นิ่วในไต

ความหมาย นิ่วในไต

นิ่วในไต (Kidney Stones) คือโรคที่เกิดจากแร่ธาตุแข็งชนิดต่าง ๆ ที่รวมตัวกันเป็นก้อน โดยมักเกิดขึ้นบริเวณไต แต่สามารถพบได้ตลอดระบบทางเดินปัสสาวะเช่นกัน ก้อนนิ่วอาจมีชนิดและขนาดที่แตกต่างกันไป หากก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่จนไปปิดกั้นและสร้างแผลที่ท่อไต อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดมาก และอาจปัสสาวะออกมาเป็นเลือดได้

มีหลากหลายปัจจัยที่อาจทำให้เกิดนิ่วในไต เช่น การดื่มน้ำน้อย การรับประทานอาหารที่มีเกลือ น้ำตาล และโปรตีนสูง โรคประจำตัว และการใช้ยาบางชนิด ปัจจัยเหล่านี้สามารถส่งผลให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นสูงจนแร่ธาตุต่าง ๆ ตกตะกอนแล้วจับตัวเป็นนิ่ว การรักษาอย่างเหมาะสมจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อในไต และไตวายได้

นิ่วในไต (Kidney Stones)

อาการของนิ่วในไต

ก้อนนิ่วที่มีขนาดเล็กมาก ๆ อาจหลุดออกไปพร้อมกับการขับปัสสาวะโดยไม่ก่อให้เกิดอาการหรือความรู้สึกเจ็บปวดใด ๆ อาการของนิ่วในไตมักไม่ปรากฏให้เห็นจนกระทั่งก้อนนิ่วเริ่มเคลื่อนตัวรอบ ๆ ไตหรือไปยังท่อไต ซึ่งเป็นท่อเชื่อมต่อระหว่างไตและกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้ผู้ป่วยที่มีนิ่วในไตอาจมีอาการเหล่านี้ตามมา

  • ปวดหลังหรือช่องท้องด้านล่างข้างใดข้างหนึ่ง อาจปวดร้าวลงไปถึงบริเวณขาหนีบ
  • มีอาการปวดบีบเป็นระยะ และปวดรุนแรงเป็นช่วง ๆ ที่บริเวณดังกล่าว
  • ปวดปัสสาวะบ่อย โดยอาจปัสสาวะน้อย ปัสสาวะขุ่นหรือมีกลิ่นแรง ปัสสาวะเป็นเลือด หรืออาจมีสีแดง ชมพู และน้ำตาล 
  • รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ  
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • หนาวสั่น เป็นไข้

สาเหตุของนิ่วในไต

นิ่วในไตอาจเกิดขึ้นได้จากปริมาณของเกลือ แร่ธาตุ และสสารต่าง ๆ เช่น แคลเซียม กรดออกซาลิก และกรดยูริกในปัสสาวะที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีปริมาณมากเกินกว่าของเหลวในปัสสาวะจะละลายหรือทำให้เข้มข้นน้อยลงได้ จนเกิดการเกาะตัวเป็นก้อนนิ่วในที่สุด

การเกิดนิ่วในไตยังอาจมีปัจจัยจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารบางชนิด เช่น เกลือ น้ำตาล และอาหารที่มีโปรตีนสูง การดื่มน้ำไม่มากพอในแต่ละวัน หรือเป็นผลมาจากโรคอื่นที่เป็นอยู่ เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โรคเมตาบอลิก รวมถึงการใช้ยารักษาโรคบางชนิดอย่างโรคเก๊าท์ ไทรอยด์ทำงานเกินปกติ เบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง และการรับประทานวิตามินดีเสริมมากเกินไป 

ทั้งนี้ สาเหตุของนิ่วในไตยังอาจแบ่งได้ตามประเภทของก้อนนิ่วที่เกิดจากสารหลัก ๆ 4 ชนิด ดังนี้

  • แคลเซียม เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด และส่วนมากมักเป็นก้อนนิ่วจากแคลเซียมที่รวมกับออกซาเลต ซึ่งผู้ที่เคยเป็นนิ่วในไตมาก่อนหรือมีความผิดปกติทางพันธุกรรมอาจไม่สามารถขับออกซาเลตออกจากร่างกายได้ดีเท่าที่ควร ส่วนก้อนนิ่วชนิดอื่นที่มารวมกับแคลเซียมอาจเป็นฟอสเฟตหรือกรดมาลิกก็ได้
  • กรดยูริก ก้อนนิ่วชนิดที่พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง หรือพบในผู้ป่วยโรคเกาท์หรือผู้ป่วยที่กำลังเข้ารับการเคมีบำบัด (Chemotherapy) โดยก้อนนิ่วจากกรดยูริกนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อปัสสาวะมีความเป็นกรดมากเกินไป
  • สตรูไวท์ เป็นนิ่วที่ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงที่มีการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ ก้อนนิ่วชนิดนี้เป็นก้อนนิ่วที่เกิดจากการติดเชื้อที่ไต และอาจมีขนาดใหญ่จนไปขัดขวางทำให้การขับปัสสาวะถูกปิดกั้น (Urinary Obstruction)
  • ซีสทีน นิ่วชนิดนี้พบได้ไม่บ่อย เกิดขึ้นได้ทั้งกับเพศชายและเพศหญิงที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมของซีสทีน ซึ่งเป็นกรดที่เกิดขึ้นในร่างกายโดยธรรมชาติ และรั่วจากไตมายังปัสสาวะ

การวินิจฉัยนิ่วในไต

การวินิจฉัยนิ่วในไตจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลประวัติด้านสุขภาพและผลการตรวจร่างกายของผู้ป่วย เช่น

การตรวจเลือด

ผลการตรวจเลือดจะสามารถบ่งบอกถึงสุขภาพไตของผู้ป่วย และช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคต่าง ๆ ได้ รวมทั้งตรวจวัดระดับของสารที่อาจทำให้เกิดนิ่ว โดยผู้ป่วยที่มีนิ่วในไตอาจตรวจพบว่ามีปริมาณแคลเซียมหรือกรดยูริกในเลือดสูง

การตรวจปัสสาวะ

วิธีนี้เป็นการตรวจเพื่อดูว่าร่างกายมีการขับแร่ธาตุที่รวมตัวเป็นก้อนนิ่วมากเกินไป หรือมีสารป้องกันการเกิดนิ่วที่น้อยเกินไปหรือไม่ ตลอดจนตรวจหาภาวะติดเชื้อ สามารถทำได้โดยเก็บปัสสาวะของผู้ป่วยทั้งหมดในช่วง 24 ชั่วโมง เช่น ถ้าเริ่มนับตั้งแต่ 8.00 นาฬิกา ในเวลานี้ผู้ป่วยต้องปัสสาวะทิ้งไปก่อน แล้วเก็บครั้งต่อ ๆ ไปทุกครั้งจนถึง 8.00 นาฬิกาของวันต่อไปจึงเก็บเป็นครั้งสุดท้าย

การตรวจโดยดูจากภาพถ่ายไต

วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นตามทางเดินปัสสาวะ การถ่ายภาพไตมีหลากหลายวิธีให้เลือกใช้ เช่น การฉายรังสีเอกซ์เรย์ในช่องท้อง ซึ่งอาจทำให้มองไม่เห็นก้อนนิ่วในไตขนาดเล็กหรือนิ่วบางชนิด การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ไต นอกจาก 2 วิธีนี้ แพทย์อาจพิจารณาใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ซึ่งอาจทำให้เห็นนิ่วก้อนเล็ก ๆ ได้

การตรวจไตและทางเดินปัสสาวะโดยการฉีดสี (IVP)

วิธีนี้ทำได้ด้วยการฉีดสีเข้าไปที่เส้นเลือดใหญ่บริเวณแขน แล้วถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อให้เห็นสิ่งกีดขวางในขณะที่ไตกรองสีดังกล่าวออกจากเลือดแล้วขับถ่ายไปเป็นปัสสาวะ โดยให้ผู้ป่วยขับปัสสาวะผ่านเครื่องกรอง เพื่อดักจับนิ่วที่ออกมา และนำไปวิเคราะห์หาสาเหตุของการเกิดก้อนนิ่ว วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์วางแผนป้องกันการเกิดนิ่วที่อาจเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

การรักษานิ่วในไต

นิ่วในไตเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายดีได้ โดยมีการรักษาหลากหลายวิธีขึ้นอยู่กับชนิดของก้อนนิ่วและสาเหตุการเกิด

การรักษานิ่วในไตขนาดเล็ก

การรักษานิ่วขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 5 มิลลิเมตร อาจทำได้ด้วยการดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยขับก้อนนิ่วออกมาพร้อมปัสสาวะ และควรดื่มให้มากพอจนปัสสาวะเจือจางจนไม่มีสีเหลืองหรือสีน้ำตาล นิ่วอาจหลุดลงมาเป็นนิ่วในทอไต อย่างไรก็ตาม หากผู้ปวยด้วยนิ่วชนิดนี้มีอาการ แพทย์อาจพิจารณาให้ผ่าตัดเอาก้อนนิ่วออก

การตรวจพบก้อนนิ่วเล็ก ๆ สามารถทำให้เกิดความเจ็บปวดได้เช่นกัน แม้จะไม่มากก็ตาม แพทย์อาจใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) พาราเซตามอล (Paracetamol) และนาพรอกเซน (Naproxen)

นอกจากนี้ การใช้ยาช่วยขับก้อนนิ่วก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษา แพทย์อาจสั่งจ่ายยากลุ่มแอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha Blocker) ซึ่งเป็นยาช่วยขับก้อนนิ่วออกมาทางปัสสาวะ ออกฤทธิ์โดยการทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ทำให้ให้ก้อนนิ่วในไตถูกขับออกมาได้เร็วและเจ็บน้อยกว่า

การรักษานิ่วในไตขนาดใหญ่

ก้อนนิ่วที่มีขนาดใหญ่กว่า 5 มิลลิเมตรขึ้นไปสามารถทำให้มีเลือดออก เกิดแผลที่ท่อไตหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ จนไม่สามารถหลุดมาเองได้ อาจต้องใช้การรักษาชนิดอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

การใช้คลื่นเสียงแตกตัวก้อนนิ่ว

วิธีนี้เหมาะกับนิ่วที่มีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร โดยรักษาด้วยเครื่อง Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy (ESWL) ซึ่งใช้แรงสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงทำให้นิ่วแตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ จนสามารถผ่านออกทางการขับปัสสาวะได้ วิธีนี้เป็นการผ่าตัดโดยไม่มีการกรีดเปิดแผล แต่อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดระดับปานกลาง แพทย์อาจให้ยาระงับประสาทเพื่อให้ผู้ป่วยสงบหรือให้ยาสลบแบบตื้น โดยกระบวนการรักษาใช้เวลารวมประมาณ 45–60 นาที 

ระยะเวลาที่เศษนิ่วจะหลุดออกมาจนหมดนั้นไม่แน่นอน บางรายต้องสลายนิ่วซ้ำอีก และไม่สามารถรับรองผลการรักษาได้ทุกราย โดยโอกาสการรักษาให้หายขาดจะอยู่ที่ประมาณ 75% วิธีนี้ใช้เวลารักษาประมาณ 3 เดือน และอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่างได้ เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด มีแผลฟกช้ำด้านหลังช่องท้อง เลือดออกรอบบริเวณไตและอวัยวะใกล้เคียง รู้สึกเจ็บเมื่อเสี้ยวก้อนนิ่วเคลื่อนผ่านทางเดินปัสสาวะออกมา 

การผ่าตัดก้อนนิ่วออก (Percutaneous Nephrolithotomy)

วิธีรักษานี้เหมาะกับนิ่วที่มีขนาดไม่เกิน 3 เซนติเมตร อาจใช้ตามหลังวิธีใช้คลื่นเสียงแตกตัวก้อนนิ่ว (ESWL) ไม่ได้ผล แพทย์อาจเลือกใช้การผ่าตัดนิ่วด้วยการใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กและเครื่องมือสอดเข้าไปบริเวณหลังของผู้ป่วย โดยพักฟื้นที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 1–2 วัน และมีประสิทธิภาพถึง 72–99%

การส่องกล้อง

วิธีนี้ใช้รักษากรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดไม่เกิน 3 เซนติเมตร แพทย์อาจใช้กล้อง Ureteroscope เพื่อฉายลำแสงแคบผ่านหลอดปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ แล้วใช้เครื่องมือชนิดพิเศษจับหรือทำให้ก้อนนิ่วแตกตัวเป็นชิ้นเล็กจนสามารถถูกขับออกมาทางเดินปัสสาวะได้ เพื่อลดอาการบวมหลังผ่าตัดและช่วยให้หายเร็วขึ้น จึงอาจมีการใช้ท่อเล็ก ๆ ยึดไว้ที่หลอดปัสสาวะด้วย

การส่องกล้องนี้พบว่ารักษาได้ผลถึง 94% หากเป็นนิ่วเขากวางมีกิ่งก้านมากกว่า 2 กิ่ง หรือนิ่วที่มีขนาดใหญ่กว่า 3 เซนติเมตร แพทย์มักพิจารณาเป็นการผ่าตัดเปิดตามความเหมาะสม

นอกจากวิธีต่าง ๆ ข้างต้น แพทย์รักษานิ่วในไตด้วยวิธีอื่น เช่น การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ หากผู้ป่วยมีโรคต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนพาราไทรอยด์ขึ้นมามากผิดปกติ การผ่าตัดเอาเนื้องอกดังกล่าวออกจะเป็นช่วยลดการเกิดนิ่วในไตได้

ภาวะแทรกซ้อนของนิ่วในไต

เมื่อนิ่วในไตที่มีขนาดใหญ่เกินไปเคลื่อนจากไตไปสู่ท่อไตที่เล็กและบอบบาง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในลักษณะของการหดเกร็งและการระคายเคืองต่อไต ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกปนในปัสสาวะ นอกจากนี้ นิ่วในไตยังอาจปิดกั้นการไหลของปัสสาวะ ทำให้เกิดท่อปัสสาวะอุดกั้นและนำไปสู่การติดเชื้อและการบาดเจ็บที่ไตทำให้มีภาวะไตวายได้

การป้องกันนิ่วในไต

นิ่วในไตป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพของตัวเอง โดยวิธีที่ทำได้ง่าย ๆ คือการดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ และช่วยลดความเข้มข้นของปัสสาวะที่เอื้อต่อการเกิดนิ่วในไต ทั้งนี้ สามารถดื่มน้ำผลไม้ ชา และกาแฟได้ แต่เนื่องจากเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนจะทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น การดื่มน้ำเปล่าจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด 

ความเข้มข้นของปัสสาวะที่เสี่ยงนิ่วในไตสังเกตได้จากสีของปัสสาวะที่มีความเข้ม แต่ยกเว้นช่วงหลังตื่นนอน ปัสสาวะของคนเรามักจะมีสีเหลืองเข้ม เนื่องจากของเสียที่ร่างกายผลิตออกมาตลอดทั้งคืน จึงไม่จำเป็นต้องกังวลใด ๆ

การรับประทานอาหารก็เป็นส่วนหนึ่งที่อาจช่วยป้องกันการเกิดนิ่วในไต ซึ่งแพทย์และนักโภชนาการจะให้คำแนะนำในการรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วย ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมตามปกติ เพราะไม่มีผลใด ๆ ต่อการเกิดนิ่ว แต่ควรระวังการรับประทานแคลเซียมเสริม โดยปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเสมอ ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานแคลเซียมเสริมพร้อมกับมื้ออาหารเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในไต