ผื่นเชื้อรา รู้จัก 5 โรคที่เป็นสาเหตุ และวิธีรักษาที่ได้ผล

ผื่นเชื้อรา เป็นอาการทางผิวหนังที่ก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น แดง คัน แสบ ลอกเป็นขุยและอาจมีตุ่มบวมแดงคล้ายสิวบนผิวหนัง โดยผื่นเชื้อราเกิดจากการติดเชื้อราบนผิวหนัง ซึ่งสามารถพบได้ทุกบริเวณบนร่างกาย แต่มักพบบ่อยบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น ขาหนีบ ก้น รักแร้ 

ราเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่เจริญเติบโตได้ดีในบริเวณที่เปียกและอับชื้น โดยผื่นเชื้อราสามารถแพร่กระจายได้ผ่านการการสัมผัสบริเวณที่มีเชื้อราหรือการสูดดมสปอร์ของราเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าใครก็มีโอกาสติดเชื้อราบนผิวหนังและเกิดผื่นเชื้อราได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ผู้ที่พึ่งผ่านการทำคีโม หรือผู้ที่กำลังใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)

Fungal Rash

สาเหตุของการเกิดผื่นเชื้อรา

ผื่นเชื้อราเป็นอาการที่อาจเกิดได้จากโรคเชื้อราบนผิวหนังหลากหลายชนิด เช่น

1. โรคกลาก
โรคกลากเป็นโรคติดเชื้อราที่ผิวหนังที่พบได้ทั่วไป มักก่อให้เกิดผื่นเชื้อราที่มีลักษณะเป็นวงรี คันและมีขอบนูนเล็กน้อย โรคกลากสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ผ่านการสัมผัสกับคนหรือสัตว์ที่มีเชื้อ หรือสัมผัสเสื้อผ้าและเครื่องใช้ภายในบ้านที่มีเชื้อติดอยู่บนพื้นผิว

นอกจากนี้ หากเกิดผื่นเชื้อราบนหนังศีรษะ อาจเกิดจากโรคกลากบนหนังศีรษะหรือชันนะตุ ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อรามีอาการผมร่วงเป็นหย่อม ๆ หนังศีรษะแดง คันและลอก โดยการติดเชื้อราชนิดนี้อาจเกิดจากการสัมผัสเชื้อราจากสัตว์ คน หรือการใช้หวีหรือหมวกร่วมกับผู้ที่มีเชื้อ 

2. โรคน้ำกัดเท้า
โรคน้ำกัดเท้าเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อราผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรงจากหลายสาเหตุ เช่น การเดินเท้าเปล่าบนพื้นห้องน้ำที่มีเชื้อรา การใช้รองเท้า ถุงเท้า และผ้าขนหนูร่วมกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งทำให้เกิดผื่นเชื้อราที่มีลักษณะแดง คัน แสบร้อนและลอกเป็นขุยบริเวณส้นเท้าและนิ้วเท้า 

3. โรคเกลื้อน
โรคเกลื้อนป็นการติดเชื้อราบนผิวหนังชนิดหนึ่ง มักเกิดบริเวณหลัง หน้าอก ต้นแขนและหนังศีรษะ โดยผื่นเชื้อราที่เกิดจากโรคเกลื้อนมีลักษณะเป็นจุดวงกลม เป็นขุย และอาจมีอาการคันเล็กน้อย ผิวบริเวณที่ติดเชื้อราอาจมีสีแดง ชมพู หรือน้ำตาล และมักสว่างหรือคล้ำกว่าผิวบริเวณอื่น โรคเกลื้อนอาจเกิดได้ในผู้ที่มีเหงื่อออกมากและมักพบบ่อยในช่วงฤดูร้อน หรือมักพบในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนชื้น 

4. โรคสังคัง
สังคังเป็นโรคกลากชนิดหนึ่ง ก่อให้เกิดผื่นเชื้อราที่มีอาการคัน เจ็บ และแสบร้อนบริเวณขาหนีบ ต้นขาด้านในและร่องก้น ผิวบริเวณที่ติดเชื้อราอาจมีสีเปลี่ยนไป เป็นรอยแตกและเป็นขุย บางครั้งอาจเกิดตุ่มพองรอบ ๆ ผื่นร่วมด้วย สังคังสามารถแพร่กระจายได้ผ่านการสัมผัสผิวหนังหรือสิ่งของที่มีเชื้อติดอยู่ ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และการใช้เสื้อผ้าหรือผ้าขนหนูร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อรา

5. ติดเชื้อจากยีสต์
ยีสต์เป็นเชื้อราชนิดหนึ่ง การติดเชื้อยีสต์เกิดขึ้นเมื่อผิวหนังมียีสต์เยอะผิดปกติ มักก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ผื่นเชื้อราที่มีรอยแดงหรือกระดำกระด่าง คัน แสบ และมีตุ่มขึ้นบริเวณโดยรอบผื่น โดยการติดเชื้อยีสต์มักเกิดบนบริเวณผิวหนังที่อับชื้น เช่น ก้น ช่องคลอด และใต้ราวนม 

หากผื่นเชื้อราที่เกิดจากการติดเชื้อยีสต์เกิดบริเวณช่องคลอด อาจมีอาการเพิ่มเติม เช่น เจ็บช่องคลอด โดยเฉพาะขณะมีเพศสัมพันธ์หรือขณะปัสสาวะ ตกขาวมีสีขาวขุ่นหรือสีเหลือง 

การรักษาผื่นเชื้อรา

ในการรักษาผื่นเชื้อรา ควรทำความสะอาดบริเวณที่ติดเชื้อและเช็ดให้แห้งเสมอ ไม่ควรใช้ผ้าขนหนูร่วมกับผู้อื่นเพราะอาจเป็นการแพร่กระจายเชื้อได้ และอาจทาผิวบริเวณที่เป็นผื่นเชื้อราด้วยสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้เพื่อรักษาอาการ เช่น

  • ยาฆ่าเชื้อรา เช่น ครีมทาฆ่าเชื้อราที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาหรือยาเหน็บช่องคลอด ทั้งนี้ แพทย์อาจจ่ายยาสำหรับกินหรือครีมทาที่ออกฤทธิ์รุนแรงกว่าเดิม หากอาการผื่นเชื้อรารุนแรงขึ้น
  • น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก หรือทีทรีออยล์ โดยทาน้ำมันลงบนผื่นเชื้อราเพื่อกำจัดเชื้อราบนผิวหนัง
  • แอปเปิลไซเดอร์ (Apple cider vinegar) โดยผสมกับน้ำเปล่าเพื่อเจือจางก่อนทาลงบนผื่นเชื้อรา เพื่อป้องกันการระคายเคืองผิวหนัง
  • ว่านหางจระเข้ การทาว่านหางจระเข้ลงบนผื่นเชื้อรา อาจช่วยลดอาการแสบผิวและลดการระคายเคืองผิวที่อาจเกิดขึ้นจากผื่นเชื้อรา
  • กระเทียม เป็นสมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อรา โดยบดกระเทียมให้ละเอียดและพอกบริเวณผื่นเชื้อรา อาจช่วยให้ผื่นมีอาการดีขึ้น
  • น้ำผึ้ง การทาน้ำผึ้งอาจช่วยให้ผื่นเชื้อราดีขึ้น เพราะน้ำผึ้งมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อราและช่วยให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น

ผื่นเชื้อราอาจป้องกันได้โดยการรักษาความสะอาดของผิวหนังให้แห้งและไม่อับชื้น หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าขนหนู เสื้อผ้าหรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าหรือรองเท้าที่รัดแน่นเกินไป นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ใกล้สัตว์ที่มีขนร่วงและเกาบ่อย ๆ เพราะอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อราได้

ถึงแม้ว่าผื่นเชื้อราอาจไม่ใช่อาการร้ายแรง แต่ผื่นเชื้อราอาจก่อให้เกิดความรำคาญและทำให้ผิวหนังระคายเคืองได้ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ผื่นเชื้อรามีอาการรุนแรงขึ้น เช่น มีไข้ เจ็บและมีตุ่มพองขึ้นบนผิวหนัง และผื่นเชื้อราแพร่กระจายไปทั่วทั้งร่างกายอย่างรวดเร็ว หากมีอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม