ถุงยาง คืออุปกรณ์คุมกำเนิดอย่างหนึ่ง ถุงยางของผู้ชายจะใช้สวมอวัยวะเพศขณะกำลังร่วมเพศกับคู่นอน เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ โดยป้องกันตัวอสุจิเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ของผู้หญิง นอกจากนี้ การใช้ถุงยางอนามัยยังลดความเสี่ยงการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถุงยางอนามัยที่ทำจากยางจัดเป็นถุงยางอนามัยที่ป้องกันปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ถุงยางอนามัยที่ทำจากวัสดุอื่นก็นำมาใช้สำหรับคุมกำเนิดหรือป้องกันกามโรคได้เช่นเดียวกัน แต่มักจะเลื่อนหลุดหรือรั่วได้บ่อยกว่า
ทำไมถุงยางแตก
ถุงยางแตกเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ขณะทำกิจกรรมทางเพศร่วมกัน โดยเกิดจากสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นสภาพถุงยางอนามัยที่ใช้และปัจจัยอื่น ดังนี้
- ขนาดเล็กเกินไป ผู้ใช้เลือกถุงยางอนามัยที่มีขนาดเล็กเกินไป ส่งผลให้ไม่เหลือพื้นที่บริเวณปลายสุดของถุงยางเมื่อหลั่งอสุจิออกมา
- หมดอายุ ถุงยางอนามัยที่หมดอายุหรือเก่ามากอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของถุงยาง ผู้ใช้ควรดูวันหมดอายุที่ระบุบนหีบห่อก่อนนำมาใช้
- อยู่ใกล้แสงหรือความร้อน ผู้ที่วางถุงยางอนามัยทิ้งไว้ในที่ที่มีแสงและอุณหภูมิร้อนจะทำให้ถุงยางอนามัยเสื่อมสภาพ ดังนั้น ไม่ควรเก็บถุงยางไว้ในที่ที่อับและเกิดความร้อนได้ง่าย เช่น ช่องเก็บของในรถ หรือกระเป๋าเงิน เป็นต้น
- ถุงยางขาด ถุงยางแตกเกิดขึ้นได้หากถูกฟันกัดหรือเล็บกรีดจนขาด
- ใช้สารหล่อลื่นแบบน้ำมัน สารหล่อลื่นชนิดน้ำมันจะทำให้ยางของถุงยางอนามัยเสื่อมสภาพ จนทำให้ถุงยางแตกได้ง่าย โดยสารหล่อลื่นที่มีน้ำมันเป็นส่วนผสมมีหลายอย่าง เช่น น้ำมันทาผิวเด็ก หรือน้ำมันพืช เป็นต้น
- สารหล่อลื่นไม่พอ การมีเพศสัมพันธ์โดยที่สารหล่อลื่นจากอวัยวะเพศน้อยเกินไปอาจส่งผลให้ถุงยางแตกได้ คู่รักที่ร่วมเพศทางทวารหนักหรือช่องคลอดควรใช้สารหล่อลื่นอื่นช่วย โดยเลือกสารหล่อลื่นชนิดละลายน้ำแทนสารหล่อลื่นชนิดน้ำมัน
- สอดใส่ลำบาก หากสอดใส่ขณะร่วมเพศลำบาก ควรใช้ถุงยางอนามัยคุณภาพดีมากหรือเพิ่มสารหล่อลื่น เพื่อลดการเสียดสีจนทำให้ถุงยางแตก
ถุงยางแตกก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างไรบ้าง
ข้อควรพึงระวังอย่างหนึ่งเมื่อใช้ถุงยางอนามัยสำหรับร่วมเพศคือปัญหาถุงยางอนามัยรั่วหรือถุงยางแตก หากเกิดถุงยากแตกหรือเลื่อนหลุดออกมาขณะทำกิจกรรมทางเพศ คู่รักควรหยุดการร่วมเพศทันที โดยฝ่ายชายต้องตรวจสอบว่าถุงยางอนามัยที่มีรอยรั่วนั้นอยู่ที่อวัยวะเพศของตนหรือของคู่รัก ทั้งนี้ ปัญหาถุงยางแตกยังก่อให้เกิดความเสี่ยงหลายประการ ดังนี้
- ความเสี่ยงต่อสุขภาพ การใช้ถุงยางอนามัยถือเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ช่วยป้องกันทั้งการตั้งครรภ์และโรคต่าง ๆ หากเกิดถุงยางแตกขณะมีเพศสัมพันธ์ คู่รักอาจเสี่ยงติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเชื้อเอชไอวีได้ ผู้ที่เกิดอาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ควรพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจและวินิจฉัยโรค โดยจะเกิดอาการปวดท้อง คันระคายเคือง มีแผล ตุ่มพอง หรือก้อนนูนขึ้นบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ รวมทั้งตกขาวผิดปกติหรือเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์หรือในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน
- ความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์ไม่พร้อมนับเป็นปัญหาที่คู่รักหลายคู่กังวลเมื่อถุงยางแตกขณะร่วมเพศ หากพบว่าถุงยางแตก เบื้องต้นฝ่ายชายอาจหลั่งนอก เพื่อป้องกันการหลั่งอสุจิเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ของฝ่ายหญิง อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีจัดการปัญหาถุงยางแตกสำหรับป้องกันการตั้งครรภ์และติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ดังจะกล่าวต่อไป
ทำอย่างไรเมื่อถุงยางแตก
หากพบว่าถุงยางแตกขณะมีเพศสัมพันธ์อาจเสี่ยงเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามที่ได้กล่าวไป อย่างไรก็ตาม คู่รักที่เกิดปัญหาถุงยางแตกควรปฏิบัติตนให้เหมาะสม โดยวิธีจัดการปัญหานี้จะแตกต่างกันไปตามลักษณะการร่วมเพศ ดังนี้
- วิธีจัดการถุงยางแตกสำหรับการร่วมเพศทางช่องคลอด
- ฝ่ายหญิงควรรีบเข้าห้องน้ำและปัสสาวะออกมา เพื่อขับตัวอสุจิที่อาจอยู่ใกล้ท่อปัสสาวะ โดยนั่งยอง ๆ และขมิบกล้ามเนื้อช่องคลอดขณะที่นั่งปัสสาวะ
- ห้ามฉีดน้ำหรือล้างข้างในช่องคลอด เนื่องจากหากยิ่งฉีด ตัวอสุจิหรือเชื้อแบคทีเรียจะยิ่งเข้าไปในช่องคลอดมากขึ้น ส่งผลให้เสี่ยงตั้งครรภ์หรือได้รับเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้ การฉีดน้ำเข้าไปในช่องคลอดยังไปล้างแบคทีเรียชนิดดีที่ช่วยป้องกันการเกิดภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
- ฝ่ายหญิงควรทำความสะอาดอวัยวะเพศตนเอง โดยราดน้ำอุ่นที่อวัยวะเพศขณะที่นั่งยอง ๆ บนโถสุขภัณฑ์
- ฝ่ายหญิงอาจต้องรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ในกรณีที่ไม่ได้คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น โดยรับประทานยาภายใน 72 ชั่วโมงแรกหลังถุงยางแตก เนื่องจากอาจเสี่ยงตั้งครรภ์ได้
- ควรเข้ารับการตรวจสุขภาวะทางเพศภายใน 14 วันหลังถุงยางแตก หรือเร็วกว่านั้นในกรณีที่เกิดอาการอื่น
- ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวี
- วิธีจัดการถุงยางแตกสำหรับการร่วมเพศทางทวารหนัก
- ควรถ่ายหนักเพื่อกำจัดอสุจิที่อาจตกค้างออกมาให้มากที่สุด
- ไม่ควรฉีดน้ำหรือล้างข้างในช่องทวาร เนื่องจากแรงฉีดน้ำอาจทำให้เกิดน้ำในทวารหนัก ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเชื้อเอชไอวีมากขึ้น
- ควรเข้ารับการตรวจสุขภาวะทางเพศและตรวจทวารหนักภายใน 14 วันหลังถุงยางแตก หรือเร็วกว่านั้นในกรณีที่เกิดอาการอื่น ๆ
- ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อเอชไอวี
- วิธีจัดการถุงยางแตกสำหรับการทำออรัลเซ็กส์
- ควรคายหรือกลืนอสุจิทันที ไม่อมอสุจิไว้ในปาก
- บ้วนปากด้วยน้ำสะอาด
- ไม่ควรแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟันเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหลังถุงยางแตกและอสุจิเข้าปาก
- ควรเข้ารับการตรวจสุขภาวะเพศและตรวจคอภายใน 14 วันหลังถุงยางแตก หรือเร็วกว่านั้นในกรณีที่เกิดอาการอื่น ๆ
ถุงยางแตกป้องกันได้อย่างไร
ปัญหาถุงยางแตกป้องกันได้ โดยต้องใส่ใจเรื่องการเก็บรักษาและวิธีใช้ถุงยางอนามัยที่ถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงถุงยางแตก ดังนี้
- เลือกใช้ถุงยางอนามัยให้เหมาะสมกับขนาดอวัยวะเพศของตนเอง
- ห้ามแกะถุงยางอนามัยออกมาด้วยของมีคม เช่น กรรไกร หรือกัดด้วยฟัน รวมทั้งสวมถุงยางอนามัยอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันเล็บไปกรีดถุงยางจนเกิดรอยรั่วหรือขาด
- ตรวจดูสภาพถุงยางอนามัยก่อนนำมาใช้ทุกครั้ง หากพบว่ามีรอยขาดหรือรอยรั่ว ไม่ควรนำมาใช้
- ไม่ใช้ถุงยางอนามัยที่หมดอายุ โดยดูวันหมดอายุที่ระบุบนบรรจุภัณฑ์ก่อนนำมาใช้ทุกครั้ง เนื่องจากถุงยางอนามัยจะเสื่อมสภาพเมื่อเริ่มเก่า
- ควรใช้ถุงยางอนามัยเพียงครั้งเดียว ไม่นำกลับมาใช้ซ้ำ
- ควรสวมถุงยางอนามัยเพียงชิ้นเดียว หากสวมถุงยางอนามัยมากกว่านั้น อาจก่อให้เกิดการเสียดสีจนถุงยางอนามัยฉีกขาดได้
- ควรสวมถุงยางอนามัยให้ดีก่อนร่วมเพศ โดยใช้มือหนึ่งจับปลายถุงยาง และใช้มืออีกข้างค่อย ๆ รูดม้วนถุงยางจนถึงฐานอวัยวะเพศชาย ควรให้ถุงยางคลุมอวัยวะเพศพอดีและไล่ฟองอากาศออกไปจนหมด
- ควรเก็บถุงยางอนามัยให้พ้นจากที่ที่มีแสงส่องถึงหรือมีความร้อน เนื่องจากจะทำให้ถุงยางแห้งลงและเสื่อมสภาพ
- ไม่ควรใช้โลชั่น น้ำมัน หรือสารหล่อลื่นที่มีส่วนผสมของน้ำมัน แต่เลือกใช้สารหล่อลื่นชนิดน้ำเท่านั้น
- ห้ามพกถุงยางอนามัยไว้ในกระเป๋าเงิน เนื่องจากอาจทำให้ถุงยางพับงอจนรั่วได้
- หากพบว่าถุงยางแตกหรือขาดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ควรหยุดกิจกรรมทางเพศทันทีและเปลี่ยนถุงยางอนามัยชิ้นใหม่