ความหมาย ปวดกล้ามเนื้อ (Muscle Pain)
ปวดกล้ามเนื้อ (Muscle Pain) คือภาวะตึง ปวดหรืออักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งตามกล้ามเนื้อมัดเดียวหรือหลายมัด สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย มักมีสาเหตุจากการใช้งานกล้ามเนื้อซ้ำ ๆ หรือมากเกินไปจากการทำกิจกรรมประจำวัน แต่ในบางครั้งอาการปวดก็อาจเป็นผลมาจากโรค อาการ หรือยาเช่นกัน
หากอาการปวดเกิดจากการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน อาจใช้วิธีดูแลตัวเองที่บ้านเพื่อบรรเทา แต่หากมีอาการปวดกล้ามเนื้อต่อเนื่องเกิน 3 วันขึ้นไป หรือรักษาด้วยตัวเองที่บ้านแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์
อาการปวดกล้ามเนื้อ
อาการปวดกล้ามเนื้ออาจเกิดขึ้นได้ทันทีหรือหลังจากใช้กล้ามเนื้ออย่างหนัก ปกติแล้วผู้ที่ปวดกล้ามเนื้อสามารถบอกสาเหตุของอาการปวดได้ด้วยตัวเอง อาจปวด อักเสบ หรือระบมที่กล้ามเนื้อเพียงจุดเดียวหรือทั่วร่างกาย
สาเหตุของการปวดกล้ามเนื้อ
สาเหตุของการปวดกล้ามเนื้อ โดยทั่วไปผู้ที่เผชิญอาการปวดกล้ามเนื้อสามารถระบุสาเหตุได้ด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความเครียด หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น
- การใช้งานกล้ามเนื้อมากเกินไปหรือเคลื่อนไหวในท่าเดิมซ้ำ ๆ จนทำให้เกิดความตึงเครียดสะสมที่กล้ามเนื้อ
- การทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันจนทำให้กล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บ เช่น การออกกำลังกาย การทำงาน เป็นต้น
บางครั้งสาเหตุของการปวดกล้ามเนื้อมีผลมาจากโรค อาการ หรือยาได้ เช่น
- โรคในกลุ่มออโตอิมมูน (Autoimmune) หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus) โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ (Dermatomyositis) โรคกล้ามเนื้ออักเสบ (Polymyositis)
- โรคในกลุ่มกล้ามเนื้อและข้ออักเสบ เช่น โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) โรคโพลีมัยแอลเกีย รูมาติก้า (Polymyalgia Rheumatica) โรคกล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)
- โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เช่น โรคทริคิโนซิส (Trichinosis) เกิดจากการกินเนื้อสัตว์ดิบที่มีพยาธิตัวกลมขนาดเล็กชื่อว่าทริคิเนลลา สไปราลิส (Trichinella Spiralis) หรือโรคลายม์ (Lyme Disease) ซึ่งเกิดจากเห็บหรือหมัดที่มีเชื้อแบคทีเรียกัด
- การติดเชื้อต่าง ๆ รวมไปถึงไข้หวัด โรคมาลาเรีย โรคโปลิโอ ฝีที่กล้ามเนื้อ
- เกลือแร่ในเลือดไม่สมดุล (Electrolyte Imbalance) เช่น ปริมาณแคลเซียมหรือโพแทสเซียมในร่างกายน้อยเกินไป หาสาเหตุได้โดยการตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะ
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาลดไขมันในกลุ่มสแตติน (Statins) โคเคน
การวินิจฉัยอาการปวดกล้ามเนื้อ
หากพบว่ามีอาการปวดกล้ามเนื้อต่อเนื่องกันนานเกิน 3 วันขึ้นไป หรือรักษาด้วยตัวเองที่บ้านแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ แพทย์จะมีแนวทางการวินิจฉัยคือตรวจร่างกายโดยถามถึงอาการปวดกล้ามเนื้อ เช่น เริ่มมีอาการปวดกล้ามเนื้อตั้งแต่เมื่อไร ปวดมานานแล้วหรือยัง ปวดบริเวณใดเป็นพิเศษ ช่วงใดบ้างที่มีอาการดีขึ้นหรือแย่ลง มีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ปวดข้อ เป็นไข้ วิงเวียนศีรษะ อาเจียน หรือเปลี่ยนยาที่ใช้ประจำในเร็วๆ นี้หรือไม่
หากแพทย์สงสัยหรือพบว่าผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายที่ไม่ใช่การปวดกล้ามเนื้อแบบธรรมดา แพทย์จะตรวจเพิ่มเติมดังนี้
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เช่น จำนวนเม็ดเลือดแดง จำนวนเม็ดเลือดขาว จำนวนฮีโมโกลบินในเลือด ขนาดของเม็ดเลือด รวมไปถึงจำนวนของเกล็ดเลือด
- ตรวจหาความผิดปกติของเอ็นไซม์และเนื้อเยื่อ
การรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ
การรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดจากสาเหตุทั่วไป จากการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน สามารถรักษาหรือบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อได้ด้วยต้วเองที่บ้าน โดยวิธีการดังนี้
- พักผ่อนร่างกายจากกิจกรรมที่เป็นสาเหตุของอาการปวดกล้ามเนื้อ
- รับประทานยาแก้ปวด เช่น ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) พาราเซตามอล (Paracetamol)
- ประคบร้อนและประคบเย็น ในช่วง 1-3 วันแรก ประคบเย็นด้วยน้ำแข็งห่อผ้าในบริเวณที่มีอาการปวดของกล้ามเนื้อ และหลังจากนั้นประคบร้อนเพื่อบรรเทาอาการและลดการอักเสบ
- ยืดและบริหารกล้ามเนื้อที่มีอาการปวดด้วยความระมัดระวัง
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หรือทำกิจกรรมที่ช่วยบรรเทาความเครียด เช่น การออกกำลังกายประเภทโยคะ หรือการนั่งสมาธิ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น เดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือเต้นแอโรบิก ซึ่งสามารถช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อให้มีสุขภาพที่ดีได้ หลีกเลี่ยงการออกแรงยกของหนักในช่วงที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อ
ปกติแล้วอาการปวดกล้ามเนื้อที่ไม่รุนแรงสามารถรักษาได้ด้วยตนเองที่บ้าน แต่หากเกิดอาการเหล่านี้ควบคู่กับอาการปวดกล้ามเนื้อ ควรไปพบแพทย์โดยด่วน
- อาการปวดยังคงอยู่ หลังจากรับประทานหรือเพิ่มขนาดยาลดไขมันในกลุ่มสแตติน (Statins)
- รักษาด้วยตัวเองที่บ้านในช่วง 2–3 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น
- มีอาการปวดกล้ามเนื้อที่รุนแรงขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือพบอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- มีผื่นแดง บวมขึ้นในบริเวณที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อ
- พบอาการปวดกล้ามเนื้อหลังเปลี่ยนยาที่ใช้อยู่ประจำ
- มีอาการบวมน้ำหรือปัสสาวะน้อยกว่าปกติ
- วิงเวียนศีรษะ มีไข้สูง คลื่นไส้ คอเคล็ด
- กลืนหรือหายใจลำบาก
- โดนหมัดหรือเห็บกัด
ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดกล้ามเนื้อ
อาการปวดกล้ามเนื้อสามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น
- ปัญหาการนอนหลับ เนื่องจากอาการปวดกล้ามเนื้อจะรบกวนเวลานอน ควรหาท่านอนที่เหมาะสมเพื่อไม่ได้เกิดการสัมผัสบริเวณที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อจนต้องตื่นมากลางดึก
- โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) มีรายงานวิจัยพบว่า อาการปวดกล้ามเนื้ออาจพัฒนาไปสู่โรคไฟโบรมัยอัลเจีย ซึ่งเป็นภาวะเรื้อรังที่มีอาการปวดไปทั่วร่างกาย ในผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีประสาทสัมผัสไวขึ้นต่ออาการปวด
การป้องกันอาการปวดกล้ามเนื้อ
วิธีป้องกันหรือลดความเสี่ยงอาการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดจากความเครียดหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เริ่มได้จากตนเอง ดังนี้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน รวมทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกาย
- ยืดกล้ามเนื้อก่อนทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้แรง รวมทั้งหลังออกกำลังกาย
- อบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกาย (Warm Up) และหลังออกกำลังกาย (Cool Down)
- พนักงานออฟฟิศหรือผู้ที่นั่งทำงานประจำที่โต๊ะ หมั่นลุกขึ้นยืน หรือเดินยืดเส้นยืดสายอย่างน้อยทุก ๆ หนึ่งชั่วโมง