อย่างที่ทราบกันดีว่าการดื่มนมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนท้องทุกคน เนื่องจากนมอุดมไปด้วยโปรตีนและแคลเซียม ซึ่งช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตและพัฒนาการด้านการสร้างกระดูกของลูกน้อยในครรภ์ แต่คนท้องสามารถดื่มนมได้ทุกชนิดหรือไม่ บทความนี้มีคำตอบ
โดยทั่วไป หญิงตั้งครรภ์ควรดื่มนมขาดมันเนยหรือนมที่ปราศจากไขมันวันละประมาณ 3 แก้ว (หรือประมาณ 720 มิลลิลิตร) เพื่อให้ร่างกายได้รับปริมาณแคลเซียมอย่างเพียงพอในแต่ละวัน แต่นมบางประเภทนั้นอาจไม่ปลอดภัยต่อร่างกายคุณแม่มากนัก ดังนั้น การดื่มนมเป็นประจำในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่จึงควรศึกษาว่านมประเภทใดเหมาะกับการดื่มในช่วงนี้มากที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงอาการเจ็บป่วยหรืออันตรายที่อาจเกิดกับตนเองและลูกน้อยในครรภ์
นมที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับคนท้อง
เนื่องจากนมในท้องตลาดมีหลายชนิดให้เลือก คุณแม่จึงควรเลือกนมที่ให้ประโยชน์และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและทารกในครรภ์มากที่สุด โดยตัวอย่างประเภทของนมที่คนท้องดื่มได้อย่างปลอดภัย มีดังนี้
นมพาสเจอไรซ์ (Pasteurized Milk)
นมชนิดนี้จะผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ และเชื้อราด้วยความร้อนปานกลางประมาณ 72 องศาเซสเซียส เป็นเวลา 15-20 วินาที เพื่อทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคติดเชื้อลิสเทอเรีย บรูเซลลา อีโคไล หรือซาลโมเนลลา ไข้ไทฟอยด์ วัณโรค คอตีบ เป็นต้น โดยนมพาสเจอไรซ์นั้นจะยังคงคุณค่าทางอาหารและรสชาติไว้เหมือนเดิม แม้ว่าจะผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ แต่เชื้อบางชนิดที่ทนความร้อนอาจยังอยู่รอดได้
นมยูเอชที (Ultra High Temperature Milk: UHT Milk)
เป็นนมที่ผ่านการทำลายเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดด้วยการให้ความร้อนสูงประมาณ 135-138 องศาเซลเซียส ในระยะเวลาเพียง 2-3 วินาที พร้อมบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ปลอดเชื้อ จึงทำให้สูญเสียคุณค่าทางอาหารน้อยและเก็บไว้ได้นานกว่านมพาสเจอไรซ์ แต่นมที่เก็บไว้เป็นเวลานานอาจมีความเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพอย่างกลิ่นหรือรสเปลี่ยนไป ไขมันนมแยกตัวเป็นชั้น นมหนืดเป็นวุ้น ซึ่งเป็นลักษณะของนมหมดอายุที่ไม่ควรดื่ม
นมถั่วเหลือง
กล่าวกันว่าถั่วเหลืองและนมถั่วเหลืองเป็นแหล่งโปรตีน วิตามิน และแคลเซียมชั้นดีสำหรับทุกคน อีกทั้งมีแคลอรี่ต่ำเพียงแค่ 1-2 เปอร์เซ็นต์ของนมวัว และมีไขมันอิ่มตัวที่เป็นไขมันชนิดไม่ดีต่อร่างกายในปริมาณน้อยด้วย แต่คุณแม่บางรายอาจมีอาการแพ้ถั่วเหลือง จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนเสมอ
ทั้งนี้ สตรีมีครรภ์ที่ดื่มนมพาสเจอไรซ์แบบมีไขมันอยู่ก่อนแล้วอาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมาดื่มนมแบบไขมันต่ำหรือขาดมันเนย โดยสามารถดื่มแทนกันได้เลย เพียงแต่ไขมันในนมนั้นเป็นไขมันประเภทอิ่มตัว ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพหัวใจและสุขภาพโดยรวมได้
นมชนิดไหนที่คนท้องควรหลีกเลี่ยง
น้ำนมดิบหรือนมที่ยังไม่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ รวมถึงอาหารใด ๆ ที่มีส่วนผสมของนมดิบล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ปลอดภัยสำหรับคนท้อง เพราะอาหารหรือเครื่องดื่มเหล่านี้อาจปนเปื้อนด้วยเชื้อโรคบางชนิด ซึ่งก่อให้เกิดการติดเชื้อที่อันตรายต่อแม่และเด็ก โดยเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรียลิสเทอเรีย (Listeriosis) ที่นำไปสู่การแท้งบุตร การเจ็บป่วย หรือการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ได้ นอกจากนี้ ยังมีเชื้อบรูเซลลา เชื้อซาโมเนลลา เชื้ออีโคไล และเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่สงสัยว่าตนเองได้ดื่มนมดิบแล้วเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่อย่างไข้ขึ้น ปวดศีรษะ หรือปวดตามร่างกาย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
นอกเหนือจากการดื่มนม คนท้องควรมุ่งเน้นเรื่องโภชนาการและการดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์ โดยรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อุดมด้วยสารอาหารอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดวันละประมาณ 6-8 แก้ว ออกกำลังกายอย่างพอประมาณ รวมถึงลด ละ เลิกสิ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อตนเองและลูกออกไป โดยเฉพาะการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างชาหรือกาแฟ ของหมักดอง และการสูบบุหรี่ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพกายและสุขภาพจิตของคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ให้ออกมาสมบูรณ์แข็งแรง