ต่อมอะดีนอยด์โต (Enlarged Adenoids)

ความหมาย ต่อมอะดีนอยด์โต (Enlarged Adenoids)

ต่อมอะดีนอยด์โต (Enlarged Adenoids) คือภาวะที่ต่อมอะดีนอยด์บวมหรือขยายตัวขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและปัญหาด้านการนอน โดยสาเหตุหลักมักมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสที่เข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก 

ต่อมอะดีนอยด์เป็นเนื้อเยื่อน้ำเหลืองที่อยู่บริเวณด้านหลังโพรงจมูกเหนือต่อมทอนซิล ไม่สามารถมองเห็นได้จากทางช่องปาก โดยเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน มีหน้าที่คอยจับแบคทีเรียและไวรัสที่เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน ตามปกติแล้วต่อมอะดีนอยด์จะมีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคในเด็กเล็ก แต่จะค่อย ๆ ลดหน้าที่ลงเมื่อเด็กโตขึ้น จึงมักพบภาวะต่อมอะดีนอยด์โตได้บ่อยในช่วงวัยเด็ก 

Enlarged Adenoids

อาการต่อมอะดีนอยด์โต

อาการส่วนใหญ่ที่เกิดจากต่อมอะดีนอยด์โตจะเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจส่วนบน โดยมักจะสังเกตเห็นอาการได้ในช่วงเวลากลางคืนขณะที่ผู้ป่วยกำลังหลับ โดยอาการที่พบได้บ่อย เช่น

  • นอนกรน
  • นอนหลับยาก
  • นอนกระสับกระส่าย
  • มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea)
  • เจ็บคอ
  • กลืนอาหารลำบาก
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอบวม
  • หูชั้นกลางอักเสบ ซึ่งจะทำให้หูอื้อและหูหนวกได้ชั่วคราว
  • หายใจทางปาก ซึ่งจะส่งผลให้ริมฝีปากแห้งลอก มีกลิ่นปาก คัดจมูกและน้ำมูกไหลเรื้อรัง

เนื่องจากต่อมอะดีนอยด์โตเป็นอาการที่มักเกิดในเด็ก ผู้ป่วยอาจไม่สามารถบอกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ หากสังเกตเห็นว่าบุตรหลานมีอาการนอนกรน หายใจเสียงดังหรือมีลักษณะตามอาการดังกล่าว ผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิดควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติ 

สาเหตุของต่อมอะดีนอยด์โต

โดยธรรมชาติแล้วการบวมของต่อมอะดีนอยด์เกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสที่เข้ามาทางจมูกซึ่งเป็นกลไกของร่างกายในการป้องกันการติดเชื้อ และจะหดตัวกลับสู่ขนาดปกติเองได้เมื่ออาการติดเชื้อบรรเทาลง แต่ในบางคนนั้นต่อมอะดีนอยด์จะยังคงบวมอยู่แม้ร่างกายจะไม่มีอาการติดเชื้อแล้วก็ตาม หรือกรณีอื่น ๆ ที่พบได้ในผู้ป่วยบางราย เช่น มีโรคภูมิแพ้เป็นตัวกระตุ้น หรือมีต่อมอะดีนอยด์โตมาตั้งแต่กำเนิด

การวินิจฉัยต่อมอะดีนอยด์โต

แพทย์จะสอบถามประวัติและอาการผิดปกติของผู้ป่วย จากนั้นจะตรวจดูความผิดปกติของต่อมอะดีนอยด์ด้วยการส่องกล้องขนาดเล็ก (Endoscope) เข้าไปทางจมูก เนื่องจากไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากทางช่องปาก หากแพทย์พบความผิดปกติจะมีการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ช่วงคอของผู้ป่วยเพื่อดูขนาดของต่อมอะดีนอยด์ ตรวจเลือดเพื่อตรวจหาการติดเชื้อ เป็นต้น 

ในกรณีรุนแรง แพทย์อาจให้ผู้ป่วยนอนค้างที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจสุขภาพการนอนหลับ (Sleep Test หรือ Polysomnography) โดยติดตั้งเครื่องมือตรวจจับและบันทึกสัญญาณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ลักษณะการหายใจ คลื่นสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ การขยับของทรวงอก ระดับออกซิเจน ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะช่วยให้ทราบว่าผู้ป่วยมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่

การรักษาต่อมอะดีนอยด์โต

การรักษาต่อมอะดีนอยด์โตจะขึ้นกับสาเหตุที่พบ ในเบื้องต้นแพทย์จะสังเกตต่อมอะดีนอยด์ก่อนว่าอาการบวมสามารถยุบเองได้หรือไม่ เพราะโดยธรรมชาติแล้วต่อมอะดีนอยด์จะยุบตัวลงไปเองเมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น หรือหากมีสาเหตุจากอาการภูมิแพ้อาจให้ลองหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ หากเกิดจากแพ้อาหารอาจให้ลองงดอาหารที่แพ้ หรืออาจให้ใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกเพื่อช่วยบรรเทาอาการบวมร่วมด้วย

หากผู้ป่วยอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีการติดเชื้อในหูและบริเวณไซนัส (Sinus) บ่อย ๆ แพทย์จะรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อนำต่อมอะดีนอยด์ออก หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อที่ต่อมทอนซิลบ่อย ๆ ก็อาจผ่าตัดนำต่อมทอนซิลออกไปด้วย โดยก่อนการผ่าตัดประมาณ 1-2 อาทิตย์ แพทย์จะแจ้งข้อปฏิบัติต่าง ๆ ให้ผู้ป่วยทราบ อย่างการหยุดรับประทานยาต่าง ๆ และทำท้องให้ว่างก่อนวันผ่าตัด ในวันผ่าตัดแพทย์จะต้องดมยาสลบผู้ป่วยก่อนจะเริ่มการผ่าตัด โดยเป็นการผ่าตัดผ่านช่องปาก (Adenoidectomy) จึงทำให้ไม่มีร่องรอยแผลผ่าตัดให้เห็นภายนอก 

ในช่วงหลังผ่าตัดแรก ๆ ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกเล็กน้อย เจ็บคอ หรือน้ำมูกไหล ซึ่งแพทย์จะจ่ายยาฆ่าเชื้อให้และแนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารร้อน ๆ ในช่วง 7 วันแรก ตามปกติแล้วอาการของผู้ป่วยจะดีขึ้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ และแม้ว่าการผ่าตัดนำต่อมอะดีนอยด์ออกนั้นมักไม่ค่อยพบผลข้างเคียงใด ๆ แต่ก็อาจมีการติดเชื้อ หรือเลือดออกหลังผ่าตัดได้ ดังนั้น ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ในรายละเอียดต่าง ๆ ก่อนเพื่อนำไปใช้ในการประกอบการตัดสินใจ

ภาวะแทรกซ้อนของต่อมอะดีนอยด์โต

หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา ภาวะต่อมอะดีนอยด์โตอาจส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น

  • การติดเชื้อในหูชั้นกลางและการสูญเสียการได้ยิน โดยเกิดจากการอุดตันของท่อยูสเตเชียนและการคั่งของของเหลวที่หูชั้นกลาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ของเด็ก เช่น การพูด ภาษา การเรียนรู้
  • พฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติ โดยผู้ป่วยมักนอนกรน และมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งจะส่งผลให้ระดับออกซิเจนในเลือดของผู้ป่วยลดลงและตื่นขึ้นมาระหว่างหลับในตอนกลางคืนและงัวเงียในตอนกลางวัน หรือในกรณีที่พบได้ยากอย่างการเกิดโรคความดันหลอดเลือดในปอดสูงจากการหยุดหายใจขณะหลับจนทำให้เกิดภาวะเลือดข้นและหัวใจซีกขวาวาย
  • ปัญหาทางจิตเวช เช่น ภาวะซึมเศร้า โรคสมาธิสั้น
  • น้ำหนักลด จากการที่ผู้ป่วยทานอาหารได้น้อยลงเนื่องจากปวดบริเวณที่ติดเชื้อหรือการหายใจลำบาก
  • ไซนัสอักเสบ

การป้องกันต่อมอะดีนอยด์โต

โดยปกติแล้วภาวะต่อมอะดีนอยด์โตจะพบได้บ่อยในเด็กและมักไม่สามารถป้องกันได้ แต่อาการจะดีขึ้นและหายได้เองเมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น หรือการพาเด็กไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เมื่อเริ่มสังเกตเห็นอาการดังกล่าวก็สามารถช่วยให้แพทย์ควบคุมภาวะต่อมอะดีนอยด์โตได้เช่นกัน