ปกป้องผิวให้ลูกน้อยด้วยครีมกันแดด

การทาครีมกันแดดเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญในการดูแลผิวที่ไม่ควรละเลย โดยเฉพาะในเด็ก เพราะเด็กมักมีผิวบอบบางและไวต่อแสงแดด คุณแม่อาจไม่ทราบว่าการให้ลูกได้ออกไปเล่นกลางแจ้งเป็นเวลานาน ผิวของลูกอาจถูกรังสียูวีในแสงแดดทำร้ายผิวได้ การปกป้องผิวของลูกจากแสงแดดด้วยวิธีต่าง ๆ และสอนวิธีป้องกันอันตรายจากแสงแดดให้ลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ

การได้รับรังสีอัลตราไวโอเล็ต (Ultraviolet radiation) หรือรังสียูวีเป็นเวลานานส่งผลเสียโดยตรงต่อผิวหนังจนอาจทำให้เกิดผิวคล้ำเสีย หรือไหม้แดด เด็กที่ได้รับรังสียูวีสะสมมาตั้งแต่อายุยังน้อยอาจมีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคมะเร็งผิวหนังในวัยผู้ใหญ่ ทั้งนี้ การสอนให้ลูกเข้าใจถึงผลเสียของแสงแดดต่อผิวหนังและวิธีการป้องกันแสงแดดอย่างถูกต้อง จะทำให้เด็กเห็นความสำคัญของการดูแลผิวของตัวเองไม่ให้ถูกทำร้ายจากแสงแดดได้ดียิ่งขึ้น

ปกป้องผิวให้ลูกน้อยด้วยครีมกันแดด

รังสียูวีทำร้ายผิวได้อย่างไร

แสงแดดมีทั้งประโยชน์และโทษ การได้รับแสงแดดอ่อน ๆ สัปดาห์ละ 2–3 ครั้ง เป็นเวลา 5–15 นาที จะช่วยให้เซลล์ผิวหนังของร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้ โดยมีรังสียูวีบี (UVB) จากแสงแดดเป็นตัวกระตุ้น ซึ่งวิตามินดีมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกที่แข็งแรง แต่หากได้รับแสงแดดจัดเป็นระยะเวลานานเกินไป อาจทำให้เกิดผลเสียต่อผิวหนังได้ 

ผิวชั้นนอกของเราประกอบด้วยเซลล์เม็ดสี ที่เรียกว่าเมลานิน (Melanin) ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องผิวไม่ให้ถูกทำร้ายจากรังสียูวี เมื่อได้รับรังสียูวีที่มีความเข้มข้นสูงหรือได้รับเป็นเวลานาน รังสียูวีจะทำปฏิกิริยากับเมลานิน ทำให้ผิวคล้ำเสีย ผิวไหม้แดด และอาจทำให้เกิดความผิดปกติอื่น ๆ ตามมา เช่น ผิวหยาบกร้าน ริ้วรอยก่อนวัย และในระยะยาวอาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้

รังสียูวีแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  • รังสียูวีเอ (UVA) อาจทำให้เกิดริ้วรอยบนผิวหนัง และกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง อย่างมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Melanoma)
  • รังสียูวีบี (UVB) สามารถทำให้ผิวไหม้แดด และเกิดมะเร็งผิวหนังได้ หากได้รับรังสียูวีในปริมาณมากตั้งแต่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี และยังเพิ่มความเสี่ยงของโรคตา อย่างโรคต้อกระจก รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันได้

รังสียูวีมีอยู่ทุกที่และทุกช่วงเวลา แม้แต่ในวันที่อากาศเย็นหรือมีเมฆมาก การได้รับรังสียูวีเป็นเวลาสั้น ๆ เพียงแค่ 15 นาที โดยไม่ได้ทาครีมกันแดดหรือป้องกันผิวจากแสงแดดด้วยวิธีอื่นอย่างถูกต้อง ก็อาจทำให้ผิวถูกทำลายได้

ใช้ครีมกันแดดอย่างไรให้เหมาะสมและปลอดภัยกับลูกน้อย

เด็กเป็นวัยที่ชอบออกไปเล่นสนุกนอกบ้าน และต้องเผชิญกับแสงแดดจัดบ่อย ๆ คุณแม่อาจสงสัยว่าจะปกป้องลูกจากอันตรายของรังสียูวีได้อย่างไร เทคนิคเหล่านี้อาจช่วยให้คุณแม่เลือกครีมกันแดดให้ลูกได้อย่างเหมาะสม

  • ไม่ว่าจะมีผิวขาวหรือผิวเข้ม เด็กทุกคนควรทาครีมกันแดดเพื่อปกป้องผิว โดยเลือกชนิดที่ปกป้องผิวได้อย่างครอบคลุม (Broad-Spectrum) ทั้งรังสียูวีเอและยูวีบี ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป และมีคุณสมบัติกันน้ำและเหงื่อ 
  • ควรทาครีมกันแดดให้ทั่วร่างกาย 30 นาทีก่อนออกไปนอกบ้าน เพื่อให้ครีมกันแดดซึมเข้าสู่ผิวหนัง โดยเน้นทาครีมบนผิวหนังบริเวณที่ไม่มีเสื้อผ้าปกคลุม รวมทั้งจุดที่อาจลืมทาได้ง่าย อย่างใบหู แผ่นหลัง หลังเท้า และเข่า 
  • ทาครีมกันแดดซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง และทาซ้ำทันทีหลังจากว่ายน้ำหรือทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออกมาก
  • หากเด็กมีผิวแพ้ง่ายต่อสารเคมีในครีมกันแดด ควรเลือกครีมกันแดดที่ใช้การหักเหของรังสี UV จากแสงแดด (Mineral sunscreen) ซึ่งมีส่วนผสมของไททาเนียมไดออกไซด์ (Titanium Dioxide) และซิงค์ ออกไซด์ (Zinc Oxide) ซึ่งทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังได้น้อย หลีกเลี่ยงครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารเคมีอย่างออกซิเบนโซน (Oxybenzone) น้ำหอม หรือสารกันเสียที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรทาครีมกันแดดให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน ควรดูแลเด็กไม่ให้โดนแสงแดดมากเกินไป และสวมเสื้อผ้าที่ปกป้องผิวของเด็กจากแสงแดด จะช่วยป้องกันแสงแดดทำร้ายผิวเด็กได้

ป้องกันอันตรายจากแสงแดดให้ลูกน้อยด้วยวิธีอื่น

นอกจากการทาครีมกันแดดแล้ว วิธีการเหล่านี้จะช่วยให้คุณแม่ปกป้องลูกน้อยจากแสงแดดได้ดียิ่งขึ้น เมื่อออกไปเล่นสนุกนอกบ้าน 

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด

วิธีการป้องกันผิวของลูกไม่ให้ถูกทำร้ายจากแสงแดดคือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดในช่วงเวลา 10.00-15.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีแสงแดดจัดที่สุดของวัน และทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังได้มากที่สุด หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรหาสถานที่หลบแดดชั่วคราว เช่น ใต้ต้นไม้ ในร้านขายของ หรือใต้อาคาร

  1. สวมเสื้อผ้าป้องกันแสงแดด

ผิวหนังของเด็กบางกว่าผู้ใหญ่ และกระบวนการสร้างเม็ดสีผิวยังไม่สมบูรณ์นัก จึงทำให้ผิวแสบร้อนหรือไหม้แดดได้ง่าย คุณแม่จึงควรสวมเสื้อผ้าให้ลูกอย่างมิดชิดเมื่อต้องออกไปนอกบ้าน โดยเลือกเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวที่สวมใส่สบาย เนื้อผ้าไม่หนาจนเกินไป และระบายอากาศได้ดี สวมหมวกปีกกว้างและเตรียมแว่นตากันแดดให้ลูกเมื่อต้องออกไปเผชิญแสงแดดจัด

  1. ระวังอาการขาดน้ำในวันที่อากาศร้อน

ควรให้ลูกดื่มน้ำให้เพียงพอตลอดทั้งวันเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำในวันที่อากาศร้อน โดยเฉพาะเมื่อทำกิจกรรมกลางแจ้ง ควรให้ลูกจิบน้ำเพิ่มเติมอย่างน้อย 4 ออนซ์ หรือประมาณ 120 มิลลิลิตร ทุก ๆ 20 นาที หรือในช่วงหยุดพักการทำกิจกรรม และควรสอนลูกให้เข้ามาหลบในที่ร่มเมื่อรู้สึกว่าอากาศร้อนเกินไปจนไม่สบายตัว 

นอกจากนี้ คุณแม่ควรสังเกตอาการผิดปกติของลูกอย่างสม่ำเสมอ หากลูกมีอาการเพลียแดด เช่น ร้องไห้งอแงผิดปกติ ผิวแดง เหงื่อออกมาก หรือเวียนศีรษะ ควรพาลูกมาหลบแดดในที่ร่ม ให้ลูกดื่มน้ำหรือเช็ดตัวให้ลูก หรือหากลูกมีอาการผิวไหม้แดดอย่างรุนแรง เช่น ผิวแดงลอก ปวดแสบร้อนผิว ปวดศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้ หรืออาเจียน ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที

การปกป้องผิวจากแสงแดดเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนทุกช่วยวัย โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีผิวบอบบางกว่าผู้ใหญ่ ควรดูแลตนเองและคนในครอบครัวด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดจัด สวมเสื้อผ้าป้องกันแสงแดด และทาครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ครีมกันแดดหรือการดูแลลูกจากแสงแดด อาจปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