ความหมาย นอนกัดฟัน (Bruxism)
การนอนกัดฟัน (Bruxism) เป็นภาวะที่มีการบด กัด หรือขบเน้นฟัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งวันหรือเกิดขึ้นในขณะที่ผู้ป่วยกำลังนอนหลับและไม่รู้ตัว ผู้ที่มีอาการนอนกัดฟันไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา แต่ผู้ที่มีอาการนอนกัดฟันถี่และรุนแรงจนสร้างความเสียหายให้กับฟัน ทำให้เกิดความผิดปกติบริเวณขากรรไกร หรือทำให้เกิดอาการปวดหัว อาจจำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา
การนอนกัดฟันถือว่าเป็นความผิดปกติของการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ (Sleep-Related Movement Disorder) ชนิดหนึ่ง โดยผู้ที่มีอาการขบเน้นฟันหรือบดกัดฟันในขณะนอนหลับ มักจะพบว่ามีปัจจัยหรือความผิดปกติอื่น ๆ ที่เกี่ยวของกับการนอนหลับร่วมด้วย เช่น นอนกรน หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea)
อาการนอนกัดฟัน
สัญญาณและอาการของการนอนกัดฟัน ได้แก่
- มีการบดกัดหรือขบเน้นฟัน ซึ่งอาจมีเสียงดังมากพอจนทำให้คนข้าง ๆ ตื่นได้
- เกิดอาการเสียวฟัน
- เกิดรอยบุ๋มบริเวณลิ้น
- อ้าปากได้ลำบาก
- เคลือบฟันเสื่อมจนทำให้เห็นชั้นของเนื้อฟันที่ลึกลงไป
- ฟันเกิดความเสียหาย เช่น ฟันบิ่น ฟันร้าว หรือสูญเสียฟัน
- เกิดอาการปวดหู แต่ไม่ได้เกิดความผิดปกติภายในหู
- กล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกรอ่อนล้าหรือเกร็ง
- ปวดบริเวณขากรรไกรหรือกล้ามเนื้อใบหน้า
- มีอาการเมื่อยหรือยึดบริเวณไหล่
- ปวดศีรษะ
อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีคนได้ยินเสียงคุณกัดฟันในขณะนอนหลับ หรือเกิดอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงขึ้น เช่น ฟันเสื่อม เสียวฟัน เจ็บปวดบริเวณขากรรไกร ใบหน้า หรือหู รวมถึงมีอาการขากรรไกรล็อคจนไม่สามารถอ้าปากได้อย่างเต็มที่ ควรไปพบแพทย์หรือทันตแพทย์เพื่อรับการรักษา
สาเหตุของนอนกัดฟัน
สาเหตุของการนอนกัดฟันโดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางด้านจิตใจ เช่น ความเครียดหรือความวิตกกังวล โดยมักเกิดในช่วงเวลาที่กำลังนอนหลับโดยที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังนอนกัดฟันอยู่ หรืออาจมีสาเหตุจากปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ รวมถึงอาจเกิดจากความผิดปกติในการกัดฟัน การสบฟัน ฟันหลอ หรือฟันเบี้ยวก็ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ก็สามารถเพิ่มโอกาสในการนอนกัดฟันได้ เช่น
- อายุ โดยการนอนกัดฟันเป็นเรื่องปกติที่เกิดกับเด็ก แต่มักจะหายไปเองเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น
- บุคลิกภาพหรือลักษณะเฉพาะของแต่ละคน เช่น ผู้ที่มีนิสัยก้าวร้าว ชอบการแข่งขัน หรือสมาธิสั้น ก็อาจมีอาการนอนกัดฟันได้
- สารกระตุ้นต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- การใช้ยารักษาโรค โดยอาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางประเภท เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า หรือยารักษาอาการทางจิตเวช
การวินิจฉัยนอนกัดฟัน
ในการตรวจฟันทั่วไป ทันตแพทย์สามารถตรวจดูความผิดปกติหรือสัญญาณที่เกิดจากการนอนกัดฟันได้ ซึ่งหากพบสัญญาณของการนอนกัดฟัน ทันตแพทย์จะติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของฟันและช่องปากในการเข้าพบครั้งต่อ ๆ ไป เพื่อพิจารณาว่าควรทำการรักษาหรือไม่ รวมถึงอาจสอบถามเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพทั่วไป เช่น พฤติกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน พฤติกรรมการนอนหลับ และการใช้ยารักษาโรค
นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อประเมินขอบเขตของการนอนกัดฟัน ได้แก่
- กดที่กล้ามเนื้อขากรรไกรแล้วรู้สึกเจ็บ
- ความผิดปกติเกี่ยวกับฟันที่เห็นได้ชัด เช่น ฟันแตกหัก ฟันหลุดหาย หรือการจัดเรียงของฟันที่ไม่ดี
- ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกระดูกหรือด้านในของแก้ม โดยใช้การเอกซเรย์ (X-ray) ช่องปากและฟัน
อย่างไรก็ตาม หากทันตแพทย์พบว่าอาการนอนกัดฟันที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางจิตวิทยาหรือเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการนอนหลับ อาจแนะนำให้ผู้ป่วยไปพบนักบำบัดหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับจะให้ทำการทดสอบ เช่น การประเมินภาวะหยุดหายใจขณะหลับ การบันทึกวิดีโอเพื่อดูความถี่ของการหดเกร็งของกล้ามเนื้อขากรรไกรในขณะหลับ
การรักษานอนกัดฟัน
การรักษาอาการนอนกัดฟันจะมีความจำเป็นในกรณีของผู้ที่มีอาการนอนกัดฟันอย่างรุนแรง ซึ่งวิธีการรักษาได้แก่ การรักษาทางทันตกรรม การรักษาทางจิตบำบัด และการรักษาด้วยยา โดยแพทย์หรือทันตแพทย์จะพิจารณาว่าวิธีการรักษาแบบใดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด
การรักษาทางทันตกรรม
การรักษาทางทันตกรรม เช่น การใช้เฝือกสบฟันหรือฟันยาง เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันถูกทำลายจากการบดเคี้ยวหรือขบเน้นฟันในระหว่างการนอนหลับ หรือการจัดฟันเพื่อแก้ไขฟันที่มีปัญหาให้เรียงตัวอย่างเหมาะสม และอาจส่งผลให้อาการนอนกัดฟันลดลง รวมถึงการปรับแต่งพื้นผิวฟันในกรณีของผู้ที่ฟันเสื่อมสภาพจนทำให้เกิดอาการเสียวฟันหรือทำให้การบดเคี้ยวมีปัญหาด้วย
การรักษาทางจิตบำบัด
การรักษาทางจิตบำบัดที่อาจช่วยบรรเทาการนอนกัดฟัน ได้แก่
- การจัดการกับความเครียด โดยอาจปรึกษากับนักบำบัดหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาวิธีในการผ่อนคลายความเครียดหรือความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม เช่น การออกกำลังกาย การทำงานอดิเรก
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การฝึกฝนวิธีการวางตำแหน่งของฟันและขากรรไกรให้เหมาะสม โดยทันตแพทย์จะแนะนำวิธีการวางตำแหน่งของฟันและขากรรไกรให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน
- การทำไบโอฟีดแบ็ค (Biofeedback) เป็นการใช้คอมพิวเตอร์บันทึกการทำงาน การหดตัว การคลายตัว และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมกล้ามเนื้อขากรรไกรได้ถูกต้องมากขึ้น
การรักษาด้วยยา
การรักษาอาการนอนกัดฟันด้วยการใช้ยายังจำเป็นต้องทำการวิจัยอีกมาก เพราะอาจไม่มีประสิทธิภาพมากนัก แต่ก็มีตัวอย่างการใช้ยาบางชนิดในการรักษา เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ และโบทอกซ์ (OnabotulinumtoxinA: Botox) โดยการใช้ยาจะใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ ใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ และใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการนอนกัดฟันอย่างรุนแรงจนรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผลเท่านั้น
ภาวะแทรกซ้อนของนอนกัดฟัน
โดยส่วนใหญ่การนอนกัดฟันมักไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่หากมีอาการนอนกัดฟันอย่างรุนแรงก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น ปวดใบหน้า ปวดศีรษะแบบตึงเครียด เกิดความเสียหายกับฟันที่มีการครอบฟัน หรือเกิดความเสียหายกับขากรรไกร นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดความผิดปกติบริเวณข้อต่อด้านหน้าของหู ส่งผลให้เกิดเสียงคลิกเวลาอ้าปากหรือปิดปากด้วยเช่นกัน
การป้องกันนอนกัดฟัน
ผู้ที่มีอาการนอนกัดฟัน อาจลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเพื่อช่วยป้องกันหรือลดอาการกัดฟันลง ดังนี้
- สังเกตตัวเองเวลาตื่นนอนว่ามีอาการปวดเมื่อยขากรรไกรหรือไม่ เพราะอาจเป็นสัญญาณของการนอนกัดฟัน
- ให้คนในครอบครัวช่วยสังเกตว่ามีอาการนอนกัดฟันหรือไม่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรึกษาแพทย์
- ฝึกนิสัยการนอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการนอนหลับและลดอาการนอนกัดฟัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ฟันกัดสิ่งของต่าง ๆ เช่น ปากกา ดินสอ หรือสิ่งของที่มีความแข็ง
- หลีกเลี่ยงสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป
- เรียรู้วิธีการจัดการความเครียดหรือความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม
- ไปพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอทุก 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน