ปากแห้ง

ความหมาย ปากแห้ง

ปากแห้ง หรือภาวะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อย (Xerostomia) เป็นภาวะที่ต่อมน้ำลายในปากไม่สามารถผลิตน้ำลายเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในปากได้ตามปกติ ทำให้มีอาการปากแห้ง รู้สึกไม่สบายในปาก คอแห้ง หรือกระหายน้ำ มักเกิดจากภาวะขาดน้ำ ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด การรักษาด้วยการฉายรังสี หรืออายุที่เพิ่มขึ้น

ปากแห้ง

ปากแห้งอาจเกิดจากสาเหตุที่ไม่รุนแรงและสามารถรักษาได้หลายวิธี แต่หากพบว่าตนเองมีอาการปากแห้งมากผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

อาการปากแห้ง

อาการปากแห้งที่พบทั่วไปในชีวิตประจำวัน มักเกิดจากภาวะขาดน้ำหรือความวิตกกังวล แต่อาการปากแห้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นสัญญาณของโรคและการเจ็บป่วยบางชนิด โดยอาจมีอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมด้วยและพบได้บ่อย เช่น

  • คอแห้ง
  • รู้สึกแห้งและเหนียวในปาก
  • กระหายน้ำบ่อย
  • มีแผลในปาก
  • มีแผลหรือรอยแตกที่มุมปาก ริมฝีปากแตก
  • ลิ้นแห้ง หยาบ หรือแดง
  • มีอาการแสบหรือรู้สึกซ่าในปาก โดยเฉพาะที่ลิ้น
  • เจ็บคอ
  • เสียงแหบ
  • มีกลิ่นปาก
  • จมูกแห้ง
  • มีปัญหาในการพูดหรือการรับรู้รสชาติ
  • มีปัญหาในการเคี้ยวและกลืนอาหาร
  • มีปัญหาในการใส่ฟันปลอม

หากพบอาการข้างต้น แล้วอาการคงอยู่อย่างต่อเนื่องไม่หายไปหรือไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์

สาเหตุของปากแห้ง
ปากแห้งเกิดจากต่อมน้ำลายในปากไม่ผลิตน้ำลายออกมาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในปากอย่างเพียงพอ โดยการทำงานที่ผิดปกติของต่อมน้ำลายอาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

  • ภาวะขาดน้ำ อาจเกิดจากปัจจัยหรือการเจ็บป่วยด้วยภาวะต่าง ๆ เช่น ดื่มน้ำไม่เพียงพอ เสียเหงื่อมาก อาเจียน ท้องเสีย เสียเลือด เป็นไข้ หรือถูกไฟไหม้
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยา โดยยาที่มักทำให้เกิดอาการนี้ ได้แก่ ยารักษาโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล ยารักษาความดันโลหิตสูง ยาแก้แพ้ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวด และยาลดน้ำมูก
  • ผลข้างเคียงจากโรคประจำตัว เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง ความดันโลหิตสูง โรคพาร์กินสัน โรคโลหิตจาง โรคเบาหวาน โรคไขข้ออักเสบ โรคซิสติกไฟโบรซิส การติดเชื้อในปาก โรคอัลไซเมอร์ รวมไปถึงโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น การติดเชื้อเอชไอวี และกลุ่มอาการโจเกรน
  • การรักษาโรคมะเร็ง การรักษาด้วยเคมีบำบัดอาจกระทบต่อการผลิตน้ำลาย แต่อาจเกิดขึ้นเพียงในระหว่างการรักษา ส่วนรังสีบำบัดที่ผู้ป่วยได้รับการฉายแสงบริเวณศีรษะและคอ อาจสร้างความเสียหายแก่ต่อมน้ำลายได้เช่นกัน และอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือถาวร ขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีและบริเวณที่รับการรักษาด้วย
  • เส้นประสาทเกิดความเสียหาย การผ่าตัดหรือการบาดเจ็บที่บริเวณศีรษะและคอ อาจส่งผลให้เส้นประสาทเกิดความเสียหาย จนทำให้เกิดภาวะปากแห้งได้
  • การใช้สารเสพติด อาการปากแห้งจะเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น หากสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการใช้ยาเสพติด ซึ่งอาจทำให้ปากแห้งอย่างรุนแรงและสร้างความเสียหายแก่ฟัน เช่น ยาบ้าหรือเมทแอมเฟตามีน และกัญชา
  • การเปลี่ยนแปลงตามวัย วัยผู้สูงอายุมักมีภาวะปากแห้งจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นด้วยปัจจัยต่าง ๆ ทั้งการใช้ยารักษาโรค การเปลี่ยนแปลงสมรรถภาพร่างกาย การเจ็บป่วยและมีโรคประจำตัว หรือได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ

การวินิจฉัยปากแห้ง
แพทย์มักสอบถามประวัติการเจ็บป่วย หรือประวัติการใช้ยา และตรวจภายในช่องปากของผู้ป่วย โดยการวินิจฉัยมักประเมินจากปริมาณน้ำลายที่ต่อมน้ำลายผลิตออกมาทั้งที่ถูกกระตุ้นและไม่ได้รับการกระตุ้น

นอกจากนั้น แพทย์อาจทดสอบด้วยวิธีอื่น ๆ เพื่อวินิจฉัยอาการเพิ่มเติม หรือตรวจหาสาเหตุของอาการปากแห้ง เช่น

  • ตรวจเลือด
  • ตรวจต่อมน้ำลายจากภาพถ่าย
  • ตรวจเซลล์จากต่อมน้ำลาย ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยปากแห้งจากกลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren's Syndrome)

การรักษาปากแห้ง

วิธีการดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อมีอาการปากแห้ง ได้แก่

  • ดื่มน้ำให้มากขึ้น ควรจิบน้ำเย็น หรือเครื่องดื่มที่ไม่หวานบ่อย ๆ
  • อมลูกอมหรือเคี้ยวหมากฝรั่งที่ปราศจากน้ำตาล เพื่อช่วยกระตุ้นให้ต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายออกมาได้มากขึ้น
  • อมน้ำแข็ง เพราะน้ำแข็งจะค่อย ๆ ละลายอย่างช้า ๆ ในปาก และช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในปากได้
  • หากริมฝีปากแห้งและแตกด้วย ควรบำรุงริมฝีปากด้วยผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน และไม่สูบบุหรี่ เพราะจะทำให้อาการปากแห้งแย่ลงได้

ส่วนการรักษาปากแห้งในทางการแพทย์ขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยแพทย์อาจแนะนำหรือรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้

  • เปลี่ยนยาที่ใช้รัักษาโรค หากแพทย์วินิจฉัยว่ายาที่ผู้ป่วยกำลังใช้เป็นสาเหตุทำให้ปากแห้ง แพทย์อาจปรับปริมาณยา หรือเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่น เพื่อไม่ให้เกิดภาวะปากแห้ง
  • ใช้ผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื้นในปาก ทั้งชนิดที่สั่งโดยแพทย์และชนิดที่ผู้ป่วยสามารถหาซื้อได้เอง เช่น น้ำลายเทียม น้ำยาบ้วนปาก หรือสารให้ความชุ่มชื้นหล่อเลี้ยงภายในปากทั้งรูปแบบสเปรย์ ยาอม และเจล
  • ใช้ยากระตุ้นการผลิตน้ำลาย แพทย์อาจสั่งยาไพโลคาร์พีน ซึ่งช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำลาย โดยมักใช้กับผู้ป่วยที่ปากแห้งจากการรักษาด้วยการฉายรังสี หรือผู้ป่วยกลุ่มอาการโจเกรน แต่ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ หรือมีเหงื่อออกมาก ดังนั้น ผู้ป่วยควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์เสมอ

นอกจากนั้น อาการปากแห้งจะเพิ่มความเสี่ยงเกิดฟันผุได้มากขึ้น แพทย์อาจให้ผู้ป่วยป้องกันฟันผุด้วยการอมฟลูออไรด์ หรืออาจแนะนำให้ใช้น้ำยาบ้วนปากคลอร์เฮกซิดีน ซึ่งเป็นน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้ป้องกันฟันผุ

ภาวะแทรกซ้อนของปากแห้ง
อาการปากแห้งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เกิดคราบแบคทีเรียบนผิวฟัน ฟันผุ โรคเหงือกอักเสบ เกิดแผลในปาก ปากอักเสบจากเชื้อรา เกิดแผลหรือรอยแตกที่บริเวณมุมปาก ริมฝีปากแตก ใส่ฟันปลอมได้ลำบาก และมีภาวะขาดโภชนาการที่ดี เพราะมีปัญหาในการบดเคี้ยวและกลืนอาหาร เป็นต้น

การป้องกันปากแห้ง
วิธีป้องกันและบรรเทาอาการปากแห้ง ได้แก่

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว หรือจิบน้ำเย็นหรือเครื่องดื่มที่ปราศจากน้ำตาล อมน้ำแข็งบ่อย ๆ ในแต่ละวัน เพื่อให้ปากมีความชุ่มชื้นเพียงพอ และดื่มน้ำระหว่างรับประทานอาหาร เพื่อช่วยในการบดเคี้ยวและกลืนอาหาร
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ดหรือเค็มจัด เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองในปาก
  • อมลูกอมหรือเคี้ยวหมากฝรั่งที่ปราศจากน้ำตาล เพื่อช่วยกระตุ้นให้ต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายออกมามากขึ้น
  • หากอยู่ในระหว่างรักษาอาการปากแห้ง หลีกเลี่ยงอาหารหรือลูกอมที่มีกรดหรือมีรสหวานมาก เพราะอาจทำให้เกิดฟันผุได้ง่ายขึ้น
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และไม่สูบบุหรี่
  • หากพบว่าตนเองมักหายใจทางปาก ควรปรับนิสัยให้หายใจทางจมูก หรือผู้ทีี่นอนกรนควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการหายใจทางปากระหว่างนอนหลับ
  • ใช้เครื่องทำความชื้นเพิ่มความชื้นในอากาศขณะนอนหลับ
  • หากรู้สึกปากแห้งมาก ผู้ป่วยอาจสอบถามเภสัชกรเพื่อซื้อน้ำลายเทียมมาใช้เองได้ โดยต้องใช้ภายใต้คำแนะนำอย่างเคร่งครัด
  • หลีกเลี่ยงการซื้อยาแก้แพ้และยาลดน้ำมูกมาใช้เอง เพราะจะทำให้อาการแย่ลงได้ หรือปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนเสมอ หากมีอาการป่วยที่ต้องการรักษา
  • หากปากแแห้ง ควรใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ และใช้ไหมขัดฟัน รวมถึงใช้น้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ
  • ไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟันอย่างสม่ำเสมอ