ความหมาย ปากมดลูกอักเสบ
ปากมดลูกอักเสบ (Cervicitis) คือ การอักเสบบริเวณส่วนล่างสุดของมดลูก ซึ่งเป็นจุดที่เชื่อมต่อกับช่องคลอด ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน รู้สึกปวดขณะมีเพศสัมพันธ์หรือระหว่างการตรวจภายใน หรือมีตกขาวผิดปกติ ภาวะนี้อาจเกิดจากการติดเชื้อ การระคายเคือง หรือความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศและแบคทีเรียในช่องคลอด ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา เพราะหากปากมดลูกอักเสบจากการติดเชื้อ เชื้ออาจแพร่กระจายเข้าไปสู่มดลูก ปีกมดลูก และช่องท้อง จนเกิดการติดเชื้อที่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อชีวิต โดยอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก หรือหากเกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ก็อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้
อาการของปากมดลูกอักเสบ
ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ ที่บ่งบอกว่าเกิดการอักเสบของปากมดลูก แต่อาจตรวจพบได้จากการตรวจภายในอย่างการตรวจสุขภาพประจำปีหรือการตรวจเมื่อตั้งครรภ์
ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการ อาจสังเกตได้ถึงความผิดปกติ ดังนี้
- มีตกขาวเป็นสีเทาหรือขาวในปริมาณมาก และอาจมีกลิ่นด้วย
- ปวดช่องคลอด ปวดท้องน้อย หรือปวดหลัง
- มีเลือดออกทางช่องคลอด
- มีเลือดออกในระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ หรือในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน
- ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะบ่อย หรือปวดขณะปัสสาวะ
สาเหตุของปากมดลูกอักเสบ
ภาวะปากมดลูกอักเสบมักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ โดยอาการที่รุนแรงและพบได้บ่อยมักเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม โรคเริมที่อวัยวะเพศ การติดเชื้อทริโคโมแนส เป็นต้น
นอกจากนี้ ภาวะปากมดลูกอักเสบอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น ๆ ด้วย ดังนี้
- แพ้สารเคมีในยาฆ่าเชื้ออสุจิที่ใช้สวนล้างช่องคลอดจากวิธีคุมกำเนิดชนิดหนึ่ง รวมถึงแพ้ยางจากถุงยางอนามัยและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ระงับกลิ่นหรือใช้สวนล้างช่องคลอด
- ระคายเคืองจากผ้าอนามัยแบบสอด เครื่องมือคุมกำเนิดอย่างหมวกครอบปากมดลูก หรืออุปกรณ์ที่ใช้สอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อช่วยพยุงอวัยวะในอุ้งเชิงกรานที่หย่อนตัว
- ฮอร์โมนขาดสมดุล เช่น มีฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือโปรเจสเตอโรนสูงเกินไป เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อบริเวณช่องคลอดได้
- ความไม่สมดุลของเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากมีแบคทีเรียชนิดที่ไม่ดีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมากเกินไป
- เป็นโรคมะเร็งหรือรับการรักษามะเร็งด้วยวิธีฉายรังสี ซึ่งอาจทำให้บริเวณปากมดลูกเกิดการเปลี่ยนแปลง และทำให้เกิดอาการปากมดลูกอักเสบตามมาได้
การวินิจฉัยปากมดลูกอักเสบ
หากมีอาการต่าง ๆ คล้ายภาวะปากมดลูกอักเสบ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง เพราะอาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคเกี่ยวกับช่องคลอดหรือมดลูกชนิดอื่น ๆ ได้เช่นกัน ซึ่งแพทย์อาจตรวจโดยใช้วิธีดังต่อไปนี้
การตรวจภายใน
แพทย์จะตรวจดูว่าผู้ป่วยมีอาการบวมหรือเจ็บบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือไม่ โดยอาจใช้นิ้วมือสอดเข้าไปในช่องคลอดพร้อม ๆ กับใช้มืออีกข้างหนึ่งกดที่ท้องและเชิงกราน เพื่อดูความผิดปกติของอุ้งเชิงกราน หรือใช้เครื่องมือทางการแพทย์สอดเข้าไปในช่องคลอดร่วมด้วย เพื่อตรวจมดลูก ปากมดลูก และอวัยวะใกล้เคียงในอุ้งเชิงกราน
การเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อและแปปสเมียร์
ในบางครั้งแพทย์จะใช้อุปกรณ์เก็บตัวอย่างเซลล์หรือตัดเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกหรือช่องคลอด แล้วส่งไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อดูความผิดปกติ
การตรวจเพาะเชื้อ
แพทย์จะใช้ก้านสำลีขนาดเล็กค่อย ๆ เช็ดของเหลวบริเวณปากมดลูกหรือช่องคลอด แล้วนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจหาสัญญาณการติดเชื้อรา เชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรียที่อาจเป็นสาเหตุของการอักเสบ
การรักษาปากมดลูกอักเสบ
แพทย์จะรักษาโดยพิจารณาจากอาการและความรุนแรง ประวัติสุขภาพของผู้ป่วย และสาเหตุของภาวะปากมดลูกอักเสบ โดยมีวิธีรักษา ดังนี้
- ให้หยุดใช้ผลิตภัณฑ์บางชนิดที่เป็นสาเหตุของการระคายเคือง เช่น ผ้าอนามัยแบบสอด อุปกรณ์พยุงช่องคลอด หมวกครอบปากมดลูก เป็นต้น
- ใช้ยารักษา หากภาวะปากมดลูกอักเสบเกิดจากการติดเชื้อ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ ยาต้านเชื้อรา หรือยาต้านไวรัส ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุ เพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจายไปสู่มดลูกและปีกมดลูก และป้องกันการติดเชื้อของทารกในกรณีที่ผู้ป่วยตั้งครรภ์ ส่วนผู้ที่ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อย่างโรคหนองในแท้หรือโรคหนองในเทียม แพทย์จะแนะนำให้คู่ของผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดการติดเชื้ออีกครั้ง ซึ่งผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะหายดี และจะต้องมาตรวจอาการซ้ำอีกรอบเพื่อยืนยันผล ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคเริมบริเวณอวัยวะเพศ อาจได้รับยาต้านไวรัสเพื่อช่วยบรรเทาอาการช่องคลอดอักเสบ แต่จะไม่สามารถรักษาโรคเริมให้หายขาดได้
- ผ่าตัดด้วยความเย็น ใช้ในผู้ป่วยที่ปากมดลูกอักเสบจากโรคมะเร็งปากมดลูกหรือมะเร็งในระยะเริ่มต้น โดยแพทย์จะใช้ความเย็นจัดเพื่อทำลายเซลล์ที่ผิดปกติในปากมดลูก หรืออาจใช้สารซิลเวอร์ไนเตรทเพื่อช่วยทำลายเซลล์ที่ผิดปกติด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของปากมดลูกอักเสบ
ภาวะปากมดลูกอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้ออาจทำให้เสี่ยงเกิดการติดเชื้อในมดลูกด้วย โดยเฉพาะโรคหนองในแท้และหนองในเทียม ซึ่งสามารถแพร่กระจายเชื้อไปยังเยื่อบุมดลูกและท่อรังไข่จนทำให้เกิดการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานได้ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้องน้อย มีตกขาวผิดปกติ และเป็นไข้ หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก และอาจส่งผลให้ผู้หญิงเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีจากคู่นอนที่มีเชื้อมากขึ้นด้วย
การป้องกันปากมดลูกอักเสบ
การป้องกันภาวะปากมดลูกอักเสบทำได้โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ตามวิธีดังต่อไปนี้
- มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันการเกิดภาวะปากมดลูกอักเสบจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โดยควรใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเริมหรือหนองบริเวณอวัยวะเพศ และหากตรวจพบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็ควรเข้ารับการรักษาทั้งตนเองและคู่ของตน
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อช่องคลอด เช่น น้ำยาสวนล้างช่องคลอด ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดช่องคลอด ผ้าอนามัยแบบสอด หมวกครอบปากมดลูก เป็นต้น แต่หากจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ที่ใส่เข้าไปในช่องคลอด ควรปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้งาน อย่างการใส่ การถอด และการทำความสะอาดอย่างถูกวิธี
- ควบคุมอาการป่วย ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะปากมดลูกอักเสบ