ปอดติดเชื้อ

ความหมาย ปอดติดเชื้อ

ปอดติดเชื้อ (Pneumonia) เป็นภาวะติดเชื้อที่เนื้อปอดและถุงลมปอด ทำให้เกิดอาการปอดบวม ผู้ป่วยมักมีอาการไอมีเสมหะ หายใจมีเสียง หายใจหอบเหนื่อย และเจ็บหน้าอก โดยอาการปอดติดเชื้อจะส่งผลให้เกิดสองโรคที่พบได้บ่อย คือ โรคปอดบวมที่มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและโรคปอดบวมที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส 

อาการปอดติดเชื้อมักไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่บางรายอาจมีอาการรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะอาการปอดติดเชื้อที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม เพราะส่วนมากจะมีอาการร้ายแรงและจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์

ปอดติดเชื้อ

อาการปอดติดเชื้อ

ผู้ป่วยที่มีอาการปอดติดเชื้อมักพบอาการดังนี้

  • ไอมีเสมหะ โดยเสมหะเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว
  • หายใจมีเสียง (Wheezing) และหายใจได้สั้นลง
  • แน่นหน้าอก
  • ปวดศีรษะ 
  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • รู้สึกล้าหรืออ่อนแรง

อาการปอดติดเชื้อมักเกิดขึ้นหลังจากผู้ป่วยเป็นโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ส่วนมากอาการจะขึ้นได้เองภายใน 7-10 วันโดยไม่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล แต่อาจมีอาการไอมีเสมหะอยู่ในช่วง 3 สัปดาห์ ในบางกรณีอาการปอดติดเชื้ออาจไม่หายได้เอง ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์หากมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น ไอเป็นเลือดหรือมีเสมหะปนเลือด ปวดศีรษะหรือมีไข้และอาการแย่ลง มีอาการไอต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 3 สัปดาห์ เจ็บหน้าอก หายใจหอบถี่หรือหายใจลำบาก เวียนศีรษะหรือมีอาการสับสน เป็นต้น

สาเหตุของปอดติดเชื้อ

ปอดติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดได้จากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส บางรายอาจเกิดจากเชื้ออื่น ๆ อย่างเชื้อราหรือเชื้อปรสิต โดยสาเหตุของการติดเชื้อจะแตกต่างกันไปตามชนิดของเชื้อ 

ผู้ป่วยสามารถได้รับเชื้อผ่านการสูดเอาละอองฝอยที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจจนปอดติดเชื้อ โดยอาจได้รับจากคนรอบข้างที่มีเชื้อได้ไอหรือจามออกมา รวมถึงการสัมผัสสิ่งของหรือพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียปนเปื้อนแล้วมาสัมผัสบริเวณใบหน้าหรือปากของตนเอง ทำให้เกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน

นอกจากนี้ บุคคลบางกลุ่มหรือมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างอาจเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อที่ปอดได้มากกว่าคนทั่วไป เช่น 

  • อายุมากกว่า 65 ปี 
  • กำลังตั้งครรภ์ 
  • เป็นทารกหรือเด็กเล็ก
  • สูบบุหรี่
  • มีภาวะผิดปกติหรือโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ภาวะผิดปกติของหัวใจ ไต หรือภาวะผิดปกติของปอดอย่างโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) และโรคหืด 
  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ติดเชื้อ HIV ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ หรือได้รับยาเคมีบำบัด เป็นต้น

การวินิจฉัยปอดติดเชื้อ

แพทย์จะวินิจฉัยอาการปอดติดเชื้อจากการสอบถามอาการ ซักประวัติของผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว อย่างประวัติสุขภาพหรือพฤติกรรมการสูบบุหรี่ จากนั้นจะตรวจร่างกายเบื้องต้นด้วยการวัดอุณหภูมิร่างกาย นับอัตราการหายใจ ตรวจดูการอิ่มตัวของออกซิเจนในร่างกายด้วยเครื่องวัดบริเวณปลายนิ้ว รวมถึงฟังเสียงการทำงานของปอดและหัวใจ หากผู้ป่วยมีอาการหอบหืด แพทย์อาจใช้วิธีตรวจวัดสมรรถภาพปอด (Peak Flow Measurement) ร่วมด้วย

หากตรวจพบอาการติดเชื้อที่บริเวณหลอดลมปอดและมีอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยมักไม่จำเป็นต้องทดสอบเพื่อวินิจฉัยเป็นพิเศษ แต่หากมีอาการรุนแรงขึ้น แพทย์อาจเอกซเรย์ปอดเพื่อวินิจฉัยอาการและความรุนแรงของการติดเชื้อ รวมทั้งจะตรวจเลือดและเสมหะเพื่อตรวจหาเชื้อต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการปอดติดเชื้ออย่างรุนแรง ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถตัดสินใจในการจ่ายยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วยได้เหมาะสม เนื่องจากยาบางชนิดอาจใช้รักษาอาการติดเชื้อไม่ได้ผล

การรักษาปอดติดเชื้อ

แพทย์จะรักษาปอดติดเชื้อตามสาเหตุและความรุนแรงของโรค ดังนี้

  • ปอดติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียอย่างโรคปอดบวม แพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะให้ผู้ป่วย ในกรณีที่อาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาได้ที่บ้าน
  • ปอดติดเชื้อที่เกิดจากไวรัส อาการมักดีขึ้นได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ แพทย์จะเน้นที่การรักษาเพื่อบรรเทาอาการจนกว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น เนื่องจากยาปฏิชีวนะจะไม่ใช้ในการรักษาอาการปอดติดเชื้อไวรัส  อย่างไรก็ตาม หากเป็นปอดอักเสบจากไวรัสบางชนิดแพทย์อาจให้ยาต้านไวรัสร่วมด้วย
  • ปอดอักเสบที่เกิดจากเชื้ออื่น ๆ อย่างเชื้อราหรือเชื้อปรสิต มักจำเป็นต้องได้รับยาเฉพาะสำหรับเชื้อที่ตรวจพบ และอาจรักษาเพิ่มเติมตามความจำเป็นหรือความรุนแรงของผู้ป่วย เช่น การให้ยาละลายเสมหะ การกำจัดเสมหะ การให้สารน้ำให้เพียงพอ การใช้ยาขยายหลอดลม การบำบัดด้วยออกซิเจน การใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจในกรณีที่มีอาการรุนแรง เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถดูแลตนเองที่บ้านตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการปวดเมื่อย ปวดศีรษะ และลดไข้ ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดลดไข้ที่หาซื้อได้ทั่วไป เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน หรือยาแอสไพริน แต่ยาแอสไพรินยาไม่ควรใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี รวมถึงอาจใช้ยาบรรเทาอาการคัดจมูกและยาขับเสมหะ
  • ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ช่วยให้เสมหะในปอดบางลงและถูกขับออกมาง่ายขึ้น
  • ดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้งอุ่น ๆ หากมีอาการเจ็บคอจากการไอบ่อย
  • พักผ่อนให้เพียงพอ โดยหลีกเลี่ยงการนอนราบเพราะอาจทำให้เสมหะค้างอยู่ที่บริเวณหน้าอกจนหายใจได้ลำบาก แต่ควรใช้หมอนหนุนเสริมบริเวณศีรษะและหน้าอกขณะหลับ
  • ใช้เครื่องทำความความชื้นหรือเครื่องพ่นไอน้ำเพื่อช่วยลดอาการไอ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่จากบุคคลอื่น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาระงับอาการไอ เนื่องจากการไออย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยขับเสมหะที่สะสมในปอด ทำให้การติดเชื้อหายเร็วขึ้น 

ทั้งนี้ ควรระมัดระวังในการแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นหากมีอาการปอดติดเชื้อ โดยผู้ป่วยควรล้างมือให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการไอหรือจามควรปิดปากและทิ้งกระดาษชำระที่ใช้แล้วอย่างเหมาะสมทันที เพื่อลดโอกาสในการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น

ภาวะแทรกซ้อนของปอดติดเชื้อ

หากมีอาการหลอดลมอักเสบแล้วไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาอย่างไม่ถูกต้อง การติดเชื้อจากบริเวณหลอดลมอาจแพร่ไปสู่ปอดได้ ทำให้เกิดภาวะปอดบวม บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นเพิ่มเติมได้ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือด การสะสมของของเหลวในปอด การเกิดฝีในปอด ภาวะพร่องออกซิเจน และภาวะระบบหายใจล้มเหลว เป็นต้น

การป้องกันปอดติดเชื้อ

วิธีลดความเสี่ยงในการเกิดอาการปอดติดเชื้อสามารถทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ล้างมือให้สะอาดก่อนการรับประทานอาหารหรือก่อนสัมผัสบริเวณใบหน้าและปาก เพื่อลดโอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกาย
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้นและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้
  • ปอดติดเชื้ออาจเกิดจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้ จึงควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ปีละ 1 ครั้ง และควรฉีดวัคซีนป้องกันปอดบวม (Pneumococcal Vaccine) เพราะอาจช่วยลดความเสี่ยงจากอาการปอดติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น
  • จำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์