ความหมาย น้ำร้อนลวก
น้ำร้อนลวก เป็นอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดแผลน้ำร้อนลวก ซึ่งเป็นแผลบาดเจ็บจากการถูกน้ำหรือไอน้ำที่มีความร้อนสูงสัมผัสผิวหนัง อาจทำให้ผิวแดง บวม ลอก หรือพุพอง โดยสามารถรักษาได้เองในเบื้องต้น แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงก็อาจต้องไปพบแพทย์
อาการของน้ำร้อนลวก
แผลน้ำร้อนลวกอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดที่ผิวหนัง และส่งผลให้ผิวหนังแดง ลอก เปลี่ยนเป็นสีซีด ผิวเปื่อย หรือมีอาการบวมแดง โดยแบ่งความรุนแรงเป็น 3 ระดับ ตั้งแต่แผลตื้นที่อยู่ในระดับชั้นหนังกำพร้าที่เป็นผิวชั้นนอกสุด ซึ่งอาจทำให้ผิวหนังแดง บวมเล็กน้อย และรู้สึกเจ็บ แต่ไม่เกิดแผลพุพอง หรือแผลตื้นที่อยู่ในระดับชั้นหนังแท้ ซึ่งเป็นแผลที่สร้างความเสียหายตั้งแต่ชั้นหนังกำพร้าลึกไปถึงชั้นหนังแท้ที่อยู่ถัดไป และอาจทำให้ผิวเปลี่ยนเป็นสีชมพูซีด มีอาการปวด และอาจมีแผลพุพองขนาดเล็ก ส่วนแผลที่ค่อนข้างลึก จะเป็นแผลที่สร้างความเสียหายต่อทั้งชั้นหนังแท้และชั้นหนังกำพร้า ซึ่งทำให้ผิวเปลี่ยนเป็นสีแดงและมีลักษณะเป็นดวง ผิวหนังอาจบวม เป็นแผลพุพอง และทำให้มีอาการปวดอย่างมาก
สาเหตุของน้ำร้อนลวก
แผลน้ำร้อนลวกมักเป็นผลมาจากอุบัติเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุในห้องครัว เกิดขึ้นกับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อเด็กเอื้อมหรือเขย่งตัวไปหยิบถ้วยหรือแก้วใส่เครื่องดื่มร้อน รวมทั้งอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น
- อุบัติเหตุจากการสัมผัสไอของเตาอบหรือเตาไมโครเวฟ
- สัมผัสกาต้มน้ำ ไอน้ำหม้อหุงข้าว หรือเครื่องทำความร้อนใด ๆ โดยไม่ตั้งใจ
- อยู่ในธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะในห้องครัว ซึ่งต้องใช้น้ำร้อนลวกทำความสะอาดอุปกรณ์ประกอบอาหารต่าง ๆ เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย
การวินิจฉัยน้ำร้อนลวก
แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการนี้ได้จากประวัติการสัมผัสน้ำหรือไอน้ำที่มีความร้อน และจะตรวจบริเวณแผล ตรวจสอบขนาดและความลึกของแผล เพื่อพิจารณาแนวทางในการรักษา ซึ่งหากอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยมักไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงอย่างแผลขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือ เกิดแผลพุพอง หรือต้องการรับการรักษาจากแพทย์ ผู้ป่วยก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
การรักษาน้ำร้อนลวก
ส่วนใหญ่แผลจากน้ำร้อนลวกมักไม่รุนแรงและรักษาได้ด้วยตนเอง โดยแผลน้ำร้อนลวกนั้นอาจต้องใช้เวลาสักพักจึงจะหายดี ซึ่งในรายที่มีอาการไม่รุนแรงอาจใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์แผลจึงจะหายสนิท
โดยวิธีการรักษาและดูแลตนเองในเบื้องต้น ทำได้ดังนี้
- รีบนำอวัยวะที่ถูกน้ำร้อนลวกออกมาให้ห่างจากน้ำร้อนหรือบริเวณที่ทำให้เกิดแผลน้ำร้อนลวกโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มเติม
- ใช้น้ำเย็นล้างบริเวณที่เป็นแผลน้ำร้อนลวกอย่างน้อย 20 นาที แต่ห้ามใช้น้ำแข็ง น้ำใส่น้ำแข็ง หรือสารที่เป็นน้ำมันล้างแผลเป็นอันขาด และในระหว่างนั้นต้องพยายามให้ร่างกายของผู้ป่วยอุ่น เพื่อให้อุณหภูมิร่างกายเป็นปกติ
- ห้ามแช่ตัวในน้ำเย็นหากถูกน้ำร้อนลวกเป็นบริเวณกว้าง เพราะอาจทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อนและเกิดอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงขึ้นตามมาได้
- ถอดเครื่องประดับและเสื้อผ้าที่อยู่ใกล้กับผิวหนังบริเวณที่ถูกน้ำร้อนลวกออก เพื่อลดอุณหภูมิของผิวหนัง และให้มีพื้นที่ในกรณีที่มีอาการบวม
- นำผ้าพันแผลหรือผ้าสะอาดปิดแผลเอาไว้
- หากเป็นไปได้ ควรยกบาดแผลที่ถูกน้ำร้อนลวกให้อยู่เหนือระดับหัวใจ
- หากมีแผลพุพอง ห้ามแกะแผลนั้นเด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีแผลขนาดใหญ่ หรือสงสัยว่ามีอาการติดเชื้อ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที โดยในเบื้องต้นแพทย์จะทำความสะอาดแผลและปิดแผลไว้ ซึ่งบางรายแพทย์อาจให้ใช้ยาเพื่อระงับอาการปวดด้วย เช่น พาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน เป็นต้น แต่หากพบอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม แพทย์จะพิจารณารักษาตามอาการต่อไป
ภาวะแทรกซ้อนของน้ำร้อนลวก
อาการผิวไหม้จากการถูกน้ำร้อนลวกอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น
- การติดเชื้อ หากแผลน้ำร้อนลวกพุพองและแตกออกแล้วผู้ป่วยรักษาความสะอาดได้ไม่ดีพอ อาจทำให้มีเชื้อโรคเข้าไปในแผลจนทำให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งอาจมีอาการบางอย่างที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น เจ็บแผลมากขึ้น แผลมีกลิ่นเหม็น มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ผิวหนังบวมแดง เป็นต้น
- แผลเป็น อาจเกิดแผลเป็นหลังแผลหายดีแล้ว ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการทาครีมที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว หรือใช้ครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันรังสียูวีสูงเพื่อปกป้องผิวบริเวณที่เกิดแผล
การป้องกันน้ำร้อนลวก
น้ำร้อนลวกเป็นเหตุการณ์ที่ป้องกันได้ไม่ยาก เพียงระมัดระวังให้มากขึ้นขณะประกอบอาหารหรือต้มน้ำร้อน โดยเฉพาะเมื่อมีเด็กอยู่ใกล้ ๆ โดยวิธีต่อไปนี้อาจเป็นแนวทางแนะนำที่พอช่วยได้
- ก่อนให้เด็กอาบน้ำร้อน ควรตรวจสอบอุณหภูมิน้ำด้วยมือหรือข้อศอกของตนเองก่อนว่าน้ำอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมหรือไม่ และควรเริ่มจากเติมน้ำเย็นลงไปก่อนแล้วค่อยตามด้วยน้ำร้อน
- คอยดูแลไม่ให้เด็กอยู่ใกล้กับอ่างและก๊อกน้ำร้อน
- ตั้งอุณหภูมิน้ำร้อนที่ใช้อาบไม่ให้ร้อนเกินไป
- วางของเหลวที่มีความร้อนสูงไว้ให้ห่างจากเด็ก และคอยระมัดระวังให้เด็กเล็กอยู่ห่างจากห้องครัว
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มร้อน ๆ เมื่อมีทารกหรือเด็กเล็กอยู่ใกล้ ๆ
- อย่าให้เด็กเล็กใช้หลอดดูดเครื่องดื่มที่ร้อน
- เมื่อเด็กโตพอในระดับหนึ่งแล้ว ควรสอนให้เด็กรู้วิธีใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องครัวอย่างถูกต้อง
- ไม่รีบร้อนขณะทำอาหาร ให้ค่อย ๆ ทำ เพื่อป้องกันน้ำร้อนกระเด็นหรือการเกิดอุบัติเหตุอื่น ๆ หากน้ำในหม้อเดือดแล้ว ให้ย้ายหม้อไปยังเตาด้านในสุดด้วย