การตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นวิธีการที่ผู้หญิงทุกคนควรรู้ เพราะจะช่วยตรวจหาความผิดปกติที่อาจระบุถึงโรคสำคัญอย่างมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้มากในเพศหญิง และในแต่ละปีก็มีผู้หญิงกว่า 1.5 ล้านคนที่ป่วยเป็นโรคนี้ การหมั่นตรวจเต้านมตนเองและสังเกตสิ่งผิดปกติเป็นประจำจะช่วยให้มีโอกาสตรวจพบก้อนเนื้อมะเร็งขนาดเล็กได้เร็วขึ้น และทำให้มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ไปด้วย โดยสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างเหมาะสมและถูกวิธีได้จากข้อมูลต่อไปนี้
การตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นอย่างไร ?
การตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นการตรวจหาเนื้องอก ซีสต์ และความผิดปกติอื่น ๆ บริเวณเต้านม ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และสามารถทำได้เองที่บ้าน แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการตรวจเต้านมด้วยวิธีอื่น ๆ ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงกว่าอย่างการตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) แต่การตรวจเต้านมด้วยตนเองนั้นจะทำให้คุ้นเคยและจดจำลักษณะ รูปร่าง ขนาด และผิวบริเวณเต้านมได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยให้สังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้โดยง่ายหากมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเปลี่ยนไปจากเดิม
ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเมื่อไร ?
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการตรวจเต้านมด้วยตนเอง คือ 2-3 วันแรกหลังประจำเดือนหมด เนื่องจากระดับฮอร์โมนในร่างกายจะเปลี่ยนแปลงขณะที่มีประจำเดือน โดยจะส่งผลต่อขนาดและความรู้สึกขณะสัมผัสเต้านม ดังนั้น การตรวจเต้านมในช่วงที่เต้านมมีขนาดปกติจึงดีที่สุด
ส่วนผู้ที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง ควรเลือกวันที่แน่นอนในการตรวจเต้านม โดยอาจเลือกตรวจเต้านมด้วยตนเองในวันแรกของทุกเดือน ทั้งนี้ ควรจดบันทึกข้อมูลและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ หลังตรวจแต่ละครั้ง เพื่อให้ง่ายต่อการสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น
ตรวจเต้านมด้วยตนเองมีความเสี่ยงหรือไม่ ?
แม้การตรวจเต้านมด้วยตนเองนั้นค่อนข้างปลอดภัย แต่ในบางกรณีอาจส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อสุขภาพได้ โดยอาจทำให้รู้สึกวิตกกังวลเมื่อคลำเจอก้อนเนื้อหรือสังเกตพบความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ บริเวณเต้านม ซึ่งสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่มะเร็งเต้านมเสมอไป นอกจากนี้ การตรวจเต้านมด้วยตนเองยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ไม่สามารถใช้แทนการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยแพทย์หรือการตรวจด้วยแมมโมแกรมได้ และเมื่อตรวจพบสิ่งผิดปกติหรือก้อนเนื้อ แพทย์อาจต้องตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจ ซึ่งอาจไม่ใช่เซลล์มะเร็ง เป็นต้น
วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง
การตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกต้อง สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
การตรวจเต้านมหน้ากระจก
- ถอดเสื้อและยกทรงออก จากนั้นยืนหน้ากระจกแล้วสังเกตรูปร่างและลักษณะของเต้านมว่ามีรอยบุ๋ม รอยย่น รอยฟกช้ำ และมีสีผิวเปลี่ยนไปหรือไม่ หากพบว่าเต้านมทั้ง 2 ข้างมีขนาดไม่เท่ากันก็ไม่ต้องตกใจหรือวิตกกังวลจนเกินไป เพราะปกติแล้วผู้หญิงส่วนใหญ่มักมีขนาดเต้านมทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน นอกจากนี้ ควรตรวจบริเวณหัวนมด้วยว่ามีแผล รอยถลอก และหัวนมอยู่ในระดับเดียวกันหรือไม่
- ยกมือเท้าสะโพก แล้วกดสะโพกให้แน่นจนกล้ามเนื้อบริเวณใต้เต้านมตึง จากนั้นหันซ้ายและขวาเพื่อตรวจดูเต้านมทั้ง 2 ข้าง
- ยกมือเท้าสะโพกแล้วโน้มตัวไปข้างหน้า จากนั้นสังเกตรูปร่างและลักษณะของเต้านมว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่
- ยืนตัวตรงยกมือขึ้นประสานนิ้วไว้ที่ต้นคอ จากนั้นหันซ้ายและขวาแล้วสังเกตเต้านมทั้ง 2 ข้างว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่
- ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้บีบผิวหนังบริเวณหัวนม เพื่อทดสอบดูว่ามีน้ำหรือสิ่งผิดปกติไหลออกมาหรือไม่
การตรวจเต้านมขณะอาบน้ำ
- ใช้ปลายนิ้วของนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางคลำเต้านมทั้ง 2 ข้าง เพื่อตรวจหาก้อนเนื้อ โดยควรใช้ปลายนิ้วมือด้านตรงข้ามกับรักแร้คลำหาก้อนเนื้อหรือความผิดปกติของผิวหนังบริเวณใต้รักแร้และไหปลาร้าทั้ง 2 ข้างด้วยว่ามีลักษณะเป็นก้อนแข็งหรือไม่
- ถูมือด้วยสบู่ ใช้มือข้างหนึ่งประคองเต้านมไว้ จากนั้นใช้มืออีกข้างกดสัมผัสเต้านมเบา ๆ โดยค่อย ๆ กดเต้านมจากบนลงล่างให้ทั่วไปจนถึงบริเวณเนินอกและกระดูกไหปลาร้า แล้วสลับทำอีกข้างหนึ่ง
การตรวจเต้านมขณะนอนหงาย
- นอนหงายในท่าที่สบาย ใช้หมอนรองศีรษะหรือใช้ผ้าขนหนูสอดใต้ไหล่ข้างที่จะตรวจเต้านม ยกมือข้างเดียวกับเต้านมที่จะตรวจไว้เหนือศีรษะ จากนั้นใช้ปลายนิ้วมือด้านตรงข้ามคลำเต้านมข้างที่ยกมือขึ้น
- กดและคลำเต้านมเบา ๆ โดยคลำวนรอบเต้านมตามเข็มนาฬิกา ทำซ้ำอีกครั้งโดยขยับปลายนิ้วมือให้ห่างจากฐานหัวนมประมาณ 1 นิ้ว
- ใช้ปลายนิ้วมือสัมผัสหัวนมเพื่อดูว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ จากนั้นกดหัวนมเบา ๆ โดยหัวนมที่ปกติจะไม่ดึงรั้งและเคลื่อนตามแรงมือได้ง่าย
- กลับไปที่ท่าเริ่มต้น โดยสลับทำอีกข้างหนึ่ง และควรตรวจคลำบริเวณด้านข้างของเต้านม เนินอก รักแร้ และใต้ไหปลาร้าทั้ง 2 ข้างด้วย
สิ่งผิดปกติที่ควรไปพบแพทย์
หากตรวจพบก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยทันที
- ลักษณะผิวของเต้านมและหัวนมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อย่างผิวหนังบริเวณเต้านมหรือหัวนมมีสีแดง มีรอยบุ๋ม รอยถลอก รอยย่น ตกสะเก็ด มีเลือดหรือของเหลวไหลออกมาจากหัวนม หรือมีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีอาการบวม แดง และรู้สึกร้อน เป็นต้น
- คลำพบเนื้อเยื่อแข็งใต้ผิวหนัง
- ตรวจพบก้อนเนื้อบริเวณเต้านมหรือใต้รักแร้หลังหมดประจำเดือน
- เต้านมทั้ง 2 ข้างมีรูปร่างหรือลักษณะแตกต่างกันอย่างชัดเจน หรือมีลักษณะเปลี่ยนไปจากเดิม