภ์ไม่แข็งแรง โดยส่วนใหญ่มักเกิดภาวะแท้งในช่วง 12 สัปดาห์ของอายุครรภ์ หรือเมื่อตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน ทั้งนี้ ภาวะแท้งก่อนอายุครรภ์ครบ 14 สัปดาห์ มักเกิดจากทารกมีความผิดปกติ ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน หรือเลือดแข็งตัว
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ตกเลือดเมื่อครรภ์ยังอ่อนอาจไม่ได้แท้งบุตรทุกราย โดยผู้ตั้งครรภ์เกินร้อยละ 90 ที่ตกเลือดเมื่ออายุครรภ์น้อย มักไม่เกิดภาวะแท้งหากอัลตราซาวด์และพบว่าหัวใจทารกเต้นอยู่
ท้องนอกมดลูก
ภาวะนี้เกิดจากการที่ตัวอ่อนไปฝังตัวอยู่นอกมดลูก ซึ่งมักฝังตัวที่ท่อนำไข่ หากตัวอ่อนนั้นเจริญขึ้นเรื่อย ๆ อาจทำให้ท่อนำไข่แตกและเป็นอันตรายถึงชีวิตแก่ผู้ตั้งครรภ์ได้ ผู้ที่ติดเชื้อที่ท่อนำไข่ เคยท้องนอกมดลูก หรือได้รับการผ่าตัดอุ้งเชิงกรานเสี่ยงเกิดภาวะนี้ได้สูง
ครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar Pregnancy)
ครรภ์ไข่ปลาอุกถือเป็นสาเหตุของการตกเลือดที่พบได้น้อย ครรภ์ไข่ปลาอุกเกิดจากการเจริญของเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ ไม่ใช่ตัวอ่อนของทารก ทั้งนี้ เนื้อเยื่อที่เจริญขึ้นมาอาจเป็นเนื้อร้ายและลุกลามไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แต่พบได้น้อย
การติดเชื้อ
การตกเลือดอาจเกิดจากการติดเชื้อที่ปากมดลูก ช่องคลอด หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม โรคเริม เป็นต้น
2. การตกเลือดช่วงอายุครรภ์มาก
ผู้ตั้งครรภ์ที่ตกเลือดเมื่ออายุครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่ 2–3 ควรไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากการตกเลือดในช่วงนี้เป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ตั้งครรภ์หรือทารกในครรภ์ สาเหตุของการตกเลือดเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ได้แก่
รกเกาะต่ำ
รกเกาะต่ำเกิดจากรกมาเกาะตรงมดลูกและปิดปากมดลูกบางส่วนหรือทั้งหมด รกเกาะต่ำจะทำให้เลือดออกมากแต่ไม่เกิดอาการเจ็บปวดใด ๆ ซึ่งถือว่าอันตรายต่อทารกในครรภ์หากเลือดออกมาก ผู้ตั้งครรภ์ควรพบแพทย์และรับการรักษาทันที โดยแพทย์มักจะผ่าคลอด
รกลอกตัวก่อนกำหนด
หากรกเกิดลอกออกจากผนังมดลูกก่อนหรือระหว่างคลอดทารก จะส่งผลให้เลือดไหลออกมา ถือว่าเป็นอันตรายต่อผู้ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ โดยภาวะนี้มักเกิดขึ้นช่วง 12 สัปดาห์สุดท้ายของอายุครรภ์ ผู้ที่เคยมีบุตร อายุมากกว่า 35 ปี เคยประสบภาวะมดลูกแตกมาก่อน ความดันโลหิตสูง ได้รับบาดเจ็บที่ท้อง หรือสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ เสี่ยงเกิดภาวะนี้ได้สูง
มดลูกแตก
ผู้ที่เคยผ่าคลอดมาก่อนอาจเสี่ยงต่อการที่แผลผ่าตัดตรงมดลูกเปิดระหว่างตั้งครรภ์ได้ ซึ่งถือว่าอันตรายถึงชีวิต ต้องผ่าคลอดฉุกเฉิน อย่างไรก็ดี การตกเลือดจากสาเหตุนี้พบได้น้อยมากเช่นกัน
สายสะดือพาดผ่านปากมดลูก (Vasa Previa)
ผู้ตั้งครรภ์ที่ตกเลือดและพบว่าอัตราการเต้นหัวใจของทารกเปลี่ยนกะทันหันหลังถุงน้ำคร่ำแตก อาจเกิดจากหลอดเลือดที่อยู่ในสายสะดือพาดผ่านตรงปากมดลูก หากน้ำคร่ำแตกจะส่งผลให้หลอดเลือดฉีกขาดและตกเลือดได้ ทารกในครรภ์อาจเสียเลือดมากถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต
คลอดก่อนกำหนด
การตกเลือดเมื่ออายุครรภ์มากขึ้นอาจเป็นสัญญาณของการคลอด โดยปากมดลูกจะมีมูกเลือด ซึ่งอาจเกิดขึ้นประมาณ 2–3 วันก่อนคลอด ร่วมกับอาการเจ็บครรภ์ หากตกเลือดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ ควรพบแพทย์ทันที
นอกจากนี้ ผู้ตั้งครรภ์ที่ตกเลือดเมื่ออายุครรภ์มากขึ้นอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น การติดเชื้อหรือได้รับบาดเจ็บที่ปากมดลูกหรือช่องคลอด ติ่งเนื้อ และโรคมะเร็ง
อาการการตกเลือด
การตกเลือดจะปรากฏสัญญาณและอาการที่แตกต่างกันไปตามสาเหตุ ดังนี้
- เลือดล้างหน้าเด็ก จะมีเลือดออกทางช่องคลอดเป็นจุดเพียงเล็กน้อยคล้ายเลือดประจำเดือนที่มาน้อย โดยมักมีเลือดออกประมาณ 2–3 ชั่วโมง แต่บางรายอาจมีเลือดออกติดต่อกันประมาณ 2–3 วัน
- ภาวะแท้ง ช่องคลอดจะมีเลือดออก รวมทั้งมีเนื้อเยี่อไหลออกมาด้วย และอาจรู้สึกปวดบีบที่ท้องน้อย ซึ่งอาการปวดจะรุนแรงกว่าการปวดประจำเดือน
- ท้องนอกมดลูก เกิดอาการปวดท้องน้อยรุนแรง โดยปวดท้องข้างใดข้างหนึ่งตลอดเวลา มีเลือดออกจากช่องคลอด ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากที่เริ่มปวดท้อง ทั้งนี้ ผู้ตั้งครรภ์อาจจะรู้สึกปวดไหล่ ท้องเสียอาเจียน และวิงเวียนเป็นลมร่วมด้วย
- ครรภ์ไข่ปลาอุก จะรู้สึกคลื่นไส้และอาเจียนอย่างรุนแรง ขนาดท้องโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
- รกเกาะต่ำ จะมีเลือดสีแดงสดไหลออกมาจากช่องคลอดเล็กน้อยไปจนถึงมาก มักไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด ซึ่งเลือดมักหยุดได้เอง แต่บางคนอาจกลับมาตกเลือดได้อีก
- รกลอกตัวก่อนกำหนด จะทำให้ปวดท้องและปวดหลังอย่างเฉียบพลัน มีเลือดออกจากช่องคลอดเพียงเล็กน้อยปนลิ่มเลือด แต่บางรายอาจไม่มีเลือดออกเลยก็ได้ เนื่องจากเลือดค้างอยู่ภายในมดลูก
- มดลูกแตก ทำให้เกิดอาการปวดหรือเจ็บเหมือนถูกกดที่ท้องอย่างรุนแรง และเลือดออกมาก
- สายสะดือพาดผ่านปากมดลูก จะทำให้ตกเลือดมาก เนื่องจากหลอดเลือดฉีกขาด
- คลอดก่อนกำหนด จะมีตกขาว น้ำคร่ำแตก และอาจมีเลือดออกจากช่องคลอด รู้สึกปวดบีบที่ท้องถี่มากกว่า 8 ครั้ง/ชั่วโมง ต่อเนื่องกันหลายชั่วโมง ปวดเหมือนถูกกดอุ้งเชิงกรานหรือท้องน้อย ท้องเสีย ปวดหลังส่วนล่าง ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์
อาการตกเลือดที่ควรไปพบแพทย์
ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ หากมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อยที่หายไปภายใน 1 วัน และไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย ถือว่าอาการไม่น่ากังวล ให้แจ้งอาการกับแพทย์เมื่อถึงกำหนดนัดตรวจสุขภาพครรภ์ครั้งถัดไป แต่ผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์ทันที
- มีอาการตกเลือดนานกว่า 1 วันสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก
- ตกเลือดปริมาณมาก มีเนื้อเยื่อไหลออกจากช่องคลอด ไม่ว่าจะอายุครรภ์เท่าไรก็ตาม
- ตกเลือดพร้อมอาการอื่น ๆ เช่น ปวดบริเวณท้องหรือท้องน้อย เวียนศีรษะ เป็นลม มีไข้ หนาวสั่น ปวดบีบท้องคล้ายใกล้คลอด และน้ำคร่ำแตก
ทั้งนี้ ควรเก็บเนื้อเยื่อที่ไหลมาจากช่องคลอดเพื่อนำไปให้แพทย์ตรวจด้วย เนื่องจากการตกเลือดมากอาจมีสาเหตุมาจากภาวะแท้ง
การวินิจฉัยอาการตกเลือด
แพทย์อาจสอบถามลักษณะของอาการตกเลือด ประวัติสุขภาพโดยรวมของผู้ที่ตั้งครรภ์ สุขภาพครรภ์ และอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น อาการปวดบีบที่ท้อง เกิดอาการปวดอื่น ๆ หรือเวียนศีรษะหรือไม่ จากนั้นจะตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น
- การตรวจช่องคลอด แพทย์จะตรวจช่องคลอดเพื่อดูขนาดมดลูกและปริมาณเลือดที่ออกมา ซึ่งในระหว่างการตรวจดังกล่าวอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวบ้าง
- การตรวจเลือด เพื่อตรวจหมู่เลือดและระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์
- การอัลตราซาวด์ครรภ์ เพื่อตรวจดูอัตราการเต้นของหัวใจทารก สัญญาณของการแท้งและการคลอดก่อนกำหนด รวมถึงใช้ตรวจตำแหน่งและความสมบูรณ์ของรก
การรักษาอาการตกเลือด
การรักษาอากรตกเลือดจะแตกต่างขึ้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุครรภ์ ความรุนแรงของอาการ และสาเหตุของการตกเลือดที่ตรวจพบ ผู้ตั้งครรภ์ควรหมั่นดูแลและสังเกตอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์
หากตกเลือดเล็กน้อย ควรใส่ผ้าอนามัยหรือแผ่นอนามัยเพื่อซับเลือดที่ไหลออกมาจากช่องคลอด นอนพักผ่อนมาก ๆ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากการสอดใส่ระหว่างร่วมเพศอาจทำให้ตกเลือดมากขึ้น งดออกแรงมาก เช่น ยกของหนักหรือออกกำลังกายหนัก หลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงที่มีอาการตกเลือด และอาจปรึกษาแพทย์เพื่อรับประทานยาบรรเทาอาการปวด เช่น ยาพาราเซตามอล
ส่วนการรักษาอาการตกเลือดรุนแรงจะแตกต่างกันตามสาเหตุ มีดังนี้
- กรณีแท้งบุตร แพทย์อาจให้ยาเหน็บช่องคลอดเพื่อขับเนื้อเยื่อและรกของตัวอ่อนที่ตายแล้วออกมา ผู้ที่มีอาการติดเชื้อด้วยอาจต้องขูดมดลูกออก เพื่อนำเนื้อเยื่อภายในมดลูกออกมา
- หากตกเลือดและมดลูกฉีกขาดจากท้องนอกมดลูก มักจะได้รับการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการ
- หากมีภาวะครรภ์ไข่ปลาอุก แพทย์จะขูดมดลูกเอาเนื้อเยื่อผิดปกติที่เจริญขึ้นมาออกไป หรืออาจผ่าตัดนำมดลูกออกไปเลย การรักษาด้วยการผ่าตัดมดลูกจะรักษาเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่ต้องการมีบุตรในอนาคต
- ผู้ที่ตกเลือดมากจากภาวะรกเกาะต่ำต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยอาจต้องรับการให้เลือดเพื่อทดแทนเลือดที่เสียไป นอกจากนี้ แพทย์อาจจำเป็นผ่าคลอดเมื่อมีอายุครรภ์ครบ 36 สัปดาห์ หรือกรณีที่ตกเลือดไม่หยุดและทารกอยู่ในภาวะอันตราย
- ผู้ที่ตกเลือดจากรกลอกก่อนกำหนดและอาการไม่รุนแรง รวมทั้งทารกยังไม่ครบกำหนดคลอด อาจต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิดที่โรงพยาบาล แต่กรณีที่อาการรุนแรงและเป็นอันตรายต่อทารก แพทย์จะผ่าตัดทำคลอดทันที
- ผู้ที่อายุครรภ์ยังไม่ครบ 34 สัปดาห์ และเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดสูง จำเป็นต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยแพทย์จะฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อเร่งการเจริญของปอดทารก รวมทั้งให้อาจยาอื่น ๆ
- ผู้ที่ตกเลือดและหมู่เลือดมีค่าอาร์เอช (Rh) เป็นลบ จำเป็นต้องได้รับการฉีดอิมมูโนโกลบูลินเพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับภาวะเลือดเข้ากันไม่ได้ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ครั้งต่อไป
ภาวะแทรกซ้อนของอาการตกเลือด
โดยส่วนใหญ่แล้ว การตกเลือดในช่วงไตรมาสแรกมักไม่ใช่สัญญาณของปัญหาสุขภาพครรภ์ร้ายแรง ส่วนการตกเลือดในช่วงอายุครรภ์มากนับว่ามีความเสี่ยงสูงกว่า ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบจากการตกเลือดคือการแท้ง การคลอดก่อนกำหนด ภาวะตายคลอด (Stillbirth) หรือทารกเสียชีวิตหลังคลอดไม่นาน
นอกจากนี้ การตกเลือดปริมาณมากจะทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลงมาก ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะช็อก และการเสียชีวิตของผู้ที่ตั้งครรภ์ได้
การป้องกันอาการตกเลือด
สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดการตกเลือดระหว่างตั้งครรภ์เป็นปัญหาที่ป้องกันไม่ได้ ภาวะดังกล่าวอาจทำให้รู้สึกกังวล ผู้ตั้งครรภ์จึงควรทำใจให้สบาย หาโอกาสพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวเพื่อผ่อนคลายความเครียด
รวมทั้งดูแลตัวเองให้มีสุขภาพครรภ์ให้แข็งแรงด้วยการไปตรวจสุขภาพครรภ์ตามนัดเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และอาหารเสริมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ตามที่แพทย์แนะนำ พักผ่อนให้เพียงพอ งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์
หากมีโรคประจำตัวระหว่างตั้งครรภ์ที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้มีอาการตกเลือด เช่น เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ควรรับการรักษาอย่างเหมาะสม