ทิโมลอล
Timolol (ทิโมลอล) เป็นยาที่ใช้รักษาภาวะความดันโลหิตสูง ป้องกันอาการปวดหัวไมเกรน ร่วมถึงลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ ยา Timolol นั้นออกฤทธิ์ด้วยการยับยั้งสารสื่อประสาทที่มีผลต่อหลอดเลือดและหัวใจ อย่างอิพิเนฟริน (Epinephrine) ช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ ลดการทำงานของหัวใจ และลดความดันโลหิต การใช้ยา Timolol อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้จึงควรปรึกษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยา Timolol อาจนำไปใช้รักษาโรคหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
เกี่ยวกับยา Timolol
กลุ่มยา | เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta-Blockers / Antiglaucoma Preparations) |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | ใช้รักษาภาวะความดันโลหิตสูง ป้องกันอาการปวดไมเกรน |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน ยาหยอดตา |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ |
Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิด ความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ |
คำเตือนในการใช้ยา Timolol
การใช้ยาทิโมลอลอาจมีข้อควรระวัง ดังนี้
- แจ้งแพทย์และเภสัชกรเกี่ยวกับประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร หรือสารใดก็ตามที่ก่อให้เกิดการแพ้ก่อนการรักษาทุกครั้ง
- แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบถึงยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรที่กำลังใช้อยู่ก่อนเข้ารับการผ่าตัด และแพทย์อาจให้หยุดรับประทานยานี้ก่อนเข้ารับการผ่าตัดสักระยะ
- ยา Timolol ห้ามใช้ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หากยังไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์
- ผู้ที่เป็นโรคปอดและโรคทางเดินหายใจ อย่างโรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และโรคหัวใจชนิดร้ายแรง เช่น หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ หรือภาวะหัวใจล้มเหลว ไม่ควรใช้ยาชนิดนี้
- ผู้ที่มีโรคหรือปัญหาสุขภาพ ควรแจ้งแพทย์ก่อนการรักษาทุกครั้ง โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด มีภาวะไทรอยด์ผิดปกติ โรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ โรคกล้ามเนื้อบกพร่องทุกชนิด โรคภูมิแพ้ ผู้ที่รับการรักษาด้วยการให้ยาทางหลอดเลือดดำ และผู้กำลังใช้ยารักษาภาวะความดันโลหิตผิดปกติ
- ในผู้ป่วยเบาหวาน ยานี้อาจทำให้ร่างกายแสดงอาการใจสั่นและหัวใจเต้นเร็วน้อยลงขณะเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ จึงอาจส่งผลให้ผู้ป่วยไม่ทราบถึงภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำที่เกิดขึ้นและอาจเป็นอันตรายได้ อย่างไรก็ตาม อาการหน้ามืดและมีเหงื่อออกซึ่งเป็นอาการอื่น ๆ ของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำนั้นอาจไม่ได้รับผลกระทบจากยา ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรสังเกตอาการเหล่านี้เพื่อเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที รวมทั้งรายงานระดับน้ำตาลให้แพทย์ประจำตัวทราบอยู่เสมอ นอกจากนี้ หากระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น รู้สึกกระหายน้ำและปัสสาวะถี่ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
- ผู้สูงอายุอาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลข้างเคียงมากกว่าคนกลุ่มอื่น
- ควรปรึกษาแพทย์ก่อนหยุดใช้ยา เนื่องจากการหยุดยาแบบฉับพลันอาจทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น
- ในกรณีได้รับยาเกินขนาด และเกิดความผิดปกติตามมา อย่างหัวใจเต้นช้า หายใจมีเสียงหวีด หายใจลำบาก หรือเป็นลม ให้โทรเรียกหน่วยพยาบาลฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด
- ยานี้อาจทำให้ง่วงซึมหรือมึนงงได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือการทำงานที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ รวมทั้งงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดที่อาจทำให้ผลข้างเคียงรุนแรงขึ้น
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้ที่วางแผนที่จะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เนื่องจากยานี้อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้
- ผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากยา Timolol สามารถส่งผ่านทางน้ำนมได้
ปริมาณการใช้ยา Timolol
ปริมาณยาที่ใช้ในการรักษานั้นอาจมีความแตกต่างกันไปตามโรค อาการ รวมถึงระยะเวลาการรักษา จึงควรใช้ยาในปริมาณตามที่แพทย์กำหนด เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุดรวมถึงลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
ภาวะความดันโลหิตสูงในดวงตาและโรคต้อหินมุมเปิด
ตัวอย่างการใช้ยา Timolol เพื่อรักษาภาวะความดันโลหิตสูงในดวงตาและโรคต้อหินมุมเปิด
