ความหมาย ต้อลม (Pinguecula)
ต้อลม (Pinguecula) เป็นโรคทางดวงตาชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้บ่อย โดยเกิดจากการการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อบนพื้นผิวดวงตาบริเวณเยื่อบุตาขาว ต้อลมส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมักไม่มีอันตรายร้ายแรงและอาจไม่แสดงอาการ แต่ในบางกรณีก็ทำให้เกิดอาการตาแห้ง แสบตา หรือระคายเคืองตา และส่งผลให้เกิดความรำคาญตามมาได้เช่นกัน
ต้อลมสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า โดยจะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนหรือแผ่นบาง ๆ สีหลือง มักมีรูปร่างเป็นรูปสามเหลี่ยม และจะเกิดขึ้นบริเวณดวงตาขาวที่ใกล้กับกระจกตาตรงหัวตามากกว่าตรงหางตา นอกจากนี้ ต้อลมสามารถขยายตัวใหญ่ขึ้นจนเข้าสู่กระจกตาได้ ซึ่งในกรณีที่ต้อลมเกิดการลุกลามเข้าไปในกระจกตาจะถูกเรียกว่าต้อเนื้อ
อาการของต้อลม
ต้อลมส่วนมากมักทำให้ดวงตาเกิดอาการระคายเคือง โดยผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีอาการที่แตกต่างกันออกไป ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย และในบางคนก็อาจเกิดอาการรุนแรงขึ้นได้ อาการของต้อลมที่สามารถสังเกตได้มีดังนี้
- ตาแห้ง เคืองตา หรือแสบตา
- เจ็บตา ตาบวม
- เกิดแผ่นหรือตุ่มนูนขนาดเล็กสีเหลืองขึ้นภายในตาขาว
- รู้สึกเหมือนมีบางอย่างติดอยู่ในดวงตา เช่น เม็ดทราย เศษผง
- มีอาการคันตา และอาจส่งผลตาแดงและอักเสบได้ในบางราย
ในบางกรณีต้อลมอาจไม่แสดงอาการ แต่ถ้ามีการอักเสบหรือมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นดังต่อไปนี้ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หรือจักษุแพทย์เเพื่อรับการรักษา
- ขนาดของก้อนเนื้อที่เป็นต้อลมมีขนาด รูปร่าง หรือสีที่เปลี่ยนแปลงไป
- มีของเหลวสีเหลืองไหลออกจากดวงตาทั้ง 2 ข้างหรือเพียงข้างเดียว
- เปลือกตาหรือผิวบริเวณรอบดวงตามีอาการบวมแดง
- มีอาการแย่ลงเรื่อย ๆ แม้ได้รับการรักษาแล้ว
- มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นเพิ่มมากขึ้น
สาเหตุของต้อลม
สาเหตุของการเกิดต้อลมยังไม่สามารถทราบได้อย่างแน่ชัด แต่อาจมีปัจจัยสำคัญมาจากระคายเคืองดวงตา เช่น อาการตาแห้ง รวมถึงการที่ดวงตาโดนแสงแดดหรือรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ ลม หรือฝุ่นละอองเป็นเวลานานบ่อย ๆ ทำให้เนื้อเยื่อของดวงตามีการมีการสะสมของโปรตีน ไขมัน หรือแคลเซียม ส่งผลให้เกิดแผ่นหรือตุ่มนูนบริเวณบริเวณตาขาวตามมา
ต้อลมสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่มักพบได้บ่อยในมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปหรือผู้สูงอายุ และสามารถพบได้บ่อยในผู้ที่ประกอบอาชีพที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานบางอย่าง เช่น ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ช่างเชื่อมโลหะ
การวินิจฉัยต้อลม
ในเบื้องต้นจักษุแพทย์จะสอบถามอาการของผู้ป่วยร่วมกับการตรวจตาเบื้องต้น หรืออาจใช้การตรวจด้วยเครื่องมือตรวจตาที่ชื่อว่า Slit Lamp ร่วมด้วย เพื่อช่วยให้สามารถตรวจดูกระจกตา ม่านตา เลนส์แก้วตา และช่องว่างระหว่างม่านตาและเลนส์แก้วตาได้อย่างละเอียด และมองเห็นสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นในดวงตาได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
การรักษาต้อลม
โดยทั่วไปต้อลมอาจไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น เจ็บตา ดวงตาบวมแดง หรือมีอาการระคายเคืองเกิดขึ้น แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยใช้น้ำตาเทียม ขี้ผึ้ง หรือยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ เพื่อช่วยลดการอักเสบและอาการตาแดงที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ แพทย์อาจรักษาต้อลมด้วยการผ่าตัดหากเกิดกรณีดังต่อไปนี้
- ก้อนเนื้อหรือตุ่มนูนในดวงตาขยายใหญ่มากขึ้นจนเข้าใกล้กระจกตา ทำให้ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นหรือเกิดความผิดปกติทางสายตาอย่างถาวร
- ดวงตาเกิดการอักเสบอย่างรุนแรง รวมถึงยาหยอดตาที่ใช้ไม่สามารถบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้
- ผู้ป่วยรู้สึกรำคาญในเวลาปกติหรือเวลาใส่คอนแทคเลนส์
- ผู้ป่วยรู้สึกกังวลเกี่ยวกับรูปลักษณ์ที่ดูไม่สวยงาม
ภาวะแทรกซ้อนของต้อลม
ภาวะแทรกซ้อนของต้อลมสามารถเกิดขึ้นได้จากการที่เนื้อเยื่อปกติบริเวณดวงตาอาจขยายใหญ่เข้าไปในกระจกตาหรือบริเวณตาดำ ส่งผลให้บดบังการมองเห็นจนกลายเป็นต้อเนื้อตามมา ซึ่งต้อเนื้อและต้อลมเป็นภาวะความผิดปกติของโรคทางดวงตาที่เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน แต่ต่างกันที่ตำแหน่งของการเกิดโรค
การป้องกันต้อลม
แม้ว่าสาเหตุของการเกิดต้อลมยังไม่สามารถทราบได้อย่างแน่ชัด แต่ต้อลมสามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคขึ้นได้ โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ดูแลดวงตาให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ หากรู้สึกว่าเกิดอาการตาแห้งอาจหยอดน้ำตาเทียมที่มีส่วนประกอบของสารช่วยหล่อลื่นและมีคุณสมบัติในการให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา
- สวมแว่นกันแดดที่มีเลนส์ในการกรองรังสีอัลตราไวโอเลต เอ (รังสียูวีเอ: UVA) หรือรังสีอัลตราไวโอเลต บี (รังสียูวีบี: UVB) จากดวงอาทิตย์ เพื่อปกป้องดวงตาเมื่อต้องอยู่ในสถานที่ที่มีแสงแดดจัด
- หากอยู่ในสภาพแวดล้อมหรือต้องทำงานในสถานที่ที่แห้ง มีลม และมีฝุ่นละอองเยอะ ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันดวงตา เพื่อป้องกันไม่ให้ลม ฝุ่นละออง หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตา