ตกเลือดหลังคลอด (Postpartum Hemorrhage)

ความหมาย ตกเลือดหลังคลอด (Postpartum Hemorrhage)

ตกเลือดหลังคลอด (Postpartum Hemorrhage: PPH) เป็นภาวะที่ผู้ตั้งครรภ์เสียเลือดหลังจากการคลอดลูกเป็นปริมาณมากกว่า 1 ลิตรหรือมากจนส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติทางร่างกาย โดยอาการอาจเกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ คือ ภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด และช่วงหลังจากคลอดไปแล้ว 24 ชั่วโมง–12 สัปดาห์

ภาวะตกเลือดหลังคลอดเกิดขึ้นได้กับผู้ที่เพิ่งคลอดลูกทุกคน ไม่ว่าแพทย์จะทำคลอดด้วยวิธีใดก็ตาม และถือเป็นภาวะรุนแรงที่ควรได้รับการรักษาทันที เพราะหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ โดยในประเทศไทยเอง ภาวะตกเลือดหลังคลอดเป็นสาเหตุต้น ๆ ที่ทำให้ผู้ที่ตั้งครรภ์เสียชีวิต

Postpartum Hemorrhage

อาการตกเลือดหลังคลอด

ผู้ที่มีภาวะตกเลือดหลังคลอดอาจมีอาการแตกต่างกันไปบ้าง แต่อาการหลัก ๆ ที่มักพบคือ มีเลือดออกจากช่องคลอดเป็นปริมาณมากติดต่อกัน

อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น เวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน มองเห็นภาพเบลอ หนาวสั่น อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว หายใจไม่อิ่ม ตัวซีด ผิวเย็น เกิดอาการบวมบริเวณช่องคลอด ปวดบริเวณท้องหรืออุ้งเชิงกราน สับสน หรือรู้สึกกระวนกระวาย เป็นต้น

ในช่วงแรกที่เริ่มเสียเลือด ร่างกายอาจยังไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ให้สังเกตเห็นได้ แพทย์จึงต้องคอยติดตามอาการของผู้ที่เพิ่งคลอดเป็นระยะ ๆ หลังจากการทำคลอด เพราะหากพบสัญญาณของภาวะตกเลือดหลังคลอดจะได้รีบทำการรักษาได้ทันที

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เพิ่งเข้ารับการทำคลอดแล้วแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ ควรติดตามการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอยู่เสมอ และหากเริ่มพบอาการผิดปกติในลักษณะข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที  

สาเหตุของภาวะตกเลือดหลังคลอด

เมื่อตั้งครรภ์ ร่างกายของจะสร้างรกขึ้นมาเพื่อช่วยลำเลียงสารอาหารและออกซิเจน รวมถึงช่วยกำจัดของเสียต่าง ๆ ของทารก โดยด้านหนึ่งของรกจะติดกับผนังมดลูกของมารดา ส่วนอีกด้านหนึ่งจะติดกับสายสะดือของทารก

หลังจากแพทย์ทำคลอดแล้ว มดลูกจะเริ่มหดตัวลงกลับสู่ขนาดปกติตามกลไกธรรมชาติของร่างกายเพื่อช่วยหยุดเลือดที่ไหลอยู่ ในระหว่างนี้ แพทย์จะคอยนวดบริเวณมดลูกควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยให้มดลูกหดตัวลงและนำรกออกได้

อย่างไรก็ตาม บางคนอาจพบว่าเลือดยังคงไหลออกจากช่องคลอดไม่หยุดจนเกิดเป็นภาวะตกเลือดหลังคลอดตามมา โดยสาเหตุที่มักพบได้ เช่น

  • มดลูกหดตัวไม่แรงพอที่จะหยุดเลือดได้ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย
  • เกิดความเสียหายบริเวณช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก หรือฝีเย็บจากการใช้เครื่องมือช่วยทำคลอด
  • เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับรก เช่น รกบางส่วนยังคงค้างอยู่ในมดลูก รกวางตัวผิดปกติในมดลูก หรือรกเกาะแน่น (Placenta Accreta) 
  • ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตกเลือดหลังคลอดมากขึ้น เช่น

  • มดลูกขยายตัวมากผิดปกติ โดยสาเหตุที่มักพบได้ เช่น การคลอดลูกหลายคน การคลอดลูกแฝด การคลอดลูกที่มีขนาดตัวใหญ่มาก และร่างกายมีน้ำคร่ำมากผิดปกติ 
  • การทำคลอดที่ใช้เวลานาน
  • การทำคลอดด้วยวิธีผ่าคลอด (C–Section) 
  • การผ่าตัดฝีเย็บขณะคลอด (Episiotomy) เพื่อช่วยคลอด
  • มีประวัติการเกิดภาวะตกเลือดหลังคลอด
  • เคยทำคลอดมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่เคยคลอดมามากกว่า 5 ครั้ง
  • ตั้งครรภ์หลังอายุ 35 ปี
  • มีเนื้องอกมดลูก (Uterine Fibroids) ขนาดใหญ่
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยากระตุ้นคลอด ยาต้านการหดตัวของมดลูก หรือยาระงับความรู้สึก 
  • ภาวะผิดปกติอื่น ๆ เช่น มีภาวะน้ำหนักเกิน ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะโลหิตจาง ภาวะท่อน้ำดีในตับอุดตันขณะตั้งครรภ์ (Intrahepatic Cholestasis of Pregnancy) หรือร่างกายติดเชื้อ 

การวินิจฉัยภาวะตกเลือดหลังคลอด

ในการวินิจฉัยภาวะตกเลือดหลังคลอด แพทย์จะตรวจดูประวัติของผู้ป่วย ประเมินปริมาณการสูญเสียเลือดของผู้ป่วย พร้อมทั้งตรวจวัดสัญญาณชีพ เช่น ชีพจร ความดันโลหิต ระดับออกซิเจนในเลือด และการหายใจ 

รวมทั้งอาจใช้วิธีอื่น ๆ ร่วมด้วยตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือด เพื่อดูปริมาณเซลล์เม็ดเลือดในร่างกาย และสัญญาณของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และการอัลตราซาวด์บริเวณมดลูก หรืออวัยวะบริเวณอื่น ๆ เพื่อให้แพทย์เห็นรายละเอียดมากขึ้น

การรักษาภาวะตกเลือดหลังคลอด

ในเบื้องต้นก่อนรักษาผู้ป่วยภาวะตกเลือดหลังคลอด แพทย์จะตรวจสัญญาณชีพของผู้ป่วย เช่น ชีพจร ความดัน การหายใจ และอุณหภูมิของร่างกาย และรักษาตามความผิดปกติที่พบก่อน เพื่อกระตุ้นสัญญาณชีพของผู้ป่วย 

แพทย์จะรักษาภาวะตกเลือดหลังคลอดของผู้ป่วย เพื่อช่วยหยุดเลือด และชดเชยเลือดที่สูญเสียไปให้เร็วที่สุด โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาจากสาเหตุ และความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน เช่น

การนวดมดลูกหรือการใช้ยา

แพทย์จะนวดบริเวณมดลูกของผู้ป่วย หรืออาจใช้ยาบางชนิดในกรณีที่แรงหดตัวมดลูกของผู้ป่วยไม่เพียงพอที่จะช่วยหยุดเลือด อย่างยาออกซิโทซิน (Oxytocin) เพื่อทำให้มดลูกของผู้ป่วยหดตัวและหยุดเลือด โดยระหว่างที่แพทย์นวดมดลูก แพทย์อาจตรวจดูว่ามีรกหลงเหลืออยู่หรือไม่ หรือกำจัดเลือดที่อุดตันร่วมด้วย

การขูดมดลูก

ผู้ป่วยที่มีภาวะรกเกาะแน่น แพทย์จะพิจารณาใช้วิธีขูดมดลูก เพื่อนำรกที่หลงเหลืออยู่ในมดลูกออก

การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์หรือการเย็บแผล

ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกจากการเกิดแผล แพทย์อาจสอดฟองน้ำหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางชนิดเข้าไปในมดลูกเพื่อช่วยหยุดเลือด หรืออาจพิจารณาเย็บแผลขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา และความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน

การสอดสายยาง

แพทย์อาจพิจารณาสอดสายยางเพื่อระบายน้ำปัสสาวะของผู้ป่วย เนื่องจากการที่กระเพาะปัสสาวะเต็มจะส่งผลให้มดลูกหดตัวได้ยากขึ้น

การผ่าตัด

การผ่าตัดจะใช้เฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ หรือมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง โดยแพทย์อาจตัดสินใจร่วมกับผู้ป่วย เพื่อผ่าตัดมดลูก (Hysterectomy) นำมดลูกออก 

หลังจากที่หยุดเลือดได้แล้ว แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับการรักษาอื่น ๆ เพิ่มเติมจนกว่าอาการคงที่ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะช็อก เช่น การรับสารน้ำ การถ่ายเลือด หรือการใช้ยาบางชนิด 

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะตกเลือดหลังคลอด

ภาวะตกเลือดหลังคลอดที่ไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จากการสูญเสียเลือด ไม่ว่าจะเป็นอาการเวียนศีรษะขณะยืน อ่อนเพลีย ภาวะโลหิตจาง ภาวะช็อก ไปจนถึงการเสียชีวิต

นอกจากนี้ ภาวะตกเลือดหลังคลอดยังอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดกลุ่มอาการชีแฮน (Sheehan Syndrome) หรืออาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะรุนแรง อย่างโรคหัวใจขาดเลือด (Myocardial Ischemia) ได้ในกรณีที่อาการมีความรุนแรง

การป้องกันภาวะตกเลือดหลังคลอด

ผู้ที่กำลังเข้ารับการทำคลอดควรแจ้งข้อมูลและประวัติด้านสุขภาพของตนเองให้แพทย์ทราบโดยละเอียด โดยเฉพาะหมู่เลือดของตนเอง ประวัติการเกิดโรคหรือภาวะที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด หรือมีประวัติการเกิดภาวะตกเลือดหลังคลอดมาก่อน เพื่อให้แพทย์พิจารณาความเสี่ยง และเตรียมการทำคลอดได้อย่างเหมาะสม