ความหมาย ท้องมาน
ท้องมาน เป็นภาวะที่มีของเหลวสะสมอยู่ในช่องว่างระหว่างเยื่อหุ้มช่องท้องและอวัยวะภายในช่องท้อง ส่งผลให้ท้องมีขนาดใหญ่ขึ้น มีสาเหตุมาจากตับทำงานผิดปกติเนื่องจากเกิดโรคเกี่ยวกับตับหรือโรคตับแข็ง หรืออาจเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น ไตวาย ภาวะหัวใจล้มเหลว มะเร็ง ตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น การรักษาภาวะท้องมานจึงขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นต้นเหตุ
อาการของท้องมาน
ผู้ป่วยที่มีภาวะท้องมานอาจมีอาการอย่างค่อยเป็นค่อยไปหรือเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันก็ได้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะนี้ บางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็นหากมีของเหลวสะสมในปริมาณเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อของเหลวในช่องท้องมีปริมาณมากขึ้นอาจส่งผลให้รู้สึกปวดท้อง ไม่สบายท้อง หรือท้องอืด และหากมีปริมาณมากอาจทำให้มีอาการหายใจไม่อิ่มได้ เนื่องจากของเหลวในท้องไปเพิ่มแรงดันต่อกระบังลมหรือมีการเคลื่อนตัวจนเกิดภาวะน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดตามมา รวมทั้งทำให้มีขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้นผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด
แม้อาการของภาวะท้องมานมักไม่รุนแรง แต่ภาวะนี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะร้ายแรงอย่างการทำงานของตับล้มเหลวได้ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการดังต่อไปนี้
- น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปกติ
- ไม่อยากอาหาร
- ปวดท้อง
- ท้องอืด อาหารไม่ย่อย แสบร้อนกลางอก
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องบวมขึ้น
- หายใจลำบากเมื่อนอนลง
- มีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีไข้สูง หรือมีอาการคล้ายหวัด
สาเหตุของท้องมาน
ท้องมานเกิดจากความดันในหลอดเลือดภายในตับเพิ่มขึ้นสูงและการทำงานที่ผิดปกติของตับจนขัดขวางการไหลเวียนเลือดภายในตับ ส่งผลให้ไตทำงานผิดปกติในการกำจัดเกลือและน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย หรืออาจเกิดสาเหตุอื่น ๆ ได้เช่นกัน โรคหรือภาวะที่ทำให้เกิดท้องมานได้ มีดังนี้
- โรคที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อตับ เช่น โรคตับแข็ง โรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี การมีลิ่มเลือดในหลอดเลือดของตับ เป็นต้น
- การเสพติดการดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคตับแข็งหรือตับอ่อนอักเสบ
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะไตวาย
- ตับอ่อนอักเสบ
- มะเร็งบางชนิดที่เกิดขึ้นบริเวณท้อง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก เป็นต้น
- วัณโรค
- ภาวะไฮโปไทรอยด์
การวินิจฉัยท้องมาน
เบื้องต้นแพทย์จะสอบถามอาการและประวัติสุขภาพของผู้ป่วย รวมทั้งตรวจร่างกายเพื่อดูความบวมของท้อง หลังจากนั้นอาจใช้วิธีอื่น ๆ ในการประเมินอาการเพิ่มเติม เช่น การอัลตราซาวด์ การทำ CT Scan การทำ MRI Scan การตรวจเลือด การตรวจการทำงานของตับและไต การตรวจปัสสาวะ เป็นต้น
ในกรณีที่คาดว่าผู้ป่วยเป็นท้องมาน แพทย์จะใช้เข็มเจาะเอาตัวอย่างของเหลวจากท้องออกมาทดสอบ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยยืนยันสาเหตุของภาวะดังกล่าวและช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
การรักษาท้องมาน
การรักษาภาวะท้องมานขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะนี้ หากเกิดจากมะเร็งก็ต้องรักษามะเร็งชนิดนั้น ๆ ส่วนผู้ป่วยภาวะท้องมานจากโรคตับแข็งในกรณีที่ไม่รุนแรง จะเริ่มจากการแนะนำให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมโดยจำกัดปริมาณโซเดียมจากอาหารไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน ซึ่งอาจให้ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการเป็นผู้แนะนำและช่วยวางแผนมื้ออาหารในแต่ละวัน และสอนให้ดูปริมาณโซเดียมหลังฉลากอาหารก่อนรับประทาน รวมทั้งควบคุมปริมาณการดื่มน้ำและหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ ส่วนวิธีรักษาอื่น ๆ ที่อาจนำมาใช้ มีดังนี้
- การใช้ยา ยาที่นำมาใช้รักษาภาวะนี้คือยาขับปัสสาวะซึ่งจะช่วยขับน้ำและเกลือที่เป็นส่วนเกินออกจากร่างกาย โดยยาที่นิยมใช้ ได้แก่ ยาฟูโรซีไมด์ และยาสไปโรโนแลคโตน ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไตและวัดค่าเกลือแร่ในระหว่างที่ใช้ยาไปด้วย เพราะการได้รับยาขับปัสสาวะบางตัวมากเกินไปอาจทำให้ร่างกายขับแร่ธาตุออกไปจนเกิดภาวะขาดแร่ธาตุบางชนิดได้
- การเจาะน้ำออกจากช่องท้อง หากการปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารและการใช้ยาขับปัสสาวะไม่ได้ผล หรือผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น แพทย์อาจใช้เข็มเจาะโพรงช่องท้องเพื่อนำของเหลวออกจากท้อง ซึ่งวิธีนี้ต้องทำควบคู่กับการลดปริมาณโซเดียมและปริมาณของเหลวที่ร่างกายได้รับ แต่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อจากการเจาะช่องท้องได้ แพทย์จึงอาจป้องกันด้วยการสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะร่วมด้วย และแม้วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณน้ำในช่องท้อง ทำให้หายใจได้สะดวกขึ้นและรู้สึกอึดอัดน้อยลง แต่ผู้ป่วยมักกลับมามีท้องโตจากการที่ร่างกายพยายามสร้างน้ำในช่องท้องมากขึ้นอีกได้
- การผ่าตัด ในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่นใช้ไม่ได้ผลและภาวะท้องมานเกิดจากตับเสื่อมการทำงานระยะสุดท้าย ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดทำทางระบายน้ำในช่องท้อง เพื่อเปิดทางให้เลือดไหลเวียนภายในตับได้ดีขึ้น หากผู้ป่วยยังไม่ตอบสนองต่อการรักษา แพทย์อาจแนะนำให้รับการปลูกถ่ายตับซึ่งมักใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย
สำหรับผู้ที่มีภาวะท้องมานเนื่องจากเกิดมะเร็งในช่องท้อง แพทย์อาจให้การรักษามะเร็งด้วยการผ่าตัด หรือใช้การฉายแสงและยาเคมีบำบัดร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของท้องมาน
ภาวะแทรกซ้อนของท้องมานที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้
- หายใจลำบาก เนื่องจากมีของเหลวสะสมในช่องท้องในปริมาณมากจนก่อให้เกิดแรงกดต่อกระบังลมหรือเกิดภาวะมีของเหลวในเยื่อหุ้มปอด
- เยืื่อบุช่องท้องอักเสบจากแบคทีเรีย ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยท้องมานที่มีสาเหตุมาจากภาวะความดันในหลอดเลือดดำตับสูง ส่งผลให้แบคทีเรียจากลำไส้แพร่กระจายเข้าสู่ของเหลวในท้องและเกิดการติดเชื้อในที่สุด
- ไตวายจากภาวะแทรกซ้อนของโรคตับแข็ง เกิดขึ้นได้น้อยแต่เป็นอันตรายและอาจส่งผลถึงชีวิตได้
- น้ำหนักลด ขาดสารอาหารประเภทโปรตีน
- มีอาการสับสนทางจิต ระดับการรับรู้ลดลง หรือมีอาการทางสมอง เนื่องจากตับไม่สามารถขับของเสียออกจากร่างกายได้
การป้องกันท้องมาน
ภาวะท้องมานไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ลดความความเสี่ยงได้ด้วยการดูแลสุขภาพตับให้แข็งแรงและป้องกันโรคที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดท้องมาน มีวิธีดังนี้
- ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณแต่พอดี เพื่อป้องกันโรคตับแข็ง
- เข้ารับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเป็นโรคที่ส่งผลให้ตับเกิดความเสียหายและเสี่ยงเกิดภาวะท้องมานตามมา รวมทั้งสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และหลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- ระมัดระวังในการใช้ยารักษาโรค อาหารเสริม หรือสมุนไพรต่าง ๆ ที่อาจมีผลข้างเคียงทำลายตับ ควรปรึกษาแพทย์ถึงการตรวจการทำงานของตับเป็นประจำเมื่อต้องใช้ยาที่มีความเสี่ยง
- ผู้ป่วยโรคตับแข็งควรหลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณการใช้ยาแก้อักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน เพราะอาจส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปยังไตได้น้อยลง รวมทั้งควรลดปริมาณเครื่องดื่ม ของเหลว และโซเดียมที่ได้รับจากอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะท้องมาน