สุขภาพช่องปากในระหว่างตั้งครรภ์เป็นเรื่องสำคัญที่คุณแม่ควรเอาใจใส่ เพราะสุขภาพช่องปากเกี่ยวข้องกับสุขภาพร่างกายโดยรวม และสามารถส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น คุณแม่ควรทราบถึงวิธีการดูแลช่องปากและการป้องกันปัญหาเหงือกและฟันที่ถูกต้อง เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเองและลูกน้อยในระยะยาวต่อไป
ทำไมต้องใส่ใจสุขภาพช่องปากในขณะตั้งครรภ์ ?
นอกจากการตั้งครรภ์จะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพช่องปากด้วยเช่นกัน โดยสตรีมีครรภ์บางรายอาจเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากอย่างโรคเหงือกหรือฟันผุได้ เนื่องจากฮอร์โมนต่าง ๆ ในระหว่างการตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้นจนส่งผลต่อการตอบสนองของร่างกายต่อคราบเชื้อแบคทีเรียที่เกาะอยู่บนผิวฟัน และยังมีปัจจัยอื่น ๆ อย่างพฤติกรรมของคุณแม่หรือความเปลี่ยนแปลงของร่างกายด้านอื่นที่อาจทำให้เกิดปัญหาช่องปากได้ในที่สุด
ปัญหาสุขภาพช่องปากขณะตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง ?
ขณะตั้งครรภ์ อาจเกิดโรคเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากได้หลายชนิด โดยภาวะที่มักพบบ่อย ได้แก่
- เหงือกอักเสบ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย และการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียเดิมที่อยู่ภายในช่องปาก
- โรคปริทันต์ สตรีมีครรภ์ผู้ซึ่งมีการติดเชื้อที่เหงือกอย่างเรื้อรังอาจมีอาการรุนแรงขึ้น และหากไม่รับการรักษาอาจส่งผลให้สูญเสียฟันได้ในที่สุด
- ฟันผุ อาจเกิดจากการดูแลสุขอนามัยในช่องปากลดลง หรือการเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร เช่น รับประทานขนมมากขึ้นกว่าเดิมเมื่อรู้สึกหิว เป็นต้น
- เนื้อฟันกร่อน เมื่อตั้งครรภ์ อาการแพ้ท้องเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ซึ่งการอาเจียนจากการแพ้ท้องจะส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารขึ้นมาสะสมอยู่ภายในช่องปาก หากแปรงฟันทันทีก็อาจทำให้เนื้อฟันกร่อนได้ ดังนั้น ต้องไม่แปรงฟันหลังจากอาเจียนโดยเด็ดขาด แต่ควรแปรงฟันหลังจากอาเจียนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อทำความสะอาดกรดภายในช่องปาก
- เนื้องอกในช่องปาก ผู้หญิงตั้งครรภ์บางคนอาจมีเนื้องอกผิดปกติเกิดขึ้นในช่องปากบริเวณเหงือก โดยอาการนี้มักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์ และเนื้องอกสามารถยุบไปได้เองหลังจากคลอดบุตร แต่หากเนื้องอกมีเลือดออกหรือทำให้เคี้ยวอาหารลำบาก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที
ความเสี่ยงจากปัญหาสุขภาพช่องปากที่มีผลต่อการตั้งครรภ์
สุขภาพช่องปากมีส่วนสำคัญต่อสุขภาพร่างกายโดยรวม ซึ่งหากไม่ดูแลรักษาสุขภาพช่องปากให้ดีและปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรังก็อาจส่งผลอันตรายต่อแม่และทารกในครรภ์ได้ โดยมีการศึกษาพบว่าปัญหาสุขภาพช่องปากบางชนิดอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ เช่น โรคปริทันต์อักเสบอาจส่งผลให้ทารกคลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ และแบคทีเรียในช่องปากที่มีจำนวนมากอาจส่งผลให้เกิดภาวะฟันผุในทารกได้ เป็นต้น ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของแม่และเด็ก ขณะตั้งครรภ์ควรรักษาสุขภาพช่องปากให้ดีตามที่แพทย์แนะนำ และควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นภายในช่องปาก
ดูแลสุขภาพช่องปากอย่างไรในระหว่างตั้งครรภ์ ?
การเอาใจใส่สุขภาพช่องปากให้มากขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์จะช่วยลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ โดยคุณแม่สามารถทำตามแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
- ไปพบทันตแพทย์ หญิงตั้งครรภ์ควรไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก และเมื่อต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปาก ควรแจ้งทันตแพทย์ให้ทราบว่าตนกำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากการรักษาบางวิธีอาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเป็นการรักษาที่ไม่จำเป็นต้องรีบทำในทันที นอกจากนี้ ก่อนไปพบทันตแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลครรภ์ด้วยเพื่อความปลอดภัย
- แจ้งทันตแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้ ข้อมูลการใช้ยาเป็นส่วนสำคัญที่แพทย์ควรทราบก่อนตรวจรักษาสุขภาพช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นยาหรือวิตามินเสริมที่กำลังใช้อยู่ เพื่อให้แพทย์สามารถติดตามอาการหรือวางแผนรักษาได้อย่างเหมาะสม
- เปลี่ยนยาสีฟันที่เป็นสาเหตุของอาการแพ้ท้อง คนท้องบางรายอาจมีอาการแพ้ท้องเนื่องมาจากรสชาติของยาสีฟันที่ใช้ ดังนั้น หากมีอาการดังกล่าว ควรเปลี่ยนไปใช้ยาสีฟันที่เหมาะกับตน
- บ้วนปากอย่างสม่ำเสมอ คุณแม่ที่มีอาการอาเจียนจากการแพ้ท้องบ่อย ๆ ควรหมั่นบ้วนปากบ่อย ๆ ด้วยเช่นกัน เพื่อลดความเสี่ยงจากกรดในกระเพาะอาหารที่ออกมาพร้อมกับการอาเจียนและกัดกร่อนฟันได้
- เสริมแคลเซียม ภาวะขาดแคลเซียมเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระดูกและฟันเสียหายได้ง่ายเนื่องจากมวลกระดูกลดลง ดังนั้น ควรรับประทานแคลเซียมให้มากขึ้น เพื่อให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุชนิดนี้อย่างเพียงพอและช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่แข็งแรงให้แก่ทารกในครรภ์ ซึ่งคุณแม่สามารถได้รับแคลเซียมจากการรับประทานอาหารแคลเซียมสูง เช่น นม ชีส โยเกิร์ตชนิดไม่หวาน หรือนมถั่วเหลืองเพิ่มแคลเซียม เป็นต้น
- รับประทานวิตามินดีให้มากขึ้น นอกจากแคลเซียมแล้ว วิตามินดีก็เป็นสารอาหารที่จำเป็น เพราะจะช่วยให้ร่างกายนำแคลเซียมไปใช้ได้ดียิ่งขึ้น โดยอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม ได้แก่ ชีส ไข่ ปลาที่มีไขมันสูงอย่างปลาแซลมอน เป็นต้น