ท้องนอกมดลูก (Ectopic Pregnancy)

ความหมาย ท้องนอกมดลูก (Ectopic Pregnancy)

ท้องนอกมดลูก (Ectopic Pregnancy) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นไข่ที่ได้รับการผสมกับสเปิร์มเรียบร้อยแล้วแล้วกลายเป็นตัวอ่อนไปฝังตัวอยู่บริเวณอื่นที่ไม่ใช่ผนังมดลูก โดยมักเกิดการฝังตัวบริเวณท่อนำไข่หรือปีกมดลูก ซึ่งจะส่งผลให้ตัวอ่อนนี้ไม่สามารถเจริญเติบโตกลายเป็นทารกได้ และจำเป็นที่จะต้องรักษาโดยการนำตัวอ่อนนี้ออก

หากภาวะท้องนอกมดลูกไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม จะทำให้เนื้อเยื่อเจริญเติบโตและสร้างความเสียหายให้แก่ท่อนำไข่ หรืออาจนำไปสู่การเกิดภาวะที่อันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของการเกิดภาวะท้องนอกมดลูก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที

Ectopic Pregnancy

อาการท้องนอกมดลูก

ในระยะแรกของการท้องนอกมดลูกอาจไม่มีอาการปรากฏออกมา หรือมีอาการคล้ายกับสัญญาณของการตั้งครรภ์ทั่วไป เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ประจำเดือนไม่มา เจ็บคัดบริเวณเต้านม หรือมีเลือดไหลออกจากช่องคลอดเล็กน้อย 

แต่หากมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่รุนแรงมากขึ้นดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • มีอาการวิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง หน้ามืดเป็นลม 
  • มีอาการปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน
  • มีอาการปวดบริเวณไหล่ ลำคอ หรือทวารหนัก
  • มีภาวะตกเลือด หรือมีเลือดไหลออกจากช่องคลอดเป็นปริมาณมาก
  • มีภาวะช็อค

สาเหตุของการท้องนอกมดลูก

การท้องนอกมดลูกจะเกิดขึ้นภายในช่วงสัปดาห์แรก ๆ หลังจากไข่ได้รับการผสมกับสเปิร์ม โดยทั่วไปไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะอยู่ในท่อนำไข่ประมาณ 3–4 วัน ก่อนเคลื่อนไปฝังตัวในผนังมดลูกและพัฒนาเป็นตัวอ่อนต่อไป ซึ่งหากไข่ที่ได้รับผสมแล้วไม่เคลื่อนไปฝังตัวในผนังมดลูกแต่ฝังตัวอยู่ในบริเวณอื่น ๆ อย่างท่อนำไข่ รังไข่ ปากมดลูก หรือพื้นที่ว่างในช่องท้อง จะเรียกว่าการท้องนอกมดลูก

ปัจจัยที่อาจส่งผลให้ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วไม่เคลื่อนไปฝังตัวในผนังมดลูกตามกระบวนการตั้งครรภ์ตามปกติมีหลายประการ ได้แก่

  • ท่อนำไข่ได้รับความเสียหาย หรือมีลักษณะรูปร่างผิดปกติ
  • มีความผิดปกติของการพัฒนาภายในไข่หลังจากการปฏิสนธิ
  • มีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ มดลูกอักเสบ ท่อนำไข่อักเสบ รังไข่อักเสบ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
  • มีรอยแผลเป็นจากการผ่าตัดก่อนหน้าที่บริเวณอุ้งเชิงกราน
  • เคยมีประวัติการท้องนอกมดลูกมาก่อน
  • เคยมีประวัติการทำหมันหรือการผ่าตัดแก้หมันมาก่อน
  • การใช้ห่วงอนามัยคุมกำเนิด
  • การใช้ยาบางชนิดหรือการรักษาภาวะมีบุตรยาก เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว
  • เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนในกระบวนการตั้งครรภ์
  • การมีอายุมาก โดยพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปอาจมีความเสี่ยงที่อวัยวะในระบบสืบพันธุ์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือทำงานด้อยประสิทธิภาพลง

การวินิจฉัยการท้องนอกมดลูก

ในเบื้องต้นแพทย์จะซักถามอาการ ประวัติการมีประจำเดือน ร่วมกับการตรวจร่างกายบริเวณหน้าท้องและการตรวจภายใน นอกจากนี้อาจมีการทดสอบเพิ่มเติมเพื่อประกอบการวินิฉัจย เช่น การตรวจเลือด การตรวจอัลตราซาวด์ โดยมีรายละเอียดการตรวจดังนี้

การตรวจภายใน (Pelvic Exam) 

แพทย์จะใช้เครื่องมือสำหรับการตรวจภายในโดยเฉพาะในการตรวจภายในช่องคลอดของผู้ป่วย เพื่อตรวจหาบริเวณที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด หรือบริเวณที่อาจเกิดความผิดปกติได้ เช่น ท่อนำไข่ หรือรังไข่

การตรวจเลือด 

แพทย์จะทำการเจาะเลือดของผู้ป่วยเพื่อนำไปตรวจหาระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (Human Chorionic Gonadotropin: hCG) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สามารถบ่งชี้ได้ว่าผู้ป่วยกำลังมีภาวะตั้งครรภ์หรือไม่ 

การตรวจอัลตราซาวด์

หากพบว่าผู้ป่วยมีฮอร์โมนการตั้งครรภ์ แพทย์จะทำการตรวจอัลตราซาวด์บริเวณหน้าท้องเพื่อหาตัวอ่อนของทารกที่ฝังตัวอยู่ในมดลูก หรือหากเป็นการตั้งครรภ์ในระยะแรก ๆ ตัวอ่อนอาจยังคงอยู่บริเวณท่อนำไข่หรือรังไข่ซึ่งใกล้กับช่องคลอด แพทย์จึงต้องใช้เครื่องมืออัลตราซาวด์ชนิดสอดเข้าไปภายในช่องคลอด (Transvaginal Ultrasound) เพิ่มเติม

หากตรวจไม่พบตัวอ่อน แพทย์อาจวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะท้องนอกมดลูกหรือเกิดการแท้งลูก แต่ในบางกรณี หากเป็นการตั้งครรภ์ในระยะแรกที่ตัวอ่อนมีขนาดเล็กมากก็อาจทำให้ตรวจไม่พบได้เช่นกัน ดังนั้น แพทย์อาจสังเกตอาการที่เกิดขึ้นบริเวณท่อนำไข่ร่วมด้วยว่ามีการบวม มีเนื้อเยื่อ หรือมีลิ่มเลือดอุดตันที่เกิดจากการที่ตัวอ่อนไปฝังตัวแล้วสร้างความเสียหายแก่เนื้อเยื่อในบริเวณนั้นหรือไม่

การรักษาการท้องนอกมดลูก

ผู้ป่วยที่มีภาวะท้องนอกมดลูกจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธ์ตามมา ซึ่งตัวอ่อนที่ฝังตัวอยู่นอกมดลูกจะไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นทารกได้อีก จึงต้องรักษาโดยการนำตัวอ่อนออกไป วิธีการรักษาภาวะท้องนอกมดลูกจะขึ้นอยู่กับบริเวณที่ตัวอ่อนฝังตัว และพัฒนาการของตัวอ่อนที่ฝังตัวไปแล้ว โดยมีวิธีการรักษาดังนี้

การใช้ยา

แพทย์จะใช้ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) ซึ่งเป็นยาที่ใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอ่อนที่ฝังตัวเจริญเติบโตต่อไป โดยการใช้ยาตัวนี้จะทำให้เกิดผลข้างเคียงคล้ายกับอาการแท้งลูก เช่น ชาหรือปวดเกร็งบริเวณหน้าท้อง มีเลือดและเนื้อเยื่อไหลออกจากช่องคลอด รวมถึงผู้ป่วยจะยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เป็นเวลาหลายเดือนหลังการใช้ยา

การผ่าตัด 

แพทย์จะทำการผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopy) โดยใช้เครื่องมือชนิดพิเศษคือกล้องขยายขนาดเล็กสอดเข้าไปในรูสำหรับผ่าตัด และนำตัวอ่อนที่ฝังตัวนอกมดลูกออกมา รวมถึงทำการซ่อมแซมเนื้อเยื่อบริเวณที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งหากเนื้อเยื่อบริเวณท่อนำไข่เกิดความเสียหายมาก แพทย์อาจต้องผ่าตัดนำท่อนำไข่ออกมาด้วย

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น การท้องนอกมดลูกที่แตก แพทย์อาจใช้การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (Laparotomy) เป็นการรักษาฉุกเฉิน เพื่อช่วยในการห้ามเลือดให้กับผู้ป่วย

การรักษาภาวะอื่น ๆ

การรักษาภาวะอื่น ๆ เป็นการรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการท้องนอกมดลูก เช่น ภาวะช็อกจากการเสียเลือดมากซึ่งอาจจำเป็นต้องได้รับเลือดทดแทน หรือภาวะอักเสบติดเชื้อซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้ยาลดการอักเสบและยาปฏิชีวนะในการรักษาร่วมด้วย

หลังรับการรักษา ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัว ผู้ป่วยอาจจำเป็นปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาพจิตใจ และการวางแผนตั้งครรภ์ครั้งต่อไปหากต้องการที่จะตั้งครรภ์อีกครั้ง เพราะผู้ที่เคยมีภาวะท้องนอกมดลูกจะมีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะนี้ขึ้นอีก รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดนำท่อนำไข่ออกไป อาจส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของการท้องนอกมดลูก

ภาวะท้องนอกมดลูกที่ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ช้าเกินไป สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เนื่องจากท่อนำไข่และอวัยวะบริเวณที่ไข่ฝังตัวอาจเกิดความเสียหาย ฉีกขาด หรือเกิดการติดเชื้อ ทำให้ผู้ป่วยเกิดการตกเลือด เกิดภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย (Disseminated Intravascular Coagulopathy: DIC) รวมถึงเกิดภาวะช็อคและอาจนำไปสู่การเสียชีวิตในเวลาต่อมาได้

การป้องกันการท้องนอกมดลูก

ภาวะท้องนอกมดลูกเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะภายในช่องท้องและระบบสืบพันธุ์ ซึ่งสามาถนำไปสู่การเกิดภาวะท้องนอกมดลูกได้ ดังนี้

  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย โดยใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์และไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการอักเสบติดเชื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะผู้ที่สูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่อาจความเสี่ยงสูงในการท้องนอกมดลูกได้
  • สังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงทีเมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น
  • ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการวางแผนดูแลครรภ์ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ของการตั้งครรภ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด