ปวดเข่าด้านใน 6 สาเหตุและวิธีดูแลรักษา

ปวดเข่าด้านในเป็นอาการปวดบริเวณด้านในของหัวเข่าข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง โดยอาจมีอาการปวดแปลบ ปวดจี๊ด ๆ หรือปวดตุบ ๆ ก็ได้ บางคนอาจมีอาการหัวเข่าบวมแดงหรือช้ำ รู้สึกอุ่น ขยับหัวเข่าลำบาก ซึ่งส่งผลต่อการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน

เข่าด้านในประกอบด้วยกระดูก เส้นเอ็น และเนื้อเยื่อต่าง ๆ มากมาย ซึ่งทำหน้าที่รองรับน้ำหนักและช่วยในการเคลื่อนไหว เข่าด้านในจึงเกิดอาการปวดได้ง่ายจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การบาดเจ็บจากการใช้งานข้อเข่าหนักและการเล่นกีฬา รวมถึงโรคที่เกิดบริเวณเข่า หากอาการปวดเข่าด้านในไม่รุนแรงสามารถดูแลตัวเองในเบื้องต้น ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวด บวม และกลับมาใช้งานข้อเข่าได้ตามปกติ

ปวดเข่าด้านใน

สาเหตุของการปวดเข่าด้านใน

ปวดเข่าด้านในเกิดได้จากหลายสาเหตุ และทำให้เกิดอาการต่างกัน ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อย มีดังนี้

1. การบาดเจ็บที่เอ็นเข่าด้านใน (Medial Collateral Ligament Injury)

เอ็นเข่าด้านใน (Medial Collateral Ligament: MCL) เป็นเอ็นที่ช่วยยึดข้อเข่าระหว่างกระดูกขาท่อนบน (Femur) และกระดูกขาท่อนล่าง หรือกระดูกหน้าแข้ง (Tibia) เข้าด้วยกัน ทำให้หัวเข่าคงรูป ไม่บิดเข้าด้านใน และเคลื่อนไหวได้อย่างมั่นคง 

อย่างไรก็ดี หากเกิดการบาดเจ็บของเอ็นเข่าด้านในจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ได้รับแรงกระแทกที่เข่าด้านในโดยตรงขณะเล่นกีฬา การยืดหรือบิดหัวเข่ามากเกินไป การย่อตัว การยกของหนัก การกระโดดผิดท่า และการใช้งานข้อเข่าซ้ำ ๆ อาจทำให้เข่าด้านในเกิดการบาดเจ็บและอักเสบ กรณีที่รุนแรงอาจทำให้เอ็นเข่าฉีกขาดได้ 

การบาดเจ็บของเอ็นเข่าด้านในมักทำให้ปวดเข่าด้านใน ซึ่งมีลักษณะปวดแปลบอย่างกะทันหันหลังได้รับบาดเจ็บ และจะเจ็บมากขึ้นเมื่อลงน้ำหนักที่เข่า ได้ยินเสียงเมื่อขยับข้อเข่า เข่าบวม ฟกช้ำ ข้อเข่าติดแข็งหรือหลวม ทำให้เดินไม่มั่นคง

2. การฟกช้ำของเข่าด้านใน (Knee Contusion)

การฟกช้ำที่เข่ามักเกิดจากการถูกกระแทกที่เข่าอย่างรุนแรง หรือจากอุบัติเหตุ เช่น การหกล้มและตกบันได ทำให้เส้นเลือดฝอยใต้เข่าด้านในแตกออก และ อาการจะแตกต่างกันตามความรุนแรง 

  • กรณีที่แรงกระแทกไม่รุนแรงมาก อาจส่งผลกระทบต่อชั้นเนื้อเยื่อหรือกล้ามเนื้อ รอยช้ำสีม่วงแดงหรือเขียว เมื่อสัมผัสโดนจะรู้สึกเจ็บ อาการมักหายได้ภายในไม่กี่วัน
  • กรณีได้รับแรงกระแทกรุนแรง ซึ่งส่งผลถึงกระดูกสะบ้าบริเวณหัวเข่า อาจทำให้ปวดเข่าด้านในอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเวลายืดขา เข่าบวม ข้อเข่าอ่อนแรงหรือติดแข็ง ซึ่งจะใช้เวลาหายช้ากว่า

3. ข้อเข่าด้านในเสื่อม (Knee Osteoarthritis)

ข้อเข่าเสื่อมเกิดจากความเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนบริเวณเข่าด้านในที่หุ้มปลายกระดูกขาท่อนบนและกระดูกขาท่อนล่าง ซึ่งอาจพบในผู้สูงอายุ การได้รับบาดเจ็บ ผู้มีโรคอ้วน และพันธุกรรม ทำให้มีอาการปวดเข่าด้านในเวลาที่เคลื่อนไหว เข่าบวม หากไม่ได้ขยับเข่าเป็นเวลานาน เช่น หลังตื่นนอน อาจมีอาการข้อต่อติดแข็ง ได้ยินเสียงในเข่า และขยับหัวเข่าไม่ได้

4. รูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)

รูมาตอยด์ หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ ทำให้ข้อต่อต่าง ๆ ตามร่างกายเกิดการอักเสบ ซึ่งข้อเข่าเป็นจุดที่เกิดอาการได้บ่อย 

ผู้ที่เป็นโรครูมาตอยด์จะมีอาการปวดเข่าเรื้อรัง โดยอาจปวดเข่าด้านในร่วมกับมีอาการบวม ขยับเข่าลำบาก โดยเฉพาะหลังตื่นนอน หรือเมื่อไม่ได้เคลื่อนไหวนาน ๆ และจะปวดมากขึ้นหากใช้งานข้อเข่ามาก รวมทั้งอาจมีอาการอื่นด้วย เช่น มีไข้ต่ำ ๆ น้ำหนักตัวลดลง อ่อนเพลีย ตาแห้ง ปากแห้ง

5. ถุงน้ำที่เข่าด้านในอักเสบ (Pes Anserine Bursitis)

ภาวะนี้เกิดจากการที่ถุงของเหลวหล่อลื่น (Bursa) บริเวณเส้นเอ็นเข่าด้านใน (Pes Anserine) เกิดการอักเสบ ถุงน้ำมีหน้าที่ช่วยรองรับกระดูกหน้าแข้งและเส้นเอ็น เพื่อช่วยลดแรงเสียดสีและแรงกระแทกที่เข่าขณะเคลื่อนไหวร่างกาย 

ถุงน้ำที่เข่าด้านในเกิดการอักเสบได้จากหลายสาเหตุ เช่น จากการใช้งานข้อเข่าอย่างหนักและต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน การเล่นกีฬา เช่น การวิ่ง การขี่จักรยาน รวมถึงผู้ที่มีโรคอ้วน โรคข้อเข่าเสื่อม หมอนรองกระดูกข้อเข่าด้านในฉีกขาด ซึ่งจะทำให้เกิดอาการเข่าบวม ปวดเข่าด้านในต่ำกว่าแนวข้อเข่าลงมาเล็กน้อย โดยจะปวดมากขึ้นเมื่อเดินขึ้นลงบันไดและออกกำลังกาย

6. การบาดเจ็บที่เนื้อเยื่อหุ้มข้อเข่าด้านใน (Plica Syndrome)

บริเวณหัวเข่าจะมีเนื้อเยื่อที่หุ้มข้อเข่าที่ช่วยในการยืดและงอเข่า หากใช้งานข้อเข่าอย่างหนัก ออกกำลังกาย เช่น วิ่ง หรือขี่จักรยาน รวมถึงการได้รับแรงกระแทกจากอุบัติเหตุที่เข่าด้านในโดยตรง จะทำให้เนื้อเยื่อที่บริเวณเข่าด้านในเกิดการบาดเจ็บ ทำให้เกิดอาการปวดเข่าด้านใน โดยเฉพาะเวลาขึ้นลงบันไดหรือลุกขึ้นหลังจากนั่งยอง ๆ เข่าบวม มีเสียงในเข่า เหยียดเข่าตรงไม่ได้ หรือเข่าอ่อนแรง

วิธีดูแลตัวเองเมื่อปวดเข่าด้านใน

เมื่อมีอาการปวดเข่าด้านใน ควรดูแลตัวเองในเบื้องต้นด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • หยุดพักการใช้งานข้อเข่า หลีกเลี่ยงการเดิน วิ่ง หรือทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกระแทกหรือการลงน้ำหนักบริเวณเข่าจนกว่าอาการปวดจะหายดี
  • ใช้ผ้าห่อน้ำแข็งหรือเจลเย็นสำเร็จรูปประคบที่เข่า ครั้งละ 15–20 นาที วันละ 2–3 ครั้ง ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดเข่าด้านใน ลดอาการบวมและอักเสบ
  • พันผ้ายืดบริเวณหัวเข่า ซึ่งจะช่วยลดอาการบวมจากอาการปวดเข่าด้านใน
  • ใช้หมอนหนุนใต้เข่าขณะนอนหลับ การยกหัวเข่าขึ้นสูงกว่าระดับหัวใจจะช่วยลดอาการบวมและปวดเข่าด้านในได้
  • ฝึกบริหารข้อเข่า เพื่อลดอาการปวดเข่าด้านใน ช่วยยืดกล้ามเนื้อเข่าที่ตึง และช่วยให้เคลื่อนไหวข้อเข่าได้ดีขึ้น
  • ใช้ยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เอง เช่น ยาทาแก้ปวด หรือยาแก้ปวดชนิดรับประทาน เช่น พาราเซตามอล และไอบูโพรเฟน

หากอาการปวดเข่าด้านในไม่ดีขึ้น ปวดอย่างรุนแรงหรือเรื้อรังจนเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการนอนหลับ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น ใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงเข่า ฉีดยาสเตียรอยด์แก้ปวด กายภาพบำบัด การเจาะระบายน้ำในข้อเข่า และการผ่าตัด