ปัสสาวะเล็ดในผู้สูงอายุ รู้จักสาเหตุและการรักษาปัญหาที่มาพร้อมวัย

ปัสสาวะเล็ดเป็นอาการที่ไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้ โดยอาจพบอาการปัสสาวะเล็ดขณะเคลื่อนไหว กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือปัสสาวะราด ปัญหานี้พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ อีกทั้งยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตและจิตใจของผู้สูงอายุด้วย

ปัสสาวะเล็ดในผู้สูงอายุเกิดได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่จะพบในผู้หญิงมากกว่า ซึ่งสาเหตุของปัสสาวะเล็ดในผู้สูงอายุอาจมาจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่มีความแข็งแรงลดลง เส้นประสาทเสียหาย ภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น หรืออาจเป็นผลจากการใช้ยาบางชนิด แต่ปัญหานี้สามารถบรรเทาและรักษาได้หลายวิธี 

ปัสสาวะเล็ดในผู้สูงอายุ รู้จักสาเหตุและการรักษาปัญหาที่มาพร้อมวัย

ทำไมผู้สูงอายุเสี่ยงต่อปัญหาปัสสาวะเล็ด ?

อย่างที่ทราบกันดีว่าอายุที่เพิ่มขึ้น ร่างกายส่วนต่าง ๆ ก็จะเริ่มเสื่อมและทำงานได้น้อยลง อีกทั้งโรค ยา และการใช้ชีวิตก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของอาการปัสสาวะเล็ดมากขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้สูงอายุบางคนจะประสบกับปัญหานี้ โดยส่วนหนึ่งอาจมาจากสาเหตุต่อไปนี้

  • อาการท้องผูก เพราะลำไส้ตรง (Rectum) ส่วนที่ติดกับทวารหนักใช้เส้นประสาทบางส่วนร่วมกับกระเพาะปัสสาวะ เมื่อมีก้อนอุจจาระที่แข็งค้างอยู่ในลำไส้ตรงอาจกระตุ้นการทำงานของเส้นประสาทในบริเวณนั้น ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะทำงานมากกว่าปกติหรือรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยจนทำให้ปัสสาวะเล็ดแบบชั่วคราวได้
  • การติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศหญิงหรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ 
  • ความผิดปกติของกล้ามเนื้อ เช่น กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรงจึงทำให้กล้ามเนื้อหูรูดปิดไม่สนิท หรือกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะทำงานมากกว่าปกติ เมื่อมีปริมาณปัสสาวะมากก็อาจทำให้ปัสสาวะเล็ดและกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นต้น
  • เส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมปัสสาวะเสียหาย โดยอาจเป็นผลมาจากการบาดเจ็บหรือโรคอื่น เช่น โรคเบาหวาน โรคพาร์กินสัน และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) เป็นต้น
  • กระบังลมหย่อน (Pelvic Organ Prolapse) ส่งผลให้อวัยวะในบริเวณอุ้งเชิงกรานหย่อน อย่างมดลูก ลำไส้ และกระเพาะปัสสาวะ
  • โรคต่อมลูกหมากอักเสบ ต่อมลูกหมากโต กล้ามเนื้อและเส้นประสาทบริเวณต่อมลูกหมากเสียหายหรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุและการผ่าตัด ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดในผู้สูงอายุเพศชาย
  • มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว เดินช้า หรือเป็นโรคข้ออักเสบที่ทำให้เกิดอาการปวดขณะเคลื่อนไหว ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถเดินไปเข้าห้องน้ำได้ทันเวลาหรือกลั้นปัสสาวะได้น้อยลงตามวัย

นอกจากนี้ อาหาร เครื่องดื่ม และยาบางชนิดมีส่วนกระตุ้นให้ร่างกายผลิตปัสสาวะมากขึ้น ทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยและอาจมีปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ชนิดชั่วคราว เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน น้ำอัดลม โซดา สารให้ความหวาน ช็อกโกแลต อาหารรสจัด โดยเฉพาะรสเผ็ด รสหวาน และรสเปรี้ยว เป็นต้น 

สำหรับผู้สูงอายุที่ใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะยารักษาโรคหัวใจ ยาโรคความดันโลหิต ยาระงับประสาท ยาคลายกล้ามเนื้อ และอาหารเสริมวิตามินซี ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปัญหาปัสสาวะเล็ดที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาและอาหารเสริมเหล่านี้

ทั้งนี้ บางคนอาจเสี่ยงต่อปัสสาวะเล็ดได้สูงกว่าคนทั่วไปหากมีน้ำหนักตัวมาก มีพฤติกรรมสูบบุหรี่หรือเคยสูบ หรือคนในครอบครัวเคยมีประวัติของอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ลักษณะของอาการปัสสาวะเล็ดในผู้สูงอายุ

ปัสสาวะเล็ดอาจเกิดได้หลายลักษณะ เช่น

1. Stress Incontinence

เป็นอาการปัสสาวะเล็ดที่เกิดขึ้นเมื่อมีแรงดันภายในร่างกายจนไปกดโดนกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะปัสสาวะเปิดออกและปัสสาวะเล็ดโดยไม่มีการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ มักเกิดในขณะไอ จาม หัวเราะ ออกแรงทำสิ่งต่าง ๆ หรือขณะเคลื่อนไหว

2. Urge Incontinence

เป็นความรู้สึกปวดปัสสาวะกะทันหันและรุนแรง ทำให้ผู้สูงอายุบางคนกลั้นปัสสาวะไม่ได้จนถึงห้องน้ำและปัสสาวะราด ซึ่งอาการปัสสาวะราดลักษณะนี้ในผู้สูงอายุอาจมาจากการติดเชื้อ โรคเบาหวาน โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และโรคหลอดเลือดสมอง

3. Overflow Incontinence

เป็นอาการที่ปัสสาวะเล็ดออกมาในปริมาณเล็กน้อยเพราะผู้สูงอายุปัสสาวะไม่สุดหรือผู้สูงอายุกระเพาะปัสสาวะเต็มอยู่ตลอดด้วยสาเหตุบางอย่าง โดยอาจเป็นผลมาจากท่อปัสสาวะตีบด้วยปัจจัยบางอย่างหรือเส้นประสาทที่ควบคุมการปัสสาวะได้รับความเสียหาย

4. Functional Incontinence

เป็นอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เนื่องจากเหตุผลทางด้านร่างกาย จิตใจ หรือสภาพแวดล้อมที่ส่งผลให้ผู้สูงอายุเข้าห้องน้ำไม่ทัน เช่น ข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหว ห้องน้ำอยู่ไกล ห้องอยู่คนละชั้น หรือมีโรคข้ออักเสบที่อาจสร้างความลำบากต่อการปลดกระดุมหรือถอดกางเกง

นอกจากนี้ ปัญหาด้านความคิดและพฤติกรรม อย่างโรคสมองเสื่อม ภาวะสติปัญญาบกพร่อง และภาวะสับสนฉับพลัน (Delirium) ก็มีส่วนให้ผู้สูงอายุประสบปัญหาปัสสาวะเล็ดหรือราดจากการเข้าห้องน้ำไม่ทันได้

ผู้สูงอายุบางรายอาจมีอาการปัสสาวะเล็ดหลายลักษณะได้พร้อมกัน แต่ไม่ว่าลักษณะไหนก็ส่งผลต่อการใช้ชีวิต ไปไหนมาไหนลำบาก และทำให้ความมั่นใจในตนเองลดลง นอกจากนี้ อาการปวดปัสสาวะบ่อยและอาการปวดปัสสาวะแบบกะทันหันอาจรบกวนการนอนหลับและสุขภาพโดยรวมของผู้สูงอายุ รวมทั้งการตื่นกลางดึกเพื่อไปเข้าห้องน้ำก็อาจเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ 

วิธีบรรเทาและรักษาปัสสาวะเล็ดในผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุที่มีปัญหาปัสสาวะเล็ดไม่ควรซื้อยามาใช้เองเพราะการใช้ยาผิดประเภทอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ในเบื้องต้นอาจลองปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตตามคำแนะนำต่อไปนี้ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีปัญหาในการใช้ชีวิตจากอาการปัสสาวะเล็ด ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรับคำแนะนำในการรักษา 

ปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต

พฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์บางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ด ซึ่งการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ที่เกี่ยวข้องกับการปัสสาวะอาจช่วยได้ เช่น ลดและควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัดที่ทำให้ร่างกายผลิตปัสสาวะมากขึ้น งดสูบบุหรี่เพื่อรักษาสุขภาพโดยรวม และหลีกเลี่ยงการยกของหนักซึ่งทำให้เกิดแรงกดบริเวณกระเพาะปัสสาวะและทำให้ปัสสาวะเล็ดได้ เป็นต้น

บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน

กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเป็นกล้ามเนื้อที่ควบคุมและประคองอวัยวะภายในช่วงล่างของลำตัว อย่างลำไส้ มดลูก และกระเพาะปัสสาวะ การเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนนี้จึงอาจช่วยให้กล้ามเนื้อไม่อ่อนแรงหรือหย่อน ซึ่งอาจลดความเสี่ยงของปัญหาปัสสาวะเล็ดได้ แต่การบริหารกล้ามเนื้อควรทำให้ถูกวิธีเพราะอาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ และควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีที่ถูกต้อง

เข้าห้องน้ำเป็นเวลา

การฝึกเข้าห้องน้ำเป็นเวลาอาจช่วยลดความเสี่ยงของอาการปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะราด และปวดปัสสาวะกะทันหัน โดยอาจตั้งเวลาเข้าห้องน้ำทุกครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมงเพื่อลดปริมาณปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะ และควรให้เวลากับการปัสสาวะเพราะผู้สูงอายุบางคนอาจมีอาการปัสสาวะไม่สุดจนทำให้ปัสสาวะเล็ดตามมาได้

รับการรักษาจากแพทย์

การรักษาจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุและลักษณะอาการ ผู้สูงอายุที่มีอาการปัสสาวะเล็ดชั่วคราวจากการเจ็บป่วยเล็กน้อย อย่างการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงและอาการท้องผูก แพทย์จะรักษาโรคต้นเหตุเพื่อไม่ให้อาการเรื้อรัง หรือหากผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวที่ทำให้เกิดปัญหาปัสสาวะเล็ด แพทย์อาจปรับแผนการรักษาเพื่อลดผลกระทบของปัญหาดังกล่าว

ในบางกรณีแพทย์อาจสั่งจ่ายยาที่ช่วยให้ผู้สูงอายุปัสสาวะได้สุด หรือแนะนำให้ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อหูรูดที่ควบคุมกระเพาะปัสสาวะสามารถปิดได้สนิท นอกจากนี้ อาจมีวิธีอื่น ๆ ที่แพทย์จะพิจารณาใช้ตามสาเหตุและลักษณะอาการ เช่น การกระตุ้นการทำงานของเส้นประสาท การฝึกไบโอฟีดแบ็ค (Biofeedback) ที่ช่วยในการควบคุมกล้ามเนื้อ และการผ่าตัด

เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับปัญหาปัสสาวะเล็ดในผู้สูงอายุ

ผลการรักษาอาการปัสสาวะเล็ดในผู้สูงอายุอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน ผู้สูงอายุบางคนอาจมีอาการปัสสาวะเล็ดหลังการรักษาอยู่ คนในครอบครัวหรือผู้ที่ดูแลควรเตรียมอุปกรณ์และของใช้ที่จำเป็นไว้เสมอ เช่น ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองปัสสาวะ กระโถน น้ำยาดับกลิ่น และน้ำยาทำความสะอาดผิวหนังสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง เพราะผิวหนังที่ชื้นจากปัสสาวะอาจเสี่ยงต่อผื่น ผิวหนังติดเชื้อ และแผลได้

นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าห้องน้ำได้อย่างปลอดภัย ทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน ควรเตรียมแผ่นกันลื่นสำหรับปูในห้องน้ำ ราวจับ ไฟทางเดิน รวมทั้งเก็บสิ่งของบริเวณทางเดินในภายในบ้านและทางเดินไปห้องน้ำให้เรียบร้อยเพื่อลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุและช่วยให้ผู้สูงอายุไปห้องน้ำได้สะดวกขึ้น

แม้ปัญหาปัสสาวะเล็ดในผู้สูงอายุจะเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไป แต่อาการดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการรักษา เพื่อรักษาคุณภาพชีวิตและลดปัญหาด้านอารมณ์ในผู้สูงอายุ หากผู้สูงอายุภายในบ้านกำลังประสบปัญหานี้ คนในครอบครัวควรพูดคุย ให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ผู้สูงอายุผ่านปัญหานี้ไปได้