น้ำยาฆ่าเชื้อ
น้ำยาฆ่าเชื้อ เป็นสารเคมีที่ใช้ชะลอหรือหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่อยู่บนผิวหนังและเยื่อเมือกที่มีการสะสมของเชื้อโรคจำนวนมาก เช่น ปาก จมูก ช่องคลอด เป็นต้น โดยน้ำยาฆ่าเชื้อนั้นมีความแตกต่างจากยาปฏิชีวนะที่ใช้ฆ่าเชื้อภายในร่างกายและสารฆ่าเชื้อที่ใช้เช็ดวัตถุหรือสิ่งของต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม สารเคมีที่นำมาใช้ฆ่าเชื้อส่วนใหญ่ใช้ได้ทั้งกับผิวหนังและวัตถุ โดยจุดประสงค์ในการนำมาใช้จะพิจารณาจากความเข้มข้นของยา เช่น ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้น 6 เปอร์เซ็นต์ใช้ล้างแผล ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้น 30 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปใช้ในอุตสาหกรรมการฟอกขาว เป็นต้น
ตัวอย่างของน้ำยาฆ่าเชื้อที่นำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ แอลกอฮอล์ คลอร์เฮกซิดีน และโพวิโดน-ไอโอดีน เป็นต้น
คำเตือนในการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ
น้ำยาฆ่าเชื้อแต่ละประเภทล้วนมีข้อบ่งชี้ ข้อควรระวังในการใช้ยา และส่วนประกอบในยาที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงอาการป่วยในปัจจุบัน ประวัติทางการแพทย์ และประวัติการแพ้ยาต่าง ๆ รวมทั้งศึกษาวิธีการใช้ยาและคำเตือนบนฉลากให้ดีก่อนใช้ยาเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาผิดวิธี
ตัวอย่างข้อควรระวังในการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ ได้แก่
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยา หรือส่วนประกอบของยาฆ่าเชื้อชนิดใดก็ตาม รวมถึงยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัวและยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน อาหารเสริม และสมุนไพร เพราะการใช้ยานี้อาจส่งผลกระทบต่ออาการป่วยหรือทำปฏิกิริยากับยาบางชนิดจนส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงหรือยามีประสิทธิภาพลดลง
- น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีความเข้มข้นสูงต้องนำมาเจือจางก่อนทาลงบนผิวหนัง เพราะตัวยาบางชนิด เช่น คลอร์เฮกซิดีน อาจทำให้เกิดอาการแสบและระคายเคืองอย่างรุนแรงหรือเกิดผื่นระคายสัมผัสได้
- ห้ามใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่ซื้อใช้เองจากร้านขายยาทั่วไปนานเกิน 1 สัปดาห์ และหากอาการไม่ดีขึ้นควรหยุดใช้และไปพบแพทย์ทันที
- แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้ยา หากมีแผลขนาดใหญ่ แผลลึก แผลไหม้ขนาดใหญ่ มีรอยถลอกที่มีสิ่งสกปรกฝังอยู่และล้างไม่ออก ได้รับบาดเจ็บจากการถูกสัตว์หรือคนกัด หรือได้รับบาดเจ็บบริเวณตา
- ห้ามใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรักษาอาการผิวไหม้แดดหรือการติดเชื้อที่ผิวหนังอย่างรุนแรง
- ห้ามให้เด็กใช้ยานี้โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะยาฆ่าเชื้อบางชนิดอาจทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรงหรือเกิดแผลไหม้จากสารเคมี และมียาฆ่าเชื้อบางชนิดที่ไม่อนุญาตให้ใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา หากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร
- ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกรทราบว่ากำลังใช้ยาฆ่าเชื้อชนิดนั้น ๆ อยู่
- ใช้ยาตามฉลากหรือตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
ผลข้างเคียงจากการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ
เนื่องจากน้ำยาฆ่าเชื้อแต่ละชนิดล้วนมีส่วนประกอบที่แตกต่างกัน จึงอาจส่งผลให้มีอาการข้างเคียงจากการใช้ยาแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้น ผู้ป่วยควรศึกษาข้อมูลการใช้ยาจากฉลากอย่างระมัดระวัง และใช้ยาอย่างถูกวิธี หากพบอาการผิดปกติหลังใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และไปพบแพทย์ทันทีหากอาการเหล่านั้นไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
ตัวอย่างผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ ได้แก่
ผลข้างเคียงทั่วไปที่พบได้จากการใช้น้ำยาบ้วนปากคลอร์เฮกซิดีน
- เกิดการระคายเคืองในปาก
- ปากแห้ง
- ฟันเปลี่ยนสี
- รับรู้รสชาติไม่พึงประสงค์ภายในปาก หรือการรับรสชาติบกพร่อง
ผลข้างเคียงทั่วไปที่พบได้จากการใช้คลอร์เฮกซิดีนชนิดใช้กับผิวหนัง
- ระคายเคืองผิวหนัง
- ผิวหนังอักเสบ
ผลข้างเคียงทั่วไปที่พบได้จากการใช้ยาโพวิโดน-ไอโอดีน
- เกิดการระคายเคืองของผิวหนังบริเวณที่ใช้ยา
- ไตทำงานผิดปกติ
- เกิดความผิดปกติของต่อมไทรอยด์
- มีภาวะเลือดเป็นกรด
- มีระดับโซเดียมในเลือดสูง
ผลข้างเคียงทั่วไปที่พบได้จากการใช้แอลกอฮอล์
- อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก มีอาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอ
- ผิวแห้งแตก รู้สึกแสบหรือระคายเคืองบริเวณที่ใช้