หลายคนอาจไม่กล้าใช้น้ำมันทาผิว เพราะกลัวว่าผิวจะมันเยิ้มและอุดตันรูขุมขน แต่รู้หรือไม่ว่าการใช้น้ำมันที่สกัดจากพืชธรรมชาติเป็นวิธีบำรุงผิวและเส้นผมที่ได้รับความนิยมมาเป็นเวลานาน หากเลือกใช้น้ำมันทาผิวชนิดที่เหมาะสมกับสภาพผิวจะช่วยบำรุงให้ผิวนุ่มชุ่มชื้นโดยทำให้ผิวมันหรืออุดตันผิว
น้ำมันที่ใช้สำหรับทาผิวโดยทั่วไปมักสกัดจากพืชตามธรรมชาติ มีหลายชนิด แต่ละชนิดจะให้การบำรุงที่แตกต่างกัน เช่น ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ช่วยลดเลือนรอยแดง และช่วยลดการระคายเคืองจากสิวและโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea) ในบทความนี้ได้รวบรวมคุณประโยชน์และวิธีเลือกใช้น้ำมันทาผิวให้เหมาะกับสภาพผิวมาฝากกัน
5 น้ำมันทาผิวเพื่อผิวชุ่มชื้น
น้ำมันทาผิวประกอบด้วยส่วนประกอบที่มีประโยชน์ต่อผิวหลายชนิด อาทิ สารโพลีฟีนอล (Polyphenol) กรดไขมัน และสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งช่วยบำรุงผิวให้ชุ่มชื้นและปรับสีผิวให้สม่ำเสมอขึ้น โดยน้ำมันที่นิยมนำมาทาผิว มีดังนี้
-
น้ำมันมะพร้าว
น้ำมันมะพร้าวได้จากการสกัดแยกน้ำมันจากเนื้อมะพร้าว โดยประกอบไปด้วยกรดไขมันที่ช่วยฟื้นบำรุงผิว อย่างกรดไลโนเลอิก (Linoleic Acid) ที่ช่วยเก็บความชุ่มชื้นไว้ในผิว และกรดลอริก (Lauric Acid) ที่มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย การใช้น้ำมันมะพร้าวทาผิวจึงเหมาะกับผู้มีผิวแห้ง โดยใช้ทาผิวหน้าและผิวกายแทนมอยส์เจอไรเซอร์ (Moisturizer) ที่ใช้อยู่ได้
ทั้งนี้ น้ำมันมะพร้าวชนิดที่เหมาะกับการทาผิวควรเป็นน้ำมันมะพร้าวที่ไม่ผ่านกรรมวิธี (Unrefined Oil) และน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ (Virgin Coconut Oil หรือ Extra Virgin Coconut Oil) เพราะมีประโยชน์ต่อผิวมากกว่าน้ำมันมะพร้าวชนิดอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำมันมะพร้าวทาผิวอาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีสภาพผิวมัน เพราะเป็นน้ำมันที่มีเนื้อหนักและอาจทำให้เกิดการอุดตันผิว นอกจากนี้ ผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายควรระมัดระวังในการใช้น้ำมันมะพร้าว โดยให้ทดสอบอาการแพ้ก่อนใช้ด้วยการทาน้ำมันมะพร้าวเล็กน้อยที่ผิวหนัง และเริ่มใช้ในปริมาณน้อย ๆ ก่อน หากมีอาการระคายเคืองหรืออุดตันควรหยุดใช้
-
น้ำมันอาร์แกน (Argan Oil)
น้ำมันอาร์แกนเป็นน้ำมันที่ได้จากเมล็ดของต้นอาร์แกนที่พบในประเทศโมร็อกโก โดยขูดเนื้อจากผลอาร์แกนสดออกและนำเมล็ดไปตากหรืออบแห้ง จากนั้นจึงสกัดน้ำมันออกจากเมล็ด น้ำมันอาร์แกนประกอบด้วยสารบำรุงผิวหลายชนิด ทั้งกรดไขมันอิ่มตัวและไม่อิ่มตัว แร่ธาตุ และสารประกอบฟีนอลิก (Phenolic Compounds) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอวัย และเร่งกระบวนการฟื้นฟูบาดแผลบนผิวหนัง
จากงานวิจัยบางส่วนพบว่า การใช้น้ำมันอาร์แกนทาผิวทุกวันอาจช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของผิวหนัง เสริมเกราะป้องกันผิว และช่วยให้ผิวกักเก็บน้ำและคงความชุ่มชื้นไว้ในผิวได้ดีขึ้น นอกจากนี้ น้ำมันอาร์แกนยังนำมาใช้รักษาโรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea) และโรคผิวหนังบางประเภทอีกด้วย
-
น้ำมันเมล็ดองุ่น (Grape Seed Oil)
น้ำมันเมล็ดองุ่นประกอบด้วยสารประกอบฟีนอลิก เช่น ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) แคโรทีนอยด์ (Carotenoids) กรดฟีนอลิก (Phenolic Acids) และวิตามินอีสูง ซึ่งช่วยบำรุงผิวให้ชุ่มชื้น ช่วยลดการอักเสบ และช่วยฟื้นฟูผิวจากบาดแผลได้เร็วขึ้น
น้ำมันเมล็ดองุ่นเป็นน้ำมันที่มีเนื้อบางเบา ผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายสามารถใช้ได้เพราะความเสี่ยงในการเกิดอาการระคายเคืองผิวนั้นต่ำกว่าน้ำมันชนิดอื่น โดยสามารถทาน้ำมันเมล็ดองุ่นบนผิวหนังแทนเซรั่ม (Serum) บำรุงผิว หรือผสมกับมอยส์เจอไรเซอร์ทาผิวหน้าและผิวกายเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นเป็นพิเศษในช่วงกลางคืน
-
โจโจบาออยล์ (Jojoba Oil)
โจโจบาออยล์หรือน้ำมันโจโจบาเป็นน้ำมันที่สกัดจากพืชท้องถิ่นของประเทศในแถบอเมริกาเหนือ โดยมีคุณสมบัติคล้ายกับน้ำมันตามธรรมชาติบนผิวหนัง จึงช่วยปรับสมดุลในกระบวนการผลิตน้ำมันของผิวหนัง ลดความมันส่วนเกินที่อาจก่อให้เกิดสิว และอาจนำไปใช้รักษาโรคผิวหนังบางประเภท เช่น โรคสะเก็ดเงิน ผิวไหม้แดด ผิวแห้งแตก รวมถึงใช้บำรุงเส้นผมและหนังศีรษะได้อีกด้วย
การใช้โจโจบาออยล์มีหลายวิธี ผู้ที่มีผิวมันสามารถทาโจโจบาออยล์บนผิวหน้าแทนมอยส์เจอร์ไรเซอร์ได้ทั้งตอนเช้าและก่อนนอน และผู้มีผิวแพ้ง่ายอาจใช้โจโจบาออยล์ทาผิวกายแทนครีมบำรุงผิวได้ นอกจากนี้ อาจผสมโจโจบาออยล์กับน้ำมันหอมระเหย อย่างน้ำมันสกัดจากทับทิมและชาเขียว เพื่อช่วยปลอบประโลมผิวหลังถูกแสงแดด หรือใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดรากชะเอมเทศ (Licorice Extract) เพื่อช่วยลดเลือนจุดด่างดำและปรับสีผิวให้สม่ำเสมอขึ้น
-
น้ำมันโรสฮิป (Rosehip Oil)
น้ำมันโรสฮิปเป็นน้ำมันทาผิวที่เป็นที่รู้จักในด้านการบำรุงผิวให้ชุ่มชื้นและกระจ่างใส น้ำมันโรสฮิปสกัดจากผลและเมล็ดของต้นกุหลาบป่า ประกอบด้วยกรดไขมันไลโนเลอิกและกรดไขมันไลโนเลนิก (Linolenic Acid) ที่มอบความชุ่มชื้นแก่ผิวได้ดี จึงช่วยป้องกันผิวแห้งลอกและคัน
น้ำมันโรสฮิปยังอุดมไปด้วยวิตามินเอและวิตามินซี ซึ่งกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวเก่าที่ตายแล้วและเร่งสร้างเซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาทดแทน จึงช่วยลดเลือนจุดด่างดำ ปรับสีผิวให้สม่ำเสมอและดูกระจ่างใสขึ้น
นอกจากนี้ น้ำมันทาผิวชนิดอื่น ๆ ที่สกัดจากพืช ได้แก่ น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันอัลมอนด์ (Almond Oil) และเชียบัตเตอร์ (Shea Butter) ก็มีประโยชน์ในการบำรุงผิวให้ชุ่มชื้นได้เช่นกัน
วิธีใช้น้ำมันทาผิวให้ปลอดภัย ไม่ทำร้ายผิว
การเลือกใช้น้ำมันทาผิวควรเลือกให้เหมาะกับสภาพผิว ผู้มีผิวมันหรือเป็นสิวง่ายควรเลือกน้ำมันบำรุงผิวหน้าที่มีเนื้อบางเบาเพื่อลดการอุดตันผิว และใช้น้ำมันที่มีเนื้อหนัก อย่างน้ำมันมะพร้าว ในการทาผิวกายแทน โดยเริ่มใช้จากปริมาณน้อย ๆ ก่อน หากใช้น้ำมันทาผิวแล้วรู้สึกเหนอะหนะและไม่ซึมเข้าสู่ผิว ควรลดปริมาณการใช้ลง
นอกจากนี้ การใช้น้ำมันทาผิวมีข้อควรรู้และระมัดระวังต่อไปนี้
- ควรทดสอบการแพ้ก่อนเริ่มใช้น้ำมันทาผิว โดยหยดน้ำมันปริมาณเล็กน้อยบริเวณข้อพับแขนไว้เป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง หากมีอาการแพ้ อย่างรู้สึกแสบร้อนหรือมีผื่นคัน ไม่ควรใช้น้ำมันทาผิวดังกล่าว
- เลือกซื้อน้ำมันทาผิวจากสถานที่จำหน่ายที่น่าเชื่อถือ และอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดก่อนซื้อ โดยฉลากต้องระบุชื่อและชนิดของเครื่องสาอาง ส่วนผสม วิธีใช้ ผู้ผลิตและผู้นำเข้า เดือนปีที่ผลิต และคำเตือน
- ใช้น้ำมันทาผิวเฉพาะภายนอกเท่านั้น และไม่ควรทาน้ำมันใกล้บริเวณรอบดวงตาเนื่องจากอาจเกิดอาการระคายเคืองได้
- ผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายควรเลือกใช้น้ำมันทาผิวที่ไม่ผสมสารกันเสีย น้ำหอม และแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ การใช้น้ำมันหอมระเหยผสมกับน้ำมันทาผิวอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ หากใช้น้ำมันหอมระเหยแล้วเกิดผื่นแดง คัน ผิวลอก และรู้สึกแสบร้อน ควรหยุดใช้ทันที
- เก็บน้ำมันทาผิวไว้ในบริเวณที่ไม่ถูกแสงแดดส่องถึงโดยตรงหรือเก็บไว้ในตู้เย็น เพื่อป้องกันความร้อนที่อาจทำให้น้ำมันทาผิวเสื่อมสภาพ
- ผู้ที่ตั้งครรภ์ กำลังให้นมบุตร หรือวางแผนตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้น้ำมันทาผิว
น้ำมันทาผิวอุดมไปด้วยวิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระ และกรดไขมันจำเป็นที่มีประโยชน์ต่อการบำรุงผิวให้นุ่มชุ่มชื้นและกระจ่างใสอย่างเป็นธรรมชาติ ดังนั้น การเลือกน้ำมันทาผิวที่เหมาะสมกับสภาพผิวจะช่วยบำรุงผิวโดยไม่ทำให้ผิวมันเยิ้มและอุดตันรูขุมขน
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการแพ้ควรหยุดใช้และรีบไปพบแพทย์ทันที โดยสังเกตได้จากมีผื่นแดง คัน และผิวลอก หรือมีอาการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) เช่น หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน และเจ็บหน้าอกหลังการใช้น้ำมันทาผิว