ปากเบี้ยว

ความหมาย ปากเบี้ยว

ปากเบี้ยว หรือหน้าเบี้ยว (Bell's Palsy/Facial Palsy) คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรงหรือเกิดอัมพาตชั่วขณะ โดยมีสาเหตุมาจากเส้นประสาทบนใบหน้าเกิดความผิดปกติ ซึ่งภาวะนี้มักส่งผลให้ผู้ป่วยมีใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ส่วนผู้ป่วยที่ใบหน้าเบี้ยวทั้งหมดพบได้ไม่บ่อยนัก

Facial Palsy

โดยทั่วไปแล้ว เส้นประสาทใบหน้าหรือเส้นประสาทสมอง (Cranial Nerve) คู่ที่ 7 จะอยู่ตรงใบหน้าแต่ละข้าง โดยเส้นประสาทใบหน้าแต่ละเส้นมาจากสมอง ทะลุผ่านกะโหลกและมาโผล่ใต้หู เส้นประสาทจะแตกออกอีกหลายเส้น เพื่อช่วยรองรับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น ยิ้ม ทำหน้าบึ้ง หรือหลับตา รวมทั้งรับรสจากลิ้นและส่งต่อไปยังสมอง หากเส้นประสาทใบหน้าถูกทำลาย อาจส่งผลต่อการรับรส การผลิตน้ำตา และต่อมน้ำลาย ปากเบี้ยวถือเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นทันที และอาการมักจะดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์

อาการปากเบี้ยว

อาการปากเบี้ยวจะแตกต่างกันไป ซึ่งมีตั้งแต่เกิดอาการชาระดับอ่อนไปจนถึงใบหน้าทั้งหมดเกิดอัมพาต อาการปากเบี้ยวมักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการ ดังนี้

  • ใบหน้าครึ่งซีกประสบภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ส่งผลให้ใบหน้าเบี้ยว หลับตาไม่ได้ หรือหลับตาไม่สนิท ปากเบี้ยวข้างหนึ่งรวมทั้งขยับใบหน้าไม่ได้
  • อาจเกิดการระคายเคืองที่ตา เช่น ตาแห้ง หรือน้ำตาไหลมากขึ้น
  • อาจเกิดอาการปวดที่หู ด้านล่างหู หรือรอบขากรรไกรของใบหน้าข้างที่เกิดอาการปากเบี้ยว
  • รับรสชาติผิดเพี้ยน หรือรับรสได้น้อยลง
  • ประสาทหูไวต่อเสียง
  • มุมปากข้างที่เบี้ยวจะมีน้ำลายไหลออกมา
  • ปากแห้ง
  • ปวดศีรษะ และเวียนศีรษะ
  • เกิดอาการหูอื้อข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง
  • เคี้ยวอาหารหรือดื่มน้ำลำบาก
  • พูดไม่ชัด

ผู้ป่วยที่ประสบภาวะกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงหรือน้ำลายไหลออกจากปากข้างที่เบี้ยว ควรพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการตรวจและวินิจฉัยระดับความรุนแรงของอาการป่วย รวมทั้งเข้ารับการรักษาต่อไป

สาเหตุของปากเบี้ยว

ปากเบี้ยวเกิดจากเส้นประสาทใบหน้าหรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 บวมหรืออักเสบ ส่งผลให้กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต สาเหตุที่ทำให้เส้นประสาทใบหน้าผิดปกติยังไม่ปรากฏแน่ชัด อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้เส้นประสาทใบหน้าอักเสบนั้นอาจมีแนวโน้มมาจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดภาวะปากเบี้ยว มักเป็นเชื้อของโรคต่อไปนี้

  • โรคเริม เชื้อของโรคเริมที่ทำให้เส้นประสาทใบหน้าเกิดการอักเสบ มี 2 ชนิด ได้แก่
    • เชื้อไวรัสเอชเอสวี (HSV) ซึ่งมีทั้งเชื้อไวรัสเอชเอสวี ชนิด 1 (HSV-1) และเชื้อไวรัสเอชเอสวี ชนิด 2 (HSV-2) โดยเชื้อเอชเอสวี ชนิด 1 จะก่อให้เกิดแผลที่ปาก ส่วนเชื้อเอชเอสวี ชนิด 2 มักจะทำให้เกิดเริมที่อวัยวะเพศ
    • เชื้อไวรัสวาริเซลล่า (Varicella Virus) ซึ่งทำให้เกิดโรคอีสุกอีใสและงูสวัด เชื้อไวรัสชนิดนี้จัดเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดปากเบี้ยวได้น้อยกว่าเชื้อไวรัสเอชเอสวี อย่างไรก็ตาม เชื้อวาริเซลล่าสามารถก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงอย่างกลุ่มอาการปากบี้ยวครึ่งซีก (Ramsay Hunt Syndrome) ได้
  • โรคอื่น ๆ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสจากโรคอื่น ๆ ก็อาจประสบภาวะปากเบี้ยวได้ ซึ่งได้แก่ โรคไซโตเมกาโลไวรัส หรือเชื้อซีเอ็มวี (Cytomegalovirus: CMV) ไวรัสเอ็บสไตบาร์ หรือเชื้ออีบีวี (Epstein-Barr Virus: EBV) ทำให้ป่วยเป็นโรคโมโนนิวคลีโอสิส (Mononucleosis)

ปากเบี้ยวเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ส่วนใหญ่แล้ว มักเกิดกับผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-60 ปี และ 1 ใน 60 คน สามารถประสบภาวะนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีลักษณะต่อไปนี้ เสี่ยงต่อการเกิดอาการปากเบี้ยวได้มากกว่า

  • กำลังตั้งครรภ์ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุครรภ์มาก หรือหลังคลอดภายใน 1 สัปดาห์
  • ป่วยเป็นเบาหวาน
  • ติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ป่วยเป็นไข้หวัด
  • มีบุคคลในครอบครัวประสบภาวะปากเบี้ยว
  • ติดเชื้อเอชไอวี

การวินิจฉัยปากเบี้ยว

ไม่มีการตรวจวินิจฉัยอาการปากเบี้ยวโดยเฉพาะ แพทย์จะตรวจเพื่อวินิจฉัยสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดปากเบี้ยวหรือใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก โดยแพทย์อาจตรวจร่างกาย เพื่อดูการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น หลับตา เลิกคิ้ว หรือฉีกยิ้ม รวมทั้งสอบถามอาการของผู้ป่วย เพื่อพิจารณาว่าภาวะปากเบี้ยวที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพอื่นหรือไม่ เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง โรคไลม์ (ก่อให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย) เนื้องอก กลุ่มอาการเมอเบียส (Moebius Syndrome) การติดเชื้อที่หูชั้นกลาง โคเลสเทียโตมาร์ (Cholesteatoma) ซึ่งเป็นความผิดปกติที่เกิดการสะสมกันของเซลล์ผิวหนังในหูชั้นกลาง หรือได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ อย่างไรก็ตาม หากไม่พบสาเหตุที่ทำให้เกิดปากเบี้ยวอย่างชัดเจน แพทย์อาจตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม ดังนี้

  • ตรวจเลือด แพทย์อาจจะนำตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยมาตรวจ เพื่อหาการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสภายในร่างกาย
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography: EMG) แพทย์จะตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ โดยสอดขั้วไฟฟ้าซึ่งมีขนาดเล็กเท่าเข็มเข้าไปใต้ผิวหนัง ทะลุเข้ากล้ามเนื้อ จากนั้นออสซิลโลสโคป (Oscilloscope) จะวัดคลื่นไฟฟ้าในกล้ามเนื้อและเส้นประสาทผู้ป่วย การตรวจนี้จะช่วยประเมินระดับความรุนแรงที่เส้นประสาทถูกทำลาย
  • ตรวจด้วยภาพสแกน แพทย์อาจตรวจภาพสแกนร่วมด้วย โดยอาจให้ผู้ป่วยทำซีทีสแกน (CT Scan) หรือทำเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging: MRI) เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เส้นประสาทใบหน้าถูกกดทับ ซึ่งใช้เฉพาะกรณีที่สงสัยว่าปากเบี้ยวเกิดจากเนื้องอกหรือกะโหลกศีรษะแตก

การรักษาปากเบี้ยว

ผู้ป่วยปากเบี้ยวส่วนใหญ่จะพักฟื้นร่างกายและหายได้เองโดยอาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา แต่จะใช้เวลาพักฟื้นนาน ซึ่งอาจใช้เวลานานถึง 9 เดือน ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องดูแลดวงตาให้ดีในช่วงที่พักฟื้นร่างกาย อย่างไรก็ตาม การเข้ารับการรักษาจะช่วยให้พักฟื้นได้เร็วขึ้น โดยวิธีรักษาปากเบี้ยวนั้นประกอบด้วยการรักษาด้วยยา กายภาพบำบัด และการผ่าตัด ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • การรักษาด้วยยา วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวจากอาการป่วยได้เร็วกว่าเดิม โดยตัวยาที่ใช้รักษาปากเบี้ยว มีดังนี้
    • สเตียรอยด์ ยาสเตียรอยด์ที่ใช้รักษาปากเบี้ยวคือยาเพรดนิโซโลน ซึ่งช่วยลดการบวมอักเสบ แพทย์มักจ่ายยานี้ให้ผู้ป่วยใช้รักษาวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน ควรเริ่มใช้ยาหลังจากที่เกิดอาการของโรคภายใน 72 ชั่วโมง ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจเกิดอาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ เหงื่อออกมาก อาหารไม่ย่อย หรือนอนไม่หลับ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวจะดีขึ้นเองภายใน 2-3 วัน หลังจากร่างกายปรับตัวได้แล้ว
    • ยาต้านไวรัส แพทย์อาจให้ยาต้านไวรัสในกรณีที่ผู้ป่วยปากเบี้ยวจากการติดเชื้อดังกล่าว โดยแพทย์อาจให้ยานี้ร่วมกับยาเพรดนิโซโลนในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้ว การรักษาด้วยยาต้านไวรัสไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยปากเบี้ยวมีอาการดีขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจได้รับยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน หรืออะเซตามิโนเฟน เพื่อบรรเทาอาการปวดที่ไม่รุนแรง รวมทั้งควรดูแลรักษาดวงตาของตัวเองควบคู่กับการรักษาด้วยยา เพื่อป้องกันไม่ให้ตาแห้งและกระจกตามีแผล โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลเปลือกตาของตัวเอง ดังนี้

