ความหมาย ตุ่มมดกัด (Ant Bites)
ตุ่มมดกัดเป็นอาการทางผิวหนังที่เกิดจากการโดนมดกัด มักพบบ่อยที่บริเวณผิวหนังนอกร่มผ้า เช่น แขน ขา มือ และเท้า โดยปกติแล้วตุ่มมดกัดมักหายได้เองภายในเวลา 1 สัปดาห์ แต่คนที่มีอาการแพ้อาจเกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์มากกว่าคนทั่วไป
ตุ่มมดกัดทั่วไปอาจแค่สร้างความรำคาญจากอาการเจ็บ ๆ คัน ๆ แต่มดบางชนิดอย่างมดคันไฟ ไม่เพียงแค่กัดเท่านั้น แต่ยังปล่อยพิษเข้าสู่ผิวหนังของมนุษย์ ทำให้เมื่อถูกกัดจะมีอาการรุนแรงมากกว่าตุ่มมดกัดทั่วไป โดยเฉพาะคนที่มีอาการแพ้รุนแรงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
อาการของตุ่มมดกัด
อาการของตุ่มมดกัดจะขึ้นอยู่กับชนิดของมดที่กัด โดยทั่วไปจะเกิดตุ่มนูนบวมแดงคล้ายกับสิว มีอาการคันหรือรู้สึกแสบร้อนบริเวณที่โดนมดกัด ในกรณีที่ถูกมดคันไฟกัดหรือต่อยจะมีอาการรุนแรงมากกว่า เช่น เกิดตุ่มน้ำพองหรือมีหนอง รู้สึกเจ็บแสบออกร้อน ผิวหนังบวมแดงและมีอาการคันมากกว่าปกติ และผิวหนังที่บวดแดงอาจขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้นเมื่อเกาบริเวณนั้น
คนที่โดนมดกัดมักมีอาการไม่รุนแรง แต่หากถูกกัดภายในปากหรือลำคอ บริเวณใกล้ดวงตา หรือมีอาการไม่พึงประสงค์ต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- ผิวหนังโดยรอบของตุ่มมดกัดบวมแดงมาก และขยายวงกว้างประมาณ 10 เซนติเมตรขึ้นไป หรือมีแผ่นนูนปื้นเป็นหย่อม ๆ
- ตุ่มมดกัดไม่ดีขึ้นภายใน 2–3 วัน หรือมีอาการแย่ลง
- มีอาการติดเชื้อ เช่น แผลบวมแดง มีหนอง ปวดมากขึ้น และมีไข้
- มีอาการแพ้อย่างรุนแรง เช่น หายใจลำบาก มีอาการคันรุนแรง ผิวหนังบวมหรือเกิดลมพิษขึ้นทั่วร่างกาย ปวดท้อง หรืออาเจียน
สาเหตุของตุ่มมดกัด
หลังจากถูกมดกัดผิวหนังของเราได้รับสารเคมีที่ชื่อว่ากรดฟอร์มิก (Formic Acid) ส่งผลให้เกิดตุ่มนูนและมีอาการเฉพาะบริเวณที่โดนกัด อย่างอาการคัน แสบร้อน และบวมแดงตามมา แต่ผู้ที่แพ้มดหรือแพ้กรดฟอร์มิกอาจมีอาการไม่พึงประสงค์มากกว่าคนทั่วไป
และในกรณีของการถูกมดคันไฟต่อยผิวหนังจะได้รับสารพิษที่ชื่อว่าโซเลนอพซิน (Solenopsin) อาจทำให้เกิดอาการแพ้หรืออาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงกว่าการถูกมดกัดทั่วไป
การวินิจฉัยตุ่มมดกัด
แพทย์จะวินิจฉัยโดยการตรวจร่างกายบริเวณผิวหนังที่ถูกมดกัดหรือต่อย ซักถามอาการและประวัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสัมผัสมด รวมถึงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยของผู้ป่วย เพื่อช่วยวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของโรค
การรักษาตุ่มมดกัด
ตุ่มมดกัดทั่วไปมักหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ เพียงแค่ล้างบริเวณที่ถูกมดกัดด้วยสบู่และน้ำสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หากถูกมดกัดหรือต่อยจนเกิดตุ่มน้ำพอง มีอาการคันรุนแรง บวมแดงและแสบร้อนมาก ไม่ควรบีบ แกะ เกาให้ตุ่มน้ำพองแตกเพราะอาจนำไปสู่การติดเชื้อ
นอกจากนี้ สามารถบรรเทาอาการบวมด้วยการประคบเย็น และปรึกษาเภสัชกรถึงการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการอื่น ๆ เช่น รับประทานยาแก้ปวดอย่างยาพาราเซตามอล (Paracetamol) รับประทานยาแก้แพ้หรือใช้ครีมทาเฉพาะที่เพื่อลดอาการคัน เช่น ยาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone)
ในกรณีที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือมีอาการแพ้รุนแรง ควรไปพบแพทย์ทันที ซึ่งหากบอกชนิดของมดที่กัดหรือนำตัวอย่างมดที่กัดไปให้แพทย์ดูด้วยได้ ก็จะช่วยให้แพทย์รักษาได้ถูกอาการมากยิ่งขึ้น โดยวิธีการรักษาที่แพทย์มักใช้มีดังนี้
- สั่งจ่ายยาชนิดรับประทานในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) หรือยาทาสเตียรอยด์ชนิดครีมหรือขี้ผึ้ง เพื่อลดอาการบวมแดงและอาการคัน
- ใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่ตุ่มน้ำพองแตกและเกิดการติดเชื้อ
- ฉีดยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) ในผู้ป่วยที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรง
- ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นตามอาการของผู้ป่วย เช่น ฉีดยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) ทางเส้นเลือด ให้ออกซิเจน หรือช่วยฟื้นคืนชีพด้วยวิธีปั๊มหัวใจ (CPR) ในผู้ป่วยที่หมดสติ
ภาวะแทรกซ้อนของตุ่มมดกัด
แม้ว่าตุ่มมดกดโดยทั่วไปจะไม่เป็นอันตราย แต่หากดูแลรักษาไม่เหมาะสมก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนังจากการบีบ แกะ เกา ทำให้ตุ่มน้ำพองแตกจนเกิดแผลติดเชื้อและอักเสบตามมา นอกจากนี้ คนที่มีอาการแพ้พิษมดคันไฟอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตเมื่อไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที หากมีอาการที่เข้าข่ายอาการแพ้รุนแรง เช่น คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ หายใจลำบาก หรือกลืนลำบากหลังถูกมดกัด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
การป้องกันตุ่มมดกัด
การป้องกันตุ่มมดกัดสามารถทำได้โดยการลดความเสี่ยงไม่ให้ถูกมดกัด เช่น
- หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีรังมดหรือคาดว่ามีมดชุกชุม เช่น สนามหญ้า ป่า พื้นดิน หากต้องไปในบริเวณดังกล่าวควรแต่งกายที่ปกปิดร่างกายได้มิดชิด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ถุงมือ ถุงเท้า และรองเท้าที่ปิดเท้าได้มิดชิด
- รักษาความสะอาดภายในที่พักอาศัยไม่ให้กลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมด
- ใช้ยาฆ่าแมลงในกรณีที่อยู่ในพื้นที่เปิดโล่งและมีอากาศถ่ายเทสะดวก