ความหมาย บาดทะยัก (Tetanus)
บาดทะยัก (Tetanus) เป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียร้ายแรง ซึ่งสามารถติดเชื้อได้ผ่านบาดแผลที่เกิดขึ้นตามร่างกาย โดยเชื้อบาดทะยักจะส่งผลกระทบต่อระบบประสาท ทำให้มีอาการเจ็บปวดและปวดเกร็งกล้ามเนื้อเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกล้ามเนื้อขากรรไกรและกล้ามเนื้อลำคอ ยิ่งไปกว่านั้น เชื้อบาดทะยักอาจนำไปสู่การเกิดอาการที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ด้วย
แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีการรักษาโรคบาดทะยักโดยตรง มีแค่การรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นเท่านั้น ซึ่งอาจใช้เวลานานจนกว่าอาการที่เกิดขึ้นจะหาย หรือในบางกรณีอาจเกิดอาการรุนแรงที่ไม่สามารถรักษาได้จนนำไปสู่การเสียชีวิต แต่ก็สามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้จากการฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วนตามกำหนด
อาการของบาดทะยัก
หลังจากเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคบาดทะยักเข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยอาจเริ่มแสดงอาการได้ตั้งแต่ 3–21 วันหรืออาจนานกว่านั้น แต่โดยเฉลี่ยจะมีอาการภายใน 10–14 วัน ซึ่งผู้ป่วยที่เกิดอาการอย่างรวดเร็วมักจะแสดงถึงการติดเชื้อที่รุนแรงมากกว่าและรักษาได้ยากกว่า
อาการบาดทะยักที่มักแสดงออกมา มีดังนี้
- กล้ามเนื้อขากรรไกรหดเกร็ง ซึ่งอาจทำให้เจ็บปวดและอ้าปากลำบาก
- กล้ามเนื้อบริเวณลำคอหดเกร็งจนเกิดอาการเจ็บปวด ส่งผลให้กลืนและหายใจลำบาก
- กล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ เกิดอาการหดเกร็งตามมา เช่น หน้าอก ช่องท้อง และหลัง
- ร่างกายกระตุกและเกิดความเจ็บปวดเป็นเวลานานหลายนาที ซึ่งมักเกิดจากสิ่งกระตุ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เสียงดัง ลมพัด การถูกสัมผัสร่างกาย หรือการเผชิญกับแสง
นอกจากนี้ อาจมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น มีไข้สูง เหงื่อออก ความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นเร็ว อาการเหล่านี้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมสามารถทำให้เกิดอาการรุนแรงขึ้นได้ภายในเวลาไม่กี่วันหรืออาจเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อมา และอาจอันตรายถึงขั้นทำให้หายใจไม่ออก หัวใจหยุดเต้นไปจนถึงเสียชีวิต
สาเหตุของบาดทะยัก
บาดทะยักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่าคลอสตริเดียม เตตานิ (Clostridium Tetani) ซึ่งเชื้อจะแพร่กระจายโดยสปอร์ของแบคทีเรียที่พบได้ตามดิน ฝุ่น สิ่งสกปรก และอุจจาระของสัตว์อย่างม้าหรือวัว อีกทั้งเชื้อชนิดนี้สามารถมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายได้เป็นเวลานาน และยังคงทนต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ แม้กระทั่งในสภาพอากาศที่มีความร้อนสูงก็ตาม
การติดเชื้อบาดทะยักเกิดขึ้นได้เมื่อร่างกายบริเวณที่เกิดแผลสัมผัสเข้ากับเชื้อ สปอร์ของแบคทีเรียสามารถเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วและแพร่ผ่านกระแสเลือดไปสู่ระบบประสาทส่วนกลาง รวมถึงผลิตสารพิษที่มีชื่อว่าเตตาโนสปาสมิน (Tetanospasmin) ซึ่งจะส่งผลให้เส้นประสาทต่าง ๆ ที่มีหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อเสียหาย จนเกิดเป็นอาการปวดและชักเกร็งของกล้ามเนื้อ
ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อบาดทะยักคือการไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักหรือได้รับวัคซีนไม่ครบกำหนดในวัยเด็ก รวมถึงการที่รอยแผลมีความลึก มีการปนเปื้อนของสิ่งสกปรกหรือมีสิ่งแปลกปลอมฝังอยู่ในแผลด้วย ตัวอย่างลักษณะของแผลที่เชื้อบาดทะยักสามารถแพร่เข้าสู่ร่างกายได้ มีดังนี้
- แผลไฟไหม้
- แผลจากการถูกสัตว์กัด เช่น สุนัข
- แผลถูกทิ่มจากตะปูหรือสิ่งของแหลมคม
- แผลถลอก รอยครูด หรือแผลจากการโดนบาด
- แผลที่เกิดจากกระดูกหักออกมาภายนอกผิวหนัง
- แผลติดเชื้อที่เท้าที่มักเกิดในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- แผลจากการเจาะหรือสักร่างกาย รวมถึงแผลจากการใช้เข็มฉีดยาที่ปนเปื้อนสิ่งสกปรก
- แผลติดเชื้อทางสายสะดือในทารก จากการใช้อุปกรณ์ทำคลอดที่ไม่สะอาดในการตัดสายสะดือ และอาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นเมื่อแม่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักอย่างครบถ้วน
การวินิจฉัยบาดทะยัก
แพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อสังเกตดูอาการของโรคบาดทะยัก เช่น อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกล้ามเนื้อชักกระตุก รวมทั้งสอบถามถึงประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก หากพบว่าผู้ป่วยไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันหรือเคยได้รับแต่ไม่ครบถ้วน จะนับว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นอาการจากโรคบาดทะยักได้สูง
การวินิจฉัยโรคบาดทะยักโดยทั่วไปมักไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ แต่บางกรณีแพทย์อาจส่งตรวจเพิ่มเติม เพื่อให้แน่ใจว่าอาการของผู้ป่วยไม่ได้เกิดจากโรคชนิดอื่นที่มีอาการคล้ายกัน เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่สมองและไขสันหลัง หรือโรคพิษสุนัขบ้าซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสและส่งผลให้สมองบวม
การรักษาโรคบาดทะยัก
ในกรณีที่แพทย์พิจารณาว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงหรือแนวโน้มที่จะติดเชื้อบาดทะยักแต่ยังไม่แสดงอาการใด ๆ แพทย์จะรักษาโดยการทำความสะอาดแผลและฉีดยา Tetanus Immunoglobulin ซึ่งเป็นยาที่ประกอบด้วยแอนติบอดี้ ช่วยฆ่าแบคทีเรียจากโรคบาดทะยักและสามารถป้องกันโรคบาดทะยักได้ในช่วงระยะสั้น ๆ ถึงปานกลาง นอกจากนี้ อาจฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักร่วมด้วยหากผู้ป่วยยังไม่ได้รับวัคซีนชนิดนี้ครบกำหนด
ในกรณีที่ผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการของโรคบาดทะยักแล้ว โดยทั่วไปจำเป็นจะต้องเข้ารักษาตัวในห้องไอซียูที่โรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด โดยการรักษาโรคบาดทะยักจะเป็นการรักษาตามอาการของโรคที่เกิดขึ้น เช่น การดูแลแผล การให้ยาบรรเทาอาการ และการดูแลแบบประคอง ดังนี้
- ให้ยา Tetanus Immunoglobulin และยาปฏิชีวนะ
- นำเนื้อเยื่อแผลที่ตายแล้วหรือสิ่งแปลกปลอม เช่น ฝุ่นและสิ่งสกปรกต่าง ๆ ออกจากบาดแผล
- ให้ยาบรรเทาอาการปวดเมื่อยและชักกระตุกของกล้ามเนื้อ เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาระงับประสาท
- ใช้เครื่องช่วยหายใจ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก
- ให้อาหารผ่านทางท้องหรือเส้นเลือดแทน ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้
ส่วนใหญ่อาการของโรคบาดทะยักที่ได้รับการรักษาจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น แม้ว่าจะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน และในบางกรณีก็มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคบาดทะยักได้เช่นกัน
ภาวะแทรกซ้อนของบาดทะยัก
อาการชักกระตุกของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงต่อไปนี้ตามมา
- จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ
- สมองเสียหายจากการขาดออกซิเจน
- เกิดการติดเชื้อที่ปอดจนเกิดปอดบวม
- กระดูกสันหลังและกระดูกส่วนอื่น ๆ หักจากกล้ามเนื้อที่เกร็งมากผิดปกติ
- ไม่สามารถหายใจได้ เนื่องจากการชักเกร็งของเส้นเสียงและกล้ามเนื้อที่ใช้หายใจ
- การติดเชื้ออื่น ๆ แทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการพักฟื้นหรือรักษาตัวจากโรคบาดทะยักในโรงพยาบาลเป็นเวลาหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน
การติดเชื้อบาดทะยักอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลว ส่วนสาเหตุอื่นที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้เช่นกัน ได้แก่ ภาวะปอดบวม ภาวะขาดออกซิเจน และภาวะหัวใจหยุดเต้น
การป้องกันบาดทะยัก
การฉีดวัคซีนเป็นวิธีป้องกันโรคบาดทะยักที่ง่ายและได้ผล โดยควรฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่ยังเป็นทารกด้วยวัคซีน DTaP สำหรับป้องกันทั้งโรคคอตีบ โรคไอกรน และโรคบาดทะยักในวัคซีนเดียวกัน หลังจากนั้นควรฉีดวัคซีนกระตุ้นตามกำหนด นอกจากนี้ ควรฉีดวัคซีนกระตุ้นในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ และผู้ที่มีบาดแผลสกปรกหรือแผลเปิดที่ผู้ป่วยไม่แน่ใจว่าได้รับซีนครั้งสุดท้ายเมื่อไรด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการป้องกันบาดทะยักด้วยวิธีการอื่น เช่น การใช้เครื่องมือสำหรับทำคลอดและตัดสายสะดือที่สะอาด การหมั่นดูแลทำความสะอาดสะดือของเด็กทารกแรกคลอดอยู่เสมอ รวมถึงหากเกิดบาดแผลขึ้น ควรดูแลแผลอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันการติดเชื้อบาดทะยัก โดยวิธีการดูแลตนเองเมื่อเกิดบาดแผลที่ไม่รุนแรง สามารถทำได้ดังนี้
1. กดแผลไว้เพื่อหยุดหรือห้ามเลือด
2. เมื่อเลือดหยุดไหลให้ล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาด แต่หากพบว่ามีสิ่งสกปรกฝังอยู่ในแผลควรรีบไปพบแพทย์
3. อาจใช้ยาปฏิชีวนะที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปเพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย เช่น ยานีโอสปอริน (Neosporin) ยาโพลีสปอริน (Polysporin) แต่ควรใช้ตามทำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด และตัวยาอาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีภาวะสุขภาพบางอย่าง
4. อาจใช้พลาสเตอร์หรือผ้าพันแผลปิดบาดแผลเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้แผลเกิดการติดเชื้อ และควรเปลี่ยนผ้าพันแผลทุกวัน วันละ 1 ครั้ง รวมถึงเปลี่ยนเมื่อผ้าพันแผลเปียกหรือสกปรกด้วย