ปวดเอ็นร้อยหวาย รู้จักสาเหตุและวิธีการรักษาอย่างเหมาะสม

ปวดเอ็นร้อยหวาย คืออาการปวด ตึง และบวมบริเวณด้านหลังน่องหรือส้นเท้า โดยอาการปวดอาจเกิดขึ้นเมื่อบริเวณเอ็นร้อยหวายอักเสบจากการใช้งานซ้ำ ๆ อย่างหนัก เช่น ออกกำลังกายมากเกินไป เล่นกีฬาที่มีการเดิน วิ่ง หรือกระโดดบนพื้นแข็งบ่อย ๆ จนอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ เช่น เอ็นร้อยหวายอักเสบ เอ็นร้อยหวายฉีกขา

ปวดเอ็นร้อยหวายมักเกิดบ่อยในผู้ที่ชอบออกกำลังกาย มีน้ำหนักตัวมาก หรือทำงานที่ต้องยืนนาน ๆ ซึ่งอาการปวดเอ็นร้อยหวายอาจส่งผลต่อการเดินหรือการทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้ จึงควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมตามความรุนแรงและสาเหตุของอาการ เช่น การประคบเย็น การกินยา และอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดหากเอ็นร้อยหวายเกิดการฉีกขาด 

ปวดเอ็นร้อยหวาย

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดเอ็นร้อยหวาย

อาการปวดเอ็นร้อยหวายสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนเมื่อบริเวณเอ็นร้อยหวายอักเสบ โดยอาการปวดบริเวณเอ็นร้อยหวายอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น

1. เอ็นร้อยหวายอักเสบ (Achilles tendonitis)

ปวดเอ็นร้อยหวายมักเกิดจากเอ็นร้อยหวายอักเสบ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ บริเวณส้นเท้าและข้อเท้า เช่น ปวด ตึง บวม กดแล้วเจ็บ นอกจากนี้ อาจทำให้ขาอ่อนแรงอีกด้วย โดยสาเหตุอาจเกิดจากการใช้งานเอ็นร้อยหวายซ้ำ ๆ อย่างหนักหน่วงหรือเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น

  • ไม่อบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกาย โดยเฉพาะบริเวณกล้ามเนื้อน่องขา
  • เล่นกีฬาที่มีการวิ่ง เคลื่อนที่ หยุด หรือหมุนตัว เช่น กีฬาเทนนิส หรือกีฬาบาสเกตบอล
  • เริ่มเล่นกีฬาชนิดใหม่หรือออกกำลังกายในท่าที่ยังไม่คุ้นเคย
  • เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายหนักหน่วงเกินไป
  • ใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสมในการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา

นอกจากนี้ อาจมีปัจจัยอื่นที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเอ็นร้อยหวายอักเสบ เช่น การมีน้ำหนักตัวเยอะ และการมีรูปร่างเท้าผิดปกติ เช่น เท้าแบน เท้าล้ม (Overpronation)

2. เอ็นร้อยหวายฉีกขาด (Achilles tendon rupture)

เอ็นร้อยหวายฉีกขาดเกิดขึ้นเมื่อเส้นเอ็นทั้งหมดหรือเส้นเอ็นบางส่วนฉีกขาดออกจากกัน โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การหมุนตัวอย่างรวดเร็วขณะเล่นกีฬา การตกจากที่สูง หรืออุบัติเหตุต่าง ๆ บริเวณเอ็นร้อยหวาย

เมื่อเอ็นร้อยหวายฉีกขาด อาจได้ยินเสียงเหมือนมีบางอย่างขาดหรือฉีก จากนั้นอาจรู้สึกปวดและบวมบริเวณส้นเท้า ไม่สามารถงอเท้าลงหรือก้าวขาฝั่งที่บาดเจ็บได้ หากเอ็นร้อยหวายฉีกขาด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

3. กระดูกงอกบริเวณส้นเท้า (Heel spur)

กระดูกงอกบริเวณส้นเท้าอาจเกิดการใช้งานส้นเท้ามากเกินไปอย่างซ้ำ ๆ เช่น การเดินในลักษณะที่ผิดปกติ การวิ่งบนพื้นแข็งบ่อย ๆ การมีน้ำหนักตัวมาก ซึ่งอาจทำให้พังผืดฝ่าเท้าหรือเอ็นร้อยหวายอักเสบได้ หากบริเวณเอ็นร้อยหวายอักเสบอย่างเรื้อรัง อาจส่งผลให้หินปูนก่อตัวและกลายเป็นกระดูกงอกออกมาจากบริเวณส้นเท้า

กระดูกงอกบริเวณส้นเท้ามักไม่ก่อให้เกิดอาการ แต่อาจก่อให้เกิดอาการเจ็บหรือปวดบริเวณเอ็นร้อยหวายหรือส้นเท้า โดยเฉพาะขณะเดิน วิ่ง กระโดด หรือลุกขึ้นหลังจากตื่นนอน

4. โรครองช้ำ (Plantar fasciitis)

โรครองช้ำอาจก่อให้เกิดอาการปวดบริเวณเอ็นร้อยหวาย โดยโรครองช้ำเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของพังผืดฝ่าเท้า ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ยึดเกาะบริเวณส้นเท้าไปจนถึงนิ้วเท้า มีหน้าที่ช่วยรองรับส่วนโค้งของเท้าและช่วยให้การเดินเป็นปกติ โรครองช้ำอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การใช้งานฝ่าเท้าเป็นเวลานานจากการเดินหรือวิ่ง หน้าเท้าแบน น้ำหนักตัวเยอะ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดฝ่าเท้าหรือส้นเท้าได้

5. ส้นเท้าช้ำ (Bruised heel)

ส้นเท้าช้ำเป็นอาการที่กระดูกส้นเท้าหรือแผ่นไขมันบริเวณนั้นได้รับความเสียหายหรือฉีกขาดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การกระโดดจากที่สูง การใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสมในการวิ่ง การเดิน วิ่ง หรือกระโดดบนพื้นแข็งบ่อย ๆ โดยอาการของส้นเท้าช้ำที่มักเห็นได้ชัด เช่น อาการปวดบริเวณข้อเท้าหรือบริเวณเอ็นร้อยหวาย รู้สึกเจ็บเมื่อเดินหรือกดส้นเท้า และอาจมีแผลฟกช้ำสีแดงหรือม่วงเกิดขึ้นบนบริเวณส้นเท้า 

วิธีรักษาอาการปวดเอ็นร้อยหวายอย่างเหมาะสม

หากเกิดอาการปวดเอ็นร้อยหวาย เนื่องจากบริเวณเอ็นร้อยหวายอักเสบ อาจรักษาได้โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น

  • หยุดหรือลดการทำกิจกรรมที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดเอ็นร้อยหวาย และควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อน-หลังจากออกกำลังกายทุกครั้ง
  • ประคบเย็นด้วยน้ำแข็งบริเวณที่ปวด โดยควรประคบไม่เกิน 20 นาที ทุก ๆ 2–3 ชั่วโมง อาจช่วยบรรเทาอาการปวดและบวมได้
  • พันข้อเท้าด้วยผ้าพันเคล็ดหรือเทปผ้า เพื่อป้องกันไม่ให้เอ็นร้อยหวายมีการเคลื่อนไหวมากเกินไป
  • ยกเท้าให้สูงกว่าระดับหน้าอกขณะนอน โดยการนอนราบและวางเท้าไว้บนที่สูงกว่าระดับอกอาจช่วยลดอาการบวมได้
  • กินยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดส้นเท้าหรือปวดเอ็นร้อยหวาย เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และยานาพรอกเซน (Naproxen)
  • ทำกายภาพบำบัด เช่น การออกกำลังกายด้วยท่าทางต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและช่วยให้บริเวณที่ปวดมีอาการดีขึ้น

ถึงแม้อาการปวดเอ็นร้อยหวายอาจดีขึ้นได้จากการรักษาด้วยตนเอง แต่ในบางกรณี เช่น อาการปวดเอ็นร้อยหวายเนื่องจากเอ็นร้อยหวายฉีกขาด อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งเป็นการผ่าตัดเพื่อเย็บเส้นเอ็นที่ฉีกขาดให้กลับมาเชื่อมกันเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม อาการปวดเอ็นร้อยหวายเป็นอาการที่ควรใส่ใจและควรได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี หากอาการปวดแย่ลงหรือมีอาการอื่น ๆ เช่น ปวดอย่างรุนแรงบริเวณขาหรือข้อเท้า ไม่สามารถยืนบนนิ้วเท้าได้ หรือมีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น แดงหรือรู้สึกอุ่นบริเวณที่ปวด ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป