ทุเรียน ราชาผลไม้ไทยที่หลายคนโปรดปรานในรสชาติหวานมัน แต่เมื่อรับประทานมาก ๆ ก็ต้องรู้สึกผิดและตะขิดตะขวงใจเพราะมีน้ำตาลและแคลอรี่สูง เกิดคำถามในใจว่าควรจะรับประทานอย่างไรจึงจะพอดี ไม่อ้วน และปลอดภัยต่อสุขภาพ แล้วประโยชน์ของทุเรียนต่อสุขภาพหรือการรักษาโรคที่กล่าวอ้างกันนั้นเชื่อได้จริงหรือ
เช่นเดียวกับผลไม้ชนิดอื่น ๆ ภายในเนื้อทุเรียนอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญหลากหลายชนิด โดยทุเรียน 1 ลูกเล็ก ๆ มีเนื้อทุเรียนน้ำหนักประมาณ 600 กรัม จะให้คุณค่าทางโภชนาการเป็นพลังงาน 885 แคลอรี่ คาร์โบไฮเดรตถึง 163.1 กรัม มากกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณที่แนะนำในแต่ละวัน ไขมัน 32.1 กรัม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (Monounsaturated) เป็นไขมันดีที่จะช่วยลดไขมันชนิดไม่ดี มีเส้นใยอาหารโพแทสเซียม และวิตามินซีสูง รวมถึงสารอาหารสำคัญชนิดอื่น ๆ เช่น โปรตีน ธาตุเหล็ก วิตามินเอ และแคลเซียม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทุเรียนจะเป็นแหล่งคุณค่าทางสารอาหารที่ดี ทว่าแคลอรี่และคาร์โบไฮเดรตที่มีในปริมาณสูงนั้นก็อาจส่งผลให้น้ำหนักและรอบเอวเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน โดยทุเรียนลูกใหญ่ที่มีเนื้อทุเรียนประมาณ 1 กิโลกรัม อาจจะให้พลังงานมากถึง 1,350 แคลอรี่ หากรับประทานทั้งหมดสามารถคิดเป็นพลังงานร้อยละ 68 สำหรับผู้ใหญ่ทั่วไปที่ควรได้รับพลังงาน 2,000 แคลอรี่ต่อวัน ซึ่งถือว่าสูงมาก ทางที่ดีผู้ที่มีสุขภาพดีโดยทั่วไปควรรับประทานประมาณที่ 2-3 เม็ดต่อครั้งก็เพียงพอ และควรรับประทานให้น้อยลงกว่านี้สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ความเชื่อเกี่ยวกับการรับประทานทุเรียนที่อาจไม่เป็นความจริง
ทุเรียนมีคอเลสเตอรอลสูง หลายคนเข้าใจสับสนว่าทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีคอเลสเตอรอลสูง แต่รู้หรือไม่ว่าแท้ที่จริงแล้วทุเรียนมีคอเลสเตอรอลเป็นศูนย์ หรือไม่มีคอเลสเตอรอลเลยนั่นเอง โดยคอเลสเตอรอลนั้นจะพบได้เฉพาะในอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เช่น เนื้อสัตว์ ไขมันจากสัตว์ เครื่องใน อาหารทะเล และอาหารที่ทำจากนมทั้งหลาย แต่ไขมันที่พบในทุเรียนคือไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ซึ่งอาจช่วยลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีและปรับสมดุลระดับความดันโลหิต
ควรรับประทานทุเรียนคู่กับมังคุดช่วยลดความร้อน ตามหลักการแพทย์แผนโบราณของจีนกล่าวว่ามังคุดเป็นผลไม้เย็นที่จะช่วยดับความร้อนที่เกิดขึ้นเมื่อรับประทานทุเรียนได้ ทว่าเรื่องนี้ก็ยังคงเป็นเพียงความเชื่อที่ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่าเท็จจริงประการใด ซึ่งความนิยมในการรับประทานมังคุดคู่ทุเรียนนี้อาจเป็นเพราะว่ามีช่วงฤดูเก็บเกี่ยวที่ตรงกันด้วย ทำให้มักได้รับประทานไปพร้อม ๆ กัน เกิดเป็นความเชื่อดังกล่าว
ห้ามรับประทานยาลดไข้พร้อมกับทุเรียน เชื่อกันว่าทุเรียนจะเพิ่มอุณหภูมิร่างกายให้สูงขึ้นและห้ามรับประทานพร้อมยาพาราเซตามอล เพราะเสี่ยงต่อการเกิดปฏิกิริยาที่เป็นพิษต่อร่างกาย อย่างไรก็ดี งานวิจัยที่ทดสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้กับหนูทดลอง พบว่าทุเรียนไม่ได้ส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายของหนูเพิ่มขึ้นอย่างน่าจะมีความสัมพันธ์ และตรงกันข้ามกับความเชื่อนี้ หนูที่ได้รับทุเรียนผสมกับพาราเซตามอลกลับมีอุณหภูมิร่างกายที่ลดต่ำลง ส่วนกลไกเกี่ยวกับการเกิดผลพิษของยานั้นไม่สามารถระบุได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการพิสูจน์ปฏิกิริยาของทุเรียนกับยาพาราเซตามอลในคนโดยตรง ความเชื่อนี้จึงนับว่ายังมีความคลุมเครืออยู่
ทุเรียนกับเบียร์อาจทำให้เสียชีวิตได้ มีข้อห้ามการรับประทานทุเรียนพร้อมกับดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะเชื่อว่าอาจมีปฏิกิริยาที่ส่งผลร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้ ซึ่งจากการศึกษาเพื่อหาคำตอบของความเชื่อนี้ก็พบว่าการรับประทานทั้ง 2 อย่างพร้อมกันอาจส่งผลบางอย่างต่อร่างกายจริง แต่อาจจะไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยทุเรียนนั้นจะไปส่งผลให้เอนไซม์ Aldehyde Dehydrogenase ลดลง และเนื่องจากเอนไซม์ดังกล่าวมีหน้าที่เปลี่ยนสารแอลดีไฮด์ (Aldehyde) สารพิษที่เกิดจากกระบวนการเผาผลาญแอลกอฮอล์ไปเป็นพลังงานให้กลายเป็นสารอื่นแล้วกำจัดออกจากร่างกายไป เมื่อกำจัดได้น้อยลงจึงทำให้สารแอลดีไฮด์สะสมภายในร่างกาย เกิดอาการหน้าแดง ชา วิงเวียน และอาเจียนตามมาในที่สุด
นอกจากนี้ การรับประทานทุเรียนพร้อมกับแอลกอฮอล์ยังอาจส่งผลให้มีอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด และรู้สึกอึดอัด ไม่ค่อยสบายเช่นกัน เนื่องจากตับต้องทำงานหนักเป็นพิเศษเพื่อที่จะเผาผลาญไขมันและน้ำตาลที่ได้จากทุเรียนและแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรับประทานทั้ง 2 อย่างในปริมาณที่มากเกินพอดี
ทุเรียนช่วยเพิ่มความต้องการทางเพศ ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ให้ความรู้สึกร้อนเมื่อรับประทาน และอาจส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้หมายว่าจะทำให้มีคุณสมบัติกระตุ้นความต้องการทางเพศอย่างที่เชื่อกัน โดยไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่กล่าวถึงความความเป็นไปได้ที่ทุเรียนจะมีคุณสมบัตินี้ในปัจจุบัน
ประโยชน์ของทุเรียนที่อาจมีต่อสุขภาพ
เช่นเดียวกับผลไม้อื่น ๆ ที่มีวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารต่าง ๆ ทำให้มีการกล่าวถึงคุณประโยชน์ทางด้านสุขภาพของทุเรียนปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง แต่ก็ระบุประสิทธิภาพที่แท้จริงไม่ได้มากนัก เพราะงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับทุเรียนที่มียังน้อยอยู่มาก เนื่องจากเป็นผลไม้ที่พบได้ทั่วไปแต่ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นผลไม้เศรษฐกิจเพียงในบางประเทศ เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย
ลดน้ำตาลและไขมันในเลือด มีการกล่าวอ้างว่าผลไม้น้ำตาลสูงชนิดนี้มีสรรพคุณช่วยต้านเบาหวานและลดภาวะอ้วน เกิดความสับสนว่าความจริงเป็นอย่างไรกันแน่ โดยความเชื่อนี้อาจมาจากการที่มีการวิจัยบางส่วนกล่าวถึงประโยชน์ของทุเรียนในด้านนี้ แต่การศึกษาที่มีก็เพียงจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น
งานวิจัยหนึ่งให้หญิงผู้ป่วยโรคเบาหวาน 10 คน รับประทานผลไม้ต่าง ๆ ที่ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต 25 กรัม พบว่าเมื่อเทียบกับผลไม้น้ำตาลสูงชนิดอื่น ๆ อย่างมะม่วง สับปะรด เงาะ และกล้วย การตอบสนองต่ออินซูลินของผู้ป่วยหลังจากรับประทานทุเรียนนั้นมีระดับที่เพิ่มขึ้นทางสถิติมากกว่ากลุ่มที่รับประทานผลไม้อื่น ๆ ส่วนมะม่วงนั้นพบว่าช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดอื่น แต่การศึกษานี้ก็มีขึ้นเมื่อนานมาแล้ว และยังใช้คนร่วมทดลองเพียงจำนวนน้อย
ส่วนงานวิจัยอื่น ๆ ที่มี เป็นเพียงการทดลองในสัตว์ ซึ่งยากจะนำมาสรุปว่าจะให้ผลเช่นเดียวกับในคนหรือไม่ ดังการศึกษาเมื่อปี 2007 ที่ชี้ว่าการให้หนูกินทุเรียนและอาหารเสริมคอเลสเตอรอล (1 เปอร์เซ็นต์) ให้ผลลัพธ์ในทางที่ดีต่อระดับไขมันในเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด และการทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและลดภาวะไขมันในเลือดสูงหากมีการศึกษาที่ครอบคลุมกว่านี้
ทั้งนี้ ถึงแม้ในอนาคตจะมีงานวิจัยที่ยืนยันถึงประโยชน์ของทุเรียนในข้อนี้ได้อย่างชัดเจนขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุเรียนจะดีต่อสุขภาพและสามารถรับประทานได้มากเท่าที่ต้องการ เพราะด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าในทุเรียนมีน้ำตาลและแคลอรี่สูง ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรจำกัดรับประทานให้น้อยกว่าปริมาณปกติของคนที่มีสุขภาพดี ไม่เช่นนั้นอาจเป็นอันตรายและส่งผลให้อาการโรคเบาหวานยิ่งแย่ลง
รักษาภาวะมีบุตรยาก ปัญหาสุขภาพที่น่าหนักใจอาจนำไปสู่ปัญหาทางความสัมพันธ์และชีวิตคู่ ผู้ที่ประสบปัญหานี้หลายคนพยายามสรรหาการรักษาทางเลือกอย่างการรับประทานอาหารต่าง ๆ ที่เชื่อว่าจะช่วยแก้ไขได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการรับประทานทุเรียน และบางความเชื่อก็ระบุเจาะจงว่าทุเรียนจะช่วยรักษาภาวะมีบุตรยากที่เกิดจากรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ (Polycystic Ovarian Syndrome) ทว่าเมื่อมีการทบทวนงานวิจัยก็พบว่าในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทุเรียนรักษาภาวะมีบุตรยาก ไม่ว่าจะเป็นการมีบุตรยากที่มีสาเหตุมาจากปัจจัยใดก็ตาม ผู้ที่คาดหวังประโยชน์ด้านนี้ของทุเรียนจึงควรเผื่อใจด้วยว่าอาจไม่ได้ผลจริง
รักษาสิว มีทั้งการกล่าวอ้างว่าครีมที่มีส่วนผสมจากทุเรียนหรือการรับประทานทุเรียนจะช่วยรักษาสิวให้หายได้ แต่สรรพคุณดังกล่าวก็ยังคงเป็นเพียงความเชื่อที่ไม่มีการพิสูจน์ คุณสมบัติของทุเรียนที่อาจดีต่อผิวหนังนั้น มีการศึกษาที่ใกล้เคียงโดยใช้เจลพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharide) ที่มีส่วนผสมจากเปลือกทุเรียนทาบนผิวหนัง พบว่าช่วยเพิ่มความสามารถในการเก็บประจุของผิวหนังได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งก็หมายความว่าจะทำให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้นสูง หลังจากการใช้ติดต่อนาน 56 วัน โดยจากการทดสอบผิวหนังไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ อย่างไรก็ตาม ทุเรียนจะมีสารหรือกลไกชนิดใดที่ดีต่อสุขภาพผิวหนังคงต้องใช้ข้อมูลในการระบุประสิทธิภาพอีกมาก
ดีซ่านหรืออาการตัวเหลืองตาเหลือง สรรพคุณทางยาของใบทุเรียนมีการบอกต่อกันอย่างแพร่หลายว่าจะช่วยรักษาอาการภาวะตาเหลืองตัวเหลืองหรือดีซ่านได้ แต่ก็ไม่มีข้อมูลที่อธิบายได้ว่าเกิดจากอะไร ได้ผลและปลอดภัยจริงหรือไม่ คุณประโยชน์นี้นับว่ายังมีความคลุมเครืออยู่มาก ไม่ต่างจากประโยชน์ด้านสุขภาพข้ออื่น ๆ ของทุเรียน ที่หากต้องการทดลองทำตามสูตรการรักษาต่าง ๆ ควรพึงระมัดระวังเพราะไม่สามารถยืนยันได้ถึงความปลอดภัย
รับประทานทุเรียนอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ
คนส่วนใหญ่ อาจสามารถรับประทานทุเรียนได้อย่างปกติ แต่อาจทำให้เกิดอาการไม่สบายท้อง มีแก๊สในกระเพาะ ท้องเสีย อาเจียน หรืออาการแพ้ตามมาได้ในบางราย โดยเฉพาะเมื่อรับประทานในปริมาณมาก ทั้งนี้ยังไม่ควรรับประทานเม็ดของทุเรียน เพราะอาจส่งผลให้มีอาการหายใจเหนื่อยหอบได้
สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องจำกัดการรับประทานแป้งและน้ำตาลนั้น ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะรับประทานทุเรียนในปริมาณมาก ๆ ตามใจปาก เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลที่มีสูงมากกว่าผลไม้อื่น ๆ เช่น มะม่วง หรือกล้วยที่ขึ้นชื่อว่ามีน้ำตาลมากอยู่แล้ว โดยอาจไปเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้นมากและเป็นอันตรายได้
นอกจากนี้ หลายคนเชื่อว่าขณะตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานทุเรียนเพราะทำให้เกิดความร้อนในร่างกาย ไม่ดีต่อมารดาและเด็กในท้อง บางความเชื่อกล่าวว่าทุเรียนจะส่งผลให้คุณแม่มีความดันโลหิตสูงจนกระทบต่อทารกในครรภ์ แต่ที่จริงแล้วก็ยังไม่มีการยืนยันเกี่ยวกับความปลอดภัยของหญิงตั้งครรภ์กับการรับประทานทุเรียน และผู้เชี่ยวชาญทางแพทย์แผนปัจจุบันก็ไม่ได้ห้ามคนท้องรับประทานทุเรียน
ในทางตรงกันข้ามกลับมีงานวิจัยที่ชี้ว่าทุเรียนอาจเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ เนื่องจากประกอบด้วยทริปโตเฟน (Tryptophan) และสารประกอบซัลเฟอร์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งยังอาจมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ทำให้อาจส่งผลดีต่อครรภ์ของมารดา
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทุเรียนนั้นมีปริมาณน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตสูง โดยในทุเรียน 1 เม็ด (น้ำหนัก 40 กรัม) จะให้พลังงานประมาณ 50-60 แคลอรี่ ทางที่ดีควรรับประทานอย่างยับยั้งชั่งใจ ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป โดยเฉพาะหญิงที่เป็นโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์อยู่แล้ว และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานทุเรียนเพื่อรักษาโรคใด ๆ ซึ่งอาจทำให้ได้รับทุเรียนในปริมาณมาก ทั้งในปัจจุบันยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะปลอดภัย