ปวดฝ่าเท้า

ความหมาย ปวดฝ่าเท้า

ปวดฝ่าเท้า เป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นบริเวณใต้ฝ่าเท้า เนินเท้า และส้นเท้า ในบางกรณีอาการเจ็บปวดอาจลามไปยังบริเวณข้อเท้า ขา หัวเข่า สะโพก หรือหลัง ซึ่งแต่ละบุคคลจะมีอาการแตกต่างกันไปตามสาเหตุ โดยทั่วไปอาการปวดมักดีขึ้นภายในระยะเวลา 2-3 สัปดาห์

อาการปวดฝ่าเท้าเป็นอาการที่พบได้บ่อย เนื่องจากฝ่าเท้าเป็นส่วนโค้งของเท้าเชื่อมต่อระหว่างนิ้วเท้าและส้นเท้า ทำหน้าที่รองรับน้ำหนักหรือแรงกระแทก ช่วยสร้างความสมดุลและมั่นคงขณะยืน เดินหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยมักพบในนักกีฬาที่ใช้แรงบริเวณฝ่าเท้ามาก แต่อาจพบในบุคคลทั่วไปได้เช่นกัน 

Sole of Feet Pain

อาการปวดฝ่าเท้า

อาการปวดฝ่าเท้าอาจเกิดขึ้นที่บริเวณเท้าข้างใดข้างหนึ่งหรืออาจเกิดขึ้นทั้งสองข้างพร้อมกัน ผู้ป่วยมักรู้สึกปวด เจ็บแปลบหรือเจ็บเหมือนถูกไฟช็อตบริเวณฝ่าเท้า โคนนิ้วเท้า หรือส้นเท้า มีอาการบวมนูน มีรอยช้ำ โดยจะรู้สึกเจ็บหรือปวดเพิ่มขึ้นในขณะยืน เดิน ในระหว่างก่อนหรือหลังทำกิจกรรมที่ใช้เท้ามาก ทั้งนี้ อาการปวดฝ่าเท้าในผู้ป่วยบางรายอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจรู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรงในตอนเช้าหลังตื่นนอน 

โดยทั่วไป อาการปวดฝ่าเท้าที่ไม่รุนแรงหรือไม่ได้เกิดจากสาเหตุร้ายแรง ผู้ป่วยอาจใช้วิธีการดูแลตนเองที่บ้านเพื่อช่วยบรรเทาอาการในเบื้องต้นด้วยการแช่น้ำอุ่น นวดเท้าและหยุดพักการใช้งานเท้า แต่หากอาการปวดฝ่าเท้ายังไม่ดีขึ้นหรือรู้สึกปวดรุนแรงขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เนื่องจากอาจเป็นสาเหตุในการเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาในภายหลัง โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควรระมัดระวังการได้รับบาดเจ็บหรืออาการปวดที่บริเวณเท้าเป็นพิเศษ เนื่องจากสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย

สาเหตุของอาการปวดฝ่าเท้า

อาการปวดฝ่าเท้าอาจเกิดขึ้นจากการได้รับบาดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อ กระดูก เอ็นกล้ามเนื้อ เอ็นยึดบริเวณเท้า หรืออาจเป็นความผิดปกติจากระบบโครงสร้างภายใน โดยมักจะถูกกระตุ้นจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น น้ำหนักตัวมากเกินไป อายุมากขึ้น การใช้งานบริเวณฝ่าเท้ามากเกินไป หรือปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท เป็นต้น

โดยสาเหตุของอาการปวดฝ่าเท้าที่พบได้บ่อย มีดังนี้

เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ (Plantar Fasciitis)

เอ็นฝ่าเท้าอักเสบหรือที่รู้จักกันในชื่อโรครองช้ำ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาการปวดฝ่าเท้า ส่วนมากเป็นอาการที่มักพบในนักวิ่ง แต่ก็สามารถพบได้ในบุคคลทั่วไปเช่นกัน โดยสาเหตุอาจเป็นผลมากจากการได้รับบาดเจ็บ การใช้งานเท้าหนักเกินไป หรือการอักเสบของพังผืดใต้ฝ่าเท้า (Plantar Fascia) ที่มีหน้าที่ในการรองรับแรงกระแทกบริเวณฝ่าเท้า รองรับน้ำหนักตัว และช่วยพยุงโครงสร้างเท้าให้เหมาะสม 

ผู้ป่วยเอ็นฝ่าเท้าอักเสบจะรู้สึกเจ็บปวด มีอาการกดเจ็บบริเวณส้นเท้าและฝ่าเท้า ซึ่งอาการมักรุนแรงขึ้นในช่วงตื่นนอนตอนเช้า หลังจากยืนหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้เท้าเป็นเวลานาน หากมีอาการเรื้อรังอาจมีหินปูนเกิดขึ้นบริเวณกระดูกส้นเท้าที่เอ็นฝ่าเท้ายึดเกาะอยู่จนอาจทำให้เกิดอาการปวดข้อเท้าหรือปวดตึงของกล้ามเนื้อน่องและเอ็นร้อยหวาย เนื่องจากจังหวะการเดินหรือลงน้ำหนักที่ผิดปกติจากอาการเจ็บส้นเท้า 

เท้าแบน (Flat Feet หรือ Fallen Arch)

เท้าแบน เป็นลักษณะของเท้าที่ไม่มีส่วนโค้งเว้าตรงกลางเท้า โดยอาจเป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดจากการเจริญเติบโตไม่เต็มของกระดูกเท้า หรืออาจเกิดขึ้นภายหลังจากเอ็นเท้าอักเสบ (Posterior Tibial Tendon Dysfunction : PTTD) ซึ่งเป็นการได้รับบาดเจ็บหรือการอักเสบของเอ็นที่ยึดเท้าด้านในกับกล้ามเนื้อน่อง จึงทำให้ไม่สามารถรองรับอุ้งเท้าได้ตามปกติ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวด บริเวณด้านในฝ่าเท้าและข้อเท้ามีอาการบวม โดยอาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีการลงน้ำหนักในการทำกิจกรรมต่าง ๆ 

ภาวะเท้าล้มเอียงเข้าด้านใน (Overpronation)

เท้าล้มเป็นลักษณะของเท้าที่ขยับผิดปกติขณะก้าวเดิน โดยส้นเท้าด้านนอกจะสัมผัสพื้นก่อนและเท้าจะหมุนเข้าด้านใน สาเหตุอาจมาจากภาวะเท้าแบน หากมีอาการเป็นเวลานานอาจทำลายกล้ามเนื้อ เอ็นยึด และเอ็นกล้ามเนื้อจนทำให้ปวดฝ่าเท้าขึ้น นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดอาการอื่นตามมา เช่น ปวดลามไปยังเข่า สะโพก หลัง รวมทั้งอาจทำให้เกิดตาปลาหรือนิ้วเท้าผิดรูป (Hammer Toe) 

เท้าโก่งงอมากผิดปกติ (Cavus Foot)

เป็นสภาวะที่อุ้งเท้าโค้งสูงขึ้นมามากกว่าระดับอุ้งเท้าปกติ โดยอาจเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะสมองพิการ (Cerebral Palsy) หรือภาวะ Charcot-Marie-Tooth Disease ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดขณะยืนหรือเดิน และอาจทำให้เกิดอาการอื่นตามมา เช่น ตาปลา นิ้วเท้าผิดรูป นิ้วเท้างอจิก (Claw Toe) และอาจเสี่ยงต่อการเกิดข้อเท้าพลิกได้ง่ายเนื่องจากรูปเท้าผิดปกติ ทำให้การลงน้ำหนักของเท้าไม่มั่นคง

นอกจากนี้ สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดฝ่าเท้า เช่น 

  • ปมประสาทเท้าอักเสบ (Morton’s Neuroma) เป็นอาการเจ็บปวดบริเวณเนินเท้าจากการหนาตัวของเนื้อเยื่อรอบเส้นประสาทที่เชื่อมกับนิ้วเท้า ทำให้เกิดอาการปวด บวม หรือช้ำได้
  • เอ็นฝ่าเท้าฉีกขาด (Sprain) เป็นอาการบาดเจ็บของเอ็นกระดูกเนื่องจากการฉีกขาดหรือเหยียดตึงมากเกินไป โดยอาการปวดอาจเกิดขึ้นที่บริเวณกลางฝ่าเท้าหรือบริเวณเนินเท้าด้านหน้า ซึ่งมักเกิดจากการได้รับบาดเจ็บขณะเล่นกีฬา อย่างฟุตบอลหรือบัลเลต์

การวินิจฉัยอาการปวดฝ่าเท้า

แพทย์จะสอบถามอาการเบื้องต้น ประวัติการใช้งานเท้าและการดูแลการรักษาที่ผ่านมา เพื่อวินิจฉัยสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดฝ่าเท้า เช่น ตำแหน่งหรือบริเวณที่เกิดอาการปวด กิจกรรมที่ทำก่อนจะมีอาการ ลักษณะของอาการปวด เป็นต้น หลังจากนั้นจะสังเกตอาการอื่นที่เกิดขึ้นร่วมด้วย โดยจะให้ผู้ป่วยทดลองขยับบริเวณเท้า จากนั้นแพทย์จะค่อย ๆ กดบริเวณเส้นเอ็นที่เท้า พร้อมสังเกตสัญญาณที่บ่งบอกอาการอักเสบอย่างอาการบวมแดง รวมไปถึงมีการวินิจฉัยปฏิกิริยาตอบสนอง การทำงานและความสมดุลของเท้าของผู้ป่วยจากการตรวจร่างกายเบื้องต้นด้วย

นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้แก่ การเอกซเรย์ การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการอัลตราซาวด์ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์มองเห็นภาพรายละเอียดความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณฝ่าเท้าได้ชัดเจนขึ้น

การรักษาอาการปวดฝ่าเท้า

การรักษาอาการปวดฝ่าเท้าจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการปวดฝ่าเท้า โดยอาจแบ่งวิธีการรักษาออกได้ ดังนี้

การดูแลตนเองที่บ้าน

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง การดูแลตนเองที่บ้านอาจช่วยบรรเทาอาการปวดให้ดีขึ้นได้ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้เท้าอย่างน้อย 2-3 วันหรือจนกว่าจะหายดี เพื่อพักเท้าและบรรเทาอาการเจ็บปวด โดยเฉพาะการทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงเท้ามาก เช่น การวิ่งหรือเล่นบาสเกตบอลที่เป็นกีฬาที่ใช้การกระโดดค่อนข้างมาก 
  • ประคบเย็นบริเวณที่ปวดวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 10-15 นาที จนกว่าอาการจะทุเลา
  • รับประทานยา NSAIDs ที่หาซื้อได้ทั่วไปเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด อย่างยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรืออาจใช้ยาชนิดทาเพื่อบรรเทาอาการปวดบริเวณฝ่าเท้า โดยก่อนใช้ยาชนิดใด ๆ ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนเสมอ
  • ใช้แผ่นรองเท้าเพื่อป้องกันการเสียดสีในบริเวณที่มีอาการปวด
  • เลือกสวมรองเท้าที่รองรับการเดิน หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าแตะที่ไม่มีการรองรับรูปเท้าที่เหมาะสมหรือเดินเท้าเปล่าแม้จะเดินอยู่ในบ้าน เพื่อช่วยลดแรงกดทับหรือเสียดสีที่บริเวณต่าง ๆ ของเท้าในส่วนที่มีปัญหา 
  • ในกรณีพบว่ามีอาการของภาวะเอ็นฝ่าเท้าอักเสบควรออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อน่อง พังผืดใต้ฝ่าเท้า และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเท้า

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์สามารถรักษาอาการปวดเท้าได้หลายวิธี โดยพิจารณาตามสาเหตุที่ได้จากผลการวินิจฉัย ดังนี้

  • ให้ผู้ป่วยสวมรองเท้าที่ผลิตขึ้นมาพิเศษสำหรับรองรับรูปเท้าของผู้ป่วยโดยเฉพาะ
  • ใช้อุปกรณ์พยุงอุ้งเท้า (Night Splints) เพื่อปรับอุ้งเท้าให้ปกติหรือรองรับแรงกระแทกต่อฝ่าเท้า
  • สั่งจ่ายยา NSAIDs ที่ออกฤทธิ์รุนแรงขึ้นหรือการฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ให้แก่ผู้ป่วย
  • ใช้อุปกรณ์ช่วยค้ำพยุงเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นบริเวณฝ่าเท้าดีขึ้น
  • ผ่าตัดในกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น

นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยลดน้ำหนัก งดยืนเป็นเวลานาน งดวิ่งหรือเล่นกีฬาที่ต้องใช้แรงบริเวณเท้ามากจนกว่าอาการจะดีขึ้น และดูแลตนเองที่บ้านควบคู่ไปด้วยเพื่อให้ผลการรักษาดียิ่งขึ้น 

ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดฝ่าเท้า

เนื่องจากอาการปวดฝ่าเท้าเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงไม่สามารถระบุภาวะแทรกซ้อนที่แน่ชัดได้ แต่หากปล่อยไว้ไม่รักษาให้หายขาดก็อาจนำไปสู่อาการปวดฝ่าเท้าเรื้อรังจนยากต่อการรักษา หรืออาการปวดอาจลุกลามไปยังบริเวณอื่น เช่น ข้อเท้า หัวเข่า หรือหลัง ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน 

นอกจากนี้ อาการปวดฝ่าเท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวานยังสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เท้าตามมาได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อเกิดบาดแผลที่เท้าขึ้นและปล่อยให้อาการรุนแรงขึ้นโดยไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียการทำงานของอวัยวะ การถูกตัดนิ้วเท้าหรือเท้า

การป้องกันอาการปวดฝ่าเท้า

อาการปวดฝ่าเท้าสามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลตนเอง ดังนี้

  • สวมรองเท้าทุกครั้งเมื่อออกจากบ้านเพื่อเป็นการป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น โดยควรเลือกรองเท้าที่สวมใส่สบายและมีพื้นรองรับการเดินอย่างเหมาะสม 
  • หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าแตะ รองเท้าส้นสูง หรือรองเท้าหัวแหลมบีบหน้าเท้า
  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • ก่อนออกกำลังกายเสมอ ควรยืดเส้นและเตรียมร่างกายให้พร้อม นอกจากนี้ ควรออกกำลังบริเวณน่องและขา เพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเส้นอ็นบริเวณเท้า 
  • ใช้พรมยางปูรองที่พื้นภายในบ้าน เช่น บริเวณอ่างล้างจาน หรือโต๊ะยืนทำงาน เพื่อลดแรงกดทับจากฝ่าเท้าจากการยืนเป็นเวลานาน และช่วยป้องกันการเกิดอาการปวดฝ่าเท้า

อย่างไรก็ตาม แม้อาการปวดฝ่าเท้าจะเป็นอาการที่พบได้ในชีวิตประจำวัร แต่หากมีอาการผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นและอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์หลังดูแลตนเองที่บ้านหรืออาการแย่ลง ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป