ความหมาย นิ่ว
นิ่ว เกิดจากการตกตะกอนของแร่ธาตุชนิดต่าง ๆ ที่รวมตัวกันเป็นก้อน มีชนิดและขนาดที่แตกต่างกันไป โดยมักเกิดขึ้นบริเวณไต แต่อาจพบได้ตลอดระบบทางเดินปัสสาวะ และบริเวณอื่น ๆ เช่น นิ่วในถุงน้ำดี นิ่วทอนซิล โดยนิ่วอาจสร้างความเจ็บปวดทรมานให้ผู้ป่วยได้หากก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่จนอุดตันและทำให้เกิดการอักเสบตามอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งจะมีอาการแสดงแตกต่างกันไปตามบริเวณที่เกิดนิ่ว
อาการของนิ่ว
อาการป่วยหลังจากมีนิ่วเกิดขึ้นในร่างกายจะแตกต่างไปตามตำแหน่งที่เกิดนิ่ว ขนาดของนิ่ว และความรุนแรงของอาการป่วย โดยมีตัวอย่างนิ่วที่พบได้บ่อย ดังนี้
นิ่วในไต
ก้อนนิ่วในไตที่มีขนาดเล็กมากอาจหลุดออกไปพร้อมกับการขับปัสสาวะ โดยไม่ก่อให้เกิดอาการหรือความรู้สึกเจ็บปวดใด ๆ แต่หากก้อนนิ่วเริ่มเคลื่อนตัวรอบ ๆ ไตหรือไปยังท่อไต ซึ่งเป็นท่อเชื่อมต่อระหว่างไตและกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้ผู้ป่วยที่มีนิ่วในไตอาจมีอาการ เช่น ปวดบริเวณหลังหรือช่องท้องด้านล่างข้างใดข้างหนึ่ง ปวดบริเวณขาหนีบ ปวดบีบเป็นระยะ ปัสสาวะเป็นเลือด หรืออาจมีสีแดง ชมพู และน้ำตาล เจ็บปวดขณะปัสสาวะ ปวดปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะน้อย นอกจากนี้ อาจมีอาการของกรวยไตอักเสบ เช่น ปัสสาวะขุ่นหรือมีกลิ่นแรง คลื่นไส้ อาเจียน หนาวสั่น เป็นไข้ เป็นต้น
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
ผู้ป่วยนิ่วชนิดนี้มักแสดงอาการเมื่อก้อนนิ่วทำให้ผนังของกระเพาะปัสสาวะระคายเคืองหรือปิดกั้นการไหลของปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้มีอาการ เช่น ปวดท้องส่วนล่าง ปวดหรือรู้สึกไม่สบายที่อวัยวะเพศหรืออัณฑะ เจ็บแสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบากหรือติด ปัสสาวะขุ่น มีสีเข้มผิดปกติ หรือปัสสาวะเป็นเลือด
นิ่วในถุงน้ำดี
นิ่วในถุงน้ำดีมักไม่ก่อให้เกิดอาการป่วย แต่หากก้อนนิ่วติดค้างอยู่ที่ปากทางออกของถุงน้ำดีและเกิดการอุดตัน อาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปวดท้องอย่างรุนแรงโดยเฉพาะบริเวณช่วงท้องส่วนบนหรือด้านขวาและอาจปวดร้าวไปถึงบริเวณกระดูกสะบักหรือบริเวณไหล่ด้านขวา ปวดกลางท้องหรือบริเวณใต้กระดูกหน้าอกอย่างกะทันหันและรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการในระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ อย่างอาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ เสียดแน่นท้องบริเวณลิ้นปี่หลังรับประทานอาหารมัน นอกจากนั้น หากมีอาการของถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน จะทำให้ผู้ป่วยมีไข้ ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง และปัสสาวะมีสีเข้ม เป็นต้น
นิ่วทอนซิล
นิ่วทอนซิลมักเกิดกับผู้ที่มีปัญหาทอนซิลอักเสบเรื้อรัง มักไม่มีอาการรุนแรง แต่อาจมีอาการป่วยต่าง ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของนิ่วด้วย เช่น มีกลิ่นปาก เจ็บคอ กลืนอาหารลำบาก มีก้อนสีขาวที่มองเห็นได้บริเวณหลังช่องคอ ทอนซิลบวม หรือเจ็บบริเวณหู อันเป็นผลจากการอักเสบของทางเดินประสาทระหว่างหูและต่อมทอนซิล เป็นต้น
สาเหตุของนิ่ว
ก้อนนิ่วเกิดจากการตกตะกอนของแร่ธาตุที่รวมตัวกันเป็นก้อนตามบริเวณต่าง ๆ ในร่างกาย แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดนิ่วแต่ละชนิดอาจแตกต่างกันไป ดังนี้
นิ่วในไต
นิ่วในไตอาจเกิดจากการมีปริมาณเกลือ แร่ธาตุ และสารต่าง ๆ เช่น แคลเซียม กรดออกซาลิก และกรดยูริกในปัสสาวะมากเกินกว่าของเหลวในปัสสาวะจะละลายหรือทำให้สารเหล่านั้นเข้มข้นน้อยลงได้ จึงเกิดการเกาะตัวเป็นก้อนนิ่วในที่สุด ซึ่งการเกิดนิ่วในไตยังอาจมีปัจจัยจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารบางชนิดได้ด้วย เช่น เกลือ น้ำตาล และอาหารที่มีโปรตีนสูง รวมถึงการดื่มน้ำไม่มากพอในแต่ละวัน ปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โรคเมตาบอลิก และการใช้ยารักษาโรคหรืออาหารเสริมบางชนิด
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
นิ่วชนิดนี้มักเกิดขึ้นเมื่อมีปัสสาวะตกค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะแล้วมีการตกตะกอน หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อบางประเภท ภาวะบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ รวมถึงการมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ
นิ่วในถุงน้ำดี
สาเหตุของการเกิดนิ่วในถุงน้ำดียังไม่เป็นที่แน่ชัด โดยแพทย์สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการมีคอเลสเตอรอลในถุงน้ำดีมากเกินไป หรือมีสารบิลิรูบิน (Bilirubin) ในน้ำดีมากเกินไป จนก่อตัวเกิดตะกอนและกลายเป็นก้อนนิ่วได้ในที่สุด หรือกล้ามเนื้อในถุงน้ำดีมีสมรรถภาพในการบีบตัวไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถบีบคอเลสเตอรอลที่อยู่ในถุงน้ำดีออกไปได้หมด ทำให้น้ำดีอยู่ในสภาพที่มีความเข้มข้นมาก ซึ่งอาจก่อตัวเป็นนิ่วได้ในที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดี เช่น อ้วนเกินไป ใช้ยาคุมกำเนิดหรือใช้ฮอร์โมนทดแทนในการบำบัดผู้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนหรือกำลังตั้งครรภ์ ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ใช้ยาลดคอเลสเตอรอล น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว อดอาหาร หรือพันธุกรรม เป็นต้น
นิ่วทอนซิล
นิ่วทอนซิลอาจเกิดจากการรักษาความสะอาดช่องปากที่ไม่เพียงพอ ต่อมทอนซิลมีขนาดใหญ่ ปัญหาไซนัสเรื้อรัง หรือมีอาการทอนซิลอักเสบหลายครั้งก็อาจมีความเสี่ยงสูงในการเกิดนิ่วทอนซิล เนื่องจากการติดเชื้อของทอนซิลทำให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อส่วนเกินมากขึ้น และเนื้อเยื่อเหล่านี้อาจก่อตัวเป็นซอกและร่องในต่อมทอนซิน ทำให้เซลล์ที่ตายแล้ว น้ำลาย และเศษอาหารต่าง ๆ ติดอยู่จนเกิดการรวมตัวของแบคทีเรียและเชื้อราที่ส่งกลิ่นเหม็น และค่อย ๆ จับตัวกันเป็นก้อนแข็งเกิดเป็นนิ่วทอนซิล
การวินิจฉัยนิ่ว
นิ่วในไต
การวินิจฉัยนิ่วในไตจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลประวัติด้านสุขภาพและการตรวจร่างกายของผู้ป่วย เช่น
- การตรวจเลือด เพื่อตรวจสุขภาพไตและตรวจวัดระดับของสารที่อาจทำให้เกิดนิ่ว ซึ่งมักตรวจพบว่ามีปริมาณแคลเซียมหรือกรดยูริกในเลือดมากเกินไป
- การตรวจปัสสาวะ เพื่อดูว่าร่างกายมีการขับแร่ธาตุที่รวมตัวเป็นก้อนนิ่วมากเกินไป หรือมีสารป้องกันการเกิดนิ่วที่น้อยเกินไปหรือไม่ ตรวจหาภาวะติดเชื้อ และตรวจหาเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ
- การตรวจภาพถ่ายไต วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นตามทางเดินปัสสาวะ เช่น การฉายรังสีเอกซ์เรย์ในช่องท้อง การอัลตราซาวด์ไต และการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
- การตรวจไตและทางเดินปัสสาวะโดยการฉีดสี (IVP) ทำได้ด้วยการฉีดสีเข้าไปที่เส้นเลือดใหญ่บริเวณแขน แล้วถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อให้เห็นสิ่งกีดขวางในขณะที่ไตกรองสีดังกล่าวออกจากเลือดแล้วขับถ่ายไปเป็นปัสสาวะ โดยให้ผู้ป่วยขับปัสสาวะผ่านเครื่องกรอง เพื่อดักจับนิ่วที่ออกมา
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
การวินิจฉัยนิ่วในกระเพาะปัสสาวะนั้นมีหลายวิธี ได้แก่
- ตรวจร่างกาย แพทย์อาจตรวจดูบริเวณท้องส่วนล่าง คลำดูว่ากระเพาะปัสสาวะขยายใหญ่ขึ้นหรือไม่ หรืออาจตรวจทางทวารหนักเพื่อดูว่าต่อมลูกหมากขยายใหญ่ขึ้นหรือไม่ รวมไปถึงสอบถามเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย
- ตรวจปัสสาวะ นำตัวอย่างปัสสาวะไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจหาเม็ดเลือดแดง แบคทีเรีย หรือผลึกของแร่ธาตุ ซึ่งจะช่วยวินิจฉัยการเกิดนิ่วและการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (Computerized Tomography: CT) เพื่อตรวจภาพก้อนนิ่วที่มีขนาดเล็ก และช่วยวินิจฉัยนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้หลายประเภท
- อัลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อตรวจอวัยวะและโครงสร้างส่วนต่าง ๆ ของระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งมีประโยชน์ช่วยตรวจจับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- เอกซเรย์ (X-Ray) การเอกซเรย์ไต ท่อไต และกระเพาะปัสสาะวะ จะช่วยให้แพทย์สามารถพิจารณาได้ว่ามีนิ่วอยู่ในระบบทางเดินปัสสาวะหรือไม่
นิ่วในถุงน้ำดี
ในเบื้องต้นแพทย์จะถามถึงรายละเอียดของอาการที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการคลำตรวจถุงน้ำดี เพื่อตรวจสอบว่าถุงน้ำดีมีการอักเสบหรือไม่ โดยแพทย์จะใช้มือหรือนิ้วคลำบริเวณท้องส่วนขวาบนและให้ผู้ป่วยหายใจเข้า หากมีอาการเจ็บแสดงว่าถุงน้ำดีอาจอักเสบ จากนั้นแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเลือดเพื่อหาสัญญาณของการติดเชื้อ หรือตรวจสอบว่าตับทำงานเป็นปกติหรือไม่ เพราะหากก้อนนิ่วได้เคลื่อนย้ายไปที่ท่อน้ำดี ตับก็อาจจะทำงานได้ไม่เป็นปกติ นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ทำอัลตราซาวด์ ตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging: MRI) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ตรวจด้วยการถ่ายภาพรังสีท่อน้ำดี (Cholangiography) และแพทย์อาจใช้กล้องส่องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อนด้วย (Endoscopic Retrograde Cholangio-Pancreatography: ERCP) ซึ่งการเลือกวิธีตรวจต่าง ๆ นั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
นิ่วทอนซิล
แพทย์มักวินิจฉัยนิ่วทอนซิลโดยการใช้มือตรวจในช่องคอ และบางกรณีอาจใช้ภาพเอกซเรย์หรือภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย
การรักษานิ่ว
นิ่วในไต
การรักษานิ่วในไตขนาดเล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 5 มิลลิเมตร อาจทำได้ด้วยการดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยขับก้อนนิ่วออกมาพร้อมปัสสาวะ แต่หากผู้ปวยมีอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ แพทย์อาจสั่งจ่ายยากลุ่มแอลฟา-บล็อกเกอร์เพื่อช่วยขับก้อนนิ่วออกมาทางปัสสาวะ และอาจให้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวด เช่น ไอบูโพรเฟน พาราเซตามอล และนาพรอกเซน หรืออาจพิจารณาให้ผ่าตัดเอาก้อนนิ่วออก
ส่วนการรักษานิ่วในไตที่มีขนาดใหญ่กว่า 5 มิลลิเมตรขึ้นไป ซึ่งนิ่วชนิดนี้อาจไม่สามารถหลุดมาเองได้ และสามารถทำให้มีเลือดออก เกิดแผลที่ท่อไต หรือเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ จึงอาจต้องใช้การรักษาอื่น ๆ เช่น การใช้คลื่นเสียงแตกตัวก้อนนิ่ว การผ่าตัดนำก้อนนิ่วออกไป การส่องกล้องฉายลำแสงแคบผ่านหลอดปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะแล้วใช้เครื่องมือชนิดพิเศษจับหรือทำให้ก้อนนิ่วแตกตัวเป็นชิ้นเล็กจนสามารถถูกขับออกมาทางเดินปัสสาวะได้ และการผ่าตัดต่อมไทรอยด์หากเกิดการผลิตฮอร์โมนพาราไทรอยด์ขึ้นมามากผิดปกติและเป็นสาเหตุให้เกิดก้อนนิ่วจากแคลเซียมฟอสเฟต
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้นิ่วที่มีขนาดเล็กถูกขับออกมาตามธรรมชาติ แต่หากไม่สามารถขับนิ่วออกมาทางปัสสาวะจนหมดได้ ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องใช้วิธีทางการแพทย์เพื่อช่วยในการนำนิ่วออกจากระเพาะปัสสาวะอย่างการขบนิ่ว (Cystolitholapaxy) ซึ่งเป็นการนำท่อขนาดเล็กที่มีกล้องตรงส่วนปลายสอดเข้าไปทางท่อปัสสาวะเพื่อส่องดูนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ จากนั้นแพทย์จะใช้เลเซอร์ อัลตราซาวด์ หรือเครื่องมือบางอย่างเข้าไปสลายนิ่วให้แตกเล็กลงและล้างออกจากกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งก่อนและหลังขั้นตอนดังกล่าว แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดโอกาสติดเชื้อ นอกจากนั้น ในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่หรือแข็งเกินกว่าที่จะทำให้แตกและกำจัดออกได้ แพทย์จะผ่าตัดเพื่อนำนิ่วออกมาโดยตรง
นิ่วในถุงน้ำดี
นิ่วในถุงน้ำดีมักต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งมีอยู่ 2 วิธีหลัก ได้แก่ การผ่าตัดถุงน้ำดีแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Cholecystectomy) และการผ่าตัดถุงน้ำดีแบบเปิดช่องท้อง (Open Cholecystectomy)
อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถรับการผ่าตัดได้ แพทย์อาจให้ใช้ยารักษา เช่น ยาคีโนไดออล และยาเออร์โซไดออล หรืออาจให้ใช้ยาพร้อมกันทั้ง 2 ชนิด เพื่อช่วยละลายก้อนนิ่วคอเลสเตอรอล
สำหรับผู้ป่วยนิ่วในถุงน้ำดีที่ยังไม่มีอาการแสดง แต่ตรวจพบโดยบังเอิญในขณะตรวจรักษาโรคอื่น อาจยังไม่จำเป็นต้องรีบผ่าตัด เนื่องจากมักเป็นนิ่วก้อนเล็กและอยู่ลึกที่ก้นถุงน้ำดี และมักไม่ก่ออันตรายแก่ผู้ป่วย ซึ่งแพทย์อาจนัดติดตามอาการเป็นระยะจนกว่าผู้ป่วยจะมีอาการจึงค่อยผ่าตัด โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่จะพิจารณาวิธีการรักษาผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป
นิ่วทอนซิล
โดยปกติแล้ว ผู้ป่วยนิ่วชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาใด ๆ แต่หากนิ่วทอนซิลมีขนาดใหญ่หรือมีอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ เกิดขึ้น ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องรักษานิ่วทอนซิล ซึ่งอาจรักษาด้วยตนเองในเบื้องต้น เช่น การบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ เพื่อช่วยลดการระคายเคืองในคอและอาจช่วยให้นิ่วทอนซิลหลุดออกได้ การไอแรง ๆ เพียงหนึ่งครั้งอาจทำให้นิ่วทอนซิลหลุดออก หรืออาจต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เครื่องมือในการแคะนิ่วออกด้วยตนเอง เช่น สำลีก้าน แปรงสีฟัน เป็นต้น
หากรักษาด้วยตนเองไม่ได้ผล ผู้ป่วยอาจต้องรับการรักษาจากแพทย์ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อช่วยลดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการเกิดและเติบโตของนิ่ว การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ (Laser Tonsil Cryptolysis) ซึ่งเป็นการใช้เลเซอร์เพื่อกำจัดเนื้อเยื่อบริเวณที่มีนิ่วทอนซิลโดยใช้การวางยาชาเฉพาะที่ การผ่าตัดแบบโคเบลชั่น (Coblation Cryptolysis) ซึ่งใช้คลื่นรังสีในการเปลี่ยนสารละลายกลุ่มโซเดียมให้เป็นไอออน เพื่อช่วยในการตัดเนื้อเยื่อ การผ่าตัดต่อมทอนซิล (Tonsillectomy) โดยการใช้มีดผ่าตัด เลเซอร์ หรือเครื่องโคเบลชั่น ซึ่งแพทย์มักเลือกใช้วิธีนี้สำหรับกรณีที่มีอาการรุนแรง เรื้อรัง หรือรักษาไม่หายขาดเท่านั้น
ภาวะแทรกซ้อนของนิ่ว
นิ่วในไต
เมื่อนิ่วในไตที่มีขนาดใหญ่เกินไปเคลื่อนจากไตไปสู่ท่อไตที่เล็กและบอบบาง อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนในลักษณะของการหดเกร็งและการระคายเคืองต่อไต ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกปนในปัสสาวะ หรือนิ่วในไตอาจไปปิดกั้นการไหลของปัสสาวะ ทำให้ท่อปัสสาวะอุดตัน นำไปสู่การติดเชื้อ และอาจมีการบาดเจ็บที่ไตจนทำให้มีภาวะไตวายได้
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
ภาวะแทรกซ้อนของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะอาจเกิดจากการที่ก้อนนิ่วไม่ได้ถูกขับออก จนอาจทำให้กระเพาะปัสสาวะทำหน้าที่ผิดปกติอย่างเรื้อรัง มีอาการปวดปัสสาวะบ่อยครั้งผิดปกติ และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
นิ่วในถุงน้ำดี
ภาวะแทรกซ้อนของนิ่วในถุงน้ำดีที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ถุงน้ำดีอักเสบจนทำให้เกิดอาการปวดรุนแรง เป็นไข้ และตัวเหลืองตาเหลือง ท่อน้ำดีอักอักเสบจนอาจทำให้เป็นดีซ่านและเกิดการติดเชื้อในท่อน้ำดี ตับอ่อนอักเสบจนทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรงตลอดเวลา
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจเสี่ยงเป็นมะเร็งท่อน้ำดี หรือเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดอาการป่วยรุนแรงจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
นิ่วทอนซิล
โดยทั่วไป นิ่วทอนซิลมักไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่การแคะหรือดันนิ่วทอนซิลออกด้วยตนเองอาจทำลายต่อมทอนซิลได้ และนิ่วอาจทำให้ต่อมทอนซิลติดเชื้อจนจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีเลือดออก และเสี่ยงติดเชื้อต่อไป เป็นต้น
การป้องกันการเกิดนิ่ว
นิ่วในไต
นิ่วในไตอาจป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง เช่น ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวันเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและลดความเข้มข้นของปัสสาวะซึ่งเสี่ยงต่อการพัฒนาไปเป็นนิ่วในไต ผู้ป่วยที่มีแนวโน้มจะเป็นนิ่วที่เกิดจากแคลเซียมออกซาลิกควรเลี่ยงอาหารที่มีกรดออกซาลิกสูง เช่น ช็อกโกแลต นมถั่วเหลือง ชา มันฝรั่งหวาน บีทรูท กระเจี๊ยบเขียว หน่อไม้ฝรั่ง เบอร์รี่ ผักโขม ถั่วเปลือกแข็ง และเมล็ดธัญพืชต่าง ๆ และระมัดระวังในการรับประทานแคลเซียมเสริม โดยปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานอาหารเสริมใด ๆ เสมอ
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
การป้องกันนิ่วในกระเพาะปัสสาวะนั้นค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เพราะมักเกิดจากสาเหตุอื่นนำมาก่อน เช่น การมีปัสสาวะตกค้างในกระเพาะปัสสาวะ การติดเชื้อหรือมีสิ่งแปลกปลอมในระบบทางเดินปัสสาวะ แต่อาจลดโอกาสการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ด้วยการสังเกตความผิดปกติหรืออาการที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวกับระบบปัสสาวะ และดื่มน้ำให้มาก เพื่อช่วยเจือจางแร่ธาตุหรือสารที่เข้มข้นในกระเพาะปัสสาวะได้ โดยอาจปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณการดื่มน้ำที่เหมาะสมสำหรับตนเองได้ เพราะปริมาณน้ำที่ควรดื่มในแต่ละวันนั้นขึ้นอยู่กับอายุ ขนาดตัว สุขภาพ หรือกิจกรรมในแต่ละวันด้วย
นิ่วในถุงน้ำดี
การป้องกันนิ่วในถุงน้ำดี หรือการลดความเสี่ยงการเกิดนิ่วในท่อน้ำดี อาจทำได้โดยการรับประทานอาหารให้ตรงเวลาและครบมื้อทุกวัน และไม่อดอาหาร หากต้องการลดน้ำหนัก ควรค่อย ๆ ลดอย่างช้า ๆ เพราะหากน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดนิ่วในท่อน้ำดีได้ และควรรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพของตนเสมอ เพราะโรคอ้วนหรือน้ำหนักตัวที่มากเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้ จึงควรลดปริมาณแคลลอรี่ในอาหารและเพิ่มการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
นิ่วทอนซิล
อาจป้องกันการเกิดนิ่วทอนซิลได้ด้วยการล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะ ช้อนส้อม และแปรงสีฟันร่วมกับผู้ที่มีอาการทอนซิลอักเสบ ดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาดโดยการแปรงฟันและเน้นการแปรงที่บริเวณหลังลิ้น งดสูบบุหรี่ บ้วนปากด้วยน้ำเกลือเพื่อลดกลิ่นปากและช่วยลดการก่อตัวของนิ่ว ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมตามความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน และไปปรึกษาแพทย์เมื่อพบความผิดปกติของต่อมทอนซิล