ทารกท้องเสีย พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร ?

อุจจาระของทารกโดยทั่วไปจะมีลักษณะเป็นก้อนนิ่ม ๆ และมีการขับถ่ายบ่อยครั้ง แต่อุจจาระของทารกท้องเสียจะมีลักษณะแตกต่างออกไป แต่อาการท้องเสียของลูกน้อยสังเกตจากอะไร เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง และมีวิธีบรรเทาอาการอย่างไร คุณพ่อคุณแม่สามารถศึกษาได้จากข้อมูลต่อไปนี้

Diarrhea in Babies

วิธีสังเกตอาการเมื่อทารกท้องเสีย

คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตว่าในช่วงเวลาปกตินั้น อุจจาระของเจ้าตัวน้อยมีสี กลิ่น และมีลักษณะอย่างไร ซึ่งโดยปกติแล้วทารกแรกเกิดมักขับถ่ายหลังดื่มนมแม่และอุจจาระจะมีลักษณะค่อนข้างนิ่ม หากทารกสามารถรับประทานอาหารอื่น ๆ นอกจากนมแม่ได้แล้ว ส่วนบนของอุจจาระอาจมีลักษณะต่างกันไปตามอาหารที่รับประทาน และอุจจาระมักมีลักษณะเป็นก้อนมากขึ้น

ส่วนลักษณะอุจจาระทารกท้องเสียอาจสังเกตได้ยาก แต่หากพบว่าลูกน้อยขับถ่ายมากกว่าปกติและอุจจาระมีลักษณะเหลวผิดปกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าทารกมีอาการท้องเสีย นอกจากนั้น อาจพบว่าอุจจาระมีมูกหรือเลือดปนออกมา หรือมีกลิ่นเหม็นผิดปกติด้วย ซึ่งแม้อาการท้องเสียในทารกจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้และไม่น่ากังวลเท่าใดนัก แต่หากทารกท้องเสียต่อเนื่องเป็นเวลา 1-2 วัน ก็อาจทำให้ร่างกายเด็กสูญเสียของเหลวและเกลือแร่จำนวนมากจนอาจเกิดภาวะขาดน้ำตามมาได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของทารก

สาเหตุที่ทำให้ทารกท้องเสีย

อาการท้องเสียของทารกอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • การติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสโรตา ไวรัสอะดิโน ไวรัสโนโร ไวรัสไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มีไข้ หนาวสั่น และปวดเมื่อยตามร่างกายได้
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ซาลโมเนลลา ชิเกลลา สแตฟิโลค็อกคัส แคมปีโลแบคเตอร์ อีโคไล เป็นต้น ซึ่งเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้อาจเป็นเหตุให้ทารกท้องเสียอย่างรุนแรง และอาจทำให้มีอาการปวดท้อง ถ่ายเป็นเลือด อาเจียน และมีไข้ร่วมด้วย
  • การติดเชื้อที่หู อาจเกิดขึ้นได้จากทั้งเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้ทารกมีอาการท้องเสียร่วมกับคลื่นไส้ เบื่ออาหาร เป็นหวัด และอาจสังเกตเห็นว่าทารกจับหรือดึงหูของตนเองบ่อยครั้ง
  • การติดเชื้อปรสิต เชื้อไกอาเดียที่อาศัยอยู่ในลำไส้อาจทำให้ทารกท้องเสีย อุจจาระเป็นไข ท้องอืด หรือมีแก๊สในกระเพาะอาหาร
  • การใช้ยาปฏิชีวนะ เกิดขึ้นได้ทั้งในกรณีที่ทารกต้องรับประทานยาเองหรือคุณแม่ต้องรับประทานยาปฏิชีวนะในช่วงให้นมบุตร ซึ่งอาจส่งผลให้ทารกมีอาการท้องเสียในช่วงระหว่างที่รับประทานยาหรือหลังจากใช้ยาจนครบตามที่แพทย์กำหนดแล้ว โดยอาจเป็นผลมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะโดยตรง หรือเกิดจากฤทธิ์ของยาที่ส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียที่เป็นมิตรต่อลำไส้ถูกกำจัดออกไปด้วย หากคาดว่าทารกท้องเสียเนื่องจากสาเหตุนี้ คุณแม่หรือทารกไม่ควรหยุดใช้ยาเอง แต่ควรไปปรึกษาแพทย์ เพราะอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้   
  • การดื่มน้ำผลไม้ปริมาณมาก โดยเฉพาะน้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลฟรักโทสสูงหรือประกอบด้วยน้ำตาลซอร์บิทอล รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีรสหวานมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและอาจมีอาการท้องเสียตามมาได้
  • การแพ้โปรตีนจากนมวัว ทารกที่มีอายุไม่ถึง 1 ปี ไม่ควรดื่มนมวัว นมผง หรืออาหารเด็กที่ทำจากนมวัว นอกจากนี้้ ในบางครั้งหากคุณแม่ดื่มนมวัวหรือรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของนมวัวก็อาจทำให้ทารกที่ดื่มนมแม่เกิดอาการแพ้โปรตีนจากนมวัวได้เช่นกัน โดยอาจส่งผลให้ทารกท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือด อาเจียน หรือมีผื่นขึ้นตามร่างกาย
  • การแพ้อาหาร เช่น ไข่ ถั่ว ถั่วเหลือง ธัญพืช ปลา หอย อาหารทะเล เป็นต้น โดยอาจมีอาการแพ้เกิดขึ้นในทันทีหรือหลังจากรับประทานอาหารที่แพ้เข้าไปสักพักแล้ว เป็นเหตุให้มีอาการท้องเสีย อุจจาระเป็นเลือด ปวดท้อง และมีแก๊สในกระเพาะอาหาร ในรายที่มีอาการรุนแรงก็อาจมีผื่นคันขึ้นตามร่างกายหรือหายใจลำบาก นอกจากนี้ ทารกบางรายอาจมีอาการแพ้อาหารแฝง (Food Intolerance) อย่างการแพ้น้ำตาลแล็กโทส ซึ่งพบได้ไม่บ่อยในทารก และมักมีอาการบ่งชี้ เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง ท้องอืด หรือมีแก๊สในกระเพาะอาหาร เป็นต้น
  • การได้รับสารพิษ รวมถึงสารเคมี สารจากพืช ยา หรือของเล่นต่าง ๆ ที่ไม่ควรนำเข้าปาก ซึ่งอาจทำให้ทารกท้องเสีย คลื่นไส้ หายใจไม่ออก ชัก หรือหมดสติได้

ทำอย่างไรเมื่อทารกท้องเสีย ?

อาการท้องเสียเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยขับเชื้อโรคที่เป็นภัยออกจากร่างกาย จึงไม่ควรให้ทารกใช้ยาแก้ท้องเสีย อีกทั้งองค์การอาหารและยายังไม่มีการรับรองยาที่ใช้สำหรับทารกที่มีอาการท้องเสีย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจบรรเทาอาการและช่วยให้ลูกน้อยสบายตัวขึ้นได้โดยปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

  • ให้ดื่มผงเกลือแร่ เพราะอาการท้องเสียอย่างรุนแรงจะทำให้ทารกสูญเสียของเหลวและเกลือแร่ในร่างกายไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะขาดน้ำตามมา หากลูกน้อยไม่มีอาการอาเจียนร่วมด้วย คุณแม่จะยังสามารถให้ทารกดื่มนมแม่หรือนมผงได้ตามปกติ แต่หากทารกอาเจียนและไม่สามารถดื่มนมได้ แพทย์อาจให้เด็กดื่มสารละลายอิเล็กโทรไลต์สำหรับทารก
  • งดของหวาน เช่น โซดา น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้ รวมถึงเยลลี่หรือขนมหวานต่าง ๆ เป็นต้น เพราะน้ำตาลอาจทำให้อาการท้องเสียของทารกแย่ลงกว่าเดิม
  • เปลี่ยนผ้าอ้อมเป็นประจำ เพื่อลดการอับชื้นที่อาจเป็นเหตุให้ก้นของลูกน้อยเป็นผื่นและเกิดการระคายเคือง ทั้งยังช่วยลดอาการก้นแดงจากการท้องเสียอยู่บ่อยครั้ง
  • โอบกอดเบา ๆ บางครั้งอาการท้องเสียอาจทำให้ทารกไม่สบายตัวและงอแง ดังนั้น การกอดอาจช่วยให้เจ้าตัวน้อยงอแงน้อยลงได้

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์ ?

ทารกที่ท้องเสียอาจมีอาการนานตั้งแต่ 5-14 วัน ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ท้องเสีย ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวคุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องเฝ้าดูลูกน้อยอย่างใกล้ชิด หากทารกมีอายุต่ำกว่า 3 เดือน ควรพาเด็กไปพบแพทย์ รวมถึงในกรณีที่พบว่ามีอาการอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ด้วย

  • อาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ปัสสาวะน้อย ร้องไห้แล้วไม่มีน้ำตา ปากแห้ง กระหม่อมบุ๋ม ตาโหล หรืออ่อนเพลีย เป็นต้น
  • อาเจียนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากให้ดื่มผงเกลือแร่ละลายน้ำ
  • อุจจาระเป็นมูก มีกลิ่นเหม็นเน่า
  • อุจจาระเป็นเลือดหรือมีสีดำ
  • ท้องเสียอย่างรุนแรงในช่วงที่รับประทานยาปฏิชีวนะ
  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส