ปัญหาน้ำนมน้อย สาเหตุและวิธีเพิ่มน้ำนมสำหรับคุณแม่มือใหม่

การให้ลูกดื่มน้ำนมแม่จะทำให้ลูกได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต และทำให้ลูกสัมผัสได้ถึงความรักและความอบอุ่นจากแม่ แต่คุณแม่หลายคนกลับพบปัญหาน้ำนมน้อยและไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูก ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพและการเจริญเติบโตของลูกได้

ปัญหาน้ำนมน้อยอาจทำให้คุณแม่มือใหม่เป็นกังวล แต่รู้หรือไม่ว่าปัญหานี้พบได้น้อยมาก เพราะร่างกายของผู้หญิงสามารถผลิตน้ำนมออกมาได้มากกว่าปริมาณที่ทารกต้องการ แต่อาจมีปัจจัยบางอย่างที่ส่งผลให้คุณแม่หลายคนมีน้ำนมน้อยและไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูก บทความนี้จึงได้รวบรวมสาเหตุและวิธีเพิ่มน้ำนมสำหรับคุณแม่มือใหม่มาฝากกัน

ปัญหาน้ำนมน้อย สาเหตุและวิธีเพิ่มน้ำนมสำหรับคุณแม่มือใหม่

น้ำนมน้อยดูได้จากอะไร

คุณแม่ให้นมหลายคนอาจกังวลว่าตนเองมีน้ำนมน้อย และทำให้ลูกได้ดื่มนมไม่เพียงพอ ซึ่งคุณแม่อาจสังเกตได้จากอาการผิดปกติของลูกน้อยดังต่อไปนี้

  • ความถี่และปริมาณอุจจาระของลูกน้อยกว่าปกติ โดยควรถ่ายอุจจาระอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อวัน ปัสสาวะ อย่างน้อย 6 ครั้งต่อวัน และอุจจาระควรเปลี่ยนจากสีน้ำตาลเทาช่วงแรกเกิดเป็นสีเหลือง ลักษณะนิ่มภายใน 4–7 วัน
  • น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ โดยปกติแล้วน้ำหนักของทารกอาจเล็กน้อยหลังคลอด หากน้ำหนักลดลงมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์และไม่เพิ่มเป็นปกติภายใน 2 สัปดาห์ แสดงว่าลูกอาจได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ
  • มีอาการขาดน้ำ เช่น ไม่ปัสสาวะเป็นเวลาติดต่อกันหลายชั่วโมง ร้องไห้แล้วไม่มีน้ำตา กระหม่อมบุ๋มอ่อนเพลียหรือง่วงนอนผิดปกติ
  • ลักษณะการดูดนมของลูก เช่น ไม่ยอมดูดนม ไม่ได้ยินเสียงหรือไม่เห็นลักษณะการกลืนนม คายเต้านมออกเอง หรือหลับไปทั้งที่ยังไม่คายเต้านม

อย่างไรก็ตาม คุณแม่หลายคนอาจเข้าใจผิดว่านมแม่ไม่พอต่อความต้องการของลูก ซึ่งความจริงแล้วความเชื่อเหล่านี้ไม่ใช่ลักษณะที่บ่งบอกว่าคุณแม่มีปัญหาน้ำนมน้อย

  • ลูกร้องไห้งอแง ตื่นง่าย หรือให้คุณแม่อุ้มบ่อย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของทารก
  • ลูกใช้เวลาดูดนมน้อย อาจเป็นเพราะทารกมีนิสัยดูดนมเร็ว 
  • ลูกต้องการดูดนมมากกว่าปกติ หรือไม่ง่วงหลังดูดนม ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มักเปลี่ยนไปเมื่อลูกโตขึ้น
  • เต้านมคุณแม่มีขนาดเล็ก หรือนิ่มกว่าปกติ และไม่มีน้ำนมไหลออกจากเต้า ซึ่งเป็นลักษณะทางสรีระ และไม่ใช่ปัจจัยที่บ่งบอกว่าคุณแม่มีน้ำนมน้อย
  • คุณแม่ปั๊มนมด้วยตัวเองแล้วได้ปริมาณน้อย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากทารกมักดูดนมได้มากกว่าปริมาณที่คุณแม่ปั๊มนมโดยใช้มือหรือเครื่องปั๊มนม

น้ำนมน้อยเกิดจากอะไร

ร่างกายของคุณแม่หลายคนอาจผลิตน้ำนมได้น้อย หรือมีปัญหาในการหลั่งน้ำนม ทำให้ลูกดื่มนมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ดังต่อไปนี้

ปัญหาจากการป้อนนม

การป้อนนมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการหลั่งน้ำนม ซึ่งเกิดจากการที่คุณแม่ให้นมขณะที่ลูกง่วง ให้ลูกดื่มนมมากเกินไป หรือให้ดื่มน้อยกว่าความต้องการของลูก และรีบให้ลูกออกจากเต้า โดยที่ลูกยังไม่คายเต้าออกเอง อาจทำให้ลูกได้รับนมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

การให้ลูกดูดนมไม่ถูกท่าก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ลูกดื่มนมไม่เพียงพอ และอาจทำให้คุณแม่รู้สึกคัดเต้านม หรือเจ็บขณะป้อนนมอีกด้วย ส่งผลให้มีน้ำนมค้างอยู่ในเต้า ซึ่งหากปล่อยไว้เป็นเวลานาน อาจนำไปสู่การติดเชื้อหรือการอุดตันของท่อน้ำนม และเกิดปัญหาการให้นมลูกในภายหลัง นอกจากนี้ หากการระบายน้ำนมจากเต้าไม่มากพอ อย่างการปล่อยให้เต้านมคัดตึงเป็นเวลานานและการที่ลูกดูดนมไม่เกลี้ยงเต้า อาจส่งผลให้การผลิตน้ำนมลดลงเช่นกัน

การให้ลูกรับประทานอาหารอื่น

ปัญหานี้มักพบได้เมื่อคุณแม่ให้ลูกดื่มนมผง นมที่ปั๊มใส่ขวด หรือรับประทานอาหารอื่นในระยะแรกนอกจากการดูดนมแม่จากเต้า เมื่อลูกเคยชินกับอาหารเหล่านี้ จึงทำให้ลูกไม่อยากดื่มนมแม่และดูดนมน้อยลง ส่งผลให้ร่างกายคุณแม่จึงผลิตน้ำนมน้อยลงตามไปด้วย

ปัญหาสุขภาพและการใช้ยาของคุณแม่

คุณแม่ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคอ้วนขณะตั้งครรภ์ โรคเบาหวานที่ไม่ได้รับอินซูลินอย่างเพียงพอ ภาวะโลหิตจาง ภาวะรกค้าง (Retained Placenta) การคลอดก่อนกำหนด และคุณแม่ที่มีจำนวนท่อน้ำนมน้อยกว่าปกติจากการผ่าตัดเต้านมหรือโรคมะเร็ง อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้น้อย

นอกจากนี้การใช้ยาหรืออาหารเสริมบางชนิด อย่างยาคุมกำเนิด และยาซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) อาจส่งผลต่อการผลิตน้ำนมได้เช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

กระบวนการผลิตน้ำนมเกิดจากการทำงานของฮอร์โมนหลายชนิด โดยมีฮอร์โมนสำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ ฮอร์โมนโพรแลคติน (Prolactin) เป็นฮอร์โมนที่ถูกผลิตมาจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า กระตุ้นให้เกิดการสร้างและหลั่งน้ำนม และฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งผลิตโดยต่อมใต้สมองส่วนหลัง จะกระตุ้นการบีบตัวและทำให้น้ำนมไหลออกสู่ภายนอก โดยการดูดนมของลูกจะช่วยกระตุ้นการผลิตและปล่อยฮอร์โมนออกซิโทซินออกมา

หากคุณแม่มีความผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกาย เช่น การได้รับยาที่ประกอบด้วยสารโดพามีน จะส่งผลต่อการยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนโพรแลคติน และคุณแม่ที่มีภาวะเครียดหรือได้รับความเจ็บปวดทางร่างกายบางอย่าง จะเกิดการสร้างฮอร์โมนแคททีโคลามีน (Catecholamines) ทำให้ร่างกายยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน จึงส่งผลให้ร่างกายผลิตและหลั่งน้ำนมได้น้อยลง 

ปัจจัยอื่น ๆ

ปัจจัยด้านพฤติกรรมบางประการ  เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ อาจส่งผลให้ร่างกายคุณแม่ผลิตน้ำนมได้น้อยลง

เทคนิคเพิ่มน้ำนมสำหรับคุณแม่มือใหม่

ตัวกระตุ้นกลไกการหลั่งน้ำนมที่ดีที่สุดคือการให้ลูกดูดนมจากเต้า ยิ่งลูกดูดนมแม่บ่อย ร่างกายจะยิ่งผลิตน้ำนมออกมามากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2–3 สัปดาห์แรกหลังคลอด หากพบว่าลูกไม่ดูดนมจากเต้า หรือพบว่าตนเองมีน้ำนมน้อย โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีโรคประจำตัวหรือได้รับยาที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำนม การปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย รักษาและปรับยาที่รับประทาน ถือเป็นวิธีที่ช่วยให้แก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้การใช้เทคนิคกระตุ้นให้เกิดกลไกการหลั่งน้ำนมนอกจากการให้ลูกดูดนม เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร่างกายผลิตน้ำนมออกมาทดแทน โดยคุณแม่สามารถใช้เทคนิคต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • การนวดกระตุ้นน้ำนม โดยนวดเบา ๆ บริเวณเต้านมก่อนและระหว่างการป้อนนมให้ลูกหรือขณะปั๊มนม จะช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำนมได้ดีขึ้น
  • ปั๊มน้ำนมที่ค้างอยู่ในเต้านมออกหลังจากให้นม โดยการปั๊มนมด้วยมือและการปั๊มนมด้วยเครื่อง เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดจากการคัดเต้านม และกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมออกมาอย่างสม่ำเสมอ
  • การให้แม่และลูกได้สัมผัสกันแบบเนื้อแนบเนื้อ (Skin-To-Skin Contact) โดยให้คุณแม่กอดทารกไว้แนบอกโดยให้ผิวหนังของแม่และทารกสัมผัสกัน เป็นวิธีที่ช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนโพรแลคตินและฮอร์โมนออกซิโทซิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญในกระบวนการการผลิตน้ำนม 
  • ปั๊มนมด้วยวิธี Power Pumping ซึ่งเป็นวิธีกระตุ้นน้ำนมโดยเลียนแบบวิธีการดูดนมของทารก เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนมจากเต้า ซึ่งอาจกำหนดตารางเวลาการปั๊มนมวันละ 2–3 ครั้งต่อเนื่องกัน และในแต่ละครั้งควรพักครั้งละ 5–10 นาที
  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียงพอ งดการสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พักผ่อนให้เพียงพอ และจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม
  • ไม่ควรซื้อยาหรืออาหารเสริมมารับประทานเอง ยกเว้นในกรณีที่แพทย์สั่ง เพราะยาบางชนิดอาจมีผลต่อการให้นม ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของลูกได้

ปัญหาน้ำนมน้อยอาจทำให้คุณแม่หลายคนเครียดและกังวล หากพบปัญหาน้ำนมไม่เพียงพอ หรือลูกไม่ยอมดูดนมแม่ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและการดูแลรักษา โดยอาจใช้วิธีอื่น ๆ กระตุ้นน้ำนมแม่ควบคู่กัน เช่น เปลี่ยนวิธีการป้อนนม ปรับเปลี่ยนยาที่รับประทาน และดูแลสุขภาพของคุณแม่ให้แข็งแรง จะช่วยให้คุณแม่หมดกังวลกับปัญหาน้ำนมน้อย และช่วยให้ลูกได้รับสารอาหารเพื่อการเจริญเติบโตตามวัยได้อย่างสมบูรณ์