สาว ๆ หลายคนอาจเป็นกังวลเมื่อประจำเดือนมาช้า แต่อาการนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด การตั้งครรภ์ ไปจนถึงโรคหรือภาวะผิดปกติทางร่างกายบางอย่างที่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์
คนที่ไม่มีปัญหาทางสุขภาพและไม่ได้อยู่ในช่วงวัยทอง (Menopause) ประจำเดือนจะมาทุก ๆ 28 วัน อาจช้าเร็วกว่านั้นได้เล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง 21–38 วัน ฉะนั้น หากคนที่มีประจำเดือนแล้วทิ้งช่วงห่างนานเกิน 38 วัน หรือคนที่รอบประจำเดือนมาสม่ำเสมอ แต่ครั้งปัจจุบันมาช้าเกิน 3 วัน จะถือว่าประจำเดือนมาช้านั่นเอง
สาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมาช้า
ประจำเดือนมาช้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่มักพบได้ เช่น
ความเครียด
ความเครียดอาจส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนบางชนิดออกมามากขึ้น ทำให้การทำงานของระบบการสืบพันธุ์ของร่างกาย การตกไข่และประจำเดือนทำงานผิดปกติไปได้ อีกทั้งความเครียดยังเกี่ยวข้องกับการเพิ่มหรือลดของน้ำหนักตัว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อรอบเดือนได้ด้วย
การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว
การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวอย่างมาก ทั้งน้ำหนักเพิ่มขึ้นและน้ำหนักลดลง อาจส่งผลให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลจนเป็นเหตุให้ประจำเดือนมาช้ากว่าปกติได้
อีกทั้งภาวะอ้วนอาจส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ออกมามากขึ้น ซึ่งระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มสูงเกินไปอาจส่งผลให้ประจำเดือนมาช้า หรือประจำเดือนไม่มาได้
การใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด
ฮอร์โมนคุมกำเนิดชนิดต่าง ๆ ทั้งยาชนิดรับประทาน แผ่นแปะคุมกำเนิด ห่วงอนามัย การฉีดยาคุม หรือการฝังยาคุม ล้วนมีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน (Progestin) หรือฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียวเป็นส่วนประกอบ ซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้จะส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอหรือมาช้า ซึ่งอาการประจำเดือนมาไม่ปกติเหล่านี้จะพบได้ในช่วงแรกเมื่อเริ่มต้นหรือเมื่อหยุดใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด
อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือน
ประจำเดือนมาช้าเป็นหนึ่งในสัญญาณแรก ๆ ของวัยใกล้หมดประจำเดือน (Perimenopause) หรือวัยทอง ซึ่งจะเป็นช่วงอายุประมาณ 45–55 ปี นอกจากอาการประจำเดือนมาช้าแล้ว คนที่อยู่ในวัยทองอาจพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีอาการร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้ง เหงื่ออกตอนกลางคืน นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ผิวแห้ง ผมร่วง และหน้าอกหย่อนคล้อย
การตั้งครรภ์
ประจำเดือนที่ขาดหายไปอาจเป็นอาการที่บ่งบอกว่ากำลังตั้งครรภ์ หากคาดว่าตนเองมีโอกาสตั้งครรภ์และประจำเดือนยังไม่มาสามารถทดสอบด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ โดยให้ตรวจหลังจากประจำเดือนไม่มาอย่างน้อย 7 วันนับจากวันที่ประจำเดือนควรจะมา เพราะการตรวจเร็วเกินไปอาจทำให้ผลตรวจครรภ์ผิดพลาดได้
โรคหรือภาวะผิดปกติบางชนิด
อาการประจำเดือนมาช้าอาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติบางอย่างได้ เช่น
- เข้าสู่ช่วยวัยทองก่อนวัยหรือรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (Premature Ovarian Insufficiency) ซึ่งเป็นภาวะที่รังไข่หยุดทำงานก่อนอายุ 40 ปี
- กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (Polycystic Ovary Syndrome) เป็นภาวะที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายมากผิดปกติ ทำให้เกิดถุงน้ำในรังไข่มากขึ้น และอาจทำให้ประจำเดือนมาช้าตามมาได้
- ต่อมไทรอยด์มีปัญหา เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ หรือภาวะไทรอยด์เป็นพิษ อาจส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติเกี่ยวกับประจำเดือนหรือประจำเดือนมาช้าได้ เนื่องจากฮอร์โมนไทรอยด์มีหน้าที่ช่วยควบคุมรอบเดือนของผู้หญิง
- โรคอื่น ๆ เช่น เบาหวาน หรือโรคเซลิแอค (Celiac Disease)
สุดท้ายนี้ ประจำเดือนมาช้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ คนที่ประจำเดือนมาช้าและเห็นว่าไม่ได้มีโอกาสมาจากการตั้งครรภ์ ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้แพทย์ได้ตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด และวางแผนการรักษาที่เหมาะสม