ติดหวาน เป็นอาการที่รู้สึกอยากกินอาหารหรือเครื่องดื่มรสหวานอยู่เสมอ โดยผู้ที่มีพฤติกรรมติดหวานมักชื่นชอบอาหารรสหวาน เพราะอาจช่วยให้รู้สึกดี ลดความเครียด หรือทำให้รู้สึกมีแรงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่กินอาหารติดหวานเป็นประจำอาจมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้
น้ำตาลเป็นสารให้ความหวานและเป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย ซึ่งการกินน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสมมักไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย โดยในแต่ละวันควรกินน้ำตาลไม่เกิน 10% ของพลังงานที่ควรได้รับในแต่ละวัน เช่น ผู้หญิงอาจต้องการพลังงานประมาณ 1,600 กิโลแคลอรีต่อวัน ดังนั้น ควรกินน้ำตาลไม่เกิน 160 กิโลแคลอรี หรือประมาณ 10 ช้อนชาต่อวัน
สัญญาณพฤติกรรมติดหวานที่ไม่ควรมองข้าม
การกินอาหารที่มีน้ำตาลสูงหรืออาหารที่มีรสหวานอาจกระตุ้นให้สมองปล่อยสารเคมีบางชนิด เช่น สารเอ็นดอร์ฟิน สารโดปามีน ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้รู้สึกดี จึงอาจทำให้ร่างกายรู้สึกเสพติดความหวานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้เกิดพฤติกรรมติดหวานตามมา
โดยพฤติกรรมติดหวานอาจสังเกตได้จากสัญญาณต่าง ๆ เช่น
- ชอบกินอาหารหรือเครื่องดื่มรสหวาน
- รู้สึกหิวบ่อย อยากกินของหวาน ผลไม้รสหวาน หรือเครื่องดื่มรสหวานตลอดเวลา
- รู้สึกหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน ไม่มีสมาธิ เมื่อไม่ได้กินอาหารหรือเครื่องดื่มรสหวาน
- เติมน้ำตาลลงในอาหารเพิ่มทุกครั้ง แม้ว่าจะเป็นอาหารคาวก็ตาม
- ดื่มน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มรสหวานเป็นประจำทุกวัน
วิธีจัดการพฤติกรรมติดหวานก่อนเกิดอันตราย
ติดหวานเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะการกินน้ำตาลในปริมาณมากอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น น้ำตาลในเลือดสูง หน้าแก่ก่อนวัยอันควร โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ รวมทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งอีกด้วย
โดยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างอาจช่วยให้พฤติกรรมติดหวานดีขึ้นได้ เช่น
- หลีกเลี่ยงการกินของหวาน หากรู้สึกอยากกินของหวาน อาจลองกินอาหารอื่น ๆ เช่น ผลไม้ โยเกิร์ตที่มีน้ำตาลน้อย หรือนมไขมันต่ำแทน เพราะมีน้ำตาลจากธรรมชาติ ซึ่งดีต่อสุขภาพมากกว่าน้ำตาลทั่วไป
- กินอาหารให้ตรงเวลา และกินอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน
- ค่อย ๆ ลดความหวานลง โดยอาจลองสั่งเครื่องดื่มหวานน้อย หรืองดปรุงน้ำตาลในอาหารเพิ่ม
- จิบน้ำเปล่าบ่อย ๆ การดื่มน้ำเปล่าอาจช่วยลดความอยากกินอาหารหรือเครื่องดื่มรสหวานได้
- อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนซื้อ โดยควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีน้ำตาลหรือมีน้ำตาลน้อยเพื่อสุขภาพที่ดี
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะการออกกำลังกายอาจช่วยลดความเครียดได้ โดยความเครียดอาจทำให้รู้สึกอยากกินของหวาน ดังนั้น การออกกำลังกายจึงอาจช่วยลดอาการติดหวานได้
นอกจากนี้ บางคนอาจใช้น้ำตาลเทียม หรือสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล ซึ่งอาจช่วยลดการกินน้ำตาลได้ อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำตาลเทียมแทนน้ำตาลปกติอาจไม่ช่วยลดอาการติดหวาน เพราะยังคงมีรสชาติหวานเหมือนน้ำตาลอยู่ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำตาลเทียม และใช้วิธีปรับความหวานลดลงแทน ซึ่งอาจเหมาะสมต่อผู้ที่ต้องการลดอาการติดหวานมากกว่า
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตอาจช่วยลดพฤติกรรมติดหวานได้ ทั้งนี้ หากไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมติดหวานหรืออาการอยากของหวานได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ ซึ่งอาจช่วยให้พฤติกรรมติดหวานดีขึ้นได้