  • ใส่ที่ปิดตาหรือแว่นตากันลม
  • หยอดตา เพื่อช่วยให้ดวงตาชุ่มชื้น
  • ใช้ขี้ผึ้งป้ายตา เพื่อป้องกันอาการตาแห้งตอนกลางคืน
  • ใช้เทปทำแผลปิดเปลือกตาบนและเปลือกตาล่างให้สนิทระหว่างนอนหลับ

ผู้ป่วยควรพบแพทย์ทันทีในกรณีที่อาการเกี่ยวกับดวงตาแย่ลง อีกทั้ง หากการใช้ขี้ผึ้งป้ายตาและเทปทำแผลปิดตาไม่ได้ผล แพทย์จะผ่าตัดให้ผู้ป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติที่ดวงตา

  • กายภาพบำบัด ผู้ป่วยที่อาการไม่ดีขึ้นและไม่สามารถฟื้นตัวหลังได้รับการรักษา จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างอื่นเพิ่มเติม นักกายภาพบำบัดจะสอนให้ผู้ป่วยบริหารและนวดใบหน้า เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อดังกล่าว เพื่อช่วยให้อวัยวะบนใบหน้าเคลื่อนไหวได้อย่างสอดประสาน รวมทั้งป้องกันกล้ามเนื้อใบหน้าหดตัวถาวร
  • การผ่าตัด ศัลยแพทย์จะร่วมกันผ่าตัด เพื่อช่วยจัดการปัญหากล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง วิธีนี้อาจช่วยไม่ให้อาการป่วยของดวงตาแย่ลง รวมทั้งยกระดับการทำงานและลักษณะของใบหน้าให้ดีขึ้น รวมทั้งปรับการมองเห็นและลักษณะใบหน้าให้ดีขึ้น ทั้งนี้ การผ่าตัดยังช่วยปรับตำแหน่งปาก ปรับความสมมาตรของใบหน้า รักษาปัญหาเกี่ยวกับการพูด รับประทานอาหาร และดื่มน้ำ ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการผ่าตัดเส้นประสาทหรือย้ายเส้นเอ็น เส้นประสาท และกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตาม แพทย์จะไม่ค่อยผ่าตัดเส้นประสาทใบหน้าที่ถูกกดทับให้แก่ผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยเสี่ยงได้รับบาดเจ็บที่เส้นประสาทใบหน้า และสูญเสียการได้ยินถาวร
  • การฉีดโบทอกซ์ ผู้ป่วยปากเบี้ยว รวมทั้งผู้ที่มีน้ำตาไหลระหว่างรับประทานอาหารหรือเส้นประสาทใบหน้าต่อกันผิด จำเป็นต้องได้รับการฉีดโบทอกซ์ โดยแพทย์จะฉีดโบทอกซ์เข้าที่ใบหน้าข้างที่เบี้ยว เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัวหรือลดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ไม่ต้องการ ทั้งนี้ แพทย์จะฉีดโบทอกซ์ตรงหน้าข้างที่ไม่ได้เบี้ยวด้วยในกรณีที่ใบหน้าข้างนั้นได้รับผลกระทบจากอาการปากเบี้ยว เพื่อลดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้าและทำให้ใบหน้า 2 ข้างสมดุลกัน

นอกจากนี้ หลังได้รับการรักษาแล้ว ผู้ป่วยสามารถดูแลอาการของโรคได้ด้วยตัวเอง ดังนี้

  • ดูแลรักษาดวงตาที่เปลือกตาปิดไม่สนิท โดยหยอดน้ำตาเทียมระหว่างวัน และใช้ขี้ผึ้งป้ายตาตอนกลางคืนเพื่อให้ดวงตาชุ่มชื้นอยู่เสมอ รวมทั้งใส่ที่ปิดตาหรือแว่นตากันลม เพื่อป้องกันดวงตาเกิดแผล
  • บริหารกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น ฝึกเกร็งหรือคลายใบหน้า เพื่อเสริมความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อและกระตุ้นให้ฟื้นตัวจากอาการป่วยได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจใช้น้ำมันหรือครีมนวดหน้าผาก แก้ม และริมฝีปาก เพื่อช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อใบหน้า
  • ควรดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาด เนื่องจากผู้ป่วยปากเบี้ยวอาจมีน้ำลายน้อย ทำให้อาหารไปติดสะสมอยู่บริเวณดังกล่าว และนำไปสู่โรคเหงือกอักเสบหรือฟันผุ ผู้ป่วยควรแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดอยู่เสมอเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพช่องปาก ทั้งนี้ ควรรับประทานอาหารอ่อน และเคี้ยวอาหารช้า ๆ ให้ละเอียด เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับการกลืนอาหาร
  • ประคบอุ่น โดยนำผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นหมาด ๆ ประคบใบหน้าวันละหลายครั้ง เพื่อบรรเทาอาการปวด

ภาวะแทรกซ้อนของปากเบี้ยว

ผู้ป่วยปากเบี้ยวสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจะฟื้นตัวภายใน 9 เดือน อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีลักษณะต่อไปนี้ จะเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวได้

  • เกิดภาวะปากเบี้ยวหรือใบหน้าอัมพาตทั้งหมด ส่งผลให้ใบหน้าขยับไม่ได้
  • อายุมากกว่า 60 ปี
  • มีอาการปวดอย่างรุนแรงเมื่อเริ่มเกิดอาการปากเบี้ยว
  • ป่วยเป็นเบาหวาน
  • ความดันโลหิตสูง
  • กำลังตั้งครรภ์
  • เส้นประสาทใบหน้าถูกทำลายอย่างรุนแรง
  • ร่างกายไม่เริ่มฟื้นตัวหลังจากผ่านไป 2 เดือน
  • ไม่มีสัญญาณของการฟื้นตัวหลังผ่านไป 4 เดือน

ทั้งนี้ ผู้ป่วยปากเบี้ยวร้อยละ 20 สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนระยะยาวได้ ดังนี้

  • ตาแห้งและกระจกตามีแผล เนื่องจากเปลือกตาอ่อนแรง หลับตาลงไม่ได้ ส่งผลให้กระจกตาแห้งเป็นแผล และตาบอดได้หากไม่ได้รับการรักษา
  • ผู้ป่วยปากเบี้ยวร้อยละ 20-30 อาจมีใบหน้าเบี้ยวถาวร
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการพูด ซึ่งเป็นผลจากการที่เส้นประสาทใบหน้าถูกทำลาย
  • เส้นประสาทใบหน้าต่อกันผิด (Synkinesias) เนื่องจากเส้นประสาทใบหน้าเจริญออกมาผิดปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยมักกะพริบตาเมื่อรับประทานอาหาร หัวเราะ หรือยิ้ม ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจปิดตาสนิทเมื่อรับประทานอาหาร ซึ่งถือเป็นกรณีร้ายแรง
  • กล้ามเนื้อใบหน้าหดตัว ทำให้ใบหน้าผิดรูป เช่น ตาลงเล็กกว่าปกติ แก้มใหญ่เกินไป หรือแนวร่องที่อยู่ระหว่างฐานจมูกกับปากลึกกว่าเดิม
  • สูญเสียการรับรส หรือรับรสได้น้อยลง เนื่องจากเส้นประสาทถูกทำลาย
  • น้ำตาไหลขณะรับประทานอาหาร
  • ผู้ป่วยปากเบี้ยวที่ติดเชื้อไวรัสวาริเซลล่า จะเกิดอาการปากเบี้ยวครึ่งซีก (Ramsay Hunt Syndrome) ซึ่งถือเป็นกลุ่มอาการร้ายแรงที่พบได้น้อยมาก ผู้ป่วยจะมีตุ่มน้ำใสขึ้นที่ลิ้นและภายในหู ซึ่งรักษาได้ด้วยยาสเตียรอยด์และยาปฏิชีวนะ

การป้องกันปากเบี้ยว

ปากเบี้ยวเป็นปัญหาสุขภาพที่ส่วนใหญ่แล้วสามารถดูแลให้หายเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปรากฏวิธีป้องกันภาวะปากเบี้ยวที่ชัดเจน เนื่องจากการอักเสบของเส้นประสาทใบหน้าอันเป็นสาเหตุของโรคนี้ จะเกิดขึ้นกะทันหัน ทำให้ไม่สามารถป้องกันได้