ตังกุยเป็นพืชสมุนไพรที่หลายคนเชื่อว่ามีสรรพคุณบำรุงสุขภาพ สรรพคุณที่โด่งดังขึ้นชื่อของตังกุย คือ ฤทธิ์บรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนและร้อนวูบวาบจากกลุ่มอาการผิดปกติก่อนมีประจำเดือน (PMS: Premesntral Syndrome) นอกจากนี้ข้อมูลบางส่วนยังชี้ว่าตังกุยอาจช่วยบำรุงหัวใจ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และช่วยชะล้างสารพิษในร่างกาย
สรรพคุณของตังกุยมีชื่อเสียงมานานหลายพันปี เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาแบบแพทย์แผนจีน แต่เนื่องจากระยะเวลาที่ยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอาจทำให้ประโยชน์ของสมุนไพรชนิดนี้มีทั้งข้อเท็จจริงและความเชื่อ หากคุณกำลังสนใจเกี่ยวกับสมุนไพรชนิดนี้ บทความนี้อาจช่วยไขข้อสงสัยเบื้องต้นของคุณได้
ตังกุยมีชื่อเรียกในภาษาไทยว่า โกฐเชียง ส่วนชื่อในภาษาอังกฤษนั้นมีหลายชื่อและเป็นคนละชนิดกัน ตังกุยในกลุ่มประเทศตะวันตกจะหมายถึง Angelica Archangelica แต่ในประเทศไทยและประเทศแถบเอเชีย ตังกุยจะหมายถึง Angelica Sinesis (A. Sinensis) ซึ่งประโยชน์และข้อมูลที่เราจะพูดถึงในบทความนี้เป็นข้อมูลเกี่ยวกับ A. Sinensis
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตังกุยและสุขภาพผู้หญิง
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์บางส่วนบอกว่าตังกุยจะช่วยคลายกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงกล้ามเนื้อมดลูกด้วยจึงอาจบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน
สรรพคุณของตังกุยในการบรรเทาอาการปวดประจำเดือนจากการศึกษาบางส่วนพบว่า ตังกุยมีสารประกอบไลกัสติไลด์ (Ligustilide) ที่ออกฤทธิ์ช่วยคลายกล้ามเนื้อในร่างกาย รวมถึงกล้ามเนื้อบริเวณมดลูกด้วย
ในช่วงก่อนและช่วงที่มีประจำเดือน ฮอร์โมนบางชนิดจะเพิ่มสูงขึ้นเพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อมดลูกหดตัว ช่วยให้เยื่อบุโพรงมดลูกลอกตัวและทำให้ไข่ตกจนเป็นประจำเดือนออกมา กล้ามเนื้อมดลูกที่หดเกร็งจึงทำให้เกิดอาการปวดท้องประจำเดือนได้ นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มจึงเชื่อว่าสารไลกัสติไลด์ที่พบในตังกุยอาจช่วยลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อมดลูกและบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนได้ ในทางกลับกัน ข้อมูลบางส่วนก็ชี้ว่า สารชนิดนี้อาจเป็นอันตรายต่อคนท้องและเด็กในครรภ์ เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อมดลูกคลายตัวและเสี่ยงต่อการแท้งเพิ่มขึ้นได้
หลายคนเชื่อว่าตังกุยอาจเป็นประโยชน์ต่อการบรรเทาอาการร้อนวูบวาบ (Hot Flash) ในช่วงหมดประจำเดือน เพราะอาการนี้มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ซึ่งส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) ลดลงตามไปด้วย
งานศึกษาชิ้นหนึ่งได้ศึกษาคุณสมบัติในการบรรเทาอาการร้อนวูบวาบในช่วงหมดประจำเดือนของพืชสมุนไพรหลายชนิดและพบว่า ตังกุยอาจช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนเซโรโทนินภายในร่างกาย หากระดับเซโรโทนินสมดุลก็อาจบรรเทาอาการร้อนวูบวาบได้
อย่างไรก็ตาม การศึกษาเหล่านั้นเป็นเพียงส่วนน้อย อีกทั้งยังขาดการทดลองและติดตามผลในมนุษย์ทั้งในระยะสั้นและยาว ขณะเดียวกันการทดลองบางชิ้นยังให้ผลตรงกันข้าม ทำให้ยากต่อการสรุปผลอย่างแน่ชัดว่าตังกุยส่งผลดีหรือผลเสียต่อร่างกายได้มากกว่ากัน หรือเพิ่มความเสี่ยงของโรคบางชนิดได้หรือไม่
ดังนั้น อาจต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตเพื่อความปลอดภัย หากพบอาการปวดประจำเดือนหรืออาการร้อนวูบวาบในช่วงหมดประจำเดือนที่รุนแรงหรือรบกวนการใช้ชีวิต ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม
ตังกุยยังมีสารคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิง หากได้รับมากเกินไปอาจส่งผลเสียได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะไวต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน (Hormone-Sensitive Comditions) ซึ่งอาจนำไปสู่ผลข้างเคียงและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคมะเร็งเต้านมได้
สรรพคุณอื่นของตังกุย
นอกจากการศึกษาเกี่ยวกับสรรพคุณต่อสุขภาพผู้หญิงแล้ว ข้อมูลจากการศึกษาบางชิ้นพบว่าตังกุยอาจช่วยบำรุงสุขภาพในด้านต่อไปนี้ได้
- บำรุงหัวใจและการไหลเวียนเลือด
- บรรเทาอาการโรคหลอดเลือดสมอง
- ต้านการอักเสบในกลุ่มโรคข้ออักเสบ (Athiritis)
- บรรเทาอาการปวดไมเกรน
- แก้ปัญหาหลั่งเร็วในผู้ชาย
แต่สรรพคุณเหล่านี้เป็นผลของการทดลองในสัตว์และหลอดทดลองเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องรอการศึกษาในมนุษย์เพิ่มเติมเพื่อยืนยันประโยชน์ที่แน่ชัดเช่นกัน
ตังกุยปลอดภัยไหม?
ตังกุยในรูปแบบของอาหารและยาแผนโบราณ ทั้งแผนจีนและแผนไทยอาจพบได้น้อย ส่วนใหญ่เรามักพบในรูปแบบอาหารเสริม หากคุณเป็นคนที่ไม่มีปัญหาสุขภาพ ไม่ได้อยู่ระหว่างการใช้ยา การใช้ตังกุยในรูปแบบอาหารเสริมอาจไม่ส่งผลเสียร้ายแรง และในบางคนอาจพบผลข้างเคียงเล็กน้อย อย่างผิวไวต่อแดด แต่เพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้อาหารเสริมทุกชนิดไม่ว่าจะมีปัญหาสุขภาพหรือไม่
แต่ถ้าคุณมีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคเลือดออกผิดปกติ ภาวะไวต่อฮอร์โมน โรคมะเร็ง หรืออยู่ระหว่างการใช้ยาในกลุ่มยาต้านอักเสบชนิดไม่สเตียรอยด์ (NSAID) ยาคุมกำเนิด ต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelets) ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) หรืออยู่ระหว่างการรักษาด้วยวิธีฮอร์โมนบำบัด คุณอาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากตังกุยได้ โดยผลข้างเคียงที่อาจพบหลังจากการใช้ตังกุย เช่น
- หายใจติดขัด
- ปวดหัว เวียนหัว อ่อนเพลีย
- เป็นไข้
- เลือดออกง่าย
- ปวดท้อง
- ภาวะความดันต่ำ
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
หากพบอาการเหล่านี้ควรหยุดการใช้อาหารเสริมทันที และถ้าอาการเรื้อรัง ไม่ดีขึ้น หรือรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมลูกควรหลีกเลี่ยงการใช้อาหารเสริมตังกุยเพราะอาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้
ด้วยเหตุนี้ก่อนการใช้อาหารเสริมตังกุย ไม่ว่าจะบำรุงสุขภาพหรือบรรเทาอาการของโรค ควรปรึกษาแพทย์ถึงความจำเป็นในการใช้ วิธีใช้ และความเสี่ยง โดยแพทย์จะช่วยแนะนำวิธีการใช้ที่ปลอดภัยหรือแนะนำทางเลือกอื่นที่ปลอดภัยกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้อาหารเสริมตังกุยเพื่อหวังผลด้านการรักษาโรค