ผู้ใหญ่ ระยะแรก ใช้ยาหยอดตา Timolol ความเข้มข้น 0.25% หยอดบริเวณดวงตาข้างที่มีอาการ 2 ครั้ง/วัน ครั้งละ 1 หยด หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา อาจเพิ่มความเข้มข้นของยาเป็น 0.5% ในกรณีที่ต้องการควบคุมอาการได้แล้วอาจลดจำนวนการใช้ยาเหลือเพียง 1 ครั้งต่อวัน อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้ยา Timolol ความเข้มข้น 0.5% เกิน 2 ครั้ง/วัน
กรณีใช้ยาหยอดตา Timolol ในรูปแบบเจลที่มีความเข้มข้น 0.25% หรือ 0.5% ให้ใช้ยาหยอดดวงตาเพียง 1 ครั้ง/วัน หยอดครั้งละ 1 หยดเฉพาะตาข้างที่มีอาการ
ภาวะความดันโลหิตสูง
ตัวอย่างการใช้ยา Timolol เพื่อรักษาภาวะความดันโลหิตสูง
ผู้ใหญ่ ระยะแรก รับประทานยา Timolol 10 มิลลิกรัม/วัน และเพิ่มปริมาณยาตามการตอบสนองการรักษาอย่างน้อยทุก ๆ 7 วัน โดยควบคุมปริมาณยาให้อยู่ระหว่าง 10-40 มิลลิกรัม/วัน และสูงสุดได้ไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/วัน กรณีให้ปริมาณยามากกว่า 30 มิลลิกรัมในหนึ่งวัน ควรแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง
ป้องกันอาการจากโรคไมเกรน
ตัวอย่างการใช้ยา Timolol เพื่อป้องกันโรคไมเกรน
ผู้ใหญ่ รับประทานยา Timolol ปริมาณ 10 มิลลิกรัม 1-2 ครั้ง/วัน โดยปริมาณยาสูงสุดไม่ควรเกิน 30 มิลลิกรัม/วัน
ภาวะหลังเกิดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
ตัวอย่างการใช้ยา Timolol เพื่อรักษาหลังจากเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
ผู้ใหญ่ ระยะแรก รับประทานยา Timolol 5 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน โดยเริ่มต้นรับประทานยา Timolol หลังจากเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 1-4 สัปดาห์ และอาจเพิ่มปริมาณยาครั้งละ 10 มิลลิกรรม เมื่อไม่มีผลข้างเคียงและได้รับอนุญาตจากแพทย์
อาการเจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
ตัวอย่างการใช้ยา Timolol เพื่อรักษาอาการเจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
ผู้ใหญ่ ระยะแรก รับประทานยา Timolol ปริมาณ 5 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน และเพิ่มปริมาณยาครั้งละ 10 มิลลิกรัม อย่างน้อยทุก ๆ 3 วัน โดยควบคุมปริมาณยาให้อยู่ระหว่าง 35-45 มิลลิกรัม/วัน และสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/วัน
นอกจากนี้ การใช้ยารับประทานสำหรับผู้ที่มีภาวะตับบกพร่อง หรือไตบกพร่อง แพทย์อาจลดปริมาณยาที่ควรได้รับต่อวันลง
การใช้ยา Timolol
การใช้ยาทิโมลอลมีสิ่งที่ควรทราบเกี่ยวกับยา ดังนี้
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
- รับประทานยาในปริมาณที่แพทย์กำหนด ไม่ปรับลดหรือเพิ่มปริมาณยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์
- ควรรับประทานยา Timolol ร่วมกับมื้ออาหาร และหลีกเลี่ยงอาหาร เครื่องดื่ม หรือกิจกรรมตามที่แพทย์แจ้ง และควรรับประทานยาในเวลาเดียวกันของทุกวัน
- ในกรณีที่ลืมรับประทานยาให้รับประทานทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าหากว่าใกล้เวลารับประทานยามื้อถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อถัดไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยา
- ควรตรวจระดับความดันโลหิตอยู่เป็นประจำ
- หากไม่เกิดอาการแพ้หรือผลข้างเคียง ควรรับประทานยานี้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากภาวะความดันโลหิตสูงนั้นอาจไม่แสดงอาการ และผู้ป่วยบางรายอาจต้องรับประทานยาอยู่ตลอด
- การใช้ยา Timolol เพื่อป้องกันปวดหัวไมเกรน อาจต้องใช้เวลาราว 6-8 สัปดาห์เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่
- ยา Timolol ออกฤทธิ์ป้องกันการเกิดไมเกรนและอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือดเท่านั้น ไม่สามารถบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นแล้วได้
- เก็บยาไว้ในอุณหภูมิระหว่าง 15-30 องศาเซลเซียส วางให้พ้นจากแสงแดด ความร้อน ความชื้น และห้ามแช่ช่องแข็ง
- เมื่อใช้ยาไปสักระยะหากอาการยังไม่ทุเลาหรืออาการรุนแรงขึ้นควรไปพบแพทย์
ผลข้างเคียงของ Timolol
การใช้ยา Timolol อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้หลายรูปแบบ โดยผลข้างเคียงทั่วไปอาจมีอาการปวดหรือแน่นหน้าอก เวียนศีรษะ เป็นลม หายใจไม่อิ่ม หัวใจเต้นช้าหรือเต้นผิดจังหวะ เหนื่อยล้าโดยไม่ทราบสาเหตุ มือและเท้าเย็น แม้ว่าจะเป็นผลข้างเคียงทั่วไป แต่ถ้าหากอาการไม่ทุเลาหรือรุนแรงขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์
นอกจากนี้ การใช้ยา Timolol ยังอาจเกิดผลข้างเคียงอันตราย อย่างการแพ้ยาที่อาจทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก ผื่นลมพิษตามร่างกาย มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ปาก ลิ้น คอ
อาการที่ต้องรีบนำส่งผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยเร่งด่วน มีดังนี้
- หัวใจเต้นช้าผิดปกติ
- อาการหัวใจล้มเหลวกำเริบหรือรุนแรงขึ้น
- เวียนศีรษะอย่างรุนแรง เป็นลม
- หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม
- เล็บที่มือและเท้าเปลี่ยนเป็นสีม่วง
- สับสัน อารมณ์แปรปรวน หรือเกิดภาวะซึมเศร้า