ปวดข้อ

ความหมาย ปวดข้อ

ปวดข้อ (Joint Pain) คืออาการเจ็บ ปวด หรือรู้สึกไม่สบายบริเวณข้อต่อต่าง ๆ ตามร่างกาย มักเกิดจากการได้รับบาดเจ็บหรือเป็นผลจากโรคที่ผู้ป่วยมีอาการอยู่ก่อนแล้วอย่างโรคข้ออักเสบ ส่งผลให้การเคลื่อนไหวข้อต่อและการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันทำได้ลำบากขึ้น

อาการปวดข้อเป็นอาการที่พบได้บ่อย หากอาการไม่ร้ายแรงอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยอาการปวดข้อที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันมักดีขึ้นเองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่กรณีที่มีอาการปวดข้อเรื้อรัง อาการอาจคงอยู่นานหลายสัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน การรักษาจึงมีทั้งการใช้ยา การทำกายภาพบำบัด หรือการรักษาอื่น ๆ ตามอาการที่เกิดขึ้น

Joint Pain

อาการปวดข้อ

อาการปวดข้อจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุและบริเวณที่เกิดอาการ โดยทั่วไปผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บหรือปวดบริเวณข้อที่มีอาการ โดยเฉพาะเวลาขยับหรือเคลื่อนไหวข้อต่อส่วนนั้นจะยิ่งปวดมากขึ้น แม้ว่าอาการปวดข้ออาจไม่ร้ายแรงและหายไปได้เอง แต่หากผู้ป่วยมีอาการปวดข้อโดยไม่ทราบสาเหตุหรือมีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา

  • บริเวณรอบข้อต่อบวมแดง รู้สึกอุ่นเมื่อสัมผัสหรือมีอาการกดเจ็บ
  • อาการปวดเกิดขึ้นต่อเนื่องนานกว่า 3 วันหรือมากกว่านั้น
  • มีไข้ แต่ไม่มีสัญญาณอื่นบ่งบอกถึงโรคไข้หวัด

นอกจากนี้ หากเคยประสบอุบัติเหตุร้ายแรง มีอาการข้อต่อบวมขึ้นอย่างกะทันหันหรือเกิดการผิดรูป ปวดข้ออย่างรุนแรงหรือไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อต่อได้ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที

สาเหตุของอาการปวดข้อ

ข้อต่อเป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างกระดูกแต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยให้สามารถขยับหรือเคลื่อนไหวร่างกายได้ หากข้อต่อได้รับบาดเจ็บหรือได้รับความเสียหายจะรบกวนการเคลื่อนไหวและอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดได้ โดยบริเวณที่พบอาการปวดข้อมากที่สุดคือบริเวณเข่า ตามด้วยไหล่และสะโพก แต่อาการปวดข้ออาจสามารถเกิดขึ้นได้ในส่วนอื่น ๆ ของร่างกายอย่างข้อมือหรือข้อเท้าได้เช่นกัน เมื่อยิ่งมีอายุมากขึ้นก็จะมีโอกาสเกิดอาการปวดข้อได้มากขึ้น 

อาการปวดข้อเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • ข้ออักเสบ (Artithritis) สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท โดยอาการปวดข้อมักมากจากภาวะข้อเสื่อม (Osteoarthritis) ที่เกิดจากการเสื่อมสภาพหรือฉีกขาดของเนื้อเยื่อภายในข้อต่อจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุหรือกิจกรรมที่ผู้ป่วยทำ ส่วนอีกประเภทคือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) ถือเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน และหากมีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดการทำลายกระดูกและข้อได้
  • เก๊าท์ เกิดจากการสะสมของกรดยูริกในร่างกายเป็นเวลานาน ทำให้ข้อต่อบวมแดงและเกิดการอักเสบ
  • การใช้งานข้อต่ออย่างหนักหรือได้รับบาดเจ็บ เช่น ข้อเคล็ด เนื้อเยื่อบริเวณข้อต่อฉีกขาด หรือกระดูกหัก

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการปวดข้อ เช่น

  • การอักเสบของถุงน้ำบริเวณข้อต่อ (Bursitis) เป็นการอักเสบของถุงของเหลวหล่อลื่นบริเวณข้อต่อต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือบวมขึ้นได้
  • ข้อเคลื่อน (Dislocation) คืออาการที่ข้อเคลื่อนหรือหลุดออกจากตำแหน่งปกติ ทำให้รู้สึกเจ็บปวดและไม่สามารถขยับข้อต่อได้
  • เอ็นอักเสบ (Tendinitis) เกิดจากการได้รับบาดเจ็บหรือการใช้งานเอ็นกล้ามเนื้อเป็นเวลานาน จึงทำให้เกิดอาการบวมเจ็บขึ้น
  • ข้ออักเสบติดเชื้อ (Septic Arthritis) เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เชื้อโรคอาจแพร่ไปสู่อวัยวะต่าง ๆ ผ่านกระแสเลือดและทำให้เกิดการอักเสบขึ้นที่บริเวณกระดูกและข้อต่อได้
  • โรคเลือดออกในข้อ (Hemathrosis) เกิดจากการได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อ ทำให้มีเลือดออกภายในข้อต่อ 
  • โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus) เกิดจากการบกพร่องของภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ไปทำลายเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ และเกิดอาการปวดตามข้อจากการอักเสบขึ้น
  • โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งกระดูก มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมีย

การวินิจฉัยอาการปวดข้อ

แพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพของผู้ป่วย และตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อหาสาเหตุที่เป็นไปได้ จากนั้นอาจมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การเอกซเรย์ เพื่อหาสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อจากภาพเอกซเรย์ที่แสดงรายละเอียดของข้อต่อได้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะความเสียหายของข้อต่อที่เกิดจากข้ออักเสบ
  • การตรวจเลือด ใช้ในกรณีที่แพทย์สันนิษฐานว่าอาการปวดข้อของผู้ป่วยอาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือการติดเชื้อ ในบางรายอาจใช้การตรวจวัดอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดงร่วมด้วย (Erythrocyte Sedimentation Rate) เพื่อประเมินความรุนแรงของอาการอักเสบที่เกิดขึ้น

การรักษาอาการปวดข้อ

วิธีรักษาอาการปวดข้ออาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุ อาการและความรุนแรง หากแพทย์วินิจฉัยว่าอาการปวดข้อเกิดจากโรคข้ออักเสบ ทั้งภาวะข้อเสื่อมหรือข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่เป็นภาวะเรื้อรังนั้นยังไม่มีวิธีการใดที่จะรักษาอาการปวดข้อให้หายขาดได้หรือมีโอกาสที่จะกลับมาเกิดขึ้นซ้ำได้อีก การรักษาจึงจะเน้นไปที่การป้องกันบรรเทาอาการปวดและรักษาไม่ให้อาการแย่ลง แต่หากมีการอาการรุนแรงหรืออาการปวดกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนข้อต่อ

การดูแลตนเองที่บ้าน

ผู้ป่วยที่มีอาการในระยะแรกและไม่รุนแรงสามารถดูแลตนเองได้ที่บ้าน ดังนี้

  • หยุดพักการใช้งานข้อต่อโดยเหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงหรือทำให้เกิดความเจ็บปวด
  • ใส่เฝือกหรือสวมอุปกรณ์ช่วยพยุงข้อต่อเพื่อลดการเคลื่อนไหวของข้อ ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดบวม  ลดแรงเสียดสีหรือแรงกระแทกขณะเคลื่อนไหวข้อต่อ 
  • ประคบเย็นบริเวณที่ปวด ครั้งละ 15 นาที วันละ 2-3 ครั้ง
  • ใช้ผ้ายืดพันรอบข้อ (Elastic Wrap) เพื่อช่วยลดอาการปวดบวม
  • ยกข้อต่อที่มีอาการปวดให้สูงกว่าระดับตำแหน่งของหัวใจ ซึ่งจะช่วยลดอาการบวมได้
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยอาจเลือกออกกำลังกายในระดับปานกลาง เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อและข้อเกิดการยึดหรือแข็งเกร็งเป็นเวลานานจนอาจนำไปสู่อาการชาหรือเคลื่อนไหวข้อต่อได้ลำบากยิ่งขึ้น
  • วิธีการอื่น ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น แช่น้ำอุ่น นวดตามบริเวณที่ปวด และออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อ 

การรักษาโดยการใช้ยา

นอกเหนือจากการดูแลตนเอง อาการปวดข้ออาจบรรเทาได้ด้วยการใช้ยา เช่น

  • การใช้ยาทาแก้ปวด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาทาเฉพาะที่  
  • การรับประทานยาแก้ปวดทั่วไป อย่างยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) สำหรับอาการปวดไม่รุนแรงและไม่มีอาการบวม แต่หากอาการปวดรุนแรงขึ้นและมีอาการบวมร่วมด้วยอาจต้องใช้ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) หรือยากลุ่ม COX-2 Inhibitors 
  • แพทย์อาจสั่งจ่ายยาระงับปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid) หากผู้ป่วยรับประทานยากลุ่ม NSAIDs แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แต่ตัวยาอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง อย่างอาการง่วงซึมและท้องผูก
  • แพทย์อาจให้รับประทานยาคลายกล้ามเนื้อ โดยอาจใช้ร่วมกับยากลุ่ม NSAIDs
  • การรับประทานยากันชักหรือยาต้านเศร้าตามดุลยพินิจของแพทย์
  • การฉีดสเตียรอยด์ระงับอาการปวด มักใช้ในผู้ป่วยข้ออักเสบหรือเอ็นอักเสบ ซึ่งแพทย์จะฉีดให้ผู้ป่วยทุก ๆ 3-4 เดือน เนื่องจากยามักออกฤทธิ์เพียงชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ยาสเตียรอยด์อาจมีผลข้างเคียงที่บดบังอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นและอาจทำให้ผู้ป่วยใช้งานข้อต่ออย่างหนักโดยไม่ระมัดระวัง รวมทั้งยาสเตียรอยด์ยังมีผลข้างเคียงต่อระบบการทำงานอื่น ๆ ในร่างกาย การใช้ยาจึงต้องอยู่ภายใต้ความควบคุมของแพทย์ 
  • การฉีดน้ำไขข้อเทียม (Intraarticular Hyaluronic Acid Injection) เพื่อช่วยรักษาอาการข้อเสื่อม 

การรักษาด้วยวิธีการอื่น

แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อต่อ ช่วยฟื้นฟูให้ข้อต่อแข็งแรงและเคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น ซึ่งนักกายภาพบำบัดอาจใช้วิธีการรักษาที่หลากหลาย เช่น การรักษาด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ การประคบร้อนหรือประคบเย็น การกระตุ้นการทำงานของเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า เป็นต้น

นอกจากนี้ มีงานวิจัยพบว่าการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างกลูโคซามีนและคอนดรอยติน (Glucosamine and Chondroitin) มีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวดและฟื้นฟูการทำงานของข้อต่อ อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารเสริมเพื่อรักษาโรคข้อเสื่อมในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลที่เพียงพอที่จะรับรองประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระยะยาว จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยา

ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดข้อ

เนื่องจากอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงระบุภาวะแทรกซ้อนที่แน่ชัดได้ยาก โดยทั่วไป ความเสียหายของข้อต่อมักเกิดจากการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการอักเสบภายในข้อจากสาเหตุต่าง ๆ จึงอาจนำไปสู่อาการปวดเรื้อรังหรืออักเสบรุนแรงจากภาวะต่าง ๆ เช่น ข้ออักเสบ เก๊าท์ เอ็นหรือถุงน้ำบริเวณข้อต่ออักเสบ ดังนั้น หากผู้ป่วยมีอาการปวดข้อโดยไม่ทราบสาเหตุ อาการไม่ดีขึ้น หรือแย่ลงหลังจากการดูแลตนเองที่บ้าน ควรรีบไปพบแพทย์และรับการรักษา ซึ่งอาจช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพดีขึ้น

การป้องกันอาการปวดข้อ

อาการปวดข้อนั้นเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ จึงอาจไม่มีวิธีป้องกันได้อย่างสิ้นเชิง แต่สามารถลดโอกาสในการเกิดอาการปวดข้อได้ด้วยการปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม เช่น

  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรมที่ต้องออกแรงบริเวณข้อต่อมาก เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการปวดข้อ เช่น การใช้แรงในการทำงาน การเล่นกีฬาที่หักโหม เป็นต้น
  • ควรอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง หากไม่ได้ออกกำลังกายเป็นเวลานาน ไม่ควรหักโหม ให้เริ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือเริ่มจากกิจกรรมเบา ๆ 
  • หากมีอาการปวดข้ออยู่ก่อนแล้ว ควรเลือกออกกำลังด้วยการยืดเส้นเพื่อป้องกันกล้ามเนื้อข้อต่อและเส้นเอ็นยึด หรืออาจออกกำลังกายเบา ๆ ด้วยการขี่จักรยานหรือว่ายน้ำ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดแรงกระแทกหรือกดทับบริเวณข้อที่ปวด
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เนื่องจากจะช่วยลดแรงกดทับบริเวณข้อต่อ