ท้องก่อนวัยอันควร ปัญหาหนักใจที่แก้ไขและรับมือได้

ท้องก่อนวัยอันควร หรือการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นประเด็นที่ถูกนำเสนออย่างแพร่หลายผ่านสื่อโทรทัศน์และสังคมออนไลน์ ซึ่งกระแสคุณแม่วัยใสนั้นเป็นเหมือนดาบ 2 คม เพราะแม้จะช่วยกระตุ้นให้คนในสังคมตื่นตัวและหันมาให้ความสนใจกับปัญหานี้ แต่วัยรุ่นที่ไม่มีวุฒิภาวะเพียงพออาจเข้าใจผิดคิดว่าการตั้งครรภ์ในช่วงอายุนี้เป็นเรื่องปกติ ทั้งที่จริงแล้วการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรอาจส่งผลเสียทั้งทางด้านสุขภาพกายใจ และอาจตามมาด้วยผลกระทบในระยะยาว วัยรุ่นวัยเรียนทั้งหลายจึงควรเรียนรู้แนวทางการป้องกันปัญหานี้ หรือในกรณีที่พลาดพลั้งตั้งครรภ์ไปแล้วควรตั้งสติและเรียนรู้วิธีรับมือที่ถูกต้อง

ท้องก่อนวัยอันควร

การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นหมายถึงการตั้งครรภ์และคลอดบุตรในช่วงอายุ 10-19 ปี องค์การสหประชาชาติได้ตระหนักถึงปัญหานี้และกำหนดให้การลดอัตราการคลอดในผู้หญิงอายุ 15-19 ปี เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ทุกประเทศต้องบรรลุให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2573 สำหรับประเทศไทยนั้น สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งกรมอนามัยเปิดเผยว่าปี พ.ศ. 2558 อัตราการคลอดบุตรในช่วงอายุ 15-19 ปี ต่อประชากรหญิงช่วงอายุเดียวกันนี้ คิดเป็น 44.8 รายต่อ 1,000 ราย ลดลงจากปี พ.ศ. 2557 ที่คิดเป็น 47.9 รายต่อ 1,000 ราย ซึ่งเป็นผลจากการรณรงค์เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอย่างจริงจังของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนส่วนใหญ่ที่เริ่มตระหนักถึงปัญหาและให้ความร่วมมือ

ท้องก่อนวัยอันควรทำอย่างไร

หากทราบแน่ชัดแล้วว่าตนเองท้อง สิ่งแรกที่ควรตระหนักคือ การแบกรับปัญหาไว้เพียงผู้เดียวไม่ได้ช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น ซ้ำร้ายยังทำให้เครียดและอาจตัดสินใจเลือกแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด

  • พูดคุยกับพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่ไว้วางใจ เป็นปกติที่ในช่วงแรกพ่อแม่อาจตกใจ ผิดหวัง หรือต่อว่า ทว่าสุดท้ายแล้วพ่อแม่ก็คือคนที่ปรารถนาดีและพร้อมช่วยเหลือเราที่สุด
  • พูดคุยกับคนรักหรือผู้ชายที่เป็นพ่อของเด็ก หากอีกฝ่ายรับผิดชอบ อาจช่วยให้กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น เช่น ร่วมกันวางแผนเลี้ยงดูลูกในอนาคต ทั้งนี้ หากอีกฝ่ายปฏิเสธความรับผิดชอบควรตั้งสติและเข้มแข็งเข้าไว้ เพราะยังมีพ่อแม่และคนในครอบครัวที่คอยเป็นห่วงและเป็นที่พึงพาให้เราได้เสมอ
  • ในช่วงแรกที่พบว่าตั้งครรภ์ วัยรุ่นบางคนอาจไม่กล้าระบายให้คนใกล้ชิดฟัง แนะนำให้ใช้บริการปรึกษาทางโทรศัพท์ของหน่วยงานในสังกัดกรมสุขภาพจิตที่หมายเลข 1323 ซึ่งพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง หรือสายด่วนเรื่องเพศจากภาคีเครือข่ายของ สสส. หมายเลข 1663

วัยรุ่นที่ท้องก่อนวัยอันควรบางรายอาจตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยวิธีการทำแท้ง ซึ่งถือเป็นความผิดทางอาญาฐานทำให้แท้งลูก นอกจากนั้น การซื้อยาทำแท้งมารับประทานเองหรือทำแท้งตามคลินิกเถื่อนอาจเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงร้ายแรง เช่น ตกเลือด ติดเชื้อ มดลูกทะลุ ซึ่งล้วนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ทั้งนี้ ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2548 กำหนดว่าแพทย์สามารถทำแท้งให้สตรีมีครรภ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมายใน 2 กรณีเท่านั้น คือ หญิงตั้งครรภ์มีปัญหาสุขภาพทางกายหรือทางจิต หรือการตั้งครรภ์จากการถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือข่มขืนกระทำชำเรา

ปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่วัยรุ่นได้รับจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้แก่

  1. ได้รับความรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างเหมาะสมกับวัยและนำไปปรับใช้ได้จริงจากสถานศึกษา
  2. วัยรุ่นตั้งครรภ์มีสิทธิ์ได้รับคำปรึกษา ตลอดจนความช่วยเหลือและคุ้มครองเพื่อให้ตนเองปลอดภัย
  3. วัยรุ่นตั้งครรภ์สามารถเรียนต่อได้โดยไม่ต้องพักการเรียนหรือถูกบังคับให้ย้ายโรงเรียน
  4. วัยรุ่นสามารถใช้บริการคลินิกสุขภาพทางเพศได้ โดยข้อมูลทุกอย่างจะถูกเก็บเป็นความลับ และตัดสินใจได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องรับการยินยอมจากผู้ปกครอง
  5. วัยรุ่นที่คลอดบุตรแล้วจะได้รับการสนับสนุนให้เลี้ยงดูบุตรอย่างมีคุณภาพ

ปัจจัยที่ส่งผลให้ท้องก่อนวัยอันควร

ผู้หญิงบางรายที่ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรอาจเกิดจากความสมัครใจและไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้วว่าเลี้ยงดูบุตรให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ อย่างไรก็ตาม วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักเป็นการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่

  • ละเลยการคุมกำเนิดหรือขาดความรู้ด้านการคุมกำเนิดที่ถูกต้อง เช่น รับประทานยาคุมกำเนิดผิดวิธี
  • แรงกดดันจากสังคมรอบตัว ส่งผลให้ต้องแต่งงานและตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร
  • รายได้ไม่เพียงพอให้ซื้อถุงยางอนามัยหรือยาคุมกำเนิด
  • อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่อาจปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เช่น ถูกฝ่ายชายบังคับโดยใช้อารมณ์หรือความรุนแรง ถูกข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น

ผลกระทบจากการท้องก่อนวัยอันควร

ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปีที่กำลังตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตหลายประการ องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่าผลกระทบด้านสุขภาพจากการตั้งครรภ์และการคลอดจัดเป็นสาเหตุลำดับที่ 2 ที่ทำให้ผู้หญิงอายุ 15-19 ปีเสียชีวิต นอกจากนั้น การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรอาจส่งผลต่อสถานภาพทางสังคมของมารดาและบุตรด้วย

ปัญหาสุขภาพ

  • คุณแม่วัยรุ่นอาจละเลยการฝากครรภ์ ซึ่งถือว่าสำคัญมาก โดยเฉพาะช่วงเดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพื่อเป็นการคัดกรองความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ และหาทางป้องกันหรือรักษาอย่างทันท่วงที
  • เสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
  • เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ ผู้ป่วยมักมีความดันโลหิตสูง มีอาการบวมตามใบหน้าและมือ หรือปวดท้อง นอกจากนี้ หากมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงอาจส่งผลให้มารดาและบุตรเสียชีวิตได้
  • เสี่ยงต่อภาวะโลหิตจางขณะตั้งครรภ์
  • เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจากความเครียด ความรู้สึกหดหู่และโดดเดี่ยวระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังคลอด หากประสบภาวะนี้ควรปรึกษาแพทย์หรือคนที่ไว้ใจ ไม่ควรแบกรับปัญหาไว้คนเดียว
  • เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งมักส่งผลให้ทารกมีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานและเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพ เช่น ร่างกายและสมองเจริญเติบโตผิดปกติ ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติ เกิดโรคเบาหวานและโรคหัวใจในอนาคต เป็นต้น

ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม

การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมักกระทบต่อการเรียน วัยรุ่นบางคนอาจไม่ได้เรียนต่อ ส่งผลให้มีโอกาสในการทำงานไม่มากเท่าที่ควรและอาจมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ สิ่งเหล่านี้กระทบกับคุณภาพชีวิตของบุตรโดยตรง เด็กอาจไม่ได้เรียนหนังสือหรือเรียนไม่จบ หรืออาจนำไปสู่การเลือกเดินในทางที่ผิด เช่น กระทำผิดกฎหมาย หันพึ่งยาเสพติด และกลายเป็นปัญหาสังคมในอนาคต

ระหว่างตั้งครรภ์ควรดูแลสุขภาพอย่างไร

คุณแม่วัยรุ่นควรดูแลสุขภาพและปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด รวมถึงส่งเสริมให้บุตรเจริญเติบโตอย่างแข็งแรงและมีประสิทธิภาพ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำเพียงไม่กี่ข้อ ดังนี้

  • ฝากครรภ์ หากคิดว่าตนเองอาจกำลังตั้งครรภ์ ควรไปตรวจให้รู้แน่ชัดและฝากครรภ์กับแพทย์ในโรงพยาบาลหรือคลินิกทันที
  • ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อรับการรักษาและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดกับทารกในครรภ์อย่างทันท่วงที
  • ออกกำลังกาย นอกจากช่วยรักษาสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรง การออกกำลังกายยังช่วยเตรียมความพร้อมให้ร่างกายก่อนคลอด ทั้งนี้ หญิงมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการออกกำลังกายที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อทั้งตนเองและตัวเด็ก
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยกรดโฟลิค แคลเซียม ธาตุเหล็ก โปรตีน และสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารก แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานกรดโฟลิคในรูปอาหารเสริมอย่างน้อย 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อป้องกันทารกพิการแต่กำเนิด
  • ปรึกษาคนที่ไว้ใจหากมีเรื่องไม่สบายใจ พยายามพูดคุยเพื่อระบายความเครียดกับคนรอบข้าง เช่น คนรัก เพื่อน พี่น้อง ผู้ปกครอง เป็นต้น หากไม่สามารถระบายกับคนใกล้ชิด อาจโทรขอคำปรึกษาจากสายด่วนกรมสุขภาพจิตหมายเลข 1323
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ บุหรี่ และยาเสพติด เพราะไม่เพียงเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณแม่เอง แต่ยังส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก

ป้องกันปัญหาท้องก่อนวัยอันควรอย่างไร

การป้องกันปัญหาท้องก่อนวัยอันควรที่ได้ผลที่สุดคือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ ทว่าความรักในวัยรุ่นมักมีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น การคุมกำเนิดอย่างถูกต้องเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ปัจจุบันมีวิธีการคุมกำเนิดให้เลือกใช้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถุงยางอนามัยการรับประทานยาคุมกำเนิดหรือยาคุมฉุกเฉิน การฉีดยาคุม การฝังยาคุม การใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด หรือการใช้ห่วงอนามัย นอกจากนี้ ปัจจุบันทางภาครัฐได้เปิดโอกาสให้วัยรุ่นอายุ 10-20 ปีเข้ารับบริการฝังยาคุมกำเนิดชนิดกึ่งถาวรที่โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศได้ฟรี อย่างไรก็ตาม วิธีคุมกำเนิดดังกล่าวมาทั้งหมดไม่อาจช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ช่วยลดความเสี่ยงได้มาก และควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์