น้ำมันปลา กับประโยชน์ต่อสุขภาพที่ควรรู้

น้ำมันปลา เป็นไขมันหรือน้ำมันที่สกัดจากเนื้อเยื่อของปลาบางชนิดอย่างปลาแมกเคอเรล ปลาเฮอร์ริง ปลาทูน่า และปลาแซลมอน แต่หลายคนอาจไม่เคยทราบว่าน้ำมันปลานั้นมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไรบ้าง สามารถหาคำตอบได้จากบทความนี้

น้ำมันปลาอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่มีความสำคัญต่อร่างกายนั้นมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ กรดโดโคซาเฮกซะอีโนอิก (Docosahexaenoic acid: DHA) และกรดอีโคซะเพนตะอีโนอิก (Eicosapentaenoic acid: EPA) ซึ่งมีประโยชน์สำคัญต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย จึงมีงานวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ต่อสุขภาพของน้ำมันปลา ดังนี้

Fish Oil

ประโยชน์ของน้ำมันปลา

เนื่องจากน้ำมันปลามีไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างโอเมก้า 3 ที่มีความสำคัญต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย จึงเชื่อกันว่าการบริโภคน้ำมันปลาอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายด้าน

ช่วยบำรุงสุขภาพหัวใจ

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่าการบริโภคน้ำมันปลาอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ ทั้งอาจช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีในร่างกาย และยังช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์และความดันโลหิตได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์น้ำมันปลาบางยี่ห้อยังมีสารอาหารที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ เช่น

  • วิตามินอี
    วิตามินอีมีส่วนช่วยต้านกระบวนการของสารอนุมูลอิสระที่ทำให้เกิดการอักเสบ จึงอาจช่วยป้องกันความเสียหายของเซลล์ภายในหลอดเลือดได้ โดยผลการทดลองชิ้นหนึ่งพบว่าการได้รับวิตามินอีเป็นประจำทุกวันอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้
  • สารแอสตาแซนธิน (Astaxanthin)
    สารแอสตาแซนธินเป็นสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ที่อาจช่วยต่อต้านการอักเสบของหลอดเลือด เพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของผนังหลอดเลือด นอกจากนี้ แอสตาแซนธินยังอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองที่มีสาเหตุมาจากการอักเสบหรืออุดตันของเส้นเลือดเช่นเดียวกับโรคหัวใจ แต่สรรพคุณเหล่านี้ยังต้องการการศึกษายืนยันให้ชัดเจนมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ การได้รับน้ำมันปลาที่มีส่วนผสมของวิตามินอีและแอสตาแซนธินเป็นประจำจึงอาจเป็นประโยชน์ในผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง มีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่น ๆ เช่น ขาดการออกกำลังกาย มีปัญหาเกี่ยวกับความเครียดและอารมณ์ ไปจนถึงผู้ที่ต้องการลดไตรกลีเซอไรด์ และผู้ที่มีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคหัวใจ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานที่สามารถยืนยันประสิทธิภาพของน้ำมันปลาในด้านการป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของน้ำมันปลาในด้านนี้อีกครั้ง

รักษาภาวะหรืออาการทางจิตใจ

เนื่องจากน้ำมันปลามีกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันที่สำคัญต่อการทำงานของสมอง หลายคนจึงเชื่อว่าน้ำมันปลาอาจช่วยในการรักษาภาวะหรืออาการทางจิตใจ จึงมีงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของน้ำมันปลาในด้านนี้อยู่บ้าง

มีงานวิจัยหนึ่งชี้ว่าการบริโภคน้ำมันปลาอาจช่วยป้องกันภาวะผิดปกติทางจิตใจบางอย่าง และยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ชี้ว่าการบริโภคน้ำมันปลาอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคไบโพลาร์และโรคจิตเภทอีกด้วย

ช่วยเรื่องการลดน้ำหนัก

อ้วน เป็นภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันมากผิดปกติหรือมากเกินกว่าที่ร่างกายจะเผาผลาญออกไป และอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคมะเร็งได้อีกด้วย ซึ่งผู้ป่วยภาวะอ้วนจะต้องลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

มีงานวิจัยหนึ่งที่ชี้ว่าการบริโภคน้ำมันปลาอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจในผู้ป่วยภาวะอ้วน นอกจากนี้ งานวิจัยบางชิ้นยังระบุว่าการบริโภคน้ำมันปลาควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายอาจช่วยให้ลดน้ำหนักได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของน้ำมันปลาในด้านนี้อีกครั้ง

ต้านการอักเสบ

การอักเสบ เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันทำงาน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายอย่างแบคทีเรีย ไวรัส สารเคมี รวมถึงการบาดเจ็บของร่างกาย ซึ่งการอักเสบเรื้อรังอาจเกี่ยวข้องกับโรคหรือการเจ็บป่วยที่รุนแรง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคซึมเศร้า และโรคหัวใจ เป็นต้น

มีงานวิจัยที่ชี้ว่าน้ำมันปลามีคุณสมบัติต้านการอักเสบมันอาจช่วยรักษาภาวะหรือการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบเรื้อรัง ทั้งยังช่วยลดการผลิตและการแสดงออกของยีนที่หลั่งสารไซโตไคน์ ซึ่งเป็นโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่าน้ำมันปลายังอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบอย่างโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้อีกด้วย

นอกจากที่กล่าวมาในข้างต้นแล้ว น้ำมันปลายังมีประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านอื่น ๆ เช่น บำรุงสายตา บำรุงผิวหนัง บำรุงกระดูก ลดการสะสมไขมันในตับ บรรเทาอาการของโรคซึมเศร้าและโรคสมาธิสั้นในเด็ก ทั้งยังช่วยเสริมสร้างสุขภาพครรภ์ในหญิงตั้งครรภ์อีกด้วย

รับประทานน้ำมันปลาอย่างไรให้ปลอดภัย ?

โดยปกติแล้ว คนทั่วไปควรรับประทานน้ำมันปลาในปริมาณเพียง 1-2 หน่วยบริโภคต่อสัปดาห์ เนื่องจากอาจได้รับสารพิษปนเปื้อนอย่างสารปรอทจากปลาบางชนิด แต่หมดห่วงหากบริโภคน้ำมันปลาในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในกรณีต้องการรับประทานน้ำมันปลาในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควรรับประทานในปริมาณที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ และไม่ควรรับประทานน้ำมันปลาในปริมาณมากเกินไป เพราะทำให้มีเลือดออกและเลือดไม่แข็งตัว

นอกจากนี้ ยังควรศึกษาวิธีการเลือกซื้อและการรับประทานที่เหมาะสม เช่น 

  • แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับโรคประจำตัว ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรที่กำลังใช้อยู่
  • เลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวและต้องการใช้น้ำมันปลาเป็นการรักษาเสริม อย่างผู้ป่วยโรคหัวใจหรือผู้ที่ต้องการควบคุมระดับไขมันเลือด ควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณการบริโภคที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์น้ำมันปลาบางยี่ห้ออาจมีการเติมสารอาหารที่มีประโยชน์อื่น ๆ ซึ่งอาจช่วยเสริมสร้างสุขภาพในด้านอื่นได้ด้วย เช่น วิตามินอีและแอสตาแซนธินที่มีอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น

สำหรับสตรีตั้งครรภ์หรือผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรสามารถรับประทานน้ำมันปลาได้โดยไม่เกิดอันตราย หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ส่วนผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด แม้จะมีข้อมูลที่ชี้ว่าการบริโภคน้ำมันปลาไม่ส่งผลเป็นอันตรายและไม่จำเป็นต้องหยุดรับประทานน้ำมันปลาก่อนเข้ารับการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม หากต้องเข้ารับการผ่าตัดใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงจากการบริโภคน้ำมันปลาก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